xs
xsm
sm
md
lg

มุสลิม “เล่นของ” ลองดีพระไทย! พุทธ-มุสลิมนับถือกราบไหว้ “ที่นอน” มากว่า ๔๐๐ ปี!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


มีข้อห้ามที่สำคัญอย่างหนึ่งในศาสนาอิสลาม คือห้ามเชื่อถือในไสยศาสตร์เวทย์มนตร์คาถา ทั้งยังห้ามสร้างและนับถือรูปเคารพ แต่ก็มีนักบวชท่านหนึ่งที่นำศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแพร่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา สามารถใช้อิทธิปาฏิหาริย์เอาชนะสมภารของวัดหนึ่งซึ่งเชี่ยวชาญในด้านไสยศาสตร์ได้ จนท่านสมภารที่แพ้พนันต้องหันไปนับถือศาสนาอิสลาม ต่อมาวัดของท่านสมภารก็กลายเป็นมัสยิด เมื่อทั้งสองท่านเสียชีวิต แม้ข้อห้ามทางศาสนาจะไม่มีการสร้างรูปเคารพของท่านไว้ แต่ศาสนสถานซึ่งเป็นสุสานของท่าน ก็มีทั้งผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามและนับถือศาสนาพุทธ ไปกราบไหว้ด้วยความเคารพศรัทธา ตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้เป็นเวลากว่า ๔๐๐ ปีโดยมิเสื่อมคลาย

ท่านผู้มีชีวิตมหัศจรรย์ท่านนี้ ชาวบ้านทั่วไปเรียกกันว่า “เจ้าประคุณตะเกี่ย” ซึ่งคำว่า ตะเกี่ย” เป็นภาษาเปอร์เซีย มาจากคำว่า ตะกียะฮู หมายถึงที่สบอารมณ์ ที่พักของผู้สันโดษ หรือสุสาน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาบที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “ตะเกี่ยโยคินราชมิสจินจาสยาม” ซึ่งมัสยิดในชื่อนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลตลองตะเคียน อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และมีป้ายจารึกประวัติย่อของท่านแสดงไว้

เจ้าประคุณตะเกี่ยเป็นชาวฮินดูสตาน จาริกแสวงบุญจากอินเดียมายังกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ.๒๑๕๓ สมัยพระเจ้าทรงธรรม เพื่อนำศาสนาอิสลามมาเผยแพร่ เรื่องราวอันเป็นตำนานของท่านเริ่มขึ้นในวันหนึ่ง เมื่อท่านสมภารวัดเทพชุมพลกลับจากบิณฑบาตทางเรือ พอมาถึงฝั่งตรงข้ามของวัดก็เห็นแขกอินเดียคนหนึ่งแต่งกายชุดขาว ท่าทางเหมือนโยคี จะขออาศัยข้ามฟากไปด้วย ท่านสมภารบอกว่าเรือท่านเล็ก จะให้ลูกศิษย์ไปส่งท่านก่อนแล้วจะให้กลับมารับ

แต่เมื่อสมภารข้ามไปถึงวัด ก็พบว่าโยคีท่านนั้นหรือเจ้าประคุณตะเกี่ย มานั่งอยู่ที่ศาลาท่าน้ำแล้ว ด้วยเหตุที่ท่านสมภารเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องไสยศาสตร์ แก่กล้าในด้านคาถาอาคม ก็รู้ว่าโยคีแขกผู้นี้ไม่ธรรมดาแน่ จึงแอบกระซิบให้ลูกศิษย์เอาหัวหมูไปแขวนไว้ที่กิ่งต้นจันทน์ แล้วชวนโยคีขึ้นไปสนทนากันบนกุฏิ
เมื่อโยคีเดินรอดหัวหมูเข้าไปแล้ว ท่านสมภารก็ถามว่า

“เขาว่าแขกเกลียดหมูไม่ใช่หรือ ทำไมท่านเดินลอดหัวหมูเข้ามาล่ะ”
เจ้าประคุณตะเกี่ยก็บอกว่า “นั่นมันหัวหมูที่ไหนล่ะ มันเป็นหัวแพะ”
ท่านสมภารเดินกลับไปดูอีกครั้ง ก็ปรากฏว่าหัวหมูกลายเป็นหัวแพะไปแล้ว
เมื่อได้คู่ต่อสู้ที่ถูกอัธยาศัย ทั้งสองท่านก็สนทนากันในเรื่องวิชาที่ตนสนใจตรงกัน แม้จะไม่มีอยู่ในทั้งสองศาสนาก็ตาม จนเกิดท้าประลองความรู้กันขึ้น โดยมีเดิมพันว่าถ้าใครเป็นฝ่ายแพ้ ต้องเปลี่ยนศาสนาไปตามผู้ชนะ

ท่านสมภารเป็นผู้เริ่มก่อน ให้ลูกศิษย์ไปเอาไข่มากระจาดหนึ่ง แล้วตั้งไข่เรียงขึ้นไป ไข่ก็ตั้งเรียงสูงขึ้นไปโดยไม่ล้ม เหมือนมีอะไรประคองไว้

ถึงคราวโยคี เจ้าประคุณตะเกี่ยก็ชักไข่ออกลูกเว้นลูก แต่ไข่ที่เหลือยังลอยอยู่ได้ด้วยปาฏิหาริย์

เกมนี้ท่านสมภารยอมรับว่าแพ้ เกมต่อไปเป็นการเล่นซ่อนหา ท่านสมภารเริ่มด้วยการหายวับไปกับตา เจ้าประคุณตะเกี่ยก็เดินไปที่ท่าน้ำ แล้วร้องถามว่า

“ท่านไปอยู่ในฟองน้ำนั่นทำไม ขึ้นมาเถอะ”

ต่อไปโยคีเป็นฝ่ายหายบ้าง ท่านสมภารหาเท่าไหร่ก็ไม่พบ จนโยคีต้องเปิดเผยตัวออกมาว่า เป็นผงติดอยู่ที่ขนตาของท่านสมภารนั่นเอง

สรุปว่าการท้าประลองวิทยายุทธนี้ท่านสมภารเป็นฝ่ายแพ้ ต้องเปลี่ยนศาสนาไปถืออิสลาม มีชื่อเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ท่านดิหว่านเจ้า” และทั้งสองท่านก็พำนักอยู่ที่วัดเทพชุมพลด้วยกัน โดยเจ้าประคุณตะเกี่ยได้สร้างที่พักขึ้นบนฐานของพระอุโบสถ และได้รับความเคารพเลื่อมใสจากชาวมุสลิมและประชาชนทั่วไป จนต่อมาวัดเทพชุมพลได้กลายเป็นมัสยิด

เจ้าคุณตะเกี่ยถึงอนิจกรรมใน พ.ศ.๒๒๒๔ ศพของท่านถูกฝังไว้ตรงที่เคยเป็นที่อยู่ของท่าน ส่วนท่านดิหว่านเจ้าได้ดำเนินกิจการของมัสยิดต่อ จนอีก ๗ ปีต่อมาจึงถึงอนิจกรรมตามกันไป ศพถูกฝังไว้คู่กัน โดยผู้ที่เคารพศรัทธาได้สร้างอาคารครอบที่ทอดร่างของท่านทั้งสองไว้ แม้มัสยิดทั้งหลายจะไม่มีการจุดธูปกราบไหว้ แต่มัสยิดตะเกี่ยโยคินราชมิสจินจาสยาม ก็อนุโลมให้คนต่างศาสนาจุดธูปบูชาที่นอนของท่านทั้งสองได้

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏว่า ในยุคนั้นมีบุคคลสำคัญที่นำศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยมี ๒ ท่าน

ท่านแรกคือ เฉกอะหมัด เป็นพ่อค้าชาวเปอร์เซีย นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์อิสนาอะชะรี เข้ามาในปลายสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เข้ารับราชการในสมัยพระเจ้าทรงธรรม และเป็นจุฬาราชมนตรีคนแรก ได้สร้าง “กุฎีทอง” ขึ้น เพื่อใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจเป็นแห่งแรกในขณะที่เป็นพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าขวา ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็น เจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดี ที่สมุหนายก อัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ จึงได้สร้าง “กุฎีใหญ่เติกกี้” ขึ้น เพื่อให้เจ้าประคุณตะเกี่ยใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจตามหลักศาสนาอิสลาม

อีกท่านหนึ่งก็คือเจ้าประคุณตะเกี่ย มีนามจริงว่า การอมาร์ต ฮาฮิอัลเลาะฮ์ยาร์ค เป็นชาวฮินดูสตาน (อินเดีย) นับถือศาสนาอิสลามนิกานสุหนี่ และมีโอกาสรับสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเช่นกัน ด้วยการแสดงอภินิหาริย์ช่วยเหลือในเหตุการณ์ต่างๆซึ่งมนุษย์ธรรมดาไม่สามารถทำได้ จนเป็นที่ทรงโปรดปราน ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์รวมทั้งเขตอารามที่ตั้งสำนักให้เป็นกรรมสิทธิ์

เจ้าประคุณคะเกี่ยถึงอนิจกรรมใน พ.ศ.๒๒๒๔ ปีที่ ๒๖ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ส่วนดิหว่านเจ้าถึงแก่กรรมในปี ๒๒๓๑ ปีเดียวกับที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคต

เรื่องที่เกี่ยวกับการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ของเจ้าประคุณตะเกี่ยกับดิหว่านเจ้าที่เล่ากันต่อๆมานั้น แม้จะเหมือนกับเป็นเรื่องนิทาน แต่การที่ศาสนสถานแห่งนี้ได้รับความเคารพศรัทธาจากศาสนิกชน ๒ ศาสนาเป็นเวลากว่า ๔๐๐ ปีมาแล้ว ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดาแน่ มัสยิดแห่งนี้จึงเป็นสถานที่น่าสนใจ และน่าจะแวะไปชมกันสักครั้ง




กำลังโหลดความคิดเห็น