xs
xsm
sm
md
lg

ข้าราชการอังกฤษรับใช้ ร.๕ ซาบซึ้งจนขอเป็นคนไทย! ได้รับพระราชทานนามสกุลจาก ร.๖!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

มหาอำมาตย์โท พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงส่งพระราชโอรสไปศึกษาวิชาการต่างๆในหลายประเทศของยุโรป นอกจากเพื่อนำวิชาความรู้กลับมาพัฒนาประเทศแล้ว ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์กับราชวงศ์ที่ปกครองประเทศเหล่านั้นในยุคที่สยามกำลังถูกคุกคามด้วยลัทธิล่าอาณานิคม แต่ก่อนที่พระราชโอรสเหล่านั้นจะนำความรู้กลับมา ก็ทรงว่าจ้างชาวยุโรปที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆมารับราชการ เพื่อวางรากฐานในการพัฒนาประเทศตามแบบตะวันตก เพื่อให้คนหนุ่มเหล่านั้นมารับงานต่อไป ไม่ต้องเสียเวลาเริ่มต้นใหม่

ชาวยุโรปหลายคนที่มารับราชการ ได้ประทับใจในความเป็นไทย เกิดความรักในประเทศนี้จนขอยึดเป็นเรือนตาย และหลายคนก็ได้รับพระราชทานนามสกุล สืบเชื้อสายเป็นตระกูลไทยต่อไป

ท่านหนึ่งในจำนวนนี้ก็คือ มหาอำมาตย์โท พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร มีนามเดิมว่า ฟรานซิส เฮนรี ไจลส์ (Francis Henry Giles) เป็นชาวอังกฤษ เกิดที่เมืองพลีมัธ ในตระกูลทหารเรือ ประวัติการศึกษาไม่ปรากฏชัด มีแต่หลักฐานทางราชการระบุว่า ได้เข้ารับราชการกับรัฐบาลอังกฤษในพม่าเมื่ออายุ ๑๘ ปี ทำงานในหน่วยงานปกครองท้องที่หลายแห่ง พูดภาษาท้องถิ่นได้หลายภาษา จนได้รับตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าราชการรัฐฉาน หลังจากรับราชการมา ๑๐ ปี

ใน พ.ศ.๒๔๔๐ รัฐบาลไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ขอยืมตัวจากรัฐบาลอังกฤษที่อินเดียให้เข้ามาช่วยราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งจะเริ่มจัดทำงบประมาณแผ่นดินขึ้นเป็นครั้งแรก มิสเตอร์ไจลส์เริ่มด้วยการตรวจสอบบัญชีรายจ่ายของทุกกระทรวง รวบรวมวางระบบการจัดทำงบประมาณแผ่นดินขึ้น

เมื่อครบเวลา ๕ ปีตามสัญญาที่ขอตัวมา มิสเตอร์ไจลส์จะต้องกลับไปรับราชการกับรัฐบาลอังกฤษ แต่รัฐบาลไทยเห็นว่ามิสเตอร์ไจลส์เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่องานของกรมสรรพากรเป็นอย่างมาก จึงชักชวนให้ลาออกจากราชการอังกฤษมาเป็นข้าราชการไทย ซึ่งมิสเตอร์ไจลส์ก็ตกลงตามข้อเสนอนี้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงคลังพิเศษ มณฑลปราจีน จากการไปปฏิบัติงานในหน้าที่นี้ มิสเตอร์ไจลส์ได้ทำรายงานมายังกระทรวงถึงเรื่องการเก็บภาษีที่ยังสับสน และการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินก็ยังไม่เป็นระเบียบ นับเป็นอุปสรรพต่อการปฏิบัติงาน เป็นผลให้เจ้ากระทรงพระคลังมหาสมบัติได้เรียกตัวกลับมาเข้ารับตำแหน่ง เจ้ากรมสรรพากรนอก มีหน้าที่วางระเบียบการเก็บภาษีอากรทั่วพระราชอาณาเขต ยกเว้นพระนครและอีก ๔-๕ เมืองที่ขึ้นต่อกรุงเทพฯ

โดยเหตุที่การเก็บภาษีอากรสมัยนั้นจำต้องอาศัยฝ่ายปกครองท้องที่เป็นอย่างมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้โอนกรมสรรพากรไปขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย มิสเตอร์ไจลส์จึงต้องย้ายสังกัดมาอยู่กระทรวงมหาดไทยด้วย
ใน พ.ศ.๒๔๕๘ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้กราบถวายบังคมลาออกจากเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จึงโปรดให้โอนกรมสรรพากรนอก มารวมกับกรมสรรพากรใน ขึ้นตรงกับกระทรงพระคลังมหาสมบัติ และโปรดให้มิสเตอร์ไจลส์ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสรรพากร เป็นคนแรก พร้อมกับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นที่ พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร อันเป็นบรรดาศักดิ์ที่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่ง พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ปลัดทูลฉลองกระทรงพระคลังมหาสมบัติ ทรงกล่าวถึงพระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมารว่า เป็นผู้สนใจรวบรวมสถิติต่างๆ มองเห็นการณ์ไกล ทำงานโดยอาศัยข้อเท็จจริงเป็นมูลฐาน และเป็นผู้ที่มีความจำเป็นเลิศ ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคทั้งปวง จึงทำให้กิจการของกรมสรรพากรเป็นปึกแผ่นมั่นคงต่อมา

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ด้วยความรักและผูกพันกับประเทศไทย พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร ซึ่งได้เปลี่ยนสัญชาติเป็นไทยโดยสมบูรณ์ ได้ขอพระราชทานนามสกุล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯพระราชทานนามสกุลแก่ ฟรานซิส เฮนรี ไจลส์ ว่า “จิลลานนท์”

พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมารได้ปฏิบัติราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากรตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ จนถึงรัชกาลที่ ๗ เกิดมีอาการทางสายตา ได้ลาพักราชการไปรักษาตัวที่ทวีปยุโรปหลายครั้งแต่ก็ไม่เป็นผล ทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้ จึงต้องออกจากราชการไปใน พ.ศ.๒๔๗๓ ขณะอายุ ๖๑ ปี รวมเวลาที่อยู่ในราชการไทย ๓๓ ปี

ในขณะที่ออกจากราชการนั้น พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมารดำรงตำแหน่งอธิบดีชั้นสูง รับพระราชทานเงินเดือน ๒,๐๐๐ บาท เท่าอัตราเสนาบดีขั้นต่ำ แต่โดยเหตุที่ท่านรับราชการสนองเบื้องพระยุคลบาทมาเป็นเวลานาน สร้างประโยชน์แก่ราชการไว้อย่างมาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานบำเหน็จเป็นเงินพิเศษอีกจำนวนหนึ่ง พร้อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูง ได้แก่ประถมาภรณ์ช้างเผือก ประถมาภรณ์มงกุฎ อีกทั้งตราจุลจอมเกล้าชั้นทุติยวิเศษ พร้อมพานทองเครื่องยศตามฐานะและเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๖ รัชกาลที่ ๗ ด้วย

ภายหลังพ้นราชการ พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมารยังคงพำนักอยู่ในประเทศไทย และยังช่วยราชการพิเศษอยู่เป็นประจำ ทั้งช่วยเหลือองค์กรต่างๆ เป็นองค์ปาฐก แสดงปาฐกถาที่สามัคยาจารย์สโมสรสถาน และมีงานอดิเรกที่สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ท่านเป็นสมาชิกมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ.๒๔๔๗ โดยรับตำแหน่งอุปนายกมาตลอด จนถึง พ.ศ.๒๔๗๓ ขึงได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกสมาคม จนถึง พ.ศ.๒๔๘๐ จึงขอลาออกเนื่องจากสุขภาพไม่อำนวย แต่ยังดำรงตำแหน่งกรรมการสมาคมและเขียนบทความลงในวารสารของสมาคมมาตลอด

นอกจากเป็นนักบริหารผู้มีความสามารถแล้ว พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมารยังเป็นนักวิชาการที่มีความรู้อย่างกว้างขวาง ได้เขียนบทความรวมทั้งปาฐกถาให้สยามสมาคมไว้กว่า ๒๐๐ เรื่อง แต่ละเรื่องล้วนแสดงถึงการใฝ่หาความรู้ของท่านและลงลึกในทุกเรื่อง อาทิเช่น เรื่องนกนางแอ่น (นกนางแอ่นขาวและนกนางแอ่นดำ” “เรื่องวิธีพิสูจน์เลือดแบบจีนโบราณ” “เรื่องน้ำมันพราย” “ตำนานเกาะหลัก” “ประวัติเขาตาม่องล่าย” “การล่าวัวแดงบนหลังม้าที่อุบลราชธานีและกาฬสินธุ์” เป็นต้น

เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพายุติลง พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมารมีสุขภาพทรุดลงเป็นลำดับ ไม่สามารถช่วยงานของสยามสมาคมได้ดังเดิม สมาคมจึงได้ยกย่องท่านเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ และได้ถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๔ รวมอายุได้ ๘๒ ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น