xs
xsm
sm
md
lg

ประเทศนี้มี..ที่พักกลาสีเรือเป็นโรงแรมอันดับหนึ่งของโลก! พระราชวังเป็นโรงแรม ห้องบรรทม ๑๒๐บ./คืน!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาตลอด แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีโรงแรมเกิดขึ้นในสยาม ส่วนใหญ่ก็คงพักกันในเรือที่ใช้เดินทางมา จนในราวปี ๒๔๑๓ ต้นรัชกาลที่ ๕ จึงปรากฏในหนังสือของชาวตะวันตกที่เขียนถึงเมืองไทยไว้ว่า ซี ซาลเจ กะลาสีเรือชาวเดนมาร์ค ได้ซื้อกิจการที่พักของกลาสีเรือริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และลงโฆษณาในหนังสือสยามไดเร็คตอรี่ ในชื่อว่า “โรงแรมโอเรียนเตล”

ต่อมาในปี ๒๔๒๔ กิจการโรงแรมแห่งนี้ได้เปลี่ยนมือจาก ซี ซาลเจ เป็นของ ฮันส์ นีลส์ แอนเดอร์เซน ชาวเดนมาร์คด้วยกัน ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเมสเซอร์ แอนเดอร์เซน และยังเป็นผู้เปิดร้านค้าโอเรียนเต็ล รวมทั้งโรงงานน้ำแข็ง โรงอบเบเกอรี่ ในละแวกเดียวกันด้วย ปี ๒๔๒๘ แอนเดอร์เซนปรับปรุงกิจการให้ทันสมัยขึ้น ว่าจ้าง เอส คาร์ดู สถาปนิกอิตาเลียนในไทย ให้ออกแบบอาคารใหม่โดดเด่นอยู่ใจกลางบริเวณโรงแรม ซึ่งก็คือ บริเวณ "ออเธอร์ส วิง" เป็นศิลปกรรมแบบนีโอคลาสสิค และได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นในปี ๒๕๔๕
โรงแรมโอเรียนเตล อดีตที่พักกลาสีเรือ จึงกลายเป็นโรงแรมแห่งแรกของสยาม และเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๓๐ ซึ่งแขกเมืองและคนระดับสูงที่มาเมืองไทยในยุคนั้นจนถึงปัจจุบัน ต้องพักโรงแรมโอเรียนเตลทั้งนั้น อย่างในเดือนเมษายน ๒๔๓๔ ก็ได้มีโอกาสถวายการต้อนรับมกุฎราชกุมารนิโคลัส แห่งรัสเซีน ซึ่งต่อมาก็คือ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ ที่ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์คู่สมเด็จพระปิยะมหาราชเขย่ายุโรป

ในยุคแรกของโรงแรมโอเรียนเตลนี้ ยังได้ต้อนรับ หลุยส์ ที เลียวโนเวล์ ลูกชายของแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ ครูสอนภาษาอังกฤษในราชสำนักสยามสมัยรัชกาลที่ ๔ หลุยส์ได้กลับมาเมืองไทยในปี ๒๔๒๔ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์แล้ว และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพระสหายในวัยเยาว์ผู้นี้ พระราชทานสัมปทานป่าไม้ในภาคเหนือให้แก่เขา ต่อมาในวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๔๓๖ หลุยส์และเพื่อน คือ แฟรงคลิน เฮอร์สท์ ก็เซ็นสัญญาซื้อกิจการโรงแรมโอเรียนเตลจากกลุ่มชาวเดนมาร์คในราคา ๒๒,๐๐๐ ดอลลาร์ หลุยส์เล่าว่า

“วันแรกที่ผมมาถึงบางกอกพร้อมกับแม่ โอเรียนเตลคือสิ่งแรกที่ผมเห็น” ตอนนั้นโอเรียนเตลยังเป็นเพียงบ้านหลังเล็กๆ เป็นที่พักของกลาสีเรือ “ผมจำได้ดีว่าผิดหวังขนาดไหนที่ต้องพักบนเรือคืนแรก ผมอยากพักที่โอเรียนเตลมากกว่า”

หลุยส์และเพื่อนได้จ้างชาวอเมริกันชื่อ ดับบลิว เจ พาลเมอร์ เป็นผู้บริหาร พาลเมอร์ได้ลงมือทาสีเฟอร์นิเจอร์ของโรงแรมด้วยตัวเอง และปรับปรุงห้องอาหารของโรงแรม จนโอเรียนเตลเป็นโรงแรมที่โดดเด่นที่สุดในภาคตะวันออกไกล

ในปี ๒๔๖๗ ที่คณะละครรำของไทยไปเปิดแสดงในอเมริกา ได้มีฝรั่งคนหนึ่งมาพบ แนะนำตัวว่าชื่อ นายพาลเมอร์ เคยเป็นผู้บริหารโรงแรมโอเรียนเตล เมื่อรู้ข่าวคณะละครจึงมาพบด้วยความดีใจว่าได้พบคนไทยอีก และถ้ามีปัญหาอะไรก็ยินดีจะให้ความช่วยเหลือ ...แม้กลับไปอเมริกาแล้วก็ยังติดนิสัยนี้ไปจากเมืองไทย

โรงแรมโอเรียนเตลเปลี่ยนมือเจ้าของมาหลายรุ่น บางช่วงก็เป็นของคนไทย ปัจจุบันกลุ่มโรงแรมแมนดาริน ซึ่งเป็นกลุ่มโรงแรมที่มีชื่อเสียงของเอเชีย ได้เข้าซื้อกิจการโรงแรมโอเรียนเตลตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๑ และเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก บริษัท โรงแรมโอเรียนเตล ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) มาเป็น บริษัท OHTL จำกัด (มหาชน) ส่วนโรงแรมก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเตล กรุงเทพ” ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในรอบ ๑๓๒ ปี

ในปี ๒๕๒๔ โรงแรมโอเรียนเตลได้รับรางวัล “โรงแรมที่ดีที่สุดในโลก” จากนิตยสารอินสติติวชั่นแนล อินเวสเตอร์ นิวยอร์ก สหรัฐ โดยได้รับรางวัลนี้เป็นเวลา ๑๐ ปีติดต่อกันจนถึงปี ๒๕๓๓ และในปี ๒๕๓๗ ก็ได้กลับมาเป็นโรงแรมที่ดีที่สุดในโลกอีกครั้ง จากการจัดอันดับของนิตยสารฉบับเดิม ทั้งยังได้รับรางวัลนี้ติดต่อกันอีก ๒ ปีซ้อน

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อทรงพระราชดำริที่จะจัดงานแสดงสินค้านานาชาติขึ้นที่สวนลุมพินีใน พ.ศ.๒๔๖๘พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริที่จะเปิดพระราชวังพญาไทขึ้นเป็นโรงแรม เพื่อให้เพียงพอต่อการต้อนรับนักธุรกิจต่างประเทศที่จะเดินทางเข้ามา แต่ยังมิทันได้ดำเนินการก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงสืบสานพระราชดำริ โปรดเกล้าฯให้ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ผู้เปิดโรงแรมรถไฟขึ้นที่หัวหินใน พ.ศ.๒๔๖๕ เป็นโรงแรมแห่งแรกของคนไทย ปรับปรุงพระราชวังพญาไท เป็นโรงแรมชั้นหนึ่ง ในชื่อ “Phya Thai Palace Hotel” และได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘

โฮเต็ลวังพญาไทได้รับการยกย่องว่าเป็นโรงแรมยอดเยี่ยมที่สุดในภาคพื้นตะวันออกไกล มีวงดนตรีสากลชนิดออเคสตร้า ๒๐ คน จากกองดุริยางค์ทหารบก เปิดฟลอร์เต้นรำในวันสุดสัปดาห์ สลับกับคณะโชว์นักร้อง นักแสดงจากยุโรป ภายในบริเวณโรงแรมมีความงดงาม หรูหรา จากการตกแต่งด้วยศิลปะตระการตา เพราะเป็นพระราชวังมาก่อน ตัวโรงแรมประกอบด้วยห้องรับรอง ห้องอาหาร ไนต์คลับ บาร์ ห้องนั่งเล่น ห้องเขียนหนังสือ ห้องเต้นรำ มีห้องพักประมาณ ๖๐ ห้อง ทั้งห้องธรรมดา ห้องสวีท ห้องเดอลุกซ์ สำหรับห้องพิเศษสุดคือ “ห้องจักรี” ซึ่งเคยเป็นห้องบรรทม ชั้น๓ พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน ค่าพักราคาคืนละ ๑๒๐ บาท

ส่วนบริเวณรอบ ๆ โรงแรมเป็นบึงดอกบัวนานาชนิด และสวนไม้ดอก ไม้ประดับ ที่จัดแบบสวนญี่ปุ่น มีน้ำตก น้ำพุ สวยงาม 

ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๗๕ โฮเต็ลพญาไทประสบภาวะขาดทุน คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้เลิกกิจการ และอนุญาตให้กระทรวงกลาโหมใช้สถานที่เป็นที่ตั้งกองเสนารักษ์ ก่อนจะมาเป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในปัจจุบัน




กำลังโหลดความคิดเห็น