สมาคมนักข่าวฯ จัดอภิปราย "มองจีนยุคใหม่ความท้าทายที่สื่อไทยควรรู้" กุนซือการเมือง สถานทูตจีน คาดประเทศขจัดความยากจนสิ้นเชิงได้ปีหน้า รับสหรัฐฯ บังคับทำสงครามการค้า แต่ลั่นไม่กลัว ชูจีนไม่มีวันล้ม ซัด "ทรัมป์" เอาแดนมังกรเป็นแพะรับบาปการเมืองภายใน ด้าน ผอ.ศูนย์อาเซียนฯ จุฬาฯ ยกนโยบายเมด อิน ไชน่า 2025 ดันคนจีนกินใช้ของจีน ปูดเริ่มใช้ระบบโซเชียล เครดิต เรทติ้ง คุมประชาชน ขณะที่ ซีอีโอ Strategy 613 ชี้เทรดวอร์ทำพี่ใหญ่เอเชียเริ่มรู้ตัวยังขาดนวัตกรรมอีกมาก
วันนี้ (31 ส.ค.) ที่โรงแรมอโนมา ราชประสงค์ กทม. เมื่อเวลา 09.45 น. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ได้จัดการอภิปรายในหัวข้อ มองจีนยุคใหม่ความท้าทายที่สื่อไทยควรรู้ โดยมีนายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ นางหยาง หยาง ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวต้อนรับ โดยนายมงคล กล่าวว่า การอภิปรายครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการอบรมให้แก่ผู้สื่อข่าวไทยซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยมีทางสถานเอกอัครราชทูตจีนฯ ให้การสนับสนุนแต่ไม่ได้ก้าวก่ายหรือแทรกแซงทั้งในการเลือกวิทยากรหรือเลือกเยี่ยมชมสถานที่ใดๆ ซึ่งที่ผ่านมาทางสมาคมฯ ก็มีการประสานงานกับหลายประเทศเช่นกัน
ด้าน นางหยาง หยาง ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า กิจกรรมนี้จะเป็นการสร้างสะพานเชื่อมโยงความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย โดยหวังจะทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในมุมที่หลากหลาย ขณะที่ปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 70ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจจีนมีความเจริญเติบโตต่อเนื่องตั้งแต่ปี ค.ศ.1978 ที่เปิดประตูสู่ภายนอก ขณะที่ชีวิตความเป็นอยู่ก็ตั้งเป้าพัฒนาขจัดความยากจนโดยคาดว่าจะสามารถขจัดได้อย่างสิ้นเชิงในปีหน้า พร้อมยืนยันว่าจีนไม่ยอมทำสงครามการค้ากับใคร แต่เป็นเพราะสหรัฐอเมริกาบังคับ เพราะชัดเจนว่าสงครามการค้าไม่มีฝ่ายชนะ แต่ขอย้ำว่าจีนไม่กลัว แต่ก็ต้องยอมรับว่าจีนและสหรัฐฯ ก็ได้ผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยเศรษฐกิจจีนในครึ่งปีแรกเติบโตลดลง 6.4% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี แต่ก็ยังไหว
นางหยาง กล่าวว่า ที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นว่าจีนไม่มีวันล้ม ยอดมูลค่าส่งออก-นำเข้าเพิ่มขึ้น แต่ปรับจากการเติบโตความเร็วสูงมาเน้นการเติบโตที่เน้นคุณภาพ โดยเน้นความต้องการภายในเป็นหลักอาศัยการส่งออกลดลง , นวัตกรรม การลงทุนด้านวิจัยศึกษา การลงทุนด้านอุตสาหกรรมไฮเทค , พยายามผลักดันโครงสร้างพื้นฐานระบบใหม่ในทุกด้าน , เปิดประตูรับการลงทุน ทั้งการลดภาษีศุลกากรเหลือ 7.5% และกฎหมายการลงทุนต่างประเทศ จีนเปิดกว้างรับนักลงทุนรวมถึงสหรัฐฯ แม้ในภาวะสงครามการค้าก็ยินดีให้มาลงทุน โดยเชื่อว่ารัฐบาลนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เอาจีนเป็นแพะรับบาปของการต่อสู้การเมืองภายในสหรัฐฯ และความขัดแย้งด้านเศรษฐกิจเชิงลึก พร้อมยืนยันจีนไม่ได้ปิดประตูการเจรจา แต่ท่าทีของจีนชัดเจนคือการเจรจาต้องดำเนินบนพื้นฐานเสมอภาคเคารพผลประโยชน์แท้จริงซึ่งกันและกัน
ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนนั้น นางหยาง กล่าวว่า จะมีการยกระดับความร่วมมือเข้าสู่อีกระดับ และยินดีจูงมือฝ่ายไทย ผลิต ผลักดันโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเชื่อมโยงการพัฒนาระยะกลาง ระยะยาว ตามแผนที่ไทยต้องการเป็นศูนย์กลางอาเซียน และพร้อมยินดีร่วมมือเร่งเดินหน้ารถไฟเร็วสูงเชื่อมโยงลาว เปิดตลาดกว้างใหญ่ รวมทั้งร่วมมือผลักดันเศรษฐกิจดิจิตอล , เอไอ , โลจิสติกส์ , โทรคมนาคม , อุตสาหกรรมใหม่ , การพัฒนาอีคอมเมอร์ส และ เทคโนโลยี 5G
จากนั้นเข้าสู่การอภิปรายโดยมี นายปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายโจ ฮอร์น พัทธโนทัย กรรมการอำนวยการ บริษัท Strategy 613 ร่วมเสวนา โดยนายปิติ กล่าวถึงจีนในยุคปัจจุบันที่เรียกว่า นิว นอร์มอล (New Normal) เป็นการปฏิรูปภายใต้การนำของ นายสี เจิ้น ผิง ประธานาธิบดี ในความคิดสังคมนิยมเชิงอัตลักษณ์ มีนโยบายที่สำคัญอย่าง เมด อิน ไชนา 2025 ที่ต้องการให้ประชากรจีน 60-70% หันมากินใช้ภายในประเทศ โดยเริ่มจากทำให้คนจีนรวยแล้วก็ให้หันมาซื้อของจีนโดยต้องทำให้เป็นของมีคุณภาพในปี 2025 เปิดโอกาสให้สินค้าที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศมาลงทุนโดยรัฐบาลจะให้การสนับสนุนแต่แลกกับการที่ต้องมาตั้งสำนักงานใหญ่ในจีนพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ ส่วนอีกนโยบายสำคัญคือ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ที่หวังจะเชื่อมทั้งโลกและสร้างพันธมิตรใหม่ แต่ถูกหลายประเทศไม่สนับสนุนจนต้องเปลี่ยนชื่อเป็น Belt and Road เน้นการแชร์เพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
นายปิติ กล่าวต่อว่า นายสี ได้เดินตามและปรับเปลี่ยนเป้าหมายของ นายเจียง เจ๋อ หมิน ประธานาธิบดี โดยตั้งเป้าว่าในปี 2021 ในวาระครอบ 100 ปี พรรคคอมมิวนิสต์ คนจีนต้องกินดีอยู่ดี , ในปี 2035 สังคมจีนเข้มแข็งและทันสมัยขั้นพื้นฐาน และในปี 2049 ที่ครบ 100 ปี แห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน จะต้องเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่สังคมเข้มแข็งทันสมัย และมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนอย่างสมบูรณ์ภายใต้นโยบายจีนเดียว แต่กระนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้นายสี สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้เรื่อยๆ ก็ทำให้ถูกมองว่าเป็นความพยายามสร้างระบบจักพรรดิขึ้นมาใหม่ จีนจึงต้องปรับเปลี่ยนระบบคานอำนาจใหม่ คือเพิ่มคณะกรรมาธิการกำกับดูแลด้านทุจริตคอรัปชั่นแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบการทุจริตทั้งในและโครงการจีนในต่างประเทศ
นอกจากนี้ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษาฯ ยังกล่าวถึงระบบปิดกั้นการเข้าถึงโลกไซเบอร์ของรัฐบาลจีน หรือ ไชนา เกรท ไฟร์วอลล์ ที่สร้างระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ก การเงิน การค้า และบันเทิง ที่คล้ายกับสังคมโลกขึ้นมาแต่ให้ใช้กันภายในประเทศว่า ล่าสุดได้เริ่มมีการใช้ระบบโซเชียล เครดิต เรทติ้ง ที่เชื่อมโยงประวัติ พฤติกรรมการใช้จ่ายต่างๆ และการใช้ชีวิตประจำวัน ผ่านบัตรเครดิตและอุปกรณ์ทันสมัย นำไปประเมินเพื่อเป็นเรตติ้ง หากคนใดมีพฤติกรรมที่เหมาะสมทั้งการใช้จ่ายและการใช้ชีวิตจนได้เรตติ้งสูงๆ ก็อาจจะทำธุรกรรมบางอย่างได้ง่ายขึ้น เช่น การกู้เงิน แต่ถ้าคนใดได้เรตติ้งต่ำก็อาจจะเข้าถึงบางบริการไม่ได้ รวมไปถึงอาจถูกห้ามออกนอกประเทศด้วย
ขณะที่นายโจ กล่าวว่า สิ่งที่น่าติดตามคือโมเดลใหม่ของจีนที่สืบเนื่องจากอดีตทั้งนวัตกรรม , นโยบายเมด อิน ไชน่า 2025 โดยเฉพาะ นโยบายหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ที่เชื่อว่ามาจากความต้องการทางเศรษฐกิจและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรางรถไฟ , ถนน โดยปัจจุบันได้เริ่มปรับตัวทั้งการใช้นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม และการปราบปรามทุจริตที่เกิดขึ้นจากโครงการนอกประเทศ ส่วนปัญหาสงครามการค้านั้น ในอีกมุมก็ทำให้จีนเริ่มรู้ตัวว่ายังประสบปัญหาด้านนวัตกรรมอีกมาก โดยเชื่อว่านายสี จะยังครองอำนาจอยู่อีกยาว แต่ก็ขึ้นอยู่กับทางพรรคคอมมิวนิสต์และปัจจัยทางเศรษฐกิจที่จะกำหนดอนาคต
นายโจ ยังกล่าวถึงปัญหาการประท้วงในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงว่า สิ่งที่ทำให้คนออกมาคือประชาชนพบว่าตนไม่มีอนาคต ทั้งจากปัญหาความเจริญที่ย้ายฐานไปสู่แผ่นดินใหญ่มากกว่า และปัญหาจากนโยบายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งก็มีจากการบริหารของผู้นำฯ ฮ่องกงที่ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ในขณะเดียวกันชาวฮ่องกงเองก็ยังเข้าใจทางประวัติศาสตร์ของตัวเองไม่ถูกต้อง จึงต้องหาคนที่สามารถทำให้ฮ่องกงพัฒนาเข้ามาบริหาร ส่วนระบบโซเชียล เครดิต เรทติ้ง ของจีนนั้น ขณะนี้ก็มีปัญหาเพราะภาคเอกชนไม่แบ่งปันข้อมูลให้