อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แจงเพิ่งปล่อยตัว “สนธิ ลิ้มทองกุล” ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ มาจากตีความกฎหมายคลาดเคลื่อน เผยมีผู้ต้องขังอดีตผู้บริหาร “รอยเนต” ทำความผิดลักษณะเดียวกัน ยื่นอุทธรณ์ว่าลดโทษน้อยไป ทั้งที่องค์ประกอบความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ตามบัญชีแนบท้ายต้องเป็นสถาบันการเงิน ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนธรรมดา ผู้พิพากษาระบุเป็นไปตามผู้ร้องจึงได้ลดโทษ อานิสงส์มาถึงสนธิ อายุเกิน 70 ปี ไม่มีบัญชีแนบท้ายจึงปล่อยตัว
วันนี้ (5 ก.ย.) พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 เอ็มคอท เอชดี หมายเลข 30 ถึงกรณีการปล่อยตัวนายสนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 71 ปี ผู้ต้องขังคดีตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ว่า สื่อและประชาชนเข้าใจผิดว่าเป็นการปล่อยผู้ต้องขังนอกฤดูกาล ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นวาระสำคัญอันเป็นมงคลของชาติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งตามโบราณราชประเพณีทุกยุคทุกสมัยที่มีพระราชพิธีใดอันเป็นมงคลของชาติ ก็จะมีกิจกรรมหลายอย่าง ในส่วนของกรมราชทัณฑ์ที่ถือปฏิบัติมาหลายสิบปีก็จะมีลักษณะของการพระราชทานอภัยโทษเป็นกลุ่ม ฝ่ายบริหาร เช่น กระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ คณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี ก็จะกลั่นกรองนำเสนอหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ทางฝ่ายบริหารเห็นว่าน่าจะได้รับอานิสงส์ในพระราชพิธีใหญ่เหล่านี้
โดยกฎหมายปี 2562 มีอยู่ 2 ลักษณะ ได้แก่ พระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว และพระราชทานอภัยโทษลดโทษลงมา ลดหลั่นตามเงื่อนไข ตามชั้นและข้อหาความผิด กรณีนายสนธิถ้ามีการตีความกฎหมายตั้งแต่ในช่วงกฎหมายประกาศบังคับใช้ นายสนธิจะได้รับการปล่อยตัวตามมาตรา 6 (จ) เป็นคนมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งฝ่ายบริหารเสนอขึ้นไป เพราะเห็นว่าคนอายุแบบนี้ไม่น่าจะมีพิษภัยต่อสังคมที่เอื้อต่อการกระทำความผิดซ้ำ และให้ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสงบ ซึ่งไม่ใช่ผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปทุกรายจะได้รับการปล่อยตัว เพราะมีคดีบางประเภทตามบัญชีแนบท้ายซึ่งเป็นคดีที่รุนแรง เช่น คดีฆ่าข่มขืน คดีผลิตและส่งออกยาเสพติดขนาดใหญ่ และคดีนโยบาย ข้อหาตัดไม้ทำลายป่า รวมไปถึงคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์อยู่ด้วย จะไม่ให้ปล่อย ให้ลดโทษเฉยๆ ซึ่งนายสนธิก็ไม่ได้รับการปล่อยตัว ได้เพียงแค่ลดโทษลง
แต่เมื่อสัปดาห์ก่อน มีผู้ต้องขังรายหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับคดีนายสนธิ แต่กระทำความผิดในลักษณะคล้ายคลึงกัน ถูกจำคุกในฐานะเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท รอยเนต จำกัด (มหาชน) แต่ก็มีข้อโต้แย้งในเชิงกฎหมาย ได้อุทธรณ์คำสั่งคณะกรรมการอภัยโทษว่า ได้รับการลดโทษน้อยไป ตามมาตรา 8 โต้แย้งว่า ความจริงต้องได้รับการลดโทษตามมาตรา 7 ซึ่งลดโทษมากกว่า จึงยื่นเรื่องเข้ามา สาเหตุสำคัญที่้อธิบายคือ องค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตามบัญชีแนบท้ายมี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ 1. ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 2. เป็นกรรมการผู้จัดการหรือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย 3. บริษัทต้องเป็นสถาบันทางการเงิน ซึ่งบริษัท รอยเนต ที่ผู้ต้องขังอุทธรณ์ เป็นบริษัทเกี่ยวกับการสื่อสาร ไม่ใช่สถาบันทางการเงิน
เมื่อเสนอไปที่คณะกรรมการอภัยโทษพิจารณา ผู้พิพากษารายหนึ่งที่เป็นกรรมการอภัยโทษในเขตกรุงเทพมหานคร ส่วนเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครก็เขียนว่าคำร้องอุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น มีมูล จึงให้กรมราชทัณฑ์ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป การตีความลักษณะของกฎหมายอภัยโทษเหล่านี้ต้องตีความให้เป็นคุณตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและเคร่งครัด หากบริษัทที่ผู้ร้องอุทธรณ์ไม่ใช่สถาบันการเงิน ถือว่าไม่เข้าองค์ประกอบของบัญชีแนบท้าย ผู้ต้องขังที่ยื่นเรื่องรายนั้นก็ได้รับการลดโทษเพิ่ม เมื่อเรื่องมาถึงกรมราชทัณฑ์พบว่ามีการตีความแตกต่างก็จะกระทบต่อผู้ต้องขังคนอื่น จึงทำการสำรวจพบว่าคดีนายสนธิเป็นคดีลักษณะเดียวกัน เพราะบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ไม่ใช่สถาบันการเงินเช่นเดียวกับบริษัท รอยเนต เพราะฉะนั้น นายสนธิจึงมีลักษณะเดียวกัน แต่นายสนธิมีอายุเกิน 70 ปี และไม่ติดบัญชีแนบท้าย
เพื่อให้มีความชัดเจน ตนจึงได้ทำหนังสือถึงนายบุญชู ทัศนประพันธ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ยืนยันว่าเป็นเช่นนี้หรือไม่ เพื่อให้กรมราชทัณฑ์ดำเนินการให้ถูกต้อง จึงได้ประชุมร่วมกับรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา หัวหน้าผู้พิพากษาแผนกคดีค้ามนุษย์ หัวหน้าผู้พิพากษาแผนกคดียาเสพติด และกรรมการตามมาตรา 18 ที่จะเสนอรายชื่อผู้ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งมีผู้แทนอัยการสูงสุดรวมอยู่ด้วย ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ว่าตีความตามที่ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์ดังกล่าว จึงได้อานิสงส์มาถึงนายสนธิ จึงต้องปล่อยตัว เป็นปัญหาการตีความทางกฎหมายคลาดเคลื่อน ซึ่งนายสนธิมีอยู่ 2 คดี อีกคดีหนึ่งคือกรณีร่วมกันบุกรุกทำเนียบรัฐบาล ต้องโทษ 8 เดือน น่าจะพ้นไปแล้ว
“เราดำเนินการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย จริงๆ เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการใช้ดุลพินิจเหมือนกับการพักโทษปกติ และการพักโทษพิเศษด้วยซ้ำไป เป็นเรื่องของการตีความทางกฎหมายคลาดเคลื่อนโดยแท้ ถ้าเป็นลักษณะการพักโทษ หรือการพักโทษพิเศษ ป่วยจริง รับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 ก็จะต้องมีแพทย์รับรอง ยังมีเรื่องของการใช้ดุลพินิจในข้อเท็จจริงว่าสุขภาพร่างกายเป็นอย่างไร แต่ในกรณีนี้เป็นการตีความตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายพระราชทานอภัยโทษระบุชัดเจนว่า ถ้าอายุเกิน 70 ปี และไม่ได้ติดข้อหาประเภทบัญชีแนบท้าย ที่เป็นคดีเน้นหนัก คดีนโยบาย ให้ปล่อยตัวไปเลย นายสนธิอายุเกิน 70 ปี กฎหมายพระราชทานอภัยโทษไม่ได้บอกว่าต้องรับโทษมาแล้วไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง กึ่งหนึ่ง และไม่ได้ล็อกไว้ว่าจะต้องเหลือโทษไม่เกินกี่ปี ในกรณีนี้แสดงว่าคณะกรรมการร่างฯ ที่นำเสนอขึ้นไปเห็นว่าคนอายุเกิน 70 ปี ทำคดีที่ไม่ได้ทำความเสียหายต่อสังคมมาก และไม่ใช่คดีนโยบาย ให้ปล่อยตัวตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอภัยโทษฉบับปี 2562” พ.ต.อ.ณรัชต์กล่าว
ส่วนผู้ต้องขังในคดีเดียวกันอีก 2 คน คือ น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ และ น.ส.ยุพิน จันทนา กรรมการบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จะได้รับอะไรจากการตีความกฎหมายฉบับนี้ พ.ต.อ.ณรัชต์กล่าวว่า ยังไม่ได้ดูละเอียด แต่ถ้าตีความอย่างนี้ได้รับการลดโทษน้อยตามมาตรา 8 ก็ต้องเปลี่ยนมาลดโทษมากขึ้นตามมาตรา 7 เพราะคดีความผิดไม่ใช่บัญชีแนบท้ายอีกต่อไป การตีความต้องเป็นสถาบันการเงิน บริษัทประกัน บริษัทเครดิตฟองซีเอร์ ถ้าบริษัททั่วไปเพียงแค่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ถือว่าเป็นองค์ประกอบและไม่ถือเป็นข้อยกเว้น ซึ่งผู้ต้องขังทั้งสองคนไม่ได้อายุเกิน 70 ปี ถึงขั้นได้รับปล่อยตัวก็จะได้รับการลดโทษมากขึ้นเป็นสัดส่วน
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับผู้ต้องขังที่อุทธรณ์คำสั่งคณะกรรมการอภัยโทษ คือ นายกิตติพัฒน์ เยาวพฤกษ์ อดีตผู้บริหารบริษัท รอยเนต จำกัด (มหาชน) กรณีตกแต่งบัญชีเพื่อลวงบุคคลอื่น ปกปิดรายงานการซื้อขายหลักทรัพย์ และใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหลักทรัพย์ ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2554 ให้จำคุก 8 ปี 18 เดือน และปรับ 1,880,000 บาท