xs
xsm
sm
md
lg

ชื่นใจ! ผลประชุม "CITES COP 18" ระบุ ไทยหลุดพ้นจากการเกี่ยวข้องกับการค้างาช้างผิดกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ร่วมประชุม "CITES COP 18" เผยข่าวดี ไทยประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการค้างาช้างผิดกฎหมาย และ ไม่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการค้างาช้างผิดกฎหมาย

วันนี้ (24 ส.ค.) เพจ "กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช" ได้ออกมาระบุข้อความ ประเทศไทยไทยหลุดพ้นจากการเกี่ยวข้องกับการค้างาช้างผิดกฎหมายเนื่องจากความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภายในประเทศ และการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง

ภายหลังการประชุม "CITES COP 18" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 28 สิงหาคม 2562 ณ ศูนย์ประชุม Palexpo, นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าร่วมประชุม CITES CoP18 โดยสามารถสรุปได้ว่า

"จากการประชุมตอกย้ำความสำเร็จของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาการค้างาช้างผิดกฎหมาย จากการพิจารณาในวาระการรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบสารสนเทศการค้าช้าง (ETIS Report) โดยประเทศไทยไม่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการค้างาช้างผิดกฎหมายในรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบสารสนเทศการค้าช้าง (ETIS Report) ซึ่งหมายความว่า ประเทศไทยหลุดพ้นจากการที่จะต้องเป็นประเทศที่ต้องพัฒนาและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งชาติ ทั้งนี้ เป็นผลจากการไม่มีคดีงาช้างล็อตใหญ่ และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและมีประสิทธิภาพ ถึงแม้ว่าจะมีตลาดงาช้างภายในประเทศแต่ก็มีกฎหมายภายในประเทศและมาตรการในการควบคุมดูแลอย่างรัดกุม

ซึ่งในรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบสารสนเทศการค้าช้าง (ETIS Report) เป็นการเสนอรายงานองค์กร TRAFFIC ผู้จัดทำรายงานนี้ต่อ CITES ได้แบ่งกลุ่มประเทศที่มีความน่ากังวลเกี่ยวกับการค้างาช้างออกเป็น 3 กลุ่ม โดยใช้ข้อมูลในปี พ.ศ. 2558-2560 ประกอบด้วย

กลุ่ม A (เดิมคือ Primary Concern) เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการค้างาช้างผิดกฎหมายมากที่สุด (most affected) ประกอบไปด้วย มาเลเซีย โมซัมบิก ไนจีเรีย และเวียดนาม

กลุ่ม B (เดิมคือ Secondary Concern) เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการค้างาช้างผิดกฎหมายอย่างชัดเจน (markedly affected) ประกอบไปด้วย ประกอบด้วย เคนยา แทนซาเนีย ยูกันดา จีน และฮ่องกง

กลุ่ม C (เดิมคือ Importance to watch) เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการค้างาช้างผิดกฎหมาย (affected) ประกอบไปด้วย ประกอบด้วย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC Congo) สาธารณรัฐคองโก (Congo) แอฟริกาใต้ คาเมรูน กาบอง ซิมบับเว แองโกลา สหรัฐอาหรับเอมิเรต เอธิโอเปีย เขมร สิงคโปร์ ลาว ตุรกี และบุรันดี

ในโอกาสการเข้าร่วมการประชุม CoP18 ครั้งนี้ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เข้าเยี่ยมคารวะเลขาธิการไซเตส (Ms. Ivonne Higuero) ในวันที่ 19 สิงหาคม 2562 เพื่อหารือการดำเนินการตามอนุสัญญาไซเตสของประเทศไทย ประเด็นสำคัญคือ ประเทศไทยได้มีการปรับปรุงกฎหมายระดับชาติ คือพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ฉบับล่าสุดซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๒ ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกอนุบัญญัติเพื่อกำหนดรายะเอียดแนวทางปฏิบัติต่อไป ซึ่งเชื่อว่ากฎหมายใหม่จะช่วยให้การปฏิบัติตามอนุสัญญา CITES มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการกำหนดชนิดพันธุ์ที่ได้รับความคุ้มครองที่สอดคล้องกับอนุสัญญา CITES และบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นอันจะช่วยควบคุม ป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมเกี่ยวกับสัตว์ป่าได้ดียิ่งขึ้น

เลขาธิการไซเตส ได้แสดงความชื่นชมประเทศไทยที่ได้ดำเนินมาตรการหลายอย่างในการปฏิบัติตามอนุสัญญา CITES ซึ่งมีผลการดำเนินการที่ดีและสามารถเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคในการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ หลายเรื่องที่ประสบความสำเร็จเป็นเรื่องที่ยาก และใช้เวลาในการดำเนินการ ทั้งเรื่องการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการงาช้าง จนกระทั่งไทยสามารถออกจากกระบวนการจัดทำแผนปฏิบัติการงาช้างและแสดงให้เห็นว่าเป็นประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องกับการค้างาช้างที่ผิดกฎหมาย หรือการแก้ไขกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า รวมทั้งการจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษ เรื่อง การป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมาย ซึ่งไทยมีบทบาทอย่างชัดเจนในการเป็นผู้นำในภูมิภาค และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประเทศอื่นต่อไป และขอให้ไทยดำรงบทบาทการเป็นผู้นำในภูมิภาคซึ่งจะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของอนุสัญญา CITES ต่อไปและเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุม CoP18 ถึงผลการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษ เรื่อง การป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่า เมื่อวันที่ 21-22 มีนาคม 2562 ณ จังหวัดเชียงใหม่ และที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์เชียงใหม่ของรัฐมนตรีอาเซียนที่รับผิดชอบการดำเนินงานตามอนุสัญญา CITES และการบังคับใช้กฎหมายสัตว์ป่านั้น กรอบนโยบายจากแถลงการณ์เชียงใหม่จะนำไปสู่การปฏิบัติโดยประเทศไทยและอาเซียนจะดำเนินการร่างแผนปฏิบัติการอาเซียนเพื่อรองรับนโยบายดังกล่าวต่อไป"




กำลังโหลดความคิดเห็น