xs
xsm
sm
md
lg

บ้านที่มีเธอ เอ็กซ์คลูซีฟชีวิต "โบว์" เด็กหญิงกำพร้าที่โชคดีที่สุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"แม้ว่าการเลี้ยงดูในสถานการณ์สงเคราะห์จะดีแค่ไหน แต่หากได้รับการเลี้ยงดูในครอบครัวย่อมดีกว่าเสมอ" เปิดมุมคิดบ้าน "เฟล็ตเชอร์" ครอบครัวบุญธรรมชาวอังกฤษ ผู้ให้ชีวิตใหม่ และอ้อมออดความรักอันอบอุ่นแก่ "โบว์" เด็กกำพร้าชนเผ่าม้ง ผู้มีปัญหาด้านการได้ยิน แถมยังเจ็บป่วยด้วยโรคความผิดปกติของเมตาโบลิก ทว่าความพิการของเธอกลับกลายเป็นความพิเศษด้วยการเข้ามาเติมเต็มความสุขในบ้าน ทำให้บ้านหลังนี้มีเสียงหัวเราะ และสีชมพูมากขึ้น

"โบว์เป็นเด็กน่าทึ่งมาก" Jonathan Edward Fletcher ผู้เป็นพ่อบุญธรรม เผยถึง "โบว์" สุภศิริ แซ่ว่าง สาวน้อยวัย 6 ปี 9 เดือนที่เข้ามาอยู่ในอ้อมกอดของครอบครัวได้ประมาณ 3 เดือน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยอยู่ในความอุปการะของสถานสงเคราะห์เด็กบ้านเวียงพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่

"พวกเรามีความสุขมากที่โบว์เข้ามาในครอบครัวของเรา และทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เสียงดังมากขึ้น มีความสนุกสนานมากขึ้น มีสีชมพูมากขึ้น เราเปลี่ยนวิถีชีวิตการรับประทานอาหาร การเดินทางในเมืองด้วยมอเตอร์ไซด์สองคันกับเด็กสามคน ทุกอย่างเปลี่ยนไปครับ" หัวหน้าครอบครัวเล่าด้วยรอยยิ้ม ส่วนเหตุผลในการตัดสินใจรับโบว์มาเลี้ยงเป็นลูกคนที่ 3 (มีลูกชายอยู่แล้ว 2 คน) ภรรยาของเขาที่นั่งอยู่ข้างๆ บอกว่า อยากมีลูกสาวเข้ามาเติมเต็มในครอบครัว




"เราอยู่เมืองไทยมา 5 ปีแล้วค่ะ เราพึ่งพา และได้รับการช่วยเหลือจากคนไทยเป็นอย่างมาก การรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรม เป็นสิ่งหนึ่งที่พวกเราจะแสดงความขอบคุณคนไทย รวมไปถึงเราวางแผนที่จะรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษเนื่องจากเรามีความรู้ด้านการแพทย์ และเราเชื่อว่าเรามีช่องทางที่ดีในการเข้าถึงการรักษาในกรุงเทพฯ ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเราต้องการมีลูกสาวมาโดยตลอด ดังนั้นจึงเป็นเหตุเป็นผลที่เราจะรับเด็กซึ่งกำลังต้องการครอบครัว"

ปัจจุบัน ทั้งสองทำงานมูลนิธิในสลัมคลองเตย เป็นมูลนิธิเล็กๆ ที่พยายามหาสิ่งที่ดีๆ ให้แก่ชุมชน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีและต่อต้านความยากจน แต่ตอนนี้ต้องสลับกันทำงานเพื่อที่จะมีเวลาดูแลโบว์ให้มากขึ้น


แน่นอนว่า การที่โบว์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในบ้าน การเลี้ยงดูย่อมแตกต่างกับลูกชายอีก 2 คน เพราะเธอมีความต้องการที่พิเศษกว่า แต่ด้วยความน่ารักในความเป็นเด็กสาวขี้เล่นของโบว์ เธอสามารถเข้ากันกับพี่ชาย 2 คนได้เป็นอย่างดี


"มีความแตกต่างกันอย่างมากในการดูแลโบว์กับลูกแท้ๆ ของพวกเราครับ เพราะโบว์มีความต้องการพิเศษ และมีโรคที่ทำให้เขาต้องควบคุมอาหารที่พิเศษ และเราจำเป็นต้องพูดภาษาไทยกับโบว์ พูดภาษาอังกฤษกับลูกๆ อีกสองคน แต่ทั้งสามคนเข้ากันได้อย่างดีเยี่ยม พวกเขาเล่นด้วยกัน จริงๆ แล้ว ก่อนที่โบว์จะมา แซมกังวลว่าโบว์อาจจะขโมยดินสอสีของเขา แต่ตอนนี้ทั้งสามคนเข้ากันได้ดีมาก แรกๆ ที่โบว์มา คนแรกที่โบว์เข้าหามากที่สุดคือ แซม โบว์จะจับมือแซมเพื่อความมั่นใจ และมองหาแซมเพื่อจะเล่นด้วย ก่อนที่จะกลมกลืนไปกับครอบครัวของเรา" ผู้เป็นพ่อเล่า




อย่างไรก็ดี การรับ "โบว์" มาเป็นลูกบุญธรรม พวกเขาให้ลูกชายทั้งสองคนมีส่วนในการตัดสินใจด้วย

"ลูกชายของพวกเรามีส่วนในการตัดสินใจรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่แรก เราถามความรู้สึกของเด็กๆ และเมื่อเด็กๆ เห็นด้วยในความคิดนี้ เราจึงไปแจ้งความจำนงที่ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุญบุตรธรรม สำหรับการเตรียมความพร้อม พวกเขามีความสุขในการที่ได้จัดเตรียมห้องของโบว์ก่อนที่โบว์จะเข้ามา ซึ่งทำให้พวกเขารู้สึกใกล้ความจริงเข้ามาทุกที พวกเขาพยายามเรียนรู้ภาษาไทยอย่างมาก จริงๆ แล้วเราไม่ได้เตรียมตัวอะไรมาก และเมื่อโบว์เข้ามา เราใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนในการสร้างความคุ้นเคย" ผู้เป็นแม่เล่า ก่อนที่ลูกชายทั้งสองจะพูดถึงน้องสาวของพวกเขา


"พวกเรารักโบว์มากๆ รู้สึกว่าเธอเป็นส่วนหนึ่งของพวกเราตลอดไป และจะอยู่กับพวกเราตลอดเวลา แค่เพียง 6 สัปดาห์ โบว์ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเราในทันที มันเจ๋งมากเลยครับ และโบว์ก็เป็นเด็กดีครับ แต่ไม่ตลอดเวลา (ยิ้ม) โบว์ชอบร้องเพลงตอนกลางคืน ผมนอนไม่ได้เลยเพราะเธอร้องเพลง" พูดจบก็หันไปมองความซุกซนของน้องสาวที่ไม่เคยอยู่นิ่ง 



ผู้เป็นแม่เสริมว่า โบว์กับพี่ชายไม่เคยมีปัญหาทะเลาะกันเลย ส่วนใหญ่จะเป็นลูกชายที่ทะเลาะกันเองมากกว่า

"โบว์เรียนภาษามือเพื่อให้สื่อสารกับคนอื่นได้เข้าใจ และเธอมักจะทำภาษามือเป็นประโยคตลกๆ เพื่อให้พี่ชายทั้งสองหัวเราะ เราเป็นพ่อแม่ที่โชคดีด้วยนะคะ ลูกชายของเราเป็นเด็กดี ฉันคิดว่าเราส่งเสริมให้พวกเขาตั้งใจเรียน ทั้งคู่ชอบอ่านหนังสือ ชอบจินตนาการ เอลเลียตเพิ่งจะชนะการแข่งขันการเขียนเรื่องสั้น พวกเราส่งเสริมจินตนาการของเขา และให้เขาทำสิ่งต่างๆ อย่างตั้งใจ แต่ไม่หนักจนเกินไป ต้องมีความสุขไปกับมันด้วยค่ะ


เราคิดว่าการสื่อสารเป็นสิ่งที่สำคัญ ดังนั้นเราจะรับประทานอาหารร่วมกันทั้งครอบครัว และพูดคุยกันทุกวัน อ่านหนังสือให้พวกเขาฟังก่อนนอน และมีการพูดคุยกันว่าวันนี้เป็นยังไงบ้าง ดังนั้นในทุกๆ วันเราจะพยายามให้ได้มีโอกาสพบกันคุยกันในเรื่องใดก็ได้ที่พวกเขาอยากพูดถึง เมื่อก่อนเอลเลียตมักจะถามคำถามมากมาย ก็เหมือนตอนนี้ที่โบว์ก็ชอบตั้งคำถามอยู่เสมอๆ" ผู้เป็นแม่บอก ก่อนจะช่วยกันเสริมกับสามีที่นั่งอยู่ข้างๆ ถึงความพิเศษในตัวเด็กหญิงโบว์คนนี้




"ความสามารถของโบว์ในข้อจำกัดที่เธอมีนั้น มันน่าทึ่งมาก แม้ว่าเธอจะได้ยินไม่มากนัก พูดได้ไม่ดีนัก แต่เธอมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ เธอเข้มแข็งมากในการข้ามผ่านในช่วงที่ต้องอยู่กับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และตอนนี้ก็ชอบที่จะเจ้ากี้เจ้าการ จะทำตัวเป็นเจ้านาย มักจะถามคำถามอยู่บ่อยๆ อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ใครจะไปไหน เริ่มเรียนรู้สภาพแวดล้อมใหม่ๆ รู้จักคนใหม่ๆ

นอกจากนั้น โบว์ยังเข้ามาจุดแรงบันดาลใจให้พวกเรา การรับมือกับทุกสถานการณ์ไม่ว่าดีหรือร้าย โบว์สอนเด็กๆ เต้น สอนเราให้เรียนรู้ถึงความหวัง การได้โบว์มา ทำให้ทุกอย่างมีความหวัง เรารู้ว่าโบว์มีปัญหาเกี่ยวกับการฟัง ตอนแรกเท่าที่รู้คือ ได้ยินครึ่งๆ แต่จริงๆ แล้วแทบจะไม่ได้ยินเลย แต่ก็ยังมีหวัง ในขณะที่เขามักจะมองแต่ด้านร้ายๆ โบว์กลับมีชีวิตชีวา เข้ามาเติมเต็มให้บ้านมีความสุข และสนุกในทุกๆ วัน"


ปัจจุบัน ด้วยความบกพร่องทางด้านการได้ยิน โบว์ต้องไปพบแพทย์ตามนัด เนื่องจากต้องรับการประเมินเพื่อผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมให้มีความสามารถในการได้ยินที่เหมาะสม รวมไปถึงภาวะผิดปกติในระบบการเผาผลาญที่ต้องตื่นตี 2 เพื่อลุกขึ้นมากินแป้งข้าวโพด


"โบว์ต้องกินข้าวที่ใช้เวลาในการปล่อยกลูโคส ต้องกินข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอรี เพื่อจะรักษาระดับน้ำตาลร่างกาย และต้องเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาล โบว์รับประทานอาหารเป็นมื้อเหมือนปกติ แต่จะต้องรับประทานแป้งข้าวโพดระหว่างมื้ออาหาร
ตอนที่โบว์มาอยู่กับพวกเราได้ 1 สัปดาห์ เธอไอ และเมื่อเริ่มรับประทานอาหาร มักอาเจียน

สองวันต่อมาโบว์ซึม ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ จึงรีบพาไปโรงพยาบาล โบว์หมดสติเป็นระยะๆ เมื่อป่วยระดับน้ำตาลในเลือดจะต่ำและร่างกายจะปล่อยสารเคมีบางอย่างออกมาทางเลือด ดังนั้นเราต้องรักษาสภาวะทางร่างกายของโบว์ให้อยู่ในระดับที่คงที่ และตอนนี้บ้านเรามีกิจกรรมส่งเสริมทักษะภาษาด้วย เธออยากเข้าโรงเรียนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้" ผู้เป็นพ่อเล่า




ส่วนอนาคตต่อจากนี้ ในฐานะพ่อแม่บุญธรรม ไม่ต้องห่วงว่าโบว์จะอยู่อย่างลำบาก ทั้งคู่ยืนยันว่าจะเลี้ยงดูโบว์อย่างดีที่สุด

"เมื่อโบว์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเรา เราจะดูแลเธอให้ดีที่สุด ตอนนี้เรากำลังหาวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาโรคของโบว์ โบว์หูหนวกทั้งสองข้าง และเพิ่งจะได้รับการอนุมัติให้ทำการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม เราจึงต้องเตรียมสำหรับการผ่าตัด ต้องระดุมทุนเพื่อหาเงินมาผ่าตัด เราหวังว่าโบว์จะใช้ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษได้ดี และหวังว่าโบว์จะสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติได้เหมือนลูกชายทั้งสองคน และในความเป็นครอบครัวที่เข้มแข็ง ไม่ว่าเราจะทำอะไรในอนาคต เราจะทำด้วยกันทั้งหมด 5 คน"


เช่นเดียวกับการตามหาแม่ผู้ให้กำเนิด ถ้าโบว์โตขึ้น เธอสามารถตามหาแม่ผู้ให้กำเนิดได้ และเมื่อถึงเวลา พวกเขาก็พร้อมสนับสนุน


"ระบบการรับเด็กบุญธรรมของที่นี่ เราไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด และเมื่อกระบวนการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเสร็จสิ้น พ่อแม่ผู้ใหกำเนิดก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อโบว์เช่นกัน แต่ตัวโบว์เองทราบอยู่แล้ว พวกเราบอกโบว์แล้ว โบว์อยู่ในสถานสงเคราะห์ตั้งแต่อายุ 2 ขวบและได้รับการเลี้ยงดูเป็นกลุ่มรวมกับเด็กกำพร้าคนอื่นๆ เราบอกโบว์ว่าเธอมีแม่ผู้ให้กำเนิด ผู้ซึ่งรักเธอมากๆ แต่ไม่สามารถดูแลเธอได้นานๆ และเธอมีพี่เลี้ยงที่ดูแลเมื่อตอนอยู่สถานสงเคราะห์ และตอนนี้ชีวิตเธอก็มีครอบครัวแล้ว ดังนั้นทุกๆ คนรักเธอมาก"


สุดท้ายนี้ เชื่อว่า "โบว์" ก็คงสัมผัสได้เช่นกันว่าเธอมีครอบครัวที่รัก เข้าใจ และพร้อมสนับสนุนเธอให้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ

กำลังโหลดความคิดเห็น