หลากหลายคำถามที่มาพร้อมกับความห่วงใยต่อผลกระทบที่อาจจะมีต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งวิถีชีวิตผู้คน กลายเป็นของคู่กันไปแล้วเมื่อมีอภิมหาโครงการอย่างการสร้างอ่างเก็บน้ำจะเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่ง
ทั้งแรงหนุนและแรงต้านมาจากคนที่คิดและมองต่างมุมกัน เพราะในความเป็นจริง การสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อน ถ้ามองถึงวัตถุประสงค์อันแท้จริงของโครงการใหญ่ยักษ์เหล่านี้ล้วนทำเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในหลายด้าน และเป็นการควบคุมดูแลทรัพยากรน้ำให้เหมาะสมเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค
หากจำแนกคุณประโยชน์ของอ่างเก็บน้ำอาจขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ว่าเดิมทีมีปัญหาอะไร หรือต้องการเสริมศักยภาพจุดไหน เช่น จัดการน้ำเพื่อเกษตรกรรม, เพื่ออุตสาหกรรม, เพื่อผลิตไฟฟ้า, เพื่อการอุปโภคบริโภค, เพื่อบรรเทาสาธารณภัย, เพื่อการประมง เป็นต้น
แต่คุณประโยชน์ดังกล่าวก็ต้องแลกมาด้วยผลกระทบต่อบางอย่าง ทางกรมชลประทานจึงต้องดำเนินการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการจนกระทั่งระยะยาวหลังโครงการ
โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นตัวอย่างที่ดีของการที่กรมชลประทานได้ทำการศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2555 ระยะเวลา 15 ปี ประกอบด้วย 25 แผนงาน โดยมี 15 หน่วยงานเป็นผู้รับผิดชอบ
นายมหิทธิ์ วงศ์ษา หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ 2 สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน อธิบายถึงมาตรการเยียวยาว่ากรมชลประทานที่แผนดำเนินการที่ต้องเร่งดำเนินการให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ มีหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการส่งเสริมอาชีพ มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 9 หมู่บ้านในพื้นที่รอบอ่าง ขณะเดียวกันกรมชลประทานได้โอนงบประมาณส่วนหนึ่งให้แก่กรมพัฒนาชุมชน เพื่อดำเนินการแผนพัฒนาอาชีพให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ
“กรมชลประทานได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง สร้างอาชีพให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร โดยได้มีการจัดตั้งหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบรอบอ่างเก็บน้ำ 9 หมู่บ้าน ส่งเสริมอาชีพให้เป็นไปตามความต้องการของชาวบ้าน เช่น ปลูกมะนาว แปรรูปเพาะเห็ด การประมง เป็นต้น และมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบริหารกันเอง ทำให้ทั้งผู้ที่ได้รับประโยชน์ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างฯ มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น มีอาชีพที่มั่นคง มีความสุขที่ยั่งยืน และที่สำคัญยังสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจชุมชนอีกด้วย”
จะเห็นได้ว่ากรมชลประทานไม่ได้เพิกเฉยต่อผลกระทบคือความห่วงใยจากฝ่ายต่างๆ แต่ยังรับฟัง นำไปวางแผนเพื่อออกมาตรการแก้ไข จนกระทั่งนำไปสู่การเยียวยา ทำให้ปัจจุบันไม่ว่าจะอ่างเก็บน้ำที่ไหนผู้ได้รับผลกระทบได้รับการดูแลอย่างดี จำนวนมากที่คุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย