ในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๒ นี้ จะเป็นวันครบรอบ ๗๔ ปีของวันประกาศสันติภาพไทยซึ่งได้ประกาศเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ ว่า การประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ต่ออังกฤษอเมริกาเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๔ นั้นเป็นโมฆะ เพราะผิดเจตจำนงของประชาชนชาวไทย และฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ สามารถพลิกสถานะของประเทศจากผู้ร่วมรบกับญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้แพ้สงคราม กลายมาเป็นประเทศที่ไม่เคยทำสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรได้
ขบวนการเสรีไทยได้เริ่มก่อตั้งขึ้นในวันแรกที่ญี่ปุ่นบุกไทยเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ โดยยกพลขึ้นบกตามชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกหลายจุดตั้งแต่ปัตตานีถึงบางปู สมุทรปราการ ส่วนทางบกด้านอรัญประเทศ ตำรวจ ทหาร ยุวชนทหารและประชาชนได้ต่อสู้ทุกจุดอย่างไม่เกรงกลัวกองทัพอันเกรียงไกรของลูกพระอาทิตย์ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยได้ยื่นหนังสือกะทันหันต่อรัฐบาลขอเดินทัพผ่านไปตีมลายูและพม่าของอังกฤษ โดยรับรองความเป็นเอกราช อธิปไตยของไทย และจะเคารพในเกียรติยศของประเทศไทย จอมพล ป.เห็นว่าสู้ไปก็สู้ได้ไม่กี่น้ำและประเทศชาติย่อยยับแน่ จึงสั่งให้ยุติการต่อสู้ ยอมให้ญี่ปุ่นผ่าน และมีการเซ็นสัญญาต่อกัน
ดร.ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีคลังร่วมคณะอยู่ด้วย เห็นว่าเป็นการยากที่จะให้ญี่ปุ่นรักษาสัญญา คงจะต้องบีบไทยต่อไปอีก ทั้งยังมีรัฐมนตรีหลายคนเชื่อว่าญี่ปุ่นจะต้องชนะสงครามแน่ จึงอยากร่วมหัวจมท้ายกับญี่ปุ่นไปเลย ดร.ปรีดีจึงขอให้ นายทวี ตะเวทิกุล และ นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร นัดหมายบุคคลที่ใกล้ชิดไปพบกันที่บ้านถนนสีลมในตอนค่ำ
บุคคลที่มาพบในคืนนั้นมีหลวงบรรณกรโกวิท (เปา จักกะพาก) หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์ (ม.ล.กรี เดชาติวงศ์) นายสงวน ตุลารักษ์ นายเตียง ศิริขันธ์ นายถวิล อุดล นายกำจัด พลางกูร นายวิจิตร ลุลิตานนท์ ฯลฯ ซึ่งได้ตัดสินใจที่จะพลีชีพเพื่อกอบกู้เอกราชและอธิปไตยของชาติ โดยตั้ง “องค์การต่อต้านญี่ปุ่น” ขึ้น ให้ความร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร โดยมีปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้าขบวนการ
ที่อเมริกา ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ได้แจ้งต่อกระทรวงต่างประเทศสหรัฐว่า สถานทูตไทยไม่ยอมรับสัญญาร่วมมือทางทหารระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น และปราศรัยทางวิทยุถึงประชาชนชาวไทยว่าจะต่อสู้เพื่ออิสรภาพของประเทศไทย ขอให้ประชาชนคนไทยพร้อมใจกันกอบกู้เอกราชและอธิปไตยของชาติ ทั้งยังกล่าวด้วยว่า พ.ท.ม.ล.ขาบ กุญชร ทูตทหารบก พร้อมด้วยคนไทยในอเมริกาได้เสนอตัวเข้ารับการฝึกเพื่อต่อสู้กับศัตรูของชาติ
ส่วนที่อังกฤษ เอกอัครราชทูตไทยยอมรับคำสั่งรัฐบาลให้เดินทางกลับประเทศ นักเรียนไทยจึงจับกลุ่มกันยื่นหนังสือไปถึง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ขอร่วม “ขบวนการเสรีไทย” ที่ก่อตั้งขึ้นด้วย ซึ่ง ม.ร.ว.เสนีย์ได้ส่ง นายมณี สาณะเสน ไปประสานงาน
ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ให้การสนับสนุนขบวนการเสรีไทยในต่างประเทศ ฝึกการรบแบบกองโจร การโดดร่ม และการรับส่งวิทยุ แล้วนำมาฝึกเพิ่มเติมที่อินเดีย และลังกาก่อนส่งเข้าไทย เสรีไทยสายอังกฤษฝ่ายทหารได้รับการบรรจุเข้าอยู่ในกองทัพอังกฤษและได้รับยศด้วย เช่น ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน์ พระเชษฐาในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๗ ได้รับยศ พันตรี และนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งกำลังทำปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้รับยศ ร้อยตรี
เส้นทางเข้าไทยของเสรีไทยต่างประเทศนั้น จะเล็ดลอดจากจีนเข้ามาทางลาว บ้างก็มาทางเรือดำน้ำ แต่ส่วนใหญ่จะโดดร่มลงตามป่าในภาคต่างๆ เมื่อเสรีไทยต่างประเทศเข้ามาเชื่อมกับเสรีไทยในประเทศได้แล้ว ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงได้ทราบว่าขบวนการเสรีไทยมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ บรรดา ส.ส.ได้จัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นในจังหวัดของตน และได้จัดสร้างสนามบินลับขึ้นหลายแห่ง ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงได้ส่งอาวุธมาให้ทางเครื่องบิน ประสานงานกันอย่างใกล้ชิด
ครั้งหนึ่งตอนปลายสงครามที่นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ญี่ปุ่นรู้ข่าวว่ามีสนามบินลับของเสรีไทยอยู่ในหุบเขาใกล้เรือนจำคลองไผ่ นครราชสีมา เมื่อญี่ปุ่นสอบถามข้อข้องใจเรื่องนี้กับนายควง นายกรัฐมนตรีผู้รวยอารมณ์ขันก็หัวเราะร่วนตามแบบฉบับ แล้วบอกว่า
“อ๋อ รู้เรื่องแล้ว ไม่ใช่สนามบินลับอะไรหรอก นักโทษเขาเตรียมที่จะปลูกพริกกันน่ะ”
ว่าแล้วก็รีบส่งข่าวไปถึงปรีดี ฉะนั้นเมื่อนายควงให้คนนำญี่ปุ่นไปดูสนามบินลับที่คลองไผ่ ก็ได้เจอไร่พริกดงใหญ่ที่เนรมิตขึ้นรับญี่ปุ่นได้ทันเวลา
ในระยะแรกที่การประสานงานระหว่างเสรีไทยในประเทศกับต่างประเทศยังทำไม่ได้ เพราะไม่มีวิทยุรับ-ส่ง และยังไม่มีสนามบิน การเดินทางเข้าประเทศของเสรีไทยจากต่างประเทศชุดแรกๆ จึงลำบากและมีอันตรายอย่างสูง อย่างเช่นการเดินทางของ ร้อยตรี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งมีรหัสประจำตัวว่า “เข้ม” และเป็นเสรีไทยชุดแรกที่เข้ามา เป็นตัวอย่างได้อย่างดี
ดร.ป๋วยออกเดินทางจากเมืองลิเวอร์พูล ในประเทศอังกฤษ มาในเรือบรรทุกทหาร ๔,๐๐๐ คนมุ่งสู่อินเดีย ซึ่งต้องใช้เวลาถึง ๓ เดือน อ้อมปลายแหลมกู๊ดโฮปของอาฟริกา เพราะทางลัดที่ผ่านคลองสุเอซถูกเยอรมันยึดไว้ สิ่งที่กลัวกันมากในขณะนั้นก็คือเรืออู ซึ่งเป็นเรือดำน้ำที่ทรงประสิทธิภาพของเยอรมัน และมีจำนวนถึง ๔๐๐ ลำ ประจำการอยู่ใต้ทะเลต่างๆ ดักโจมตีเรือของฝ่ายสัมพันธมิตร
พอออกเดินทางจากอังกฤษมาได้ไม่เท่าไหร่ ก็ถูกโจมตีจากเครื่องบินทิ้งระเบิดและเครื่องบินขับไล่ของเยอรมัน แต่ก็แคล้วคลาดเพราะมีกองเรือรบคอยคุ้มกันยิงตอบโต้ และโชคดีที่ไม่เจอเรืออู
เมื่อมาถึงเมืองปูนาในอินเดีย “นายเข้ม” ก็ถูกฝึกหนักในหลักสูตรการรบแบบกองโจรและจารกรรม การต่อสู้ด้วยดาบปลายปืน การอ่านแผนที่ การรับ-ส่งวิทยุ และเดินทางไกลวันละ ๕๐ กม.เป็นเวลาเกือบ ๖ เดือน
ในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๘๖ ดร.ป๋วยจึงถูกส่งตัวเข้าไทยพร้อมกับเพื่อนอีก ๒ คนโดยเรือดำน้ำ ออกจากลังกา กำหนดจะมาขึ้นบกที่ตะกั่วป่า จังหวัดพังงา โดยมี พ.ต.ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท เดินทางจากยูนาน ถือสารจากรัฐบาลอังกฤษมาถึง “รู๊ธ” นัดหมายให้มาคอยรับ
ดร.ป๋วยได้บันทึกไว้ในเรื่อง “ทหารชั่วคราว” ถึงการเดินทางครั้งนี้ว่า
“การเดินทางด้วยเรือใต้น้ำ มีเวลาตื่นเต้นอยู่บ้างในเมื่อทราบว่ามีเรือใหญ่อยู่เหนือผิวน้ำใกล้เคียงกับที่เราจมอยู่ อาจจะเป็นเรือญี่ปุ่นหรือเรือไทยก็เป็นได้ แล้วเราก็ไม่ทราบแน่ว่าเรือลำนั้นเป็นเรือของเราหรือไม่ แต่เราได้พยายามรักษาความเงียบสงัดไว้เพื่อความปลอดภัย ข้าพเจ้าเองแทบจะไม่กล้าหายใจ เพราะรู้สึกว่าลมหายใจเป็นเสียงดังอย่างไม่น่าเชื่อ
เรือใต้น้ำนั้นร้อน ชีวิตน่าเบื่อหน่าย ไม่มีอะไรจะทำนอกจากนอน กิน และทอดลูกเต๋า เรานอนในกลางวัน และตื่นในเวลากลางคืน เมื่อเวลาเรือลอยลำขึ้นมา ผู้โดยสารได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปบนดาดฟ้ารับอากาศบริสุทธิ์ได้ จะสูบบุหรี่ก็ได้ แต่ที่ในเวลาเรือลอยลำ เมื่อส่องกล้องดูฝั่งไทยจากเรือใต้น้ำนั้น ข้าพเจ้าจำได้ว่า แผ่นดินอันเป็นที่รักของเราสวยงามมาก หาดทรายขาวและมีกระท่อมคนหาปลาอยู่ มีต้นไม้เป็นอันมาก ข้าพเจ้าไม่เคยไปเลย แต่รู้สึกว่าที่นั่นเป็นแผ่นดินที่รักของเรา และมีคนร่วมชาติที่รักของเราอาศัยอยู่”
เรือดำน้ำลอยลำห่างฝั่งประมาณ ๔-๕ ไมล์ กลางคืนโผล่มารอสัญญาณอยู่หลายคืน แต่ไม่มีสัญญาณจากฝั่ง เลยต้องกลับลังกา มารู้ภายหลังว่าจดหมายที่เดินทางบกนั้นไม่ถึงมือ “รู๊ธ”
อาจารย์ป๋วยถูกส่งไปฝึกโดดร่มที่แคว้นปัญจาบ จนในวันที่ ๖ มีนาคม ๒๔๘๗ ก็ถูกส่งมาโดดร่มในไทยพร้อมกับเสรีไทยอีก ๒ คน โดยมีการตกลงกันว่า ถ้าถูกจับได้จะไม่ต่อสู้กับคนไทย แต่ถ้าเป็นญี่ปุ่นต้องสู้ตาย
อาจารย์ป๋วยบันทึกการเดินทางช่วงนี้ไว้ว่า
“ประมาณเวลา ๒๓.๐๐ น. เราสามคนนั่งรออยู่เหนือช่องกระโดดเครื่องบิน พร้อมที่จะไถลตัวกระโดดลงในท่ามกลางความมืด ช่องที่ว่างนั้นอยู่บนพื้นเครื่องบิน มีประตูเปิดออก ช่องนั้นใหญ่พอที่จะให้ผู้กระโดดไถลตัวลงไปได้พร้อมด้วยเครื่องหลังและร่มชูชีพที่อยู่บนหลัง ถ้าคำสั่ง “ลง” มีมาเมื่อใด เราก็จะ “กระโดด” ลงไปสู่ความมืดและไปสู่ยถากรรม เราคงได้นั่งอยู่ที่นั่นคือที่ขอบเหวนั้นเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง…ข้าพเจ้ารู้สึกว่าจะเป็นหนึ่งปี…คำนึงถึงชีวิตและมรณะ คำนึงถึงอนิจจังและอนัตตา และจากช่องกระโดดนั้น ลมเย็นพัดกระโชกเข้ามาอยู่ตลอดเวลา คงจะมีประโยชน์สำรับจะทำให้เราแน่ใจว่า ที่ที่จะลงไปนั้นไม่ใช่นรก เพราะว่าไม่มีเปลวเพลิงอันร้อน มีแต่ลมเย็น เครื่องบินวนเวียนอยู่เรื่อยๆ รู้สึกว่าจะไม่หยุด แต่ว่าคำสั่งให้เตรียมตัวกระโดดไม่มีเข้าหูเราเลย ผลสุดท้ายมีคนมาตบไหล่เบาๆ และเราได้ยินว่า “เลิกกันได้ เพราะเหตุว่านักบินไม่สามารถหาที่ที่เราจะลงได้ แผนที่ก็เลว อากาศก็มืด พวกเรากำลังเดินทางกลับไปยังกัลกัตตา”
อีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา อาจารย์ป๋วยพร้อมกับเพื่อน ๒ คนชุดเดิม ถูกนำขึ้นเครื่องบินอีก โดยมีเป้าหมายที่จะโดดลงในป่าของจังหวัดตากติดต่อกับนครสวรรค์ พร้อมกับเครื่องมือสื่อสารและเสบียงอาหารที่จะยังชีพอยู่ได้ไม่ต่ำกว่า ๑ เดือน แต่กลับไปลงที่วังน้ำขาว อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ทั้ง ๓ รู้ว่าบริเวณที่ลงอยู่ใกล้หมู่บ้าน เลยรีบเก็บร่มแล้วหลบไปซ่อนตัวในป่าให้ลึกที่สุด พยายามวิทยุติดต่อกับกองบัญชาที่อินเดีย แต่ไม่ได้ผล
ในเช้าของวันที่ ๓ ขณะที่เพื่อน ๒ คนแยกไปหาที่ส่งวิทยุ อาจารย์ป๋วยกำลังนั่งดูแผนที่ ได้ถูกชาวบ้านพาตำรวจมาล้อมจับ อาจารย์ป๋วยก็ยอมให้จับแต่โดยดีและตะโกนบอกดังๆว่า “ยอมแพ้ จับไปเถิด…เข้ามาเถิดครับ ผมไม่สู้หรอกกับคนไทย แต่ถ้าเป็นญี่ปุ่นผมสู้ครับ”
ที่พยายามส่งเสียงดังก็เพื่อให้เพื่อนอีก ๒ คนได้ยิน จะได้หนีไป
ชาวบ้านคิดว่าอาจารย์ป๋วยเป็นจารชนคนขายชาติที่รัฐบาลคอยเตือนให้ดูอยู่แล้ว จึงชกต่อยเตะกันอย่างเคียดแค้น และยังผลักเข้าไปในกอหนาม ตำรวจก็ขึ้นไกปืนเตรียมจะยิง แต่มีชายคนหนึ่งซึ่งเป็นทหารและลาพักมาเยี่ยมบ้านโดดเข้าห้ามไว้ ผลักกระบอกปืนไป บอกว่าเมื่อยังไม่รู้ว่าคนนี้เป็นใครแน่ ก็ควรจะนำตัวส่งให้ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงสอบสวนต่อไป ไม่สมควรจะจัดการเสียเอง
ดร.ป๋วยบันทึกความรู้สึกในตอนนี้ไว้ว่า
“ความคิดต่างๆพรั่งๆเข้าสมอง ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าอะไรมาก่อนมาหลัง คิดถึงคู่รักที่ลอนดอน คิดถึงเพื่อนร่วมปฏิบัติการที่อังกฤษ อินเดีย ญาติพี่น้องในกรุงเทพฯ คิดถึงสารของกองบัญชาการที่มีไปถึง “รู๊ธ” และสุดท้าย คิดถึงยาพิษที่ซุกอยู่ในกระเป๋าตรงหน้าอก”
อีก ๑๐ ปีต่อมา ขณะที่เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อาจารย์ป๋วยได้ไปสืบหานายบุญธรรมคนที่ช่วยชีวิตไว้ และได้พบกับลุงบุญธรรม ปานแก้ว ชาวนาตำบลวัดสิงห์ ซึ่งก็เพิ่งรู้ด้วยความดีใจว่า คนที่แกช่วยชีวิตไว้นั้นคือ เจ้าของลายเซ็นบนธนบัตรที่แกใช้อยู่นั่นเอง
อาจารย์ป๋วยถูกนำไปมัดไว้บนศาลาวัดอยู่หลายวัน มีชาวบ้านมาดูกันไม่ขาดสาย
“…ในตอนบ่ายชาวบ้านที่มาจากหมู่บ้านอื่นๆ ได้ขึ้นมาบนศาลามาดูพลร่ม เขานั่งล้อมวงไม่ไกลข้าพเจ้า เพราะเหตุว่าเจ้าหน้าที่ที่เกลียดชังข้าพเจ้าไล่ให้เขาออกไปห่างๆ อยู่เสมอ และพอตกบ่ายเจ้าหน้าที่บางคนก็ม่อยหลับไป ชาวบ้านถึงได้กระเถิบเข้ามาใกล้ทุกที และเริ่มซักถามข้าพเจ้า ในหมู่ชาวบ้านหน้าซื่อเหล่านี้มีหญิงผู้หนึ่งอายุค่อนข้างมาก ข้าพเจ้าสังเกตว่าแกนั่งใกล้ข้าพเจ้าอยู่นานถึงสองชั่วโมง พูดกับข้าพเจ้าเสียงแปร่งๆว่า พุทโธ่หน้าเอ็งเหมือนลูกข้า ข้าพเจ้าถามว่าลูกของป้าอยู่ไหน ได้รับคำตอบว่าถูกเกณฑ์ทหารไปนานแล้ว ไม่รู้ว่าไปอยู่ไหน เสียงอันเยือกเย็นซึ่งแสดงถึงน้ำใจของผู้หญิงคนนี้ ทำให้ข้าพเจ้าตื้นตัน และรู้สึกว่าได้มีรสหวานอันเป็นรสแห่งความรักของมารดาห้อมอยู่ในศาลานั้น”
หลังจากนั้นอาจารย์ป๋วยก็ถูกคุมตัวเข้ากรุงเทพฯ โดยทางเรือล่องมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งตัวให้สันติบาล ที่นี่อาจารย์ป๋วยได้ข่าวคราวของเสรีไทยคนอื่นๆที่มาโดดร่มในชุดแรกนี้ หลายคนถูกทหารญี่ปุ่นยิงตายกลางอากาศ และเพื่อนที่โดดร่มลงมาด้วยกันก็ถูกจับด้วย แต่เหตุการณ์กลับพลิกล็อค
ดร.ป๋วยถูกสันติบาลที่เป็นเสรีไทยนำไปพบ ดร.วิจิตร ลุลิตานนท์ เลขาธิการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นเลขาธิการของขบวนการเสรีไทยด้วย ที่บ้านบางเขน และที่นี่อาจาย์ป๋วยก็มีโอกาสได้ยื่นสารของ พลเรือเอก ลอร์ด หลุยส์ เมานต์แบตเตน ผู้บัญชาการภาคพื้นแปซิฟิคของฝ่ายสัมพันธมิตร ถึงมือ “รู๊ธ” โดยตรง
การเดินทางมาของเสรีไทยต่างประเทศชุดแรกรุ่นเดียวกับอาจารย์ป๋วย พร้อมด้วยวิทยุรับ-ส่ง ทำให้การประสานงานของฝ่ายสัมพันธมิตรกับขบวนเสรีไทยในประเทศติดต่อกันได้เป็นครั้งแรก และเป็นประโยชน์ต่อการทำสงครามของสัมพันธมิตรในย่านนี้มาก ซึ่งก็เป็นผลต่อสถานะของประเทศชาติเป็นอย่างมาก
เมื่อสุดสิ้นสงคราม อาจารย์ป๋วยได้รับพระราชทานยศ พันตรี แห่งกองทัพไทย เช่นเดียวกับที่ได้เลื่อนยศในกองทัพบกอังกฤษเป็นพันตรีเช่นกัน เพื่อประสานงานกับฝ่ายสัมพันธมิตรในการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย และอาจารย์ป๋วยได้รับแต่งตั้งเป็นคณะผู้แทนไทยไปเจรจากับอังกฤษที่เมืองแคนดี ๒ ครั้ง จากนั้นเมื่อปัญหาทุกอย่างยุติ “เข้ม” ก็ปฏิเสธตำแหน่งทุกอย่าง ขอกลับไปทำปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์ต่อจนสำเร็จ
เรื่องราวการปฏิบัติงานของเสรีไทยอีกคนหนึ่ง ซึ่งสร้างความสะเทือนใจอย่างมาก ก็คือ กำจัด พลางกูร
กำจัดอายุเพิ่ง ๒๖ ปี เป็นบัณฑิตเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ในสาขาวิชาปรัชญารัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ กลับมารับราชการได้ไม่นานก็ต้องออกเพราะมีทัศนะคติต่อต้านการใช้อำนาจในระบบราชการ ในวันที่ญี่ปุ่นบุกไทย กำจัดไปพบนายเตียง ศิริขันธ์ ส.ส.สกลนคร ชวนก่อตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น นายเตียงจึงพากำจัดไปพบปรีดีในคืนนั้น จนเมื่อปรีดีต้องการคนถือสารไปส่งให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช โดยต้องเดินทางไปจุงกิงก่อน เพื่อขอให้จอมพลเจียงไคเช็คส่งตัวไปต่อ กำจัดคนตัวเล็กรูปร่างบอบบางก็ขอรับอาสาทำงานที่เดินทางแบบสมบุกสมบันเรื่องนี้ทันที
ในไดอารีของกำจัดได้บันทึกไว้ว่า
“๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๖ ตอนเย็น ข้าพเจ้าได้ไปรับประทานอาหารและปรึกษาเรื่องทั่วๆ ไปกับอาจารย์ปรีดีเป็นครั้งสุดท้าย ท่านได้มอบเงินรวมทั้งธนบัตรจุงกิง ๒๓,๐๐๐ และทองให้ข้าพเจ้าสำหรับไปขายกลางทางเมื่อขัดสน จนกระทั่ง ๒๑.๓๐ น. จึงได้กราบลาท่านมา ท่านกล่าวว่า “เพื่อชาติ เพื่อฮิวแมนนิตี้นะคุณ เคราะห์ดีที่สุดอีก ๔๕ วันก็คงได้พบกัน เคราะห์ไม่ดีนัก อย่างช้าอีก ๒ ปีก็ได้พบกัน และถ้าเคราะห์ร้ายที่สุดก็ได้ชื่อว่า สละชีวิตเพื่อชาติไป” ข้าพเจ้าตื้นตัน น้ำตาคลอ เมื่อท่านเดินตามลงมาส่งถึงบันไดตึก”
ก่อนวันออกเดินทาง กำจัดได้ไปดูหน้าพ่อและน้องๆ โดยไม่สามารถบอกใครได้ นอกจาก ฉลบชลัยย์ ภรรยาที่พบรักตั้งแต่เรียนที่อังกฤษด้วยกันซึ่งตามไปส่งถึงริมโขงที่หนองคาย โดยมีนายเตียง ศิริขันธ์และภรรยาเป็นผู้จัดความสะดวกในการผ่านแดน และก่อนจะข้ามไป นายเตียงได้ถอดแหวนทองและสร้อยข้อมือของภรรยาให้กำจัดไปด้วย หากว่าประสบเหตุฉุกเฉินจะได้ขายเป็นทุนเดินทางได้
กำจัดได้ข้ามไปกับไพศาล ตระกูลลี้ หนุ่มลูกจีนนักศึกษาจากสิงคโปร์ ในฐานะล่าม และไปพบศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ นักโบราณคดีชื่อดังซึ่งเคยรับราชการอยู่ในกรมศิลปากร ซึ่งขณะนั้นทำงานให้สถาบันตะวันออกของฝรั่งเศสที่ฮานอย โดยมีลายพระหัตถ์ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่กำจัดเข้าเฝ้าก่อนออกเดินทางแนะนำตัวไป ด้วยการแนะนำของศาสตราจารย์เซเดส์ให้กำจัดเดินทางไปทางเมืองมองกาย และตงเฮงที่ไม่มีทหารญี่ปุ่นอยู่ กำจัดจึงรอดปลอดภัยจนถึงพรมแดนจีน
ทันทีที่ข้ามแดน กำจัดก็ถูกประกบตัวโดยทหารจีนคณะชาติ เขาจึงแนะนำตัวว่าเป็นใครมาทำอะไรและขอโทรเลข ๔ ฉบับไปถึง จอมพลเจียงไคเช็ค และทูตอเมริกันกับทูตอังกฤษที่จุงกิง อีกฉบับถึง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชที่วอชิงตัน
อีก ๔ วันต่อมาทูตอังกฤษได้โทรเลขตอบให้กำจัดไปพบกงสุลอังกฤษที่เมืองกุยหลิน ซึ่งอยู่ไม่ไกล ซึ่งที่นั่นนอกจากจะได้พบกับ มิสเตอร์สต๊อคเวย์ กงสุลอังกฤษแล้ว ยังได้พบกับ พ.อ.ลินเซด์ ที. ไร๊ค์ ผู้บังคับกรมหน่วยทหาร บี.เอ.เอ.จี.ของอังกฤษ ซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดด้วยกัน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือไม่มีใครไว้วางใจกำจัดเลยในยามหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนั้น
กำจัดได้บันทึกถึงเรื่องนี้ไว้ว่า
“เมื่ออยู่เมืองไทย ข้าพเจ้ามิได้คิดว่าการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจนี้จะลำบากยากเย็นอะไร เพราะมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นตัวประกันรับรองเราอยู่แล้ว แต่พอมาถึงเข้าจริง เรื่องหาเป็นเช่นนั้นไม่ พ.อไร๊ด์บอกว่าตามกฎหมายของเขา ก่อนที่จะอนุญาตข้าพเจ้าติดต่อกับ ม.ร.ว.เสนีย์ได้ ข้าพเจ้าต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจ แม้ว่าเขาจะพูดเช่นนั้น ข้าพเจ้าก็ยังคิดว่าควรจะพิสูจน์ได้ไม่ยากนัก เพราะประการที่หนึ่ง ข้าพเจ้าก็รู้จักชาวอังกฤษมาก และอีกประการหนึ่งก็ขอให้เขาไปถาม ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งในขณะนั้นข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าต้องรีบออกมารับรอง ข้อสำคัญข้าพเจ้ามีเอกสารติดต่อ คือ x.o. Group นี้ ”
ระยะนี้ก็มีการเช็คประวัติของกำจัดกันเป็นการใหญ่ กระทรวงต่างประเทศอังกฤษมีบันทึกลับไปถึงจีนว่า กำจัดเป็นบุตรพระยาผดุงวิทยาเสริม ศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “สามัคคีสาร” รัฐบาลพิบูลไม่ให้ทำราชการเพราะไม่ลงรอยกัน มีความสนใจการเมืองมาก มีน้องชายอยู่คนหนึ่งไปเป็นทหารช่างอังกฤษ
ส่วนเซอร์ โจซายน์ ครอสบี้ อดีตอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย บอกว่าไม่รู้จักกำจัดและไพศาล หรือ เอ็กซ์ โอ กรู๊ฟ แต่กำลังหาข่าวคืบหน้าจะส่งให้ภายหลัง
ส่วน พ.อ.ไร๊ด์ ให้ข้อมูลว่า กำจัดศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดจริง และเห็นว่าเป็นผู้ที่เชื่อถือได้
ระหว่างที่รอคอยทุกอย่างอยู่นั้น กำจัดได้โทรเลขไปถึง ม.ร.ว.เสนีย์ อีกเป็นครั้งที่ ๓ ให้รีบส่งเงินจำนวน ๒,๐๐๐ เหรียญมาโดยด่วน และให้จัดการส่งเขาไปวอชิงตันโดยเร็ว
เมื่อได้รับโทรเลขตอบจาก ม.ร.ว.เสนีย์ กำจัดจึงได้บินไปจุงกิง และเข้าพบ ดร.ซี.เค.วู รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศจีน แต่ก็ไม่ได้ผลอะไรคืบหน้า ดร.วูยังเสนอให้ปรีดีเดินทางออกมาติดต่อเองจะได้ผลเร็วกว่า กำจัดถามว่าถ้าปรีดีออกมาตั้งรัฐบาลนอกประเทศ สัมพันธมิตรและจีนจะรับรองรัฐบาลใหม่ของไทยหรือไม่ แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบนอกจากรับว่าจะติดต่อให้เขาได้พบกับประธานาธิบดีเจียงไคเช็ค พร้อมทั้งส่งตำรวจมาอารักขาที่บ้านพักด้วย
กำจัดไม่ยอมหยุดนิ่ง ส่งจดหมายถึงทูตอเมริกันและอังกฤษที่จุงกิง พร้อมกับเสนอแผนการจะนำปรีดีออกมาตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ทูตอเมริกันตอบว่าสหรัฐมีความเข้าใจอันดีกับรัฐบาลจีนแล้ว ขอให้กำจัดติดต่อกับจอมพลเจียงไคเช็คก็จะได้ผลเช่นเดียวกัน แต่ทูตอังกฤษกลับดับความฝันของกำจัดอย่างสิ้นเชิง เมื่อตอบมาสั้นๆ ว่า
“ให้ระงับการติดต่อไว้ก่อน และรอคอยต่อไปจนถึงโอกาสอันควร”
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศจีนยังได้แจ้งอีกว่า รัฐบาลอังกฤษได้แจ้งว่า องค์การเสรีไทยซึ่งกำจัดเป็นผู้แทน อังกฤษเห็นว่ายังเป็นเรื่องเลื่อนลอยเต็มที ปราศจากแผนการที่แน่ชัด และย้ำตอนสุดท้ายว่า อังกฤษมีความตั้งใจอย่างแน่ชัดที่จะปฏิบัติต่อประเทศไทยในฐานะเช่นปกติขณะนี้ การส่งเสริมและสนับสนุนกองทัพเสรีไทยนั้นจะเป็นเครื่องก่อกังวลให้อังกฤษ
กำจัดจึงตกอยู่ในฐานะลำบากเมื่ออังกฤษและจีนถือว่าเขาหมดหน้าที่ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลไทย อิสระแล้ว เป็นเพียงบุคคลซึ่งหมดทุกอย่างทั้งความหวังและเงิน คงได้แหวนและกำไลข้อมือของนายเตียง ศิริขันธ์และภรรยาเลี้ยงชีพ ต้องพักอยู่ในห้องที่คับแคบ สกปรก ชุกชุมด้วยหนู ยุง ทำให้สุขภาพเขาทรุดลงอย่างรวดเร็ว กำจัดได้ส่งข่าวไปถึงปรีดีทางผู้สืบราชการลับจีน และยังมีความหวังที่จะได้รับคำตอบ ทั้งยังได้ข่าวว่า พ.ท.ม.ล. ขาบ กุญชร กำลังเดินทางจากวอชิงตันมาพบเขา และ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท กำลังเดินทางเข้าไทยโดยผ่านจุงกิง กำจัดจึงค่อยแช่มชื่นขึ้นบ้าง เขาจึงพยายามดิ้นรนอีกครั้งที่จะช่วยตัวเอง โดยขอพบกับประธานาธิบดีเจียงไคเช็ค และแล้วความพยายามของกำจัดก็เป็นผล
ท่านจอมพลอนุมัติให้เขาได้เข้าพบในบ่ายวันหนึ่งหลังจากที่กำจัดรอคอยอยู่ที่จุงกิงมาถึง ๖๐ วัน จอมพลเจียงไคเช็คยอมรับว่าสัญญาร่วมยุทธของไทยกับยี่ปุ่นเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๔๘๔ นั้นเป็นโมฆะ และจีนจะช่วยไทยให้ได้รับอิสระหลังสงครามยุติ อีกทั้งยังรับว่าจะช่วยจัดการส่งกำจัดไปพบกับ ม.ร.ว.เสนีย์ที่วอชิงตันตามต้องการ แต่ก็ต้องถามทาง ม.ร.ว.เสนีย์ก่อนว่ามีความปรารถนาเช่นนั้นหรือไม่
ความหวังที่กำลังเรืองรองของกำจัดต้องดับวูบลงอีกครั้ง เมื่อ ม.ร.ว.เสนีย์ได้ตอบรัฐบาลจีนมาว่า เรื่องที่จะส่งกำจัดไปพบที่วอชิงตันนั้นขอให้รัฐบาลจีนวินิจฉัยเอง ถ้าเห็นไม่สมควรก็ไม่ต้องส่งไป และว่าถ้ากำจัดมีเรื่องสำคัญจะพูด ก็จะส่งผู้แทนมาคุยที่จุงกิงก็ได้ รัฐบาลจีนเลยวินิจฉัยว่าไม่ต้องส่ง
ในความอ้างว้างว้าเหว่มืดมนนั้น กำจัดก็ได้รับโทรเลขจาก ม.ร.ว.เสนีย์อย่างไม่คาดฝันว่า กำลังเจรจากับรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน เพื่อให้กำจัดไปวอชิงตันโดยเร็ว พร้อมกันนั้นหน่วย โอ.เอส. เอส.ของสหรัฐก็ได้แจ้งแก่เสนีย์ว่า กำจัดกำลังป่วยด้วยโรคทางลำไส้อย่างรุนแรง และกำลังจัดเครื่องบินไปรับกำจัดที่จุงกิง
แต่แล้วก่อนที่เครื่องบินของกองทัพบกสหรัฐจะถึงกำหนดออกเดินทางไปจุงกิง ทางสถานทูตไทยที่วอชิงตันก็ได้รับแจ้งจากหน่วย โอ.เอส.เอส. ว่า เครื่องบินเที่ยวนั้นต้องงดเดินทางกะทันหันเสียแล้ว เพราะกำจัดได้เสียชีวิตเมื่อตอนกลางคืนที่ผ่านมาต่อหน้านายแพทย์จีนที่รัฐบาลจีนส่งมาดูแลเขา
ศพของกำจัด พลางกูรถูกเผาที่วัดเล็กๆแห่งหนึ่งในจุงกิง อัฐิของเขาได้ถูกนำมาบรรจุไว้ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พร้อมกับได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศเป็นพันตรี
กำจัดไม่มีโอกาสได้เห็นการสวนสนามของเหล่าเสรีไทยต่อพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพลเรือเอก ลอร์ด หลุยส์ เมานต์แบตเตน ที่ถนนราชดำเนินเมื่อสงครามสงบ แต่วีรกรรมที่เขาสละชีพเพื่อชาตินั้นได้เป็นส่วนหนึ่งที่พลิกสถานะของประเทศไทยให้รอดพ้นจากการตกเป็นผู้แพ้สงคราม
แต่แล้วความพลิกผวนทางการเมืองได้เกิดขึ้น เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งรอดพ้นคดีอาชญากรสงครามได้กลับมามีอำนาจทางการเมืองอีกด้วยการทำรัฐประหาร กลุ่มนักการเมืองที่เคยเป็นเสรีไทยต้องตกอยู่ในฐานะฝ่ายตรงข้าม และเมื่อประเทศชาติตกอยู่ในยุคทมิฬของอำนาจเผด็จการ นักการเมืองฝ่ายเสรีไทยจึงถูกตามล่าเข่นฆ่าอย่างทารุณ นายเตียง ศิริขันธ์ถูกเผานั่งยางอยู่แถวป่าเมืองกาญจน์ “รู๊ธ” เองก็ต้องลี้ภัยไปเสียชีวิตในต่างประเทศ บทบาทของเสรีไทยถูกปิดบังซ่อนเร้นจนเกือบจะเลือนหายไปจากประวัติศาสตร์
บทบาทของเสรีไทยได้พิสูจน์ความเป็นไทยในสายเลือดของคนไทยว่า รักอิสรภาพยิ่งชีวิต ยอมสละชีวิตได้เมื่อมีภัยมาถึงชาติ หลายต่อหลายครั้งในประวัติศาสตร์ได้ยืนยันในข้อนี้
ทุกวันนี้อนุสรณ์ของเสรีไทย ก็คือ “สวนเสรีไทย” ที่เขตบึงกุ่ม ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์เสรีไทยอนุสรณ์ ในอาคารที่จำลองมาจาก “ทำเนียบท่าช้าง” ศูนย์บัญชาการของ “รู๊ธ” ที่ซ่อนตัวอยู่ในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ร.๘ กรุงเทพฯก็มีถนนชื่อ “เสรีไทย” และอัฐิของเสรีไทยผู้สละชีพเพื่อชาติได้รับการบรรจุอยู่ในอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ