ศาลเจ้าพ่อเสือที่ถนนตะนาว ใกล้วัดมหรรณพ์นั้น ไม่ได้อยู่ที่นี่มาตั้งแต่ดั้งเดิม มีบันทึกว่าย้ายมาอยู่เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๑๕ ต้นรัชกาลที่ ๕ เมื่อศาลเดิมที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ถูกขยายถนน จึงพระราชทานที่ดินให้ย้ายมาอยู่ที่ทางสามแพร่งแห่งนี้
ศาลเจ้าพ่อเสือเดิมสร้างขึ้นใน พ.ศ.๒๓๗๗ ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๔ ใน พ.ศ.๒๔๐๖ มีการตัดถนนบำรุงเมืองขึ้นอีกสายหลังจากตัดถนนเจริญกรุง โดยขยายเส้นทางเดิมจากสนามไชย ข้ามคลองคูเมืองที่สะพานช้างโรงสี ผ่านเสาชิงช้าและวัดสุทัศน์เทพวราราม ผ่านประตูผี ข้ามคลองโอ่งอ่าง ผ่านวัดสระเกศ ไปจนถึงคลองผดุงกรุงเกษม ที่สะพานยศเส หรือสะพานกษัตริย์ศึก ในปัจจุบัน ศาลเจ้าพ่อเสือจึงอยู่ริมถนนสายนี้
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีพระราชประสงค์ที่จะขยายถนนบำรุงเมือง ตั้งแต่เชิงสะพานช้างโรงสีฝั่งตะวันออก ให้กว้างเพื่อเป็นทางรถ และสร้างตึกแถว จำเป็นต้องรื้อศาลเจ้าพ่อเสือไปไว้ที่อื่น จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เถียน) จัดการรื้อศาลเจ้าแห่งนี้ ไปสร้างใหม่ในที่ดินพระราชทานเนื้อที่ ๒ ไร่เศษ ริมถนนเฟื่องนคร ใกล้วัดมหรรณพาราม ซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบัน ซึ่งเป็นทางสามแพร่งที่ถนนมหรรณพจากที่ว่าการ กทม.มาบรรจบ ต่อมาถนนช่วงนี้ได้เปลี่ยนนามเป็น ถนนตะนาว เนื่องจากผ่านชุมชนที่อพยพมาจากเมืองตะนาวศรี
ลักษณะอาคารศาลเจ้าพ่อเสือสร้างตามรูปแบบศาลเจ้าที่นิยมทางภาคใต้ของจีน มี “เสียนเทียนซั่งตี้” หรือที่คนไทยเรียกว่า “เจ้าพ่อเสือ” เป็นเทพเจ้าประจำศาล
เรื่องราวตำนานของเจ้าพ่อเสือที่เล่าขานกันมาว่าเกี่ยวพันกับ “หลวงพ่อพระร่วง” พระพุทธรูปทองคำที่ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารหลวง และ “หลวงพ่อบุญฤทธิ์” พระประธานในพระอุโบสถ ของวัดมหรรณพรารามวรวิหาร โดยกล่าวว่า
ในสมัยที่พื้นที่ของกรุงเทพฯย่านนี้ยังเป็นป่า มีชาวบ้านสองคนแม่ลูกคือ ยายผ่อง และ นายสอน อาศัยอยู่และมีชีวิตที่ลำเค็ญ นายสอนต้องเข้าป่าไปหาของป่าเป็นประจำ วันหนึ่งเข้าป่าไปพบซากกวางตัวหนึ่งเพิ่งตายใหม่ๆ เขารู้ว่าต้องมีเสือเจ้าของซากกวางอยู่แถวนั้นเป็นแน่ แต่ด้วยความที่อยากให้แม่ได้กินเนื้อกวางอันโอชะ จึงเข้าไปตัดเนื้อกวางก้อนหนึ่งจะเอาไปฝากแม่ เสือที่ซุ่มดูอยู่จึงกระโจนออกมาปกป้องอาหารของตน และกัดแขนนายสอนข้างที่ถือเนื้อกวางจนขาดพาหนีไป
นายสอนได้ซมซานกลับมาถึงบ้าน และเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้แม่ฟังก่อนที่จะสิ้นใจ ยายผ่องจึงนำเรื่องไปแจ้งนายอำเภอให้จัดการกับเสือร้ายตัวนั้นก่อนที่จะทำร้ายคนอื่นต่อไป นายอำเภอพร้อมชาวบ้านได้ออกล่าเสือ แต่ตามหาเท่าไหร่ก็ไม่พบ จึงไปที่วัดมหรรณพ์ซึ่งอยู่ในท้องที่เดียวกัน อธิษฐานต่อ “หลวงพ่อบุญฤทธิ์” พระพุทธรูปสมัยกรุงศรีอยุธยา พระประธานในพระอุโบสถ และ “หลวงพ่อพระร่วง” พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ในพระวิหาร ซึ่งตอนนั้นพอกปูนอยู่ยังไม่รู้ว่าข้างในเป็นทองคำ หลังจากนั้นก็ไปพบเสือนอนหมอบยอมให้จับแต่โดยดี
แต่เมื่อนำเสือมาจะประหาร เสือก็ไม่ขัดขืน แต่มีน้ำตาไหลพราก ยายผ่องเห็นเข้าก็เกิดความสงสาร ขอให้ยกเลิกการประหาร และจะขอนำเสือตัวนี้ไปเลี้ยงแทนลูกชายที่เสียไป นายอำเภอก็ยอมให้ เสือร้ายได้กลายเป็นเสือเชื่อง เชื่อฟังยายผ่องทุกอย่าง เฝ้าบ้านและปกป้องยายผ่องจนเสียชีวิตด้วยความชรา เสือก็ตรอมใจอย่างหนัก เมื่อเผาร่างของยายผ่อง เสือตัวนี้ก็กระโจนเข้ากองไฟ มอดไหม้ไปพร้อมกับร่างของยายผ่องด้วย
ชาวบ้านที่ประทับใจกับความกตัญญูของเสือ จึงได้ปั้นรูปเสือขึ้น และนำกระดูกมาบรรจุไว้ในแท่น ทำพิธีอัญเชิญวิญญาณของเสือให้มาสถิตในรูปปั้น พากันมากราบไหว้บูชาขอพรจนกลายเป็น “ศาลเจ้าพ่อเสือ” ขึ้น
"เสือ" เป็นสัตว์ที่คนจีนเชื่อว่ามีฤทธิ์เดชมาก สามารถปราบผีหรือสิ่งเลวร้ายของชีวิตได้ หากบ้านใครตั้งอยู่บริเวณทางสามแพร่ง หรือจุดที่ถือกันว่าจะมีวิญญาณเลวร้ายพุ่งเข้าบ้าน จะนิยมเอาเสือคาบดาบไปแขวนไว้ที่หน้าบ้านเพื่อขจัดสิ่งเลวร้าย เคราะห์ร้ายที่จะมากล้ำกรายชีวิตให้พ้นไปหรือบรรเทาลงได้