xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ยืนยัน "เตาเผาขยะ" ไม่ล็อกสเปก ใช้เทคโนโลยีสะอาด ไม่ผลักภาระประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ยืนยันความจำเป็นโครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดขยะโดยระบบเตาเผา ชี้ปัจจุบันต้องจ้างเอกชนฝังกลบ 80% แต่ต่อไปจะแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า ชี้ผลศึกษาจาก มจพ. ค่าจ้าง 1,000 บาทต่อตันเหมาะสม แต่ กทม. กำหนดราคากลางเหลือ 900 บาทต่อตัน แถมใกล้เคียงกับค่าจ้างฝังกลบ ยันไม่ผลักภาระประชาชน ไม่มีล็อกสเปก คัดเลือกจากเทคโนโลยีสะอาด



จากกรณีที่มีเอกสารขอบเขตงาน (Term of Reference หรือ TOR) โครงการเตาเผาขยะของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ของกองกำจัดมูลฝอย สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. หนึ่งในนั้นคือ โครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอย ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช และศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เป็น 2 โครงการที่ กทม.ให้เอกชนยื่นข้อเสนอ โดยกำหนดวงเงินงบประมาณในการจ้างเหมาโครงการละ 6,570 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 20 ปีของสัญญาแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างและดำเนินงาน (Build Operate and Transfer หรือ BOT) ทำให้งบประมาณรวมในการจัดจ้างทั้งสองโครงการเป็นเงิน 13,140 ล้านบาท ทำให้เป็นที่วิจารณ์กันว่า เป็นการกำหนดค่าจ้างในการกำจัดขยะไว้ที่ 900 บาทต่อตัน ทั้งงบประมาณรวมและการกำหนดค่ากำจัดต่อตัน พร้อมกับประเด็นความไม่โปร่งใสในการกำหนดเงื่อนไขที่อาจเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางราย หรือที่เรียกกันว่า “ล็อกสเปก” ตามที่เกิดข้อสงสัยแก่สังคมนั้น

นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เปิดเผยกับทีมข่าว MGROnline.com ว่า เบื้องต้น สถานการณ์ขยะในกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีขยะเกิดขึ้นประมาณ 17,000 ต่อวัน โดยมีการจัดการขยะอยู่ 3 วิธีหลัก คือ ร้อยละ 80 ดำเนินการโดยจ้างเอกชน ฝังกลบอย่างถูกสุขลักษณะในพื้นที่ต่างจังหวัด อีก 15 เปอร์เซ็นต์ คือการหมักปุ๋ยอินทรีย์ ที่เหลืออีก 5 เปอร์เซ็นต์ ทำเป็นพลังงาน โดยการทำโรงเตาเผาขยะขนาด 500 ตันต่อวัน อยู่ที่เขตหนองแขม การกำจัดมูลฝอยส่วนใหญ่จะใช้ในการฝังกลบในพื้นที่ที่เป็นเอกชน ทาง กทม. เราก็มีภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้สูง เหตุต้องใช้พื้นที่มาก เราไม่มีพื้นที่เพียงพอในกรุงเทพมหานคร ที่จะใช้ในการทำพื้นที่ฝังกลบ เพราะว่าใช้พื้นที่มาก เราจึงต้องหาพื้นที่ที่เรามีอยู่อย่างจำกัด เรามีศูนย์กำจัดมูลฝอยอยู่สามแห่ง ที่เขตอ่อนนุช เขตหนองแขม และเขตสายไหม

เพราะฉะนั้น โรงงานกำจัดขยะของเรา ไม่ว่าจะเป็นโรงงานเตาเผา หรือโรงงานหมักทำปุ๋ยอินทรีย์ก็แล้วแต่ อย่างไรก็ต้องอยู่ในพื้นที่ของกรุงมหานครทั้ง 3 แห่งนี้ เราต้องมีระบบกำจัดขยะของตัวเอง เพราะถ้าไม่มีระบบกำจัดขยะของเราเอง เราก็ต้องพึ่งพาพื้นที่ของต่างจังหวัดที่จะเอาขยะไปฝังกลบ ถ้าวันใดวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ปลายทางเกิดปัญหาอุทกภัย ปัญหาอะไรก็แล้วแต่ ที่ขยะไม่สามารถไปได้ เหมือนปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในกรุงเทพมหานคร รถขยะไม่สามารถวิ่งไปฝังกลบต่างจังหวัดได้ เราไม่มีพื้นที่หรือมีโครงการมารองรับการจัดการขยะพวกนี้ ขยะที่เกิดขึ้นในเมือง เราก็ทำการจัดการลำบาก จึงทำให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก อันนี้คือสถานการณ์ในปัจจุบัน เราต้องหาวิธีการหรือหาเทคโนโลยีการที่จะมาจัดการกับขยะโดยตัวของเรา โดยกรุงเทพมหานครเอง

นั่นก็คือที่มาของการที่ทำไมถึงทำโครงการเตาเผาขยะ เพราะเป็นเรื่องของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในเรื่องของการทำขยะให้เป็นประโยชน์ เพราะขยะคือทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 หรือไม่ว่าจะเป็นแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงมหาดไทย ไม่ว่าจะเป็นแผนการจัดการของกรุงเทพมหานคร หรือแผนการกำจัดขยะ 5 ปีของกรุงเทพมหานคร เราต้องการเอาขยะที่เป็นทรัพยากรมาเป็นพลังงานให้ได้มากที่สุด แล้วลดการฝังกลบลงลดการพึ่งพาการฝังกลบลงให้ได้มากที่สุด เพราะฉะนั้น คือแผนที่รองรับในเรื่องของการทำโรงงานเตาเผาขยะ พอเราเอาเทคโนโลยีมาจัดการ แล้วเทคโนโลยีที่เอามาจัดการนั้นปราศจากมลพิษและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประชาชนก็สามารถจัดการขยะได้ในปริมาณค่อนข้างมาก สำหรับขยะในกรุงเทพมหานคร นี่ก็คือที่มาของการที่เราจะทำโครงการเตาเผาขยะ

ส่วนการกำหนดราคาค่ากำจัดขยะ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ก่อนอื่นการที่จะดำเนินโครงการนี้จะต้องทำการศึกษามาก่อน เพราะว่าการจัดการขยะโดยระบบเตาเผา เราจะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาด ซึ่ง พ.ร.บ.รักษาความสะอาด ปี 2560 ก็มีการออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย ปี 2560 ออกมา เพราะฉะนั้นเขาออกประกาศตรงนี้ออกมา เพื่อรองรับการจัดการขยะโดยเฉพาะเลยว่า ถ้าเป็นโครงการกำจัดขยะหรือการจัดการขยะ ไม่ต้องผ่าน พ.ร.บ. ร่วมทุน ไม่ต้องไปดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง หรือดำเนินการคัดเลือกเอกชน มอบหมายให้เอกชนมาดำเนินการตาม พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งในตัว พ.ร.บ. รักษาความสะอาด มาตรา 34/1 เขากำหนดในเรื่องของการที่จากท้องถิ่นต่างๆ ถ้าจะมอบหมายให้เอกชนมาดำเนินการในการจัดการขยะ สามารถดำเนินการได้ แต่จะต้องทำอะไรบ้าง เขาจะมีข้อกำหนดในนั้น เพราะฉะนั้นก่อนดำเนินการก็จะต้องมีการศึกษาก่อนว่า ความเหมาะสมของโครงการเป็นอย่างไร แล้วก็มีหัวข้อของการศึกษาไว้เลยว่าประกอบไปด้วยเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งเราต้องดำเนินการตามนั้น ต้องมีการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น จะต้องมีการับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่จะทำโรงงานเตาเผาขยะ เพราะฉะนั้นเรื่องต่างๆ เหล่านี้เราต้องทำหมด เราจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ในการทำ ในการรับฟังปัญหาประชาชน ในการทำรายงานการผลเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ซึ่งผู้ที่ศึกษาได้ศึกษาออกมาแล้วว่าราคาค่าจ้างที่เหมาะสมสำหรับโครงการเตาเผาขนาด 1,000 ตันต่อวัน โดยผลิตกระแสไฟฟ้าโดยจะมีราคาค่าจ้างเหมาะสมอยู่ที่ 1,000 บาท ต่อตันของขยะ อันนี้เป็นราคาค่าจ้างที่เหมาะสม

ซึ่งการมอบหมายให้เอกชนมาลงทุนในราคาค่าจ้าง 1,000 บาทนั้น เราศึกษาแล้วว่า เอกชนที่มาลงทุนเขาก็จะได้ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ 9 เปอร์เซ็นต์ อันนี้คือเป็นผลตอบแทนที่เป็นข้อเสนอให้เอกชนมาลงทุน เพราะนั้นจึงเป็นที่มาว่าราคาค่าจ้างต่อตันตอนนั้นที่ศึกษาไว้คือ 1,000 บาท ซึ่งการศึกษาทั้งหมด จะต้องไปผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลของกระทรวงมหาดไทยให้ความเห็นชอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาที่เหมาะสม เรื่องเทคโนโลยี ส่วนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องผลตอบแทนที่ภาครัฐควรจะได้ ภาคเอกชนจะได้ อะไรต่างๆ จะตอบไปผ่านการเห็นชอบจากกรรมการชุดนี้เสร็จแล้ว ก็ต้องเสนอให้รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงมหาดไทยเห็นชอบโครงการก่อน ท้องถิ่นถึงมาดำเนินการคัดเลือกหรือว่ามอบหมายให้เอกชนดำเนินการต่อได้ ซึ่งเราผ่านขั้นตอนนั้นทั้งหมดแล้ว




นายชาตรี เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้รับเหมาในโครงการ ระบุว่า โครงการนี้หลังจากได้รับการเห็นชอบจาก รมว.มหาดไทย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เราก็มาดำเนินการคัดเลือกเอกชน มอบหมายให้เอกชนดำเนินการ โดยการกำหนดขอบเขตของที่จะคัดเลือกเอกชน เราอิงตาม พ.ร.บ. รักษาความสะอาด ซึ่งใช้หลักการและวิธีการตาม พ.ร.บ. ร่วมทุน เพราะฉะนั้นหลักเกณฑ์วิธีการร่วมทุนของงาน จะถูกกำหนดไว้แล้วว่าจะมีหัวข้ออะไร อย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ของงานผู้ที่จะเสนอราคา ถูกกำหนดไว้ในขอบเขตของงานหมดแล้ว ก็ออกประกวดราคาให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ ซึ่งที่หนองแขมมีเอกชนเข้ามายื่นเสนอทั้งหมด 5 ราย ที่อ่อนนุชมีผู้มายื่นเสนอ 8 ราย ซึ่งทุกรายก็เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหมดที่เรากำหนด ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างที่เราพิจารณาคัดเลือกเอกชนที่เสนอมา

ทั้งนี้ อัตราค่ากำจัดที่เรากำหนดไว้แล้วใน 1,000 บาทต่อตันเหมาะสมแล้ว เพราะตอนที่เราศึกษาอัตราที่เหมาะสมทางมหาวิทยาลัยฯ ได้ศึกษาแล้วว่าอัตราที่เหมาะสมคือ 1,000 บาทต่อตัน แต่ตอนที่เราผ่านการเห็นชอบจาก รมว.มหาดไทยแล้ว โครงการเราต้องผ่านการเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร เพื่อจะขอจัดสรรงบประมาณ ช่วงนั้นก็ได้มีการพิจารณาแล้ว ทางผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็ได้ปรับลดราคาค่าจ้างตรงนี้ลง เหลือ 900 บาทต่อตัน นั่นคือราคางบประมาณที่เราจะใช้คัดเลือกเอกชนที่จะมาลงทุน แต่การที่จะได้ราคาที่เท่าไหร่ก็อยู่ที่ผลของการประกวดราคาว่าจะต่ำตรงนี้ หรือจะสูงกว่าตรงนี้เท่าไหร่ ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างพิจารณาตรงนี้อยู่ โดยการกำหนดการคัดเลือกเอกชนเสร็จสิ้นแล้ว ที่หนองแขมมี 5 ราย ที่มายื่นเสนอราคา เราก็มีการพิจารณาข้อเสนอทางด้านเทคนิค แล้วก็พิจารณาทางด้านข้อเสนอราคา ใครได้คะแนนสูงสุดทั้งสองด้านนี้ก็จะเป็นผู้ชนะ ผู้ที่ผ่านการพิจารณาเข้ามาจาก 5 ราย ที่หนองแขมได้มา 3 ราย ส่วนที่อ่อนนุชยื่นข้อเสนอมาทั้งหมด 8 ราย ผ่านการพิจารณามา 5 รายแล้วก็จะพิจารณาว่าใครคือผู้ชนะ คะแนนสูงสุดก็จะเป็นผู้ชนะการประกวด

ในส่วนของการส่งมอบงานให้ทาง กทม. นายชาตรี กล่าวว่า รายละเอียดเบื้องต้น รูปแบบของการลงทุนในแผนการศึกษาที่เราจ้างมหาวิทยาลัยฯ จะต้องศึกษารูปแบบของการลงทุนด้วยว่า รูปแบบไหนเหมาะสม รูปแบบที่ศึกษาแล้วว่าเหมาะสมก็คือ เขาเรียกว่า BOT หรือ Build Operate and Transfer ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใช้กันแพร่หลายแล้ว เป็นรูปแบบที่รัฐไม่ต้องลงทุนก่อน เพราะเอกชนลงทุนทั้งในช่วงแรก การก่อสร้างเอกชนจะต้องลงทุนก่อสร้าง พร้อมติดตั้งเครื่องจักร ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี วงเงินลงทุน 3,500 ล้านบาท ซึ่ง กทม. ไม่ได้จ่ายเงินค่าลงทุน ทั้ง 3,500 ล้านบาทนี้ เอกชนเป็นคนมาลงทุนทั้งหมด ในช่วงการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักร กทม. ไม่ได้จ่ายเงินเลย เราจะจ่ายก็ต่อเมื่อเอกชนเริ่มรับขยะเข้าไปเผาในโรงงานได้ แล้วเราก็จ่ายต่อตันที่เขาประกวดราคาได้ ไม่ว่าจะเป็นกี่บาทก็แล้วแต่ ซึ่งราคากลางหรือราคางบประมาณที่ตั้งไว้คือ 900 บาทต่อตัน เพราะฉะนั้นถ้าต่ำกว่านั้น เมื่อรับขยะได้เมื่อไหร่ เราก็จ่ายตามตันละเท่านั้น

เมื่อกล่าวถึงราคา 900 บาทต่อตัน หลังโครงการแล้วเสร็จงบประมาณเท่าไหร่ ในการที่จะต้องจ่ายให้กับเอกชน นายชาตรี ให้ข้อมูลว่า ตอนนี้ก็อยู่ที่ว่าผลการประกวดราคาจะออกมาเท่าไหร่ ซึ่งเราก็ไม่สามารถที่จะจ้างได้ถ้าราคาสูงกว่า 900 บาทต่อตัน นั่นหมายความว่าราคาที่เอกชนเสนอมา จะต้องต่ำกว่า 900 บาทต่อตัน สมมติว่าเป็น 700 หรือ 800 บาทต่อตันก็แล้วแต่ ถ้าวันหนึ่งเรากำหนดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ก็เอา 1,000 ตัน คูณ (x) ราคาที่เขาเสนอได้ สมมติเอา 1,000 ตัน คูณ 900 บาท (1,000 x 900) ก็ประมาณ 900,000 บาทต่อวัน คูณ 30 วัน (x 30) เดือนหนึ่งจ่ายเท่าไหร่ นั่นก็คืองบประมาณที่เราจะต้องจ่าย เพราะฉะนั้นโครงการนี้จึงมีระยะเวลาการดำเนินงาน 20 ปีในการรับขยะเข้าเผา แล้วเมื่อครบ 20 ปี โรงงานทั้งหมดที่เขาสร้างก็จะตกเป็นของ กทม. คือยกให้ กทม. เขาเรียก BOT

คือตอนสร้างเขาลงทุนตอน Operate เขาดำเนินการด้วยงบประมาณเขา แต่เราก็จ่ายค่าจ้างต่อทางผู้ลงทุนแล้ว พอครบ 20 ปี ก็ยกทรัพย์สินทั้งหมดให้กับ กทม. ซึ่งรูปแบบอย่างนี้บางแห่งก็จะต่างกันกับต่างจังหวัด ผมยกตัวอย่างกรณีต่างจังหวัด ที่มีประเด็นว่าทำไมเขาราคาถูกกว่าเรา ซึ่งต่างจังหวัดการดำเนินการจะต่างกับเราที่ค่าจ้างต่างกัน ต้องดูว่าเทคโนโลยีมันเหมือนกันไหม ว่าเตาประเภทเดียวกันหรือเปล่า เพราะฉะนั้นบางแห่งเทคโนโลยี เตาเผา ต่างกัน เงินลงทุนก็ต่างกัน ปริมาณขยะที่จะกำจัดก็ต่างกัน ขนาดของเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีที่ใช้ก็จะต่างกัน

ส่วนค่าจ้างก็ต่างกันที่ว่า ต่างจังหวัดเขาถูกกว่าเรา เพราะมันอยู่ที่กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ ในโครงการนอกจากค่าจ้างที่เขาได้รับแล้วก็คือ กระแสไฟฟ้าที่เอกชนได้จากการผลิตกระแสไฟฟ้า คือรายได้ของเขาที่เขาจะขายให้กับรัฐ จึงได้ค่าไฟฟ้ามาเป็นรายได้ ในข้อกำหนดของคณะกรรมการกำกับกิจกรรมพลังงานกำหนดว่า โครงการที่ผลิตไฟฟ้าจากขยะ ถ้าผลิตไฟฟ้าต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ อันตราการรับซื้อไฟฟ้าของเขาจะอยู่ที่ 5.80 บาทต่อยูนิตที่จะผลิตได้ หมายความว่า ขยะต่างจังหวัดที่เขากำจัดไม่มีโครงการไหนที่จะผลิตเกิน 10 เมกะวัตต์ เพราะฉะนั้น ค่ากระแสไฟฟ้าที่เขาได้ก็คือ 5.80 ต่อหน่วย แต่ของเราขยะ 1,000 ตัน เราผลิตกระแสไฟฟ้าเกิน 10 เมกะวัตต์ เราผลิตได้ประมาณ 30 เมกะวัตต์ เพราะฉะนั้น อัตราการรับซื้อไฟฟ้าที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กำหนดก็คือ 3.66 บาทต่อหน่วย

ประเด็นหลัก รายได้ของเอกชนที่เราลงทุนต่างกัน รายได้ที่ 5.80 บาท กับ 3.66 บาท ก็ต่างกันแล้ว เพราะฉะนั้นรายรับของเอกชนก็ต่างกัน แล้วองค์ประกอบของขยะที่จะเอามาเผาก็ต่างกัน บางแห่งของเขากองขยะที่เขากองทิ้งไว้ค่อนข้างจะแห้งและเป็นพลาสติก เทคโนโลยีที่จะเอามาเผาขยะก็จะต่างกัน แต่ของเราเป็นขยะสด มีความชื้นมาก การออกแบบเตาก็ต่างแล้ว อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ส่วนใหญ่เกือบทุกจังหวัดค่าจ้างที่่เขาบอกว่าถูกกว่าเรา แต่ว่าเขามีอัตราการปรับราคาค่าจ้างด้วย อย่างเช่นปรับทุก 10 ปี หรือทุก 3 ปี บางแห่งก็ขึ้นที 3 ปี 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น อัตราค่าจ้างของเขาก็จะขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ทุกๆ 3 ปีแบบนี้จนครบ 20 ปี แต่ของเราอัตราเดียว ถ้าเขาประกวดราคาได้ในราคาเท่าไหร่ ก็จะยืนราคานี้ไป 20 ปี ไม่มีการปรับราคา นั่นหมายความว่าในอนาคต 15 ปี 20 ปี อัตราเงินเฟ้อขึ้นเท่าไหร่ ราคาค่าจ้างก็คงเท่าปัจจุบันอยู่ และนี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมราคาค่าจ้างของเรากับต่างจังหวัดถึงต่างกัน

อีกประเด็นหนึ่ง ลักษณะทางกายภาพคือ สถานที่ตั้งโรงงานของเราอยู่ในเมือง ของเขาอาจจะอยู่นอกเมืองเพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณูประโภคที่นำสู่โรงงานก็จะต่างกัน อะไรที่เข้าสู่โรงงานจะต่างกัน และไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำประปา การเดินน้ำประปาเข้าไปเพื่อใช้ในโรงงานทำเตาเผาของเราใช้น้ำประปา แต่ต่างจังหวัดเขาอาจจะใช้น้ำธรรมชาติ หรือโครงข่ายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ เราต้องมีการปักเสาพาดสายเพื่อไปส่งกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าที่เขารับซื้อของเราอยู่ในเมือง ต้องเดินใต้ดิน ต่างจังหวัดเขาเดินบนดิน เพราะฉะนั้นต้นทุน (Cost) ของการลงทุนก็ต่างกัน ทุกอย่างก็คือองค์ประกอบเป็นเสาออกมา ของเราถึงแพงกว่าของคนต่างจังหวัด อันนี้ก้คือเหตุผลหลักทำไมราคาค่าจ้างต้องต่างกัน




ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เปิดเผยกับทีมข่าว MGROnline.com เพิ่มเติมอีกว่า ในขั้นตอนของการประมููลและคัดเลือกเอกชนได้แล้วนั้น หมายถึงว่า ถ้ามีการประมูล พอได้การประมูล เราจะจ่ายแค่เฉพาะค่าจ้างอย่างเดียวเลยตันละ 900 บาท อัตราการชำระให้เอกชนนั้นจะดำเนิการชำระค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือนตามปริมาณขยะที่เผาได้ แล้วก็อัตราค่าจ้างที่ประกวดราคาได้ โดยทางผู้รับเหมาลงทุนตามเทคโนโลยีที่เราออกแบบไว้ โดยที่ปรึกษางบประมาณกลางจะใช้เงินลงทุน 3.5 พันล้านบาทต่อแห่ง เพราะฉะนั้นเขาจ้องลงทุนสร้างในช่วง 3 ปีแรก ทั้งก่อสร้าง ทั้งติดตั้ง เงินลงทุนของเอกชนทั้งนั้นเลย กทม.ไม่ต้องจ่ายอะไรเลย ช่วงนี้คล้ายๆ กับว่าค่าจ้างก็คือค่าผ่อนส่ง 10 ปี แต่รายได้หลักของเขาอยู่ที่ค่าจ้างเราและอยู่ที่ไฟฟ้าที่เขาผลิตและขายได้ เพราะฉะนั้นการคัดเลือกเอกชนที่จะมาทำงานตรงนี้ เราก็ต้องคัดเลือกจากเอกชนที่มีประสบการณ์ผลงาน มีความสามารถ มีศักยภาพ มีความพร้อมในเรื่องแหล่งลงทุนที่จะมาดำเนินการ ทั้งหมดอยู่ในขอบเขต และคัดเลือกเอกชนมาดำเนินการ อย่าลืมว่าโรงงานขยะเตาเผาเราตั้งอยู่ในเมือง ถ้าเราพิจารณาเฉพาะใครเสนอราคาต่ำสุดโดยไม่ดูเทคโนโลยี เราอาจจะได้เอกชนที่เสนอราคาต่ำ แต่เทคโนโลยีไม่ดี ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประชาชน มันก็จะเกิดปัญหากับเมือง เกิดปัญหากับเราในอนาคต เพราะฉะนั้นเราต้องคัดเลือกเอกชนที่ดีก่อน เป็นไปตามขอบเขตงานของเรา มีประสบการณ์ที่เคยทำงานแล้วไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เสร็จแล้วเราถึงค่อยไปดูว่าใครเสนอราคาเท่าไหร่ อย่างไร อันนี้มันอยู่ที่ขอบเขตและกฎหมายกำหนดให้เราทำได้ ไม่ใช่เรากำหนดขึ้นมาเอง

นายชาตรี ยังเปิดเผยอีกว่า ผู้รับเหมา 3 ราย ที่ตรงตามคุณสมบัติ ตั้งแต่เรื่องที่เคยทำมาก่อน มีเทคนิคที่ดี เหลือแค่รอการคัดเลือกที่เหมาะสมที่สุด ฉะนั้นที่บอกว่ามีการล็อกสเปก หรือเอื้อประโยชน์ให้รายใดรายหนึ่ง เรียนเลยว่ามันไม่ใช่ มีผู้เสนอมาตั้ง 5-8 ราย และมีคนผ่านการคัดเลือกเข้ามา 3-5 รายก็แล้วแต่ เราไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับรายใดรายหนึ่ง เราต้องการคุณภาพของเตาและของเทคโนโลยี ถ้าเตาทำไปแล้วต่างจังหวัดบางแห่งส่งผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นไอเสียมลภาวะ เรื่องกลิ่น เรื่องน้ำ ในอนาคตเรามีปัญหาแน่ ถ้าเกิดว่าคุณภาพสิ่งแวดล้อมไม่ดี เพราะฉะนั้นเราต้องเลือกเทคโนโลยีที่จะมาทำเป็นการมอบหมายให้เอกชนดำเนินการแทนกรุงเทพมหานครในเรื่องการกำจัดขยะ เราไม่ได้เป็นการจ้างเอกชนมากำจัดขยะเป็นการมอบหมายให้เอกชนทำแทนเรา ไม่ได้ซื้อของเรา ไม่ได้ซื้อเทคโนโลยีเรา ไม่ได้ซื้อโรงงานที่ต้องเอาผู้ที่เสนอราคาในโรงงานตามสเปกเราและต่ำสุดมาทำ เราเลือกคนที่จะมาทำงานแทน กทม. โดยถ้าเป็นระยะยาว 20 ปี สมมติว่าบริษัทนี้คุณได้รับไปต้องใช้เรื่องของงบประมาณเท่าไหร่ที่จะต้องจ่าย หมายถึงว่า 900 บาทต่อตัน 9 แสนบาทต่อปี ขยะแต่ละที่ก็คืออ่อนนุชกับอีกที่หนึ่งก็คือหนองแขม อย่างน้อยก็คือวันละ 1,800,000 บาท เเป็นตัวเลขที่ตั้งงบประมาณ การประมูลราคาอาจจะต่ำกว่านั้น

นายชาตรี ให้ความเห็นในส่วนที่ประชาชนเข้าใจว่าเป็นการผลักภาระให้กับคนใน กทม. ระบุว่า งบประมาณตรงนี้เป็นงบประมาณของกรุงเทพมหานคร งบประจำปีของกรุงเทพมหานครที่จะต้องมากำจัดขยะอยู่แล้ว เพราะปกติเราก็มีค่าใช้จ่ายของการกำจัดขยะ ไม่ว่าจะเป็นค่าขนขยะ ค่ารถ ปีหนึ่งเราต้องเสียค่าขยะพวกนี้ 6.5 พันล้านบาทต่อปี แต่เรามีรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมตามกฎหมายที่กำหนดปีละ 500 ล้านบาท เพราะฉะนั้น เรายังต้องรับภาระขยะตรงนี้มากกว่า 6.5 พันล้านบาท เราก็ต้องมามองว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายตรงนี้ สิ่งที่จะทำได้ดีที่สุดก็คือ การลดปริมาณขยะ ถ้าปริมาณขยะยังเป็นอย่างนี้อยู่ ค่าใช้จ่ายก็ไม่ได้ลด จะลดได้ก็คือลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้น นั่นก็คือต้องใช้หลัก Recycle, Reduce, Reuse เพราะฉะนั้นต้องช่วยกันตรงนี้

ยืนยันจะไม่มีการผลักภาระให้กับประชาชน โดยการเพิ่มค่าเก็บขยะที่เพิ่งจะปรับเปลี่ยนอัตราไป เพราะว่าคนละส่วนกันตรงนั้น ที่ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น ถึงเพิ่มขึ้นจาก 20 บาท เป็น 80 บาท ก็ยังไม่เพียงพอต่อการที่ กทม. ได้ใช้งบประมาณในการจัดการขยะปีละ 6.9 พันล้านบาท เพราะรายได้ที่เราจัดเก็บค่าธรรมเนียมได้ 500 ล้านบาท เพราะฉะนั้น ค่าดำเนินการในการจัดการขยะด้วยเตาเผา 1 ตัน งบประมาณ 900 บาท ณ ปัจจุบันราคาใกล้เคียงกับเอกชนขนขยะฝังกลบ เฉลี่ยตอนนี้ 700 กว่าบาทแล้ว แต่เตาเผาถ้าเราประกวดราคาได้ต่ำกว่า 900 บาท ราคาจะใกล้เคียงกันแล้ว แต่สิ่งที่ กทม. ได้คือ 1. กทม.ได้โรงงานเป็นของเรา ครบ 20 ปีเราได้เทคโนโลยีที่ดี เราได้องค์ความรู้ที่ดี เราได้ผู้ประกอบการที่ดี แล้วไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เรามีระบบจัดการขยะของเราเอง ในเมืองของเราเอง ที่ประชาชนยอมรับ แต่ฝังกลบเราไม่ได้อะไรเลย เราจ้างเอกชนไปฝังกลบที่ดินก็ยังเป็นของเขาอะไรต่างๆ เราไม่ได้อะไรเลย มีแต่เราต้องจ่ายไป เราก็ไม่รู้ว่าในอนาคตพื้นที่ดินจะเพียงพอไหม การส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน การฝังกลบจะมากกว่าเตาเผาหลายเท่า เราเลือกได้ว่าเทคโนโลยีนี้เป็นเทคโนโลยีที่ดีต่อประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด

นายชาตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์กำจัดขยะอ่อนนุชกับหนองแขม ขยะทั่วทั้ง กทม. จะมาอยู่ที่ 2 จุดนี้ มีขีดความสามารถแห่งละไม่น้อยกว่า 1 พันตันต่อวัน แต่ขยะ กทม. มีตั้ง 17,000 ตันต่อวัน เตาเผา 2 แห่ง ถ้าจะทำเตาเผาอย่างเดียว ยังไงก็ไม่เพียงพอที่จะรองรับขยะได้ทั้งหมดของ กทม. เราต้องมีเทคโนโลยีหลายวิธี มีการจัดการขยะที่เรียกว่าแบบผสมผสาน มีทั้งเตาเผา โรงงานทำปุ๋ย ซึ่งในอนาคตนอกจากเตาเผาแล้ว เรายังมีเทคโนโลยีที่จะมารองรับการจัดการขยะ เรียกว่า โครงการทำไบโอแก๊สผลิตไฟฟ้าอีก 2 โครงการที่เรากำลังจะทำ แห่งละไม่น้อยกว่า 1 พันตันต่อวัน นั่นก็คือเอาขยะมาเป็นทรัพยากรประโยชน์โดยการทำเป็นพลังงานเพื่อลดการฝังกลบ เราตั้งเป้าว่าในปี 2565 ไปแล้ว ขยะที่เราฝังกลบ 80% จะลดลงให้เหลือไม่เกิน 30% ถ้าโครงการต่างๆ เกิดขึ้นมาได้ตามนโยบายนี้ ก็จะทำให้การฝังกลบลดลงไป แต่ไม่ใช่หมายความว่าไม่มีเลย การผสมผสานมันมีหลายวิธี เพราะปริมาณขยะเราค่อนข้างเยอะ เราจะใช้เงินในการจัดการขยะด้วยเทคโนโลยีอย่างเดียว ก็ใช้เงินลงทุนค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีหลากหลายวิธีการ





นายชาตรี ยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า ในการดำเนินการ ถ้าโครงได้รับการอนุมัติแล้ว สามารถลงนามสัญญาได้ภายในไม่เกินสิ้นปีนี้ เราจะใช้เวลาก่อสร้างอีกไม่เกิน 3 ปี อาจจะ 2 ปีกว่าๆ เราก็จะสามารถเริ่มรับขยะเข้าเผาได้ ซึ่งมติคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติบอกว่า การรับซื้อไฟฟ้าจะต้องเริ่มจากไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายในปี 2563 แล้วอีก 20 ปีที่เราจะอุดหนุนค่าไฟฟ้า 3.66 บาท ซึ่งโครงการของเรา ถ้าเรายิ่งช้า การรับซื้อไฟฟ้าของเขาก็จะลดลงไป การขายไฟของเขารายได้ของเอกชนก็จะลดลงไป อย่าลืมว่าถ้าเราก่อสร้างปี 2563 กว่าจะเสร็จอีก 2-3 ปี นั่นคือเขาหายไปแล้ว ระยะเวลาการขายไฟฟ้าจาก 20 ปีอาจจะเหลือแค่ 17 ปี นั่นคือเอกชนที่จะมาลงทุนรับภาระความเสี่ยงตรงนี้ไปแล้ว ตอนศึกษาเราศึกษาว่า เขาจะต้องได้ ถ้ารับซื้อไฟฟ้า 20 ปีเต็ม แต่ ณ ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว นั่นคือเขาต้องรับความเสี่ยงตรงนี้แล้ว

สำหรับเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ก่อนทำโครงการเรารับฟังความคิดเห็นประชาชนบริเวณรอบที่ก่อสร้างโรงงานแล้ว ทำรายงานพื้นที่สิ่งแวดล้อมแล้ว ต้องไปผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการของกระทรวงมหาดไทย แต่อย่าลืมว่าเตาเผาตัวนี้มันเกิดขึ้นมานานแล้วในต่างประเทศ ที่เขาใช้กันอย่างญี่ปุ่นมีมากกว่า 100 แห่งแล้ว จีนก็มีมากกว่า 100 แห่งแล้ว ของญี่ปุ่นหรือจีนก็แล้วแต่ เขาตั้งอยู่กลางเมืองเหมือนเรา เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีต่างๆ ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกณฑ์ตามกำหนดเงื่อนไขในแต่ละราคาของเรากำหนดไว้ว่า คุณภาพไอเสียที่ออกจากปล่องของเตาเผาจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานของการควบคุมมลพิษ แล้วต้องมีการวัดค่ามลพิษที่ออกจากปล่องของเราในลักษณะของเรียลไทม์ นั่นคือจะต้องมีเครื่องวัดอยู่ที่ปล่องเลย แล้วก็มีตัวเลขออกมาเลย ค่ามลพิษเท่าไหร่บ้าง และค่านี้ต้องแสดงที่หน้าโรงงาน แล้วก็คอลล์ไลน์เข้าระบบของกรุงเทพมหานคร เราก็สามารถแจ้งให้ประชาชนได้ตรวจสอบและรับรู้ด้วยระบบมือถือได้เลย เพราะฉะนั้นมลพิษที่ออกจากเตาเผาจะต้องเป็นไปตามมาตราฐาน ถ้าเอกชนที่ไม่มีประสบการณ์หรือไม่มีผลงานที่ดี ถ้ามลพิษนี้ออกมา เขาจะต้องมีปัญหาก็คือ ถูกปิดโรงงาน เพราะฉะนั้นเขาก็เกิดผลเสียของเขาที่มาลงทุน เพราะฉะนั้นเขาต้องเชื่อว่าเทคโนโลยีของเขาจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ การขนส่ง หรือขนขยะเข้าไปให้ ทุกวันนี้เราขนขยะก็ไปส่งที่อ่อนนุช หนองแขมอยู่แล้ว รถขยะเราก็ไปเทลงในโรงงานเตาเผา เขาก็มีหน้าที่เผาและควบคุมมลพิษให้เป็นไปตามมาตราฐาน การบำบัดน้ำเสียต้องได้มาตรฐาน การกำจัดเถ้ากำจัดกลิ่น พวกนี้ต้องได้มาตรฐาน โดยใช้โรงงานเป็นสถานที่เดิมทั้ง 3 ส่วน มีอยู่ 50-60 ปีแล้ว เมื่อก่อนอ่อนนุช หนองแขม สายไหม ชุมชนยังไม่ได้ขยายตัว การไปตรงนั้นการคมนาคมก็ลำบาก เราอยู่ค่อนข้างที่จะนอกเมือง แต่ปัจจุบันนี้เมืองขยายมาอยู่รอบๆ การจัดการขยะมันก็ต้องมีมาตราฐาน แล้วทำให้ไม่เกิดปัญหากับประชาชนโดยรอบ อันนี้เราก็พัฒนามาเรื่อยๆ ตรงนี้เราเชื่อมั่นได้ว่าโรงงานเตาเผาที่เรามีอยู่แล้วที่หนองแขม เราทำแล้วขนาด 500 ตันต่อวัน ประชาชนก็ยอมรับโดยรอบ ไม่มีปัญหาเรื่องนี้ ไปดูได้เลย สถิติการร้องเรียนเรื่องเตาเผาแทบจะไม่มี แต่การร้องเรียนเรื่องกลิ่นจากการที่มีระบบฝังกลบขยะมีปัญหามากกว่าเตาเผาอีก ณ ปัจจุบันไปดูได้เลย เรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดกับเตาเผาเราเลย สิ่งที่ กทม. จะทำเป็นสิ่งที่ กทม. ได้ทำมาแล้ว จะเกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนที่อยู่โดยรอบโรงงานเตาเผาขยะ
กำลังโหลดความคิดเห็น