xs
xsm
sm
md
lg

"ปานเทพ" ระดมคนให้กำลังใจ "หมอธีระวัฒน์ " รณรงค์ยกเลิกสารพิษการเกษตรแต่กลับถูกจุฬาฯตั้งกรรมการสอบ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"ปานเทพ" ระดมคนให้กำลังใจ "หมอธีระวัฒน์" 29 ส.ค. ถูกจุฬาฯตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีออกสื่อรณรงค์ยกเลิกสารพิษการเกษตร หลังมีคนร้องเรียนนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และผิดจริยธรรม-ผิดวินัย

วันนี้ (24 ส.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า ... แชร์ไปให้มากที่สุด!!! ช่วยกันไปให้กำลังใจและสนับสนุน ศ.นพ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา สู้เพื่อยกเลิกสารพิษในการเกษตร 29 สิงหาคม 2562 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การเปลี่ยนแปลงเรื่องสำคัญของประเทศ หรือแม้ยังไม่เปลี่ยนแปลงแต่จะเป็นจุดเริ่มต้นหรือเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำไปสู่วิวัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ดีกว่าเดิมนั้น จำเป็นต้องมี “ต้นทุน” ของการเปลี่ยนแปลงนั้นเสมอ เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดได้มาฟรีๆได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้เกิดการสูญเสีย “อำนาจ” หรือ “ผลประโยชน์”ของคนกลุ่มเล็กๆที่เคยเอาเปรียบประชาชน ไปให้กลุ่มคนหรือประชาชนจำนวนมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนั้นก็อาจจะต้องมี ”ต้นทุน” ที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

คนจำนวนไม่น้อยที่มีความมั่นคงทางอาชีพ การงาน สถานภาพทางสังคมที่ดีอยู่แล้ว ถ้าเพียงแค่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปต่อสู้เพื่อประชาชนคนอื่นเพื่อความความเสี่ยงใดๆให้กับตัวเอง จริงหรือไม่?

นอกจากคนที่ “เสียสละ” เท่านั้นที่จะยอมลง “ต้นทุนชีวิต”ของตัวเองเพื่อประโยชน์ของประชาชน !!!

ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา เป็นศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ซึ่งเป็นแพทย์ผู้มีเกียรติภูมิในทางวิชาการในระดับสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้เป็นอีกท่านหนึ่งที่ได้ออกมาเสียสละตัวเองออกมาต่อสู้เรื่องสำคัญ 2 เรื่องในรอบหลายปีมานี้ คือ

หนึ่ง รณรงค์ให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการรักษาความเจ็บป่วยอย่างเสรี

และ สอง รณรงค์ให้ยกเลิกสารพิษทางการเกษตร

ทั้งสองเรื่องล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์กับประชาชนในวงกว้าง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องกระทบผลประโยชน์ของกลุ่มทุนที่ต้องการผูกขาดในธุรกิจยาและกัญชา และกลุ่มทุนสารพิษทางการเกษตรซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากมายมหาศาล จริงหรือไม่?

นักวิชาการหลายคนที่มีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่กับกลุ่มธุรกิจสารพิษการเกษตร ต่างออกมาปกป้องสารพิษเหล่านี้โดยกล่าวโทษว่าประชาชนใช้ไม่ถูกต้องเอง แต่ในทางตรงกันข้ามกับสมุนไพรที่มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคอย่างกัญชา คนเหล่านี้กลับแสดงทัศนะพยายามไม่ให้ประชาชนได้ใช้ด้วยการดีสเครดิตลงไปเฉพาะโทษของ THC ที่ใช้มากเกินไป

ตลกร้ายไปกว่านั้นนักวิชาการบางคนระบุว่าไม่ควรให้ชาวบ้านปลูกกัญชาเองเพราะจะมีสารพิษทางการเกษตรมาก แต่คนเหล่านั้นกลับไม่เคยออกมาต่อสู้เพื่อยกเลิกสารพิษทางการเกษตรเลย ยิ่งไปกว่านั้นบางคนยังสงวนท่าทีในการแสดงความเห็นเรื่องการยกเลิการนำเข้าและการใช้สารพิษทางเการเกษตร หรือเลวร้ายไปกว่านั้นถึงขนาดออกหน้าสนับสนุนในทำนองไม่ให้ยกเลิกสารพิษทางการเกษตรด้วยซ้ำไป

แต่คนอย่าง ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ไม่ได้เป็นแพทย์แผนไทย และไม่ได้เป็นหมอพื้นบ้าน กลับเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชน ยกย่องหมอพื้นบ้าน หรือปราชญ์ชาวบ้านที่มีประสบการณ์ในการใช้กัญชาจริงมากกว่าหมอแผนปัจจุบัน อีกทั้งยังสนับสนุนการแพทย์แผนไทยหรือหมอพื้นบ้านในการใช้กัญชาให้เป็นที่พึ่งพาตัวเองของชาวบ้าน

และคนอย่าง ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ก็ได้ออกแรงอย่างมากในการรณรงค์ให้เลิกสารพิษทางการเกษตร ที่ก่อให้เกิดโรคร้าย จนมีชาวบ้านต้องเจ็บป่วย พิการ และเสียชีวิตไปแล้วจำนวนมาก

ตัวอย่างที่คลาสสิกคืออาการทางระบบสมองและประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน เกิดขึ้นเพราะสารพิษทางการเกษตรบางชนิด แต่กัญชาถูกนำมาใช้บำบัดได้

แต่กลายเป็นว่าสารพิษทางเกษตรซึ่งมีแต่โทษต่อสุขภาพของประชาชนต้องผ่านคณะกรรมการเพื่อยกเลิกได้ยากเย็นแสนเข็ญ แต่ในทางตรงกันข้ามกัญชาซึ่งเป็นสมุนไพรกลับมาช่วยบำบัดอาการของโรคพาร์กินสันได้กลับผ่านความเห็นชอบเพื่อใช้ได้ยากเย็นแสนเข็ญเช่นกัน

ถามว่าคนอย่าง ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ซึ่งเป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศและได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติถ้าเพียงแค่เห็นแก่ตัว นิ่งเฉย เห็นว่าธุระไม่ใช่ ก็มีความมั่นคงทางอาชีพ การงาน สถานภาพทางสังคมที่ดีอยู่แล้ว และถ้าให้ความเห็นในทางเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนก็อาจจะได้รับประโยชน์ส่วนตนได้ไปนานแล้ว

แต่การที่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ต้องออกมาทั้ง 2 เรื่องเช่นนี้เพราะอะไร ?

ก็เพราะ ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบประสาทและสมอง และลงตรวจรักษาคนไข้จริง จึงได้เห็นประสบการณ์ในคุณค่าของการใช้กัญชาของปราชญ์ชาวบ้านและผู้ป่วยจริง และ ยังได้เห็นโทษต่อประชาชนที่น่าสะเทือนใจของสารพิษทางการเกษตรจริง และด้วยจิตวิญญาณของความเป็นหมอที่เห็นแก่ประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง จึงต้องออกมาต่อสู้เรื่องนี้ด้วยตัวเอง

สะท้อนให้เห็นว่า “การเสียสละ” ของศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา นอกจากจะไม่หลงอยู่ในอัตตาในหัวโขนทางวิชาการและผลประโยชน์ของบริษัทยาแล้ว ยังรณรงค์เพราะเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ด้วย

บุคคลแบบนี้สมควรอย่างที่จะไม่เพียงได้รับการยกย่องจากประชาคมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ประชาชนทั้งประเทศจะต้องให้กำลังใจ สนับสนุน ในทุกวิถีทาง จริงหรือไม่?

แต่ใครจะไปคิดว่าวันนี้จะเกิดเหตุไม่คาดคิด ได้มีข่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีหนังสือลับที่ 4636/2562 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องเรียนกล่าวหาถึงการออกสื่อเรื่องการรณรงค์เพื่อยกเลิกสารพิษการเกษตร เช่น สารพาราควอต คลอร์ไพรีฟอส สารตกค้างในผักและผลไม้ ฯลฯ ของศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา โดยร้องเรียนว่ามีพฤติกรรมนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และมีการกระทำผิดจริยธรรมกระทำผิดวินัย

ทั้งนี้ศูนย์กฎหมายและนิติการ สำนักงานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีหนังสือเชิญ ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา มาให้ข้อเท็จจริงแก่คณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริง วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2562 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 203 อาคารจามจุรี 3 ชั้น 2

และนี่ก็เป็นอีก “ต้นทุน” ของ ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ต้องเผชิญหน้ากับศึกที่น่าหงุดหงิดและน่าหดหู่สำหรับคนที่อยู่สุขดีๆไม่ว่าดี แต่ต้องมาเดือดร้อนเพราะออกมาต่อสู้เพื่อประชาชน

ความจริงในสังคมวิชาการในสถาบันการศึกษาในประเทศไทยมีเรื่องที่น่าตรวจสอบหาข้อเท็จจริงอยู่หลายประเด็น เช่น มีผู้ที่ทำวิจัยรับเงินจากกลุ่มทุนพลังงานทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อออกรายงานสนับสนุนนโยบายพลังงานเพื่อเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนพลังงานหรือไม่ หรือกรณีนักวิจัยญี่ปุ่นได้รับการศึกษาวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยของไทยจดสิทธิบัตรอนุพันธ์ของสารสกัดจากกระใบกระท่อม กระบวนการผลิต ยา และการนำไปใช้รักษาโรคในคนและสัตว์ทั้งๆที่กระท่อมยังอยู่ในช่วงเป็นยาเสพติดในประเทศไทยอันเป็นการเข้าข่ายการละเมิดความตกลงระหว่างประเทศและจริยงธรรมการวิจัยระหว่างประเทศ แต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์กลุ่มทุนเหล่านี้เรากลับไม่เคยความเอาจริงเอาจังตั้งกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงจากสถาบันการศึกษาเลย จริงหรือไม่?

ยังไม่นับการให้ความเห็นของนักวิชาการที่ต่อต้านกัญชาว่ามีความเกี่ยวพันกับบริษัทยาหรือไม่ หรือแม้แต่กลุ่มนักวิชาการที่ทำเนียนสนับสนุนสารพิษทางการเกษตรนั้นมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับกลุ่มทุนธุรกิจสารพิษหรือไม่ หรือผู้ร้องเรียนทั้งหลายมีผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งทางตรงหรือทางอ้อมหรือไม่ ตรงนี้ต่างหากที่จะน่าจะช่วยกันตรวจสอบหาข้อเท็จจริงและเปิดโปงให้กับประชาชนได้ทราบ จริงหรือไม่?

พี่น้องประชาชนจึงไม่ควรปล่อยให้ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ซึ่งออกมาเสียสละเพื่อประชาชนต้องออกมาเผชิญหน้ากับศึกครั้งนี้อย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย และเชื่อว่าไม่เพียงแต่ศิษย์เก่าและประชาสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ยังมีใจเป็นธรรมอีกมากจะช่วยมาปกป้องผู้เสียสละเพื่อส่วนรวมในครั้งนี้ แต่ยังมีประชาชนอีกมากที่จะช่วยมาเป็นกำลังใจและสนับสนุนการรณรงค์ของศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนผู้รักความเป็นธรรมช่วยแชร์บทความนี้ แล้วไปร่วมสำแดงพลังในการสนับสนุนและให้กำลังใจให้กับศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ในการถูกสอบสวนครั้งนี้ และเพื่อแสดงฉันทานุมัติในการยกเลิกสารพิษการเกษตรเพื่อสุขภาพที่ดีของพี่น้องประชาชน ในวันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2562 เวลา 12.00 น. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อย่าให้การเสียสละของศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ต้องสูญเปล่าอย่างอยุติธรรม

ด้วยจิตคารวะ
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์




กำลังโหลดความคิดเห็น