xs
xsm
sm
md
lg

โศกนาฏกรรมประวัติศาสตร์จากฝนถล่ม! โคลนและซุงถล่มทับหมู่บ้านตายเป็นร้อยๆ!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


ในสมัยก่อน เมื่อมีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของโลก ไม่ว่าจะเป็นพายุถล่ม แผ่นดินไหว หรือภูเขาไฟระเบิด คนไทยเรามักจะพูดกันถึงความโชคดีของแผ่นดินไทย ที่ไม่เคยเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรงเช่นนั้น แต่หลังจากเกิดมหาวาตภัยขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ ๒๔-๒๕ ตุลาคม ๒๕๐๕ ที่แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช กวาดบ้านเรือนราษฎร ๕๐๐ หลังจนราบเรียบไม่มีอะไรเหลือ จึงสร้างความตกตะลึงให้คนทั้งประเทศ และก่อกำเนิด “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์” ขึ้นในครั้งนั้น

จากนั้นเราก็ประสบภัยธรรมชาติที่ทำลายบ้านเรือนและคร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมากมาเป็นระยะ โดยเฉพาะครั้งรุนแรงที่สุดอย่างไม่คาดคิดว่าจะเกิดได้ถึงขนาดนั้น ก็คือ สึนามิ เมื่อปี ๒๕๔๗ ที่คร่าชีวิตผู้คนใน ๑๔ ประเทศที่อยู่ชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียไปกว่า ๒๓๐,๐๐๐ คน ส่วน ๖ จังหวัดภาคใต้ของไทยก็เสียชีวิตไปถึง ๕,๔๐๐ คน

ในวันนี้ เราก็ยังมีเรื่องที่น่าแปลกใจ เมื่อเห็นข่าวหลายจังหวัดเกิดภัยแล้งอย่างหนัก ถึงขนาดอ่างเก็บน้ำแห้งขอดไม่มีน้ำจะทำประปา ทางราชการต้องเอาน้ำกินน้ำใช้ไปช่วย ขณะเดียวกันหลายจังหวัดก็เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง จนดินบนภูเขาชุ่มน้ำถล่มลงมาทับหมู่บ้าน บางแห่งต้องย้ายออกจากแหล่งอาศัยเดิม ไม่สามารถกลับอยู่ในที่เก่าได้ อย่างเช่นที่เคยเกิดมาแล้วเป็นระยะ อย่างเช่นเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๓ ที่อำเภอหล่มสักและอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ มีผู้เสียชีวิต ๑๐ คน วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๔๔ ที่อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ มีผู้เสียชีวิต ๔๓ คน วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๔ ที่ตำบลน้ำก้อ อำเภอหล่มสัก มีผู้เสียชีวิต ๑๓๖ คน เป็นต้น

แต่ภัยธรรมชาติจากดินถล่มทับหมู่บ้านเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๑ ที่ตำบลกะทูน อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช บ้านเรือนเสียหายไป ๑.๕๐๐ หลัง พื้นที่การเกษตรอีก ๖,๑๕๐ ไร่ มีผู้เสียชีวิตถึง ๗๐๐ คน ผู้คนที่รอดชีวิตต้องย้ายออกจากที่อยู่อาศัยเดิม และไม่สามารถกลับเข้าไปอยู่ได้อีก

แต่แล้วหลังโศกนาฏกรรมครั้งนั้น หมู่บ้านเก่าที่เป็นแหล่งรับน้ำ ก็ถูกสร้างให้เหมาะสมกับภูมิประเทศ กลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เอื้อความชุ่มฉ่ำและความปลอดภัยให้คนรอบพื้นที่กลับคืนสู่ความสุขและความมั่นคงในชีวิตที่ดีกว่า
ก่อนเกิดเหตุการณ์ครั้งนั้น ๓-๔ วัน ได้เกิดพายุดีเพรสชั่น มีฝนตกปรอยๆต่อเนื่องมาหลายวัน ทำให้ดินบนภูเขาซับน้ำไว้จนชุ่มโชก และเมื่อฝนยังเพิ่มปริมาณน้ำอีกไม่หยุด ดินที่รับน้ำหนักไว้มากจนเกินกำลัง ก็ลื่นไถลลงมาตามทางลาด ทำให้ดินที่อยู่ด้านล่างต้องถล่มลงมาด้วย พร้อมต้นไม้ป่าและต้นยางพาราที่ชาวบ้านขึ้นไปปลูกไว้บนเขาถูกถอนรากถอนโคน กลายเป็นอาวุธของกระแสน้ำกวาดบ้านเรือนและชีวิตผู้คนไปกับกระแสน้ำ อีกทั้งยังมีโคลนดินตามมาถล่มทับ

นอกจากนี้ ตำบลกะทูนซึ่งภูมิประเทศเป็นแอ่งรับน้ำมีพื้นที่ ๗๐ ตารางกิโลเมตรนี้ มีลำธารหลายสายรับน้ำจากเชิงเขาโดยรอบมารวมลงในคลองกระทูน แต่มีทางน้ำไหลออกกว้างเพียง ๗๐ เมตรเท่านั้น เมื่อถูกต้นไม้บนเขาและไม้ในสวนที่ชาวบ้านปลูกไหลมาปิดทางน้ำออก ระดับน้ำในแอ่งกะทูนจึงสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ฝังกลบทุกสิ่งทุกอย่างและทุกชีวิตไว้ใต้น้ำ

เมื่อฝนหยุดน้ำลด แอ่งกะทูนได้กลายเป็นแผ่นดินโคลน งานโกลาหลในตอนนั้นก็คือการขุดหาซากศพด้วยความยากลำบาก ซึ่งหน่วยกู้ภัยจากทุกทิศได้หลั่งไหลมาช่วย ขณะที่เฮลิคอปเตอร์ก็บินวนหาคนที่รอดชีวิตทั้งวัน

ชาวบ้านทั้งหมดไม่สามารถกลับเข้าไปอยู่แหล่งอาศัยเดิมได้ ต้องย้ายไปหาที่อยู่ใหม่อย่างคนสิ้นหวัง ขณะสิ้นเนื้อประดาตัว

แต่ด้วยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “พ่อหลวงของปวงไทย” ได้โปรดเกล้าฯให้กรมชลประทานสร้าง “อ่างเก็บน้ำกะทูน” ขึ้นในที่ประสบภัย แล้วเสร็จใน พ.ศ.๒๕๔๐ จัดระบบนิเวศใหม่ให้เหมาะสมกับภูมิประเทศ เป็นแหล่งรับน้ำป่าจากเทือกเขา ป้องกันอุทกภัยและเอื้อความชุ่มฉ่ำให้แหล่งเพาะปลูกในพื้นที่โดยรอบ ทำให้กะทูนกลับเป็นแหล่งสมบูรณ์พูนสุข อีกทั้งอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยว สัมผัสเทือกเขาและสายหมอกเหนือทะเลสาบ จนได้ฉายา “สวิตเซอร์แลนด์แดนใต้”



กำลังโหลดความคิดเห็น