"ดร.ปิติ" ชี้เศรษฐกิจฮ่องกงเล็กเกิน การประท้วงไม่ทำจีนสะเทือน กลับกันฮ่องกงยังต้องซื้อน้ำ - ไฟจากจีน ต้องเป็นฝ่ายที่ง้อจีนเองเสียมากกว่า เชื่อจีนไม่มีทางปล่อยฮ่องกงเป็นอิสระเพราะเป็นสัญลักษณ์ในการล้างอายเรื่องสงครามฝิ่น พร้อมมองไทยเข้าใจคนรุ่นใหม่บางกลุ่มมีแนวคิดก้าวร้าวเพราะโตมาในช่วงสังคมแตกแยก
วันที่ 21 ส.ค. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมสนทนาในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง "นิวส์วัน" ในหัวข้อ "ม็อบฮ่องกง VS ความฝันของจีน มองอย่างเข้าใจ"
โดย ดร.ปิติ กล่าวช่วงหนึ่งว่า การประท้วงของฮ่องกงครั้งนี้เป็นในแบบไม่มีผู้นำ ไม่มีการจัดตั้ง ไม่มีกระบวนการ เลยเกิดการมั่ว เอาเรื่องอื่น ๆ มาผสมปนเป ก็เลยกลายเป็นการเดินแบบไร้ทิศไร้ทาง
ส่วนข้อกล่าวหาว่าอเมริกาแทรกแซง ตนมองว่านักการทูตทุกประเทศมีหน้าที่ต้องหาข่าว เขาต้องคุยกับคนพวกนี้เพื่อหาข่าว การมีภาพถ่ายออกมาว่าไปคุยกัน ไม่ได้เป็นหลักฐานว่าแทรกแซง อย่าเพิ่งโบ้ย มันไม่เป็นธรรมสักเท่าไหร่
ดร.ปิติ กล่าวต่ออีกว่า ทศวรรษ 1990 เติ้งเสี่ยวผิง เปิดประเทศ ตอนนั้นนำเข้า ส่งออก 100 เปอร์เซ็นต์ ทำผ่านฮ่องกง เศรษฐกิจฮ่องกงคือเศรษฐกิจของจีน คือปากประตูการลงทุนการค้าทุกอย่างของจีน พอถึง 1997 ความสำคัญตรงนี้เริ่มลดน้อยลง เศรษฐกิจฮ่องกงคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของจีน และปัจจุบันเหลือแค่ไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ของเศรษฐกิจจีน ที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนโตขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ของฮ่องกงไม่ได้โตขนาดนั้น จากการส่งออก เมื่อก่อน 100 เปอร์เซ็นต์ พอ 1997 ฮ่องกงกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของจีน ครึ่งหนึ่งของการส่งออกของจีนทำผ่านฮ่องกง แต่ปัจจุบันไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ดร.ปิติ กล่าวว่า ถามว่าจีนตัดฮ่องกงทิ้งได้ไหม ไม่ได้ในเชิงสัญลักษณ์ การที่ฮ่องกงกลับมาเป็นของจีน เป็นสัญลักษณ์ในการล้างอายเรื่องสงครามฝิ่นกับอังกฤษ แล้วจีนไม่ยอมประนีประนอม 3 เรื่อง 1.พวกคลั่งศาสนา อย่างซินเจียง ธิเบต 2.กลุ่มลัทธิสุดโต่ง 3.ลัทธิแบ่งแยกดินแดน ฉะนั้นการแบ่งฮ่องกงออกไปไม่ใช่ส่วนหนึ่งของจีน มันไม่ตรงกับความฝันจีน คือต้องเป็นหนึ่งเดียว วินาทีนี้สิ่งเดียวที่จีนพึ่งพาฮ่องกงอยู่ คือฮ่องกงเป็นจุดศูนย์กลางทางการเงิน เพราะบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของจีนเวลาเอาเงินเข้าตลาดหลักทัพย์นิยมเอาเข้านิวยอร์กกับฮ่องกง เพราะสภาพคล่อง กฎระเบียบต่าง ๆ ระดมเงินผ่านฮ่องกงง่ายกว่า
ดร.ปิติ กล่าวต่ออีกว่า เติ้งเสี่ยวผิงตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกคือเชินเจิ้น นาทีนี้เชินเจิ้นใหญ่กว่าฮ่องกงเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นตัดฮ่องกงออกจากแผนที่จีนไมได้เพราะเรื่องของศักดิ์ศรี แต่จะทำให้เศรษฐกิจฮ่องกงชะลอตัวแล้วจีนเดือดร้อนไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะนาทีนี้เศรษฐกิจฮ่องเล็กเกินที่จะทำให้จีนเดือดร้อน ที่แน่ ๆ ฮ่องกง น้ำกินน้ำใช้เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ ยังต้องซื้อจากจีนในราคาแพง ไฟฟ้า 23-24 เปอร์เซ็นต์ที่ใช้บนฮ่องกงยังต้องซื้อจากจีน
ดร.ปิติ กล่าวว่า ผู้ชุมนุมต้องการลากไปถึง 1 ตุลา วันชาติจีน จีนก็ต้องการจบเหตุการณ์ก่อน 1 ตุลา เพราะเป็นวันแห่งสัญลักษณ์ เวลาอีกนาน 5- 6 สัปดาห์ จีนถ้าจะบีบฮ่องกงไม่ต้องใช้กองกำลังก็ได้ แค่ตัดน้ำตัดไฟฮ่องกงก็อยู่ไม่ได้แล้ว หรือทำเศรษฐกิจพังมันก็ไม่ได้กระทบจีนขนาดนั้น ตราบใดที่แผ่นดินนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของจีนอยู่ ก็เท่ากับจีนไมได้เสียอะไร วินาทีนี้ฮ่องกงต้องง้อจีนมากกว่าจีนง้อฮ่องกง
ดร.ปิติ ยังกล่าวด้วยว่า เรื่องช่องว่างระหว่างเจเนอเรชัน ไม่ใช่เฉพาะฮ่องกง ไทยก็เกิดเหมือนกัน คนรุ่นใหม่มองว่าผู้ใหญ่หัวโบราณ ผู้ใหญ่ก็มองพวกรุ่นใหม่เป็นเด็กเมื่อวานซืน แล้วต้องยอมรับมีเด็กกลุ่มหนึ่งค่อนข้างมีความคิดก้าวร้าว คิดว่าสิ่งที่ตัวเองต้องการนั้นถูกต้อง ทั้งที่อาจไม่ถูกก็ได้ ต้องยอมรับเด็กวัยนี้เกิดมาในช่วงที่สังคมแตกแยก เกิดมาเจอวาทกรรมอำมาตย์ไพร่ ทักษิณโกง เสื้อเหลือง เสื้อแดง เจอชุดความคิดเหล่านี้ตลอดชีวิต เกิดความก้าวร้าวจึงเป็นเรื่องปกติ
ฮ่องกงก็เช่นกัน อย่าง โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของฮ่องกง เกิดในวันที่ฮ่องกงกลับไปเป็นของจีน แล้วเหตุการณ์ที่ตามมา คือวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ ก็เกิดการพูดกันว่าเศรษฐกิจฮ่องกงตอนที่ยังอยู่กับอังกฤษดีกว่านี้ ทั้งที่จีนเข้ามาทำให้เศรษฐกิจฮ่องกงฟื้น เขาไม่รู้เพราะตอนนั้นแค่ 1-2 ขวบ
ดร.ปิติ กล่าวทิ้งท้ายว่า ไทยอย่าอินกับเหตุการณ์ประท้วงฮ่องกงมาก มาด่ากันเองเฉยเลย ว่าเชียร์จีนเป็นสลิ่ม เชียร์ฮ่องกงเป็นอนาคตใหม่ ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรเลย หัวก้าวหน้า ก้าวหน้าได้ระดับนึง ถ้าก้าวหน้าเกินไปแล้วไม่เข้ากับบริบทของสังคมตัวเองจะมีปัญหา เรื่องพวกนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ว่าทุกอย่างมีเหตุและผลของมัน