หลังพายุโพดุลถล่มประเทศไทย ทำให้หลายจังหวัดทางภาคเหนือ อีสาน ได้รับผลกระทบน้ำท่วมหนัก จนชาวบ้านต้องใส่รองเท้าบูทเป็นเวลานาน ทั้งนี้ หมอผิวหนังได้ออกมาโพสต์ข้อความเตือนโรคที่มากับการใส่รองเท้าบูทเป็นเวลานานอาจจะทำให้เกิดโรคเท้าเหม็น พร้อมแนะวิธีป้องกันและรักษา
จากเหตุการณ์พายุโพดุลถล่ม 27 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคกลาง และอีสาน จนส่งผลให้เกิดเหตุน้ำท่วมเฉียบพลันและส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังสร้างความเสียหายให้แก่ถนน สะพานและบ้านเรือนอีกหลายหลังพังเสียหาย
อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะทำให้ชาวบ้านหลายรายจำเป็นต้องใส่รองเท้าบูทเป็นเวลานาน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 ก.ย. เพจ “HELLO SKIN by หมอผิวหนัง” ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ให้ความรู้กรณีต้องสวมรองเท้าบูท รองเท้ากีฬาหรือรองเท้าคอมแบต เสี่ยงที่จะเจอโรค “Pitted Keratolysis” (โรคเท้าเหม็น) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Micrococcus sedenterius, Corynebacterium species และอื่นๆ อย่างไรก็ตาม อาจมีการติดเชื้อราแทรกซ้อนตามมาได้ และอาจจะทำให้เท้าเป็นหลุมได้ เพราะแบคทีเรียเหล่านี้ เมื่ออยู่ในสภาพความเป็นด่างที่เหมาะสม เช่น เท้าอับชื้น เหงื่อออก ก็จะสร้างเอนไซม์ protease มาย่อยผิวหนังชั้นตื้นให้เป็นรูๆ ซึ่งส่วนมากมักมีขนาดรูเล็กๆ 0.5-1 มม.
แบคทีเรียเหล่านี้ นอกจากจะย่อยสลายผิวหนังชั้นตื้นแล้ว ยังสร้างสาร sulfur compound ทำให้เกิดกลิ่นขึ้นมา ทั้งนี้ โรคดังกล่าวไม่ใช่การติดเชื้อรา จึงทายาฆ่าเชื้อราแล้วอาจจะไม่หาย โรคดังกล่าวไม่ใช่โรคติดต่อ สามารถสัมผัสกันได้ แค่ส่งกลิ่นเหม็น วิธีการรักษาควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัย หรือทายาในกลุ่มยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น Erythromycin gel, Clindamycin gel, Mupirocin ทายาในกลุ่ม Benzyl peroxide สามารถกระตุ้นให้เกิดการสร้างผิวใหม่ และฆ่าเชื้อได้
หากสามารถกำจัดปัจจัยกระตุ้นได้ เช่น เหงื่อ ความอับชื้น การรักษาใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ และอาจเป็นใหม่ได้อีก หากมีปัจจัยต่างๆ ที่เหมาะสมต่อการเกิดโรคนี้