xs
xsm
sm
md
lg

กรมพระยาดำรงฯ สนทนากับคนขอทาน! ในยุคที่ข้าวแกงจานละ ๑ สตางค์ครึ่ง!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุญนาค

ขอทานเมืองจีนเขาไปไกลถึงขั้นนี้แล้ว
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อดีตเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เป็นอีกท่านหนึ่งที่ทรงสนพระทัยในชีวิตของผู้คนต่างๆ เคยขอตัวผู้ร้ายปล้นออกมาจากเรือนจำ เพื่อสนทนาไต่ถามวิธีการปล้นของเขา เพื่อรู้เขารู้เราในการที่พระองค์ทรงมีหน้าที่ในการดูแลทุกข์สุขของแผ่นดิน อีกครั้งหนึ่งทรงสนทนากับคนขอทาน และทรงนิพนธ์ไว้ในชื่อ “สนทนากับคนขอทาน” พิมพ์เผยแพร่ในหนังสือ “วชิรญาณ” ของหอสมุดวชิรญาณ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๓๗ เป็นเรื่องราวที่ทำให้เห็นสภาพสังคมและชีวิตของขอทานในยุคนั้น มีข้อความว่า
ถามเอ็งชื่อไร?
ตอบชื่ออินขอรับ
ถามอยู่ที่ไหน?
ตอบเป็นลาวอยู่อุบลเข้ามาเที่ยวที่ปราจีน มาเป็นโทษเขาหาว่าเป็นสมัครพรรคพวกผู้ร้าย จำส่งเข้ามาติดตะรางกองลหุโทษ แล้วเจ็บเป็นตาแดงต้อขึ้นตาบอด เขาก็ปล่อยออกจากตะราง จึงขอทานเขากินตั้งแต่นั้นมา
ถามขอทานมาแต่เมื่อไร?
ตอบขอมาแต่เดือน ๓ ปีกลายนี้
ถามขอทานที่ไหน?
ตอบประตูสามยอดบ้าง สะพานหันบ้าง
ถามขอทานที่ประตูสามยอดกับสะพานหัน หาอัฐได้ที่ไหนดีกว่ากัน?
ตอบที่สะพานหันหาได้มากกว่า เพราะคนเดินมาก ได้อยู่ราวถึงวันละเฟื้อง จนวันละสลึงเฟื้อง ที่ประตูสามยอดได้เสมอวันละไพบ้าง หกอัฐบ้าง เฟื้องหนึ่งเป็นอย่างมาก
( อัตราเงินในสมัยนั้น๑๐๐ เบี้ย = ๑ อัฐ
๒ อัฐ = ๑ ไพ
๔ ไพ = ๑ เฟื้อง
๑ เฟื้อง = ๑๒ สตางค์ครึ่ง
๒ เฟื้อง = ๑ สลึง
๔ สลึง = ๑ บาท
๔ บาท = ๑ ตำลึง
๒๐ ตำลึง = ๑ ชั่ง
ยุคนั้นข้าวแกงหรือก๋วยเตี๋ยวชามละ ๑ อัฐ หรือ ๑ สตางค์ครึ่ง )
ถามทำไมจึงไม่ขอทานอยู่ที่สะพานหันให้เสมอๆ
ตอบเดินไปเองไม่ถูก ต้องจ้างเด็กจูงไปเที่ยวละอัฐ
ถามแกขอทานอย่างไร?
ตอบผมได้แต่อ้อนวอนขอเขาไปอย่างนั้น เพราะร้องเพลงไม่เป็น
ถามถ้าไปเจอคนขอร้องเพลงเขาขออยู่ในที่เดียวกัน แกมิขอใครได้หรือ?
ตอบได้ขอรับ ผมเข้าไปนั่งแอบอยู่ในพวกเดียวกับคนร้องเพลง เขาให้ทานเขาก็ให้มักให้รายตัวไปด้วยกันหมด
ถามขอทานวันไร เวลาใดได้มาก?
ตอบวันพระเป็นมากกว่าวันอื่น เวลานั้นคือเวลาเช้า ดักขอเวลาที่เขาไปตลาดมักได้มาก กับเวลาเย็น ขอเวลาเขากลับจากบ่อน ก็มักได้มากกว่าเวลาอื่น
ถามผู้หญิงกับผู้ชายใครจะให้ทานดีกว่ากัน?
ตอบสู้ผู้ชายไม่ได้ บางทีรวยๆเขาก็ให้ทีละเฟื้องก็มี
ถามทานที่เขาให้นั้น มีแต่อัฐเท่านั้นแหละหรือ?
ตอบของอื่นๆเขาก็ให้ขอรับ บางทีผ้าขาวม้าเก่าๆขาดๆเขาก็ให้ เสื้อบ้าง ผ้านุ่งบ้าง แต่นานๆจะได้ทีหนึ่ง
ถามเอ็งขอทานถูกเขารังแก เช่นเอาก้อนอิฐหลอกให้ทานเป็นต้น บ้างหรือไม่?
ตอบยังไม่เคยถูกใครรังแกเลย
ถามเอ็งอยู่ที่ไหน?
ตอบอาศัยบ้านเขาอยู่ข้างคุก เขารับมาแต่เมื่อออกจากตะรางเลยให้อยู่ในบ้านเขา วันไหนหาได้ก็กินของผมเอง หาไม่ได้นายท่านก็ให้ทานกิน
ถามเวลากินอยู่ของเอ็งอย่างไร ลองเล่าให้ฟังที?
ตอบเวลาเช้าตื่นนอนผมก็เดินออกจากบ้าน ด้วยจำทางได้ ตรงมาประตูสามยอด ซื้อข้าวเช้ากินที่โรงข้าว แกงหน้าประตูโรงหวย บางทีไม่สบาย ต้องซื้อข้าวสาร วานคนในบ้านเขาหุงให้กิน กินแล้วก็นั่งขอทาน
ถามก็ตาเอ็งไม่เห็น เอ็งจะรู้ว่าใครเขาผ่านไปมาอย่างไร?
ตอบผมได้ยินเขาเดิน ไม่ได้ยินก็นั่งนิ่งอยู่ เมื่อได้ยินเสียงคนเดินเมื่อไรก็ขอ นั่งขอประขำอยู่เช่นนี้วันยังค่ำ ถ้าฝนตก แดดร้อน คนตาดีเขาก็มักจะช่วยจูงให้อาศัยแอบบังอยู่ตามข้างประตู จนเวลาย่ำค่ำตามที่ได้ยินคนเขาพูด และสังเกตเสียงกา ก็เดินกลับไปบ้าน
ถามเงินที่ขอทานได้ รักษาไว้อย่างไร?
คอบเศษอัฐฬสเก็บไว้ในกระเป๋า ซื้อกินอยู่ไปในตัว จนเศษเหลือเป็นเฟื้องสลึง จึงนำไปฝากนาย เดี๋ยวนี้มีอยู่สักสองบาท
ถามการขอทานเลี้ยงชีวิตอย่างนี่ เอ็งรู้สึกเป็นความเดือดร้อนอย่างใดหรือไม่?
ตอบดูก็สบายดี ไม่เห็นเดือดร้อนอย่างใด แต่อาศัยที่นายเขาช่วยเลี้ยงดู ถ้าไม่ได้นายก็เห็นจะอยู่ไม่ได้

จบเรื่อง “สนทนากับคนขอทาน” เพียงเท่านี้


กำลังโหลดความคิดเห็น