xs
xsm
sm
md
lg

ISMED จับมือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม ต่อยอดเพิ่มผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรมด้วยเครือข่ายดิจิทัล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วันนี้ (20 ส.ค.) เวลา 10.00 น. ณ ห้องออดิทอเรียม (Auditorium) อาคารทรู ดิจิทัล พาร์ค สุขุมวิท 101 กรุงเทพฯ นายธนนนทน์ พรายจันทร์ ผอ.สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) พร้อมด้วย ผศ.ดร.ชลธิศ เอี่ยมวรวุฒิกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม นายธนันธน์ อภิวันทนาพร ผอ.ฝ่ายพัฒนาธุรกิจต่างประเทศและการตลาด ISMED และ ดร.เด่นชัย วรเดชจำเริญ ที่ปรึกษาโครงการฯ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงภายใต้โครงการต่อยอดเพิ่มผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรมด้วยเครือข่ายดิจิทัล

นายธนันธน์ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีนโยบายในผลักดันอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและมีอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายเดิมที่มีศักยภาพที่เป็นเป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 โดยอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารในประเทศไทยส่วนหนึ่งยังขาดความพร้อมที่จะลงทุน หรือปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ทั้งเกิดจากข้อจำกัดในด้านต่างๆ ทำให้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลิตภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันได้ ในทางกลับกันกลุ่มผู้ผลิตเทคโนโลยี Internet of Thing (IoT) ของไทย เช่น กลุ่มบุคลากรในสถาบันการศึกษา นักวิจัยอิสระ และหน่วยงานวิจัยต่างๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการอุตสาหกรรมได้ ซึ่งกลุ่ม IoT Maker เหล่านี้ยังขาดความเชื่อมโยงกับผู้ต้องการใช้เทคโนโลยีเช่นกัน

"ดังนั้น หากสามารถเชื่อมโยงความต้องการเทคโนโลยีดิจิทัลของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกับกลุ่ม IoT Maker ในประเทศได้ จะเป็นการเปิดโอกาสช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนำไปใช้ในกระบวนการผลิต การค้า และการส่งออก ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ในขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาทักษะ ความรู้ความสามารถให้กับกลุ่มผู้ผลิตเทคโนโลยีในประเทศอีกด้วย"

นายธนันธน์ กล่าวอีกว่า จากการดำเนินโครงการต่อยอดเพิ่มผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมเครือข่ายดิจิทัล โครงการเปิดรับสมัครโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารจากจำนวน 34 โรงงาน แบ่งตามหมวดหมู่ประเภทอาหาร วิเคราะห์รูปแบบกระบวนการ ลงสำรวจผ่านการเก็บข้อมูลจากทางโครงการฯ เพื่อวิเคราะห์หาที่มาของปัญหาในกระบวนการ โดยคัดเลือกเข้าร่วมพัฒนาจำนวน 25 โรงงาน เพื่อการเพิ่มผลิตภาพในด้านการผลิตและระบบการจัดการภายในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค Digital Industry ด้วยการใช้ IoT ที่คิดค้นจากนักพัฒนาที่สมัครเข้าร่วมโครงการ 40 ราย คัดเลือกตามความสามารถเข้าสู่กระบวนการจับคู่พัฒนาเทคโนโลยีกับปัญหาที่เหมาะสมจากโรงงานที่สมัครเข้าร่วม โดยหวังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ ปรับกลยุทธ์นำเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบที่ออกแบบวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้โดยนักพัฒนาเทคโนโลยี IoT ของประเทศไทย เข้ามาเชื่อมต่อระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและเหมาะสมกับกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมของไทย

ด้าน นายธนนนทน์ เปิดเผยว่า สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) เล็งเห็นถึงความสำคัญของเครือข่าย นักพัฒนาเทคโนโลยี IoT ที่เข้าร่วมโครงการฯ จากกระบวนการพัฒนาที่ผ่านมา ทางสถาบันฯ จึงจัดกิจกรรมตัดสินการพัฒนาเทคโนโลยี IoT ในโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ขึ้นในงาน "IoT Maker Pitching Contest 2019" จุดประสงค์เพื่อการจัดระดับและวัดผลลัพธ์ของกระบวนการทำงานตามเกณฑ์ที่โครงการวางไว้ ร่วมถึงขยายเครือข่ายนักพัฒนาสู่อุตสาหกรรมที่สนใจ โดยสร้างแพลตฟอร์มเครือข่ายดิจิทัล www.digitaltechmaker.com ขึ้น ที่ช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมไทย สามารถเข้าถึงนักพัฒนาเทคโนโลยี IoT ได้ง่าย รวมถึงสามารถรับชมผลงานการพัฒนาที่ผ่านมา เพื่อเป็นการส่งเสริมช่องทางการตลาดและสร้างการรับรู้ สนับสนุนให้อุตสาหกรรมและภาคผลิตระดับ SME ไทย เชื่อมต่อกับผู้พัฒนา IoT ได้บนแพลตฟอร์มดังกล่าว ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนโรงงานอุตสาหกรรมรวมถึงภาคการผลิตในส่วน SME เข้าสู่ยุค 4.0 ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลต่อไป

นายธนนนทน์ เผยอีกว่า นอกจากนี้ ISMED ยังได้บูรณาการความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ในการสร้างรูปแบบ กระบวนการ และวางแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย และผลักดันทรัพยากรบุคลากรที่เป็นนักพัฒนาเทคโนโลยี IoT เข้าสู่ความต้องการใช้งานเทคโนโลยีของผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป





กำลังโหลดความคิดเห็น