xs
xsm
sm
md
lg

ให้เช่า “บ้านเขียวขุนพิทักษ์” บ้านประวัติศาสตร์ที่ ร.๕ เคยประทับ! ถูกทิ้งร้างจนได้ฉายา “บ้านผีสิง”!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

    บ้านเขียวขุนพิทักษ์
จากข่าวที่กรมธนารักษ์กำลังรวบรวมอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆที่อยู่ในความดูแลของกรม ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศมากมาย แต่ละแห่งล้วนเป็นโบราณสถานที่มีสถาปัตยกรรมเก่าแก่มีคุณค่า และยังสามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ได้ ดีกว่าปล่อยทิ้งร้างให้ผุพังไปตามกาลเวลา ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงใช้นโยบายนี้กับพระราชวังพญาไท โปรดให้เปิดเป็นโรงแรม ทำประโยชน์ในยุคที่กรุงเทพฯมีโรงแรมอยู่ไม่กี่แห่ง และไม่ต้องมาเสียงบประมาณดูแลให้เปล่าประโยชน์
ในจำนวนสถานที่ที่จะให้เช่านี้ “บ้านเขียวขุนพิทักษ์” เป็นสถานที่น่าสนใจแห่งหนึ่ง และเคยมีผู้คนไปเยี่ยมชมกันมาก รวมทั้งผู้เขียนตั้งแต่ปี ๒๕๔๕

บ้านหลังนี้เป็นบ้านไม้หลังใหญ่ทรงปั้นหยาสองชั้น ทาสีเขียว อยู่ริมแม่น้ำน้อยในเขตหมู่ ๒ ตำบลอมฤต อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชาวบ้านเรียกกันว่า “บ้านเขียว” และรู้กันว่าเป็นบ้านของ ขุนพิทักษ์บริหาร (พึ่ง มิลินทวณิช) อดีตนายแขวงสมัยรัชกาลที่ ๕ ทั้งยังเป็นเจ้าของกิจการเรือเมล์เขียวรับส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างผักไห่กับอยุธยาและท่าเตียน ในสมัยที่ถนนยังมาไม่ถึง

นอกขากเป็นบ้านที่โอ่อ่าสง่างามที่สุดในย่านนี้แล้ว ยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในการเสด็จประพาสต้นตามลำน้ำน้อยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแวะพักแรมที่บ้านหลังนี้ด้วย ทรงมีพระราชหัตถเลขาไว้ว่า ได้เสด็จประพาสมาตามลำน้ำน้อย และประทับแรมที่บ้านขุนพิทักษ์บริหารและนางจ่าง มิลินทวณิช

คงเป็นเพราะ “บ้านเขียว” มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ นางจ่าง มิลินทวณิช จึงได้มอบบ้านหลังนี้ให้กรมมหาดไทยในปี พ.ศ.๒๕๐๘ เพื่อเป็นสมบัติของแผ่นดิน หลังจากที่ขุนพิทักษ์บริหาร เสียชีวิตไปเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๖ ขณะอายุ ๗๐ ปี ซึ่งกรมมหาดไทยได้มอบเหรียญเชิดชูเกียรติประดับเพชรให้นางจ่างเป็นการตอบแทน “บ้านเขียวขุนพิทักษ์” จึงอยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ต่อมา

ในปี พ.ศ.๒๕๓๗ นางสมพร มิลินทวณิช หลานของขุนพิทักษ์ฯและนางจ่างที่เกิดจากบุตรสาวคนโต เห็นว่าบ้านเขียวขุนพิทักษ์ถูกทอดทิ้งเป็นบ้านร้าง จึงทำหนังสือถึงกรมนารักษ์ขอให้ซ่อมแซมเพื่อเป็นประโยชน์ตามเจตนาของผู้ให้ แต่ก็ยังไม่มีการบูรณะใดๆจนบ้านเขียวถูกทิ้งให้ทรุดโทรม นอกจากชานและสะพานที่เชื่อมตัวบ้านกับศาลาท่าน้ำจะผุพังหมดสภาพแล้ว ต้นไม้ใหญ่ก็ขึ้นจนรกครึ้มปกคลุมบ้าน บรรยากาศวังเวงเหมือนบ้านผีสิงในภาพยนตร์ ทำให้คนขวัญอ่อนเกิดจินตนาการเห็นผู้หญิงในชุดขาวโผล่หน้าต่างชั้นบนตอนแดดอ่อนผีตากผ้าอ้อม บางคืนก็ได้ยินเสียงมโหรีบรรเลง ร่ำลือกันไปต่างๆนานา
เมื่อหนังสือพิมพ์ได้นำประวัติของบ้านเขียวพร้อมภาพของบ้านที่แสดงถึงความเก่าแก่มีบรรยากาศวังเวงมาเสนอ ทำให้ผู้คนที่นิยมความโบราณรวมทั้งคนที่นิยมความลี้ลับน่าตื่นเต้นได้ไปดูกันไม่ขาดสาย ซอยที่ผ่านหน้าวัดอมฤตเข้าไปบ้านเขียว มีรถจอดกันยาวเหยียดจนการจราจรติดขัด บ้างก็มาทางน้ำบุกขึ้นทางพงรกหน้าบ้านที่ติดแม่น้ำน้อย บุกขึ้นไปทางชานหน้าบ้าน จนทำให้บางส่วนที่ตากแดดตากฝนพังลง

เมื่อผู้คนพากันไปอย่างคึกคัก ทางเทศบาลตำบลผักไห่ได้ระดมคนมาถางหญ้า ตัดกิ่งไม้ที่ปกคลุมบ้านให้โปร่งขึ้น เห็นตัวบ้านได้ถนัด พร้อมทั้งนำหินมาถมลานด้านหลังของบ้านที่ติดกับถนน มีร้านต่างๆเข้ามาขายของทั้งดอกไม้พวงมาลัยเครื่องไหว้และอาหารนับสิบร้าน และตั้งเต็นท์นำรูปขุนพิทักษ์ฯมาตั้งไว้ให้ผู้มาเยือนกราบไว้ ส่วนบ้านย่านนั้นที่มีลานกว้างก็เปิดให้เป็นที่จอดรถเก็บคันละ ๑๐ บาท ชุมชนที่เคยเงียบเหงาก็คึกคักขึ้นรวมทั้งมีเงินสะพัด

ภายในบ้านเขียวแบ่งเป็นห้อไว้กว่า ๑๐ ห้อง แสดงถึงความเป็นครอบครัวใหญ่ แม้บ้านจะมีอายุมายาวนานกว่า ๑๐๐ ปี แต่สภาพภายในยังสมบูรณ์ ประตูหน้าต่างและสลักกลอนยังอยู่ครบ พื้นไม้เป็นมันเรียบอัดไว้แน่น แม้แต่บันไดที่ขึ้นไปชั้นบนก็แน่นหนา ไม่มีสั่นคลอนหรือมีเสียงเมื่อก้าวขึ้นลง แข็งแรงเหมือนเพิ่งสร้างขึ้นใหม่ๆ แม้จะมีคนขึ้นลงวันละเป็นร้อยก็ตาม

ของใช้บางอย่างเช่นตู้เหล็กเก็บสมบัติ และตู้ไม้ติดกระจก ซึ่งเป็นเฟอร์นิเจอร์สมัยรัชกาลที่ ๕ ก็ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ แต่แปลกใจที่ในตู้มีเสื้อผ้าและรองเท้าอยู่หลายชุด ทั้งเสื้อนอกกระดุมทอง ๕ เม็ด ไม้ตะพดของท่านขุน และชุดสุภาพสตรีพร้อมกระเป๋าถือและรองเท้าส้นสูงสำหรับคุณนาย ของพวกนี้น่าจะเป็นของใหม่ที่พวกนักเลงหวยที่ขอเลขเด็ดไปแทงถูกซื้อมาสมนาคุณ

นอกจากนี้ยังปรากฏว่าทุกห้องเกลื่อนไปด้วยของเซ่นไหว้ ทั้งดอกไม้ เสื้อผ้า ของใช้ อาหารคาวหวาน รวมทั้งน้ำอัดลม และเก้าอี้โยกคู่หนึ่งสำหรับท่านขุนและคุณนาย ทำให้บ้านร้างแห่งนี้กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง ขณะเดินดูก็มีความรู้สึกว่าท่านขุนและคุณนายยังอยู่ในบ้านด้วย ส่วนผู้หญิงในชุดขาวที่เคยโผล่หน้าต่างตอนผีตากผ้าอ้อม ซึ่งเป็นคนนอกสำมะโนครัวนั้น ไม่มีใครเห็นอีกเลย

ได้คุยกับพ่อค้าแม่ค้าที่นำของมาขายได้รับคำบอกเล่าว่า เมื่อแรกๆที่มีข่าวบ้านนี้ออกไปทางหน้าหนังสือพิมพ์ คนที่มาส่วนใหญ่จะเป็นคนที่นิยมของโบราณ มาเพลิดเพลินกับบรรยากาศเก่าๆ นักเรียนในย่านนี้ก็มีครูพามาดูให้รู้จักของมีค่าในท้องถิ่น แต่ในระยะหลังๆโดยเฉพาะในวันที่ใกล้ล็อตเตอรีออก คนที่มาล้วนแต่เป็นนักแสวงโชคทั้งนั้น แต่ละคนจะค้นหาเลขเด็ดตามที่ต่างๆ แม้แต่ฝาบ้านเรียบๆก็ยังเอามือลูบหาตัวเลข และเมื่อถูกก็จะหาซื้อของกำนัลมากราบไหว้ตอบแทนพระคุณ บางคนถูกรางวัลใหญ่นำละครชาตรีมาแสดงให้ดูก็มี

ส่วนคนที่ต้องการไปดูบ้านโบราณในสมัยรัชกาลที่ ๕ “บ้านเขียวขุนพิทักษ์ฯ” ก็มีอะไรๆให้ไม่น้อย ความน่าสนใจอยู่ที่บ้านไม้หลังนี้อายุกว่า ๑๐๐ ปี ข้ามศตวรรษมาแล้ว ก็ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ สามารถที่เข้าอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัย แม้แต่ศาลาริมแม่น้ำน้อยก็ยังอยู่ในสภาพใช้งานได้ ส่วนระเบียงบ้านและสะพานที่ตากแดดตากฝนผุพังไปตามกาลเวลา ขณะนี้ก็มีการสร้างขึ้นใหม่ให้นักท่องเที่ยวเดินได้สะดวกแล้ว

ผักไห่เป็นอำเภอเล็กๆและเงียบสงบ อยู่ห่างอำเภอเสนาไปเพียงสิบกว่ากิโลเมตร ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ “บ้านเขียวขุนพิทักษ์ฯ” จึงน่าจะมีผู้สนใจเช่าจากกรมธนารักษ์ ปลุกขึ้นมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและที่พักสำหรับคนที่สนใจสถานที่เก่าๆที่มีประวัติศาสตร์และบรรยากาศแปลกตาไปจากยุคปัจจุบัน รวมทั้งกุ้งแม่น้ำ อาหารเด่นของย่านนั้น
ขุนพิทักษ์บริหาร (พึ่ง มิลินทวณิช)
ตู้เสื้อผ้าภายในบ้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น