xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 1-7 ก.ย.2562

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

1.กรมราชทัณฑ์ปล่อยตัว "สนธิ" แล้ว หลังพบเข้าเกณฑ์พระราชทานอภัยโทษ ยอมรับที่ผ่านมา ตีความ กม. ผิดพลาด!

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผยว่า ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ปล่อยตัวนายสนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 72 ปี ผู้ต้องขังชั้นเยี่ยม ที่ต้องคดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และอื่นๆ ซึ่งรับโทษมาแล้ว 3 ปี 1 เดือน และว่า ขณะที่นายสนธิอยู่ภายในเรือนจํามีความประพฤติดี ช่วยเหลืองานราชการหลายอย่าง และมีความก้าวหน้าในเรื่องการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ของกรมราชทัณฑ์ครบถ้วนเรียบร้อย ประกอบกับเป็นผู้ที่มีอายุเกิน 70 ปี และมีโรครุมเร้าหลายอย่าง

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวอีกว่า โดยข้อเท็จจริงแล้ว นายสนธิน่าจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2562 เนื่องจากเป็นผู้ที่มีอายุเกิน 70 ปีบริบูรณ์ ซึ่งเข้าข่ายจะต้องได้รับการปล่อยตัวไปตามมาตรา 6 (2) (จ) แต่มีการตีความทางกฎหมายว่า นายสนธิกระทําความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ตามบัญชีแนบท้าย จึงเข้าข้อยกเว้นไม่ปล่อยตัว เพียงแค่ลดโทษลง

แต่ต่อมา ได้มีนักโทษชายรายหนึ่งยื่นอุทธรณ์คําสั่งของคณะกรรมการอภัยโทษ โดยโต้แย้งว่า ตนเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมิใช่สถาบันการเงิน ดังนั้นจึงไม่เข้าองค์ประกอบตามที่ระบุไว้ในบัญชีแนบท้าย กรมราชทัณฑ์จึงได้ยื่นเรื่องขอหารือการตีความข้อกฎหมายดังกล่าวต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา

และเมื่อวันที่ 3 ก.ย. ได้มีการประชุมสามฝ่าย ประกอบด้วย รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาทั้งสามท่าน หัวหน้าผู้พิพากษาแผนกคดีค้ามนุษย์ หัวหน้าผู้พิพากษาแผนกคดียาเสพติด ผู้แทนอัยการสูงสุด และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผลปรากฏว่า ยืนยันการตีความทางกฎหมายเป็นคุณแก่ผู้ร้อง คําร้องของผู้ร้องฟังขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับกรณีของนายสนธิแล้ว เป็นข้อเท็จจริงในลักษณะเดียวกัน ดังนั้นนายสนธิจึงเข้าข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวข้างต้น

พ.ต.อ.ณรัชต์ ยืนยันด้วยว่า "การปล่อยตัวนายสนธิครั้งนี้ เป็นเรื่องของความคลาดเคลื่อนในการตีความทางกฎหมาย ซึ่งได้มีการหารือกับผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดรอบคอบ มิได้มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง หรือมีใบสั่งจากผู้ใด รวมทั้งไม่ได้เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองแต่อย่างใดทั้งสิ้น"

มีรายงานว่า ผู้ต้องขังที่อุทธรณ์คำสั่งคณะกรรมการอภัยโทษดังกล่าว ก็คือ นายกิตติพัฒน์ เยาวพฤกษ์ อดีตผู้บริหารบริษัท รอยเนต จำกัด (มหาชน)

พ.ต.อ.ณรัชต์ เผยด้วยว่า ยังมีผู้ต้องขังในคดีเดียวกับนายสนธิอีก 2 คน คือ น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ และ น.ส.ยุพิน จันทนา กรรมการบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งยังไม่ได้ดูรายละเอียด หากผู้ต้องขังทั้งสองอายุไม่เกิน 70 ปี จะไม่ถึงขั้นได้รับการปล่อยตัว แต่จะได้รับการลดโทษมากขึ้นตามมาตรา 7 เพราะคดีความผิดไม่ใช่บัญชีแนบท้ายอีกต่อไป

2.ปิดคดีทุจริตข้าวจีทูจี ศาลฎีกาฯ พิพากษาแก้เพิ่มโทษจำคุก “บุญทรง” อีก 6 ปี รวมเป็น 48 ปี!
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ในคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องนายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว, นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว และพวกรวม 28 คน คดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)

คดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.สอบสวนเมื่อปี 2559 พบว่า พวกจำเลยเป็นคณะกรรมการระบายข้าว กำหนดโครงการรับซื้อข้าวจากชาวนาหรือโครงการระบายข้าวจีทูจี เพื่อช่วยอุดหนุนชาวนาให้มีโอกาสนำข้าวมาขายกับผู้ซื้อในต่างประเทศ แต่พวกจำเลยกลับเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ค้าข้าวในประเทศหลายรายที่นำข้าวเปลือกมาเข้าโครงการ ทั้งยังกำหนดให้บริษัทกวางตุ้งฯ กับบริษัทไห่หนานฯ จากประเทศจีนได้รับซื้อข้าวในราคารัฐต่อรัฐหรือจีทูจี ทั้งที่เป็นราคาต่ำกว่าท้องตลาด นอกจากนี้บางส่วนยังไม่มีการซื้อขายกันจริง ทำให้รัฐเสียหาย 16,000 ล้านบาท ซึ่งจำเลยมีทั้งกลุ่มนัการเมือง นักธุรกิจ และบริษัทข้าว

โดยเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาจำคุกนายบุญทรงและจำเลยร่วมคนอื่นๆ รวม 15 ราย คนละ 4-48 ปี และยกฟ้องกลุ่มเอกชน 8 ราย ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยบางคนและให้ลงโทษกลุ่มบริษัทโรงสีข้าว ขณะที่จำเลยก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามกฎหมายใหม่เช่นกัน

ทั้งนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ โดยพิพากษาแก้ ให้จำคุกนายบุญทรง จำเลยที่ 2 เพิ่มอีก 1 กระทง เป็นเวลา 6 ปี รวมโทษจำคุกนายบุญทรง จากเดิม 42 ปี เป็น 48 ปี และให้ลงโทษกลุ่มบริษัทโรงสี ได้แก่ นายปกรณ์ ลีศิริกุล กรรมการบริษัท เค.เอ็ม.ซี.อินเตอร์ไรซ์ (2002) จำกัด จำเลยที่ 26 และนางประพิศ มานะธัญญา กรรมการบริษัท เจียเม้ง จำกัด จำเลยที่ 28 คนละ 4 ปี พร้อมปรับคนละ 25,000 บาท

นอกจากนี้ยังให้ปรับนิติบุคคล ซึ่งเป็นโรงสีอีก 4 ราย คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีกิจทวียโสธร จำเลยที่ 22, บริษัท กิจทวียโสธรไรซ์ จำกัด โดยนายทวี อาจสมรรถ กรรมการ จำเลยที่ 24, บริษัท เค.เอ็ม.ซี. อินเตอร์ไรซ์ (2002) จำกัด จำเลยที่ 25 และบริษัท เจียเม้ง จำกัด จำเลยที่ 27 อีกรายละ 25,000 บาท ทั้งนี้ ศาลฯ เห็นว่า การกระทำของนายทวี อาจสมรรถ หุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 23 เป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษ 2 กระทง รวมจำคุกจำเลยที่ 23 จำนวน 8 ปี และปรับ 50,000 บาท ส่วนพฤติการณ์ของกลุ่มโรงสี จำเลยที่ 23, 26, 28 นั้น ศาลฯ เห็นสมควรให้รอลงอาญาไว้คนละ 3 ปี

นอกจากนี้ศาลฯ ยังให้กลุ่มโรงสี จำเลยที่ 22-23 ชดใช้เงิน 27 ล้านบาทให้กับกระทรวงคลัง, จำเลยที่ 25-26 ให้ร่วมกันชำระเงิน 15 ล้านบาท และจำเลยที่ 27-28 ให้ร่วมกันชดใช้เงิน 55 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ได้มีการกำหนดในคำพิพากษานี้ตามที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามที่ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษา

หลังอ่านคำพิพากษา องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ได้ออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดของจำเลยแต่ละคนตามคำพิพากษา พร้อมออกคำบังคับการชดใช้ค่าเสียหายในส่วนแพ่งให้กับกระทรวงการคลังตามคำพิพากษาด้วย

ด้านนายเดชนัฐวิทย์ เตริยาภิรมย์ บุตรชายนายบุญทรง และอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เผยหลังฟังคำพิพากษาศาลฎีกาฯ ที่เพิ่มโทษนายบุญทรงว่า นายบุญทรงค่อนข้างช็อกกับผลคำพิพากษา ที่เพิ่มโทษมาอีก 6 ปี เพราะเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดมาก่อน แต่ยอมรับคำตัดสินของศาล และถือว่าได้โอกาสในการพิสูจน์ตัวเองเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งก็ดีมากแล้ว พร้อมยอมรับว่า การขอพระราชทานอภัยโทษเป็นแนวคิดหนึ่งที่จะดำเนินการต่อไป

3.ครม.เคาะแล้ว วันอภิปรายปมถวายสัตย์ฯ 18 ก.ย. ด้าน “ธนาธร” แห้ว ศาล รธน.ไม่ยกเลิกคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.!
(ซ้าย) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (ขวา) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่
ความเคลื่อนไหวทางการเมืองสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการกำหนดวันที่จะเปิดอภิปรายทั่วไป แบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 กรณีที่ฝ่ายค้านขอเปิดอภิปรายกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญแล้ว โดยตอนแรกคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) มีมติเมื่อวันที่ 2 ก.ย. เสนอให้ ครม.พิจารณาว่าจะเปิดอภิปราย 1 หรือ 2 วัน โดยมองว่า วันที่เหมาะสมที่จะเปิดอภิปรายคือ วันที่ 11 ก.ย. และ 12 ก.ย. ซึ่งเป็นวันก่อนที่จะปิดสมัยประชุมในวันที่ 19 ก.ย. 

ทั้งนี้ หลังที่ประชุม ครม.พิจารณาเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 ก.ย.แล้ว นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เผยว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้วันที่ 18 ก.ย.เป็นวันอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ โดย พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางไปชี้แจงด้วยตัวเอง ส่วนที่ไม่กำหนดให้เป็นวันที่ 11-12 ก.ย.ตามที่วิปรัฐบาลเสนอนั้น เนื่องจากนายกฯ มีภารกิจค่อนข้างมาก ขณะที่วันที่ 16 ก.ย. จะเป็นการประชุมวุฒิสภานัดสุดท้าย และวันที่ 17 ก.ย. จะเป็นการประชุม ครม.

ส่วนสถานการณ์การเมืองอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกเอกสารเผยแพร่ผลการประชุมเมื่อวันที่ 4 ก.ย. โดยมีคำสั่งรับคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 51 คน ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ส.ส.33 คน ถือครองหุ้นสื่อ เข้าข่ายทำให้สมาชิกสภาพสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 93 (3) หรือไม่ ไว้พิจารณาจำนวน 32 คน ไม่รับคำร้อง 1 คน

สำหรับ ส.ส.ที่ถูกร้องว่าถือหุ้นสื่อและศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้วินิจฉัย 32 คน แบ่งเป็น ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ 20 คน, พรรคเพื่อไทย 4 คน, พรรคเพื่อชาติ 4 คน, พรรคเสรีรวมไทย 3 คน (มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรครวมอยู่ด้วย) และพรรคประชาชาติ 1 คน

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญให้ 32 ส.ส.ที่ถูกร้อง ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากลับมายังศาลภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับสำเนาคำร้อง ส่วนที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ 32 ส.ส.ดังกล่าวหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยนั้น ศาลฯ เห็นว่า คดีนี้ไม่มีการตั้งคณะกรมการไต่สวนข้อเท็จจริง จึงไม่ปรากฏเอกสารหลักฐานใด ให้ใช้เป็นฐานในการพิจารณา มีเพียงหนังสือรับรองห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทระบุวัตถุประสงค์กับสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นเอกสารประกอบคำร้อง ไม่ปรากฏแบบแสดงรายการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของห้างหุ้นส่วน บริษัท (แบบ สสช.1) แบบนำส่งงบการเงินของห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทว่า มีรายได้จากการประกอบกิจการใด จึงยังไม่มีมูลให้เห็นว่า ส.ส.ทั้ง 32 คนประกอบธุรกิจใด ศาลฯ จะต้องไต่สวนข้อเท็จจริงให้ยุติก่อน เมื่อยังไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า ส.ส.ทั้ง 32 คน มีกรณีตามที่ถูกร้อง จึงยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวจนกว่าศาลฯ จะมีคำวินิจฉัย หลังศาลฯ มีคำสั่งรับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขอให้ศาลฯ วินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายธนาธรกรณีถือหุ้นสื่อ ปรากฏว่า นายธนาธรได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยกเลิกคำสั่งที่ให้ตนหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. แต่ศาลฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ยังไม่ปรากฏพฤติการณ์อันเป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ของนายธนาธร จึงให้ยกคำร้องขอ

4.ศาลฎีกาพิพากษาแก้ ให้รอลงอาญา “ลูกชายสนธิ” ทำผิด พ.ร.บ.วิทยุโทรทัศน์ ชี้พฤติการณ์ไม่ร้ายแรง!

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท ไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด, นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล และนายพชร สมุทวณิช ผู้บริหารบริษัทฯ เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันส่งวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ เพื่อให้บริการสาธารณะหรือชุมชนโดยไม่ได้รับอนุญาต ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต

โดยโจทก์ฟ้องว่า ระหว่างเดือน ก.ย. 2548-3 ก.พ. 2549 จำเลยทั้งสามร่วมกันประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ โดยร่วมกันบันทึกรายการ ภาพและเสียง หรือทำการถ่ายทอดสดรายการตามที่มีกำหนดไว้ในผังรายการ แล้วส่งข้อมูลสัญญาณภาพและเสียงผ่านทางสายเคเบิลใยแก้ว ซึ่งเช่าจากบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งต่อไปที่เกาะฮ่องกง ประเทศจีน จากนั้นมีการส่งสัญญาณภาพและเสียงต่อไปยังดาวเทียม NSS6 แล้วดาวเทียมส่งข้อมูลสัญญาณภาพและเสียงกลับมาที่ประเทศไทย ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ เอเอสทีวี ช่องนิวส์วัน ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถซื้อจานรับสัญญาณดาวเทียมเพื่อดูรายการโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย อันเป็นการส่งวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2559 ยกฟ้อง ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งวิทยุโทรทัศน์ หรือประกอบกิจการโทรทัศน์โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย มีความผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2495 มาตรา 3, 5, 17 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำคุกจำเลยที่ 2 และ 3 คนละ 2 ปี และปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 90,000 บาท แต่ในทางนำสืบของจำเลยทั้งสาม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 และ 3 คนละ 1 ปี 4 เดือน และปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 60,000 บาท กับให้ปรับจำเลยทั้งสามเป็นรายวันๆ ละ 2,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2548-23 ม.ค. 2549 ต่อมาจำเลยที่ 1-3 ฎีกาสู้คดี

ทั้งนี้ ศาลฎีกาตรวจสำนวนปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1-3 มีความผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2495 มาตรา 3, 5, 17 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และ 3 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามเป็นเรื่องของการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตในการดำเนินการ ซึ่งหน่วยงานที่มีอำนาจออกใบอนุญาตดำเนินการส่งวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) แต่ในช่วงเวลาเกิดเหตุยังไม่มีการจัดตั้ง กสช.ขึ้น จึงไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการออกใบอนุญาตให้เอกชนรายใดดำเนินการได้ ดังนั้นพฤติการณ์แห่งคดีจึงถือว่าไม่ร้ายแรงมากนัก

อีกทั้งจำเลยที่ 2 และ 3 ไม่เคยกระทำความผิดและไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยที่ 2 และ 3 โดยรอการลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และเห็นควรลงโทษปรับจำเลยที่ 2 และ 3 ด้วย พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 2 และ 3 คนละ 90,000 บาท ลดโทษให้คนละ 1 ใน 3 คงปรับคนละ 60,000 บาท ส่วนโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 3 ปี นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ด้านนายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือผู้จัดการ กล่าวหลังฟังคำพิพากษาโดยกราบขอบพระคุณในคำพิพากษาของศาล และว่า หลังจากมีการต่อสู้คดีมาเป็นเวลานาน ตนเข้าใจแต่ละฝ่ายว่ามีมุมมองทั้งทางนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ที่แตกต่างกัน ซึ่งก็เข้าใจ และไม่ว่าศาลจะตัดสินออกมาอย่างไรก็เคารพคำตัดสินของศาล

ส่วนการดำเนินกิจการของสถานีวิทยุโทรทัศน์เอเอสทีวี ช่องนิวส์วัน นายจิตตนาถกล่าวว่า ปัจจุบันได้ดำเนินกิจการภายใต้การอนุญาตของรัฐ ซึ่งก็คาดว่าจะไม่มีปัญหาอะไร แต่จะยังคงต่อสู้ในเรื่องของภาคประชาชน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดำเนินมา และเราก็ต้องยืนหยัดในเรื่องนี้ต่อไป โดยหวังว่าจะทำให้เกิดสิ่งดีๆ กับสังคมไทยขึ้นมาได้ในอนาคต

5.ดีเอสไอแถลง "บิลลี่" ถูกฆ่าแล้วเผา หลังหายไป 5 ปี พบกระดูกในถังน้ำมันใต้เขื่อนแก่งกระจาน ด้าน “ชัยวัฒน์” ปัดฆ่า!
(บน) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีดีเอสไอ (ล่าง) นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่หายตัวไปนาน 5 ปี
เมื่อวันที่ 3 ก.ย. พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมด้วย พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีดีเอสไอ, พ.ต.ท. เสฏฐ์สถิตย์ สุวรรณกูฎ รอง ผอ.กองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค, นพ.วรวีย์ ไวยวุฒิ ผอ.กองสารพันธุกรรม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์, นายสว่างทิตย์ ศรีกิจสุวรรณ หัวหน้าศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมอวกาศและทะเล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลับเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าการสอบสวนกรณีนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หายตัวไปอย่างลึกลับตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2557

พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวว่า คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ได้มีมติให้รับคดีดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2561 โดยพฤติการณ์ของคดีที่ต้องสืบสวนสอบสวนคือ นายพอละจีได้ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุม ในระหว่างนำน้ำผึ้งออกจากพื้นที่อุทยานฯ โดยไม่ได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 17 เม.ย.2557 โดยเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัวอ้างว่า ได้ปล่อยตัวนายพอละจี พร้อมรถจักรยานยนต์และน้ำผึ้งของกลางไปโดยไม่ได้ดำเนินคดี แต่ น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยานายพอละจี และญาติเชื่อว่า นายพอละจีหายสาบสูญไปโดยถูกบังคับ

พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวอีกว่า "คดีนี้มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ดีเอสไอจึงต้องส่งสำนวนไปให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวน จากนั้นในเดือน ธ.ค.2561 ป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนกลับมาให้ดีเอสไอสอบสวน โดยแยกการสอบสวนออกเป็น 2 สำนวน คดีแรกเป็นคดีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ส่งตัวนายพอละจีให้ตำรวจดำเนินคดีข้อหาลักลอบเก็บของป่า และคดีการหายตัวไปของนายพอละจี"

ขณะที่ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ดีเอสไอใช้เวลานานมากในการตรวจพยานหลักฐานจนทราบจุดพิกัดที่เชื่อว่า คนร้ายน่าจะนำสิ่งของหรือวัตถุต้องสงสัยไปทิ้ง เพราะนายพอละจีหายตัวไปพร้อมรถจักรยานยนต์ กระทั่งเมื่อเดือน เม.ย. และ พ.ค.ที่ผ่านมา ดีเอสไอได้ร่วมกับ มจพ.ใช้โดรนสำรวจทางอากาศร่วมกับหุ่นยนต์ใต้น้ำ หรือยานยนต์สำรวจใต้น้ำ เพื่อตรวจค้นวัตถุพยานใต้น้ำบริเวณสะพานแขวนเขื่อนแก่งกระจาน พบวัตถุต้องสงสัย 3-4 จุด จึงนำนักประดาน้ำจาก ตชด. มาช่วย พบถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร 1 ถัง และยังพบเหล็กเส้น 2 เส้น ถ่านไม้ 4 ชิ้น เศษฝาถังน้ำมัน ขณะที่ในถังน้ำมันมีชิ้นส่วนกระดูก 2 ชิ้น นอกจากนี้บริเวณใกล้ถังน้ำมันยังพบเศษกระดูกคล้ายกระดูกมนุษย์

จึงได้รวบรวมส่งให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจพิสูจน์ พบว่า วัตถุดังกล่าวเป็นชิ้นส่วนกระดูกกะโหลกศีรษะข้างซ้ายของมนุษย์ มีรอยไหม้สีน้ำตาล ร่วมกับรอยแตกร้าว และการหดตัวของกระดูกจากการถูกความร้อนหรือถูกเผาด้วยความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 200-300 องศาเซลเซียส ตรวจพบสารพันธุกรรมตรงกับนางโพเราะจี รักจงเจริญ แม่ของนายพอละจี เป็นไมโตรคอนเดียดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกเท่านั้น จึงยืนยันได้ว่ากะโหลกศีรษะที่พบเป็นของนายพอละจี ซึ่งเสียชีวิตจากการฆาตกรรม

พ.ต.ท.กรวัชร์ กล่าวอีกว่า ส่วนกระดูกที่พบเพิ่มเติมอีก 20 ชิ้น ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และว่า แม้จะสรุปได้ว่านายพอละจีเสียชีวิตแล้ว แต่ยังไม่ทราบวิธีที่ทำให้ตาย โดยศพถูกนำมาเผาทำลายเพื่ออำพรางคดี "แม้จะพอรู้ตัวกลุ่มผู้ต้องสงสัย แต่ขอเวลาให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานให้ชัดเจน และจะเชื่อมโยงวัตถุพยานในที่เกิดเหตุว่าเกี่ยวข้องกับบุคคลใดบ้าง โดยเฉพาะเหล็กเส้น 2 เส้นจากเสาตอม่อ และพฤติการณ์ของกลุ่มคนร้ายที่กระทำผิดครั้งนี้เข้าข่ายลักษณะเป็นการฆาตกรรมโดยทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ"

ด้าน น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยานายพอละจีหรือบิลลี่ กล่าวหลังทราบผลแถลงของดีเอสไอว่า เมื่อเห็นภาพกระดูกของบิลลี่ รู้สึกจุกอกจนพูดไม่ออกว่า ทำไมถึงทำกับบิลลี่ได้ บิลลี่ไปทำอะไรให้ถึงกับต้องเอาชีวิตกันด้วย เพราะบิลลี่ไม่เคยไปทำอะไรร้ายแรงกับใครเลย และว่า เมื่อรู้ว่าบิลลี่ตายแล้ว หลังจากรอคอยคำตอบมา 5 ปี ในแง่จิตใจก็ไม่ต้องไปวนเวียนว่า บิลลี่หายไปไหน ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

น.ส.พิณนภา กล่าวอีกว่า ต่อจากนี้ตนและลูกทั้ง 5 คน รวมถึงแม่ของบิลลี่ กังวลเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากตอนที่บิลลี่หายไปในช่วงแรก คนที่เกี่ยวข้องกับการหายไปได้มาข่มขู่ว่า จะทำให้ครอบครัวหายไป เมื่อความจริงปรากฏ ทำให้ครอบครัวกังวลว่า คนที่ก่อเหตุจะย้อนกลับมาทำร้าย จึงอยากให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจับตัวคนที่ทำกับบิลลี่มาดำเนินคดีโดยเร็ว “ครอบครัวเราไม่ต้องการเงินเยียวยาจากคนที่ทำกับบิลลี่ แต่อยากร้องขอไปทางกรมอุทยานฯ ให้ชาวบ้านได้กลับไปอยู่ในพื้นที่ที่ถูกเผาขับไล่ที่ลงมา เพราะสำหรับคนกะเหรี่ยง เงินไม่ได้สำคัญ เงินไม่ได้กินได้ตลอดชีวิต แต่หากมีพื้นที่ทำกิน เราสามารถอยู่ได้ทั้งชีวิต”

ด้าน พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึงคดีฆาตกรรมนายพอละจีหรือบิลลี่อีกครั้งเมื่อวันที่ 4 ก.ย.ว่า คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2-3 เดือน จะสามารถสรุปสำนวนสั่งคดีได้ โดยระหว่างนี้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ขอเวลา 1 เดือนเต็มในการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอจากชิ้นส่วนกระดูก 20 ชิ้นที่งมขึ้นมาได้จากลำน้ำในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

วันเดียวกัน (4 ก.ย.) นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 9 อุบลราชธานี อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าวว่า ขอให้ทุกคนคิดเอาเองแบบพื้นๆ เลยว่า หากตนเองได้กระทำผิดร้ายแรงแบบนั้นจริงๆ การเอาศพไปทิ้งไว้ในพื้นที่แบบนั้นซึ่งเป็นที่ที่อยู่ใกล้ตัว แล้วใครจะกล้าทำ ต่อให้ยิ่งใหญ่จากไหนก็ไม่มีใครกล้าทำแบบนี้ รู้สึกน้อยใจ โดยเฉพาะน้อยใจแทนลูกน้องที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไร ต้องมาพลอยรับผลกับสิ่งที่ไม่รู้เรื่องด้วย

นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า “ลำพังตัวผมไม่เท่าไหร่ เพราะมีคนจ้องผมด้วยเรื่องนี้มานานแล้ว ที่ผ่านมาผมก็พิสูจน์มาแล้วว่า ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เรื่องหนึ่งที่ขอตั้งข้อสังเกตก็คือ บริเวณสะพานที่ทางดีเอสไออ้างว่า เจอกระดูกนั้น เป็นบริเวณที่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย จะเอากระดูกของคนตายมาลอยอังคารกันอยู่แล้ว ส่วนการตรวจโดยวิธีไมโตรคอนเดียนั้น ใช้วงเลือดมาพิสูจน์อย่างเดียวว่า กระดูกชิ้นนั้นเป็นของบิลลี่ ผมว่ามันไม่น่าจะพอ และสรุปออกมาแบบนี้ หลังจากนี้คงต้องเตรียมตัวต่อสู้ทางกฎหมายต่อไป”

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคดีนายพอละจีหรือบิลลี่หายตัวไป 5 ปีและเพิ่งพบว่าถูกฆาตกรรมว่า ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ให้สืบสวนสอบสวนอย่างรัดกุมและหาตัวผู้กระทำผิดมาให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ดีเอสไอรับเรื่องนี้ไปแล้ว และระบุว่าจะมีความชัดเจนภายใน 3 เดือน ขอย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร ก็ทำผิดกฎหมายไม่ได้ทั้งสิ้น ตนคงจะไปช่วยใครไม่ได้ กฎหมายว่าอย่างไรก็ต้องทำตามนั้น ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการสอบสวนและวัตถุพยาน ศาลก็ตัดสินไปตามนั้น

ล่าสุด ดีเอสไอได้จัดเจ้าหน้าที่ไปดูแลความปลอดภัยให้ภรรยาและแม่ของนายพอละจีหรือบิลลี่ ตามโครงการคุ้มครองพยานของดีเอสไอแล้ว ขณะที่กระทรวงยุติธรรมอยู่ระหว่างเร่งจ่ายเงินเยียวยาแก่ญาติของนายพอละจี
กำลังโหลดความคิดเห็น