xs
xsm
sm
md
lg

อดีตผู้ประกาศข่าวสาวสอนสื่อผ่านโซเชียลฯ ยึดหลักการและจริยธรรม หลังเป็นต้นเหตุสร้าง Fake News กระทบสังคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ต๊ะ นารากร ติยายน” อดีตผู้สื่อข่าวชื่อดัง โพสต์วิจารณ์สื่อสร้าง Fack News กระทบสังคม วอนยึดมั่นในหลักการและจริยธรรมที่สั่งสอนกันมา เหตุเสนอข่าวบิดเบือนนักเรียนหญิงชั้น ม.5 เสียชีวิตหลังถูกแมวกัด

จากกรณีของมิว นักเรียนหญิงชั้น ม.5 เสียชีวิตจากอาการติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง ตามข้อความที่แพทย์ได้ระบุไว้ หลังโดนแมวจรจัดที่เก็บมาเลี้ยงด้วยความสงสารกัดและมีอาการแพ้ โดยอาการแพ้ของน้องมิวมีอาการคันและเป็นตุ่ม จนกระทั่งมีอาการแพ้ ตัวร้อน มีตุ่มขึ้นทั้งตัวและแขน ซึ่งกินยา ทายาก็ไม่หาย จึงพาไปรักษาตัวที่ รพ.วิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ จากนั้นส่งตัวไปรักษาต่อที่ รพ.พระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากมีอาการทรุดหนัก สุดท้ายเสียชีวิตช่วงกลางดึกของคืนวันที่ 4 ส.ค.

จากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นกระแสในโซเชียลมีเดีย และมีการพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ต่อมาเมื่อวันที่ 6 ส.ค. “นารากร ติยายน” อดีตผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุถึงเหตุการณ์ดังกล่าว หลังมีคนจำนวนมากแห่นำแมวที่เลี้ยงไว้ไปปล่อยหลังทราบข่าว “น้องมิว” เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยอดีตผู้สื่อข่าวสาวได้ระบุข้อความว่า

“สังคมไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร คนเอาแมวไปปล่อยทิ้งเพราะตื่นตูมข่าวน้องมิว นักเรียนหญิง ม.5 เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่สื่อบางสำนักพาดหัวไปแล้วว่าน้องมิวเสียชีวิตเพราะหมัดแมว!!!!!! เข้าใจได้ว่า ผู้ปกครองย่อมเป็นห่วงบุตรหลาน จึงตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการปล่อยแมว โดยลืมคำนึงถึงผลกระทบวงกว้างว่าจะมีแมวจรจัดเพิ่มขึ้นอีกมากเท่าไหร่

นี่เป็นการสร้าง Fake News จากสื่อมวลชนโดยตรง ถ้าสื่อยึดมั่นในหลักการและจริยธรรมที่สั่งสอนกันมาอย่างเคร่งครัดจากรุ่นต่อรุ่นว่า เมื่อไม่รู้จริง หรือยังไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องของข่าว อย่าเพิ่งนำเสนอ เพราะข่าวที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริงจะนำมาซึ่งความเสียหาย และผลกระทบมากมายที่สำคัญที่สุดคือ ในบทบาทของสื่อมวลชนเรามีกระบวนการตรวจสอบหลายชั้น ก่อนที่ข่าวแต่ละข่าวจะออกสู่สายตาสาธารณชน

ภาษานิเทศศาสตร์เรียกว่า Gatekeeper ประกอบด้วยบุคลากรมากมาย กว่าจะเป็นข่าว 1 ข่าว
1) แหล่งข่าว หรือต้นตอของข่าว

2) ผู้สื่อข่าวคือผู้เก็บข้อมูลทั้งหมดของข่าว

3) บรรณาธิการโต๊ะข่าว เป็นผู้กลั่นกรองและตัดสินใจว่า เรื่องนั้นควรเป็นข่าวหรือไม่

4) บรรณาธิการรายการข่าว หรือบรรณาธิการบริหาร ควบคุมภาพรวมทั้งหมดของสำนักข่าว

5) โปรดิวเซอร์ข่าว ทำงานร่วมกับฝ่าย content และ production เพื่อให้ข่าวนั้นสมบูรณ์ทั้งภาพและเนื้อหา

ยังไม่นับรวมฝ่ายช่างภาพ ช่างเสียง สตูดิโอออกอากาศ ซึ่งประกอบด้วยคนอีกมากมาย บางสำนักใช้วิธีการนำเสนอข่าวใหม่ ในขณะที่ข่าวเดิมที่พาดหัวแบบผิดๆ ไปแล้ว ก็ปล่อยให้แชร์กันต่อไป

ขอร้องเถิดทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรสื่อทั้งหลาย กรุณาทบทวนและกลับมาสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องให้แก่วงการข่าวบ้านเรา ก่อนที่พวกเราจะสูญเสียความน่าเชื่อถือไปมากกว่านี้ ความเร็ว ไม่สำคัญเท่าความถูกต้อง”

ทั้งนี้ โพสต์ของอดีตผู้ประกาศสาวได้รับความสนใจและถูกแชร์ออกสู่โลกโซเชียลฯ แล้วกว่า 3,000 ครั้ง พร้อมกับชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นจำนวนมาก




กำลังโหลดความคิดเห็น