xs
xsm
sm
md
lg

อย่าเพิ่งโห่! เรียนโคดดิ้งไม่ใช้คอมพิวเตอร์แบบ "คุณหญิงกัลยา" เกิดขึ้นได้จริง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อ่านความจริงอีกด้าน การเรียนโค้ดดิ้งตามที่ "คุณหญิงกัลยา" ระบุว่าไม่ใช้คอมพิวเตอร์ เป็นวิชา "วิทยาการคำนวณ" เกิดขึ้นได้จริง มีตำราแล้ว สอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา เน้นการคิดเชิงคำนวณ การเข้าใจและรู้ทันเทคโนโลยีดิจิทัล และความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ไม่เน้นท่องจำแต่เน้นคิดและสังเคราะห์คำตอบ

จากกรณีที่คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ ชี้แจงนโยบายด้านการศึกษาตามข้อซักถามของ น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า การเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ หรือ โค้ดดิ้ง (Coding) สามารถเรียนได้ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา โดยไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ทำให้ชาวเน็ตแสดงความกังขา โดยเฉพาะในหมู่ผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่มองว่าทำไม่ได้จริง

อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊ก "โปรแกรมเมอร์ไทย Thai programmer" อธิบายว่า ถ้าเป็นในระดับมัธยมศึกษา มหาวิทยาลัย ยังไงก็ต้องใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อสอนเขียนโปรแกรม ถ้าไม่มีจะเขียนได้ยังไง แต่การสอนโค้ดดิ้งในระดับประถมศึกษา ถ้าจะให้สอนโค้ดดิ้งแบบให้รู้จักโครงสร้างภาษาคอมพิวเตอร์ (Syntax) อาจไม่เหมาะ เพราะเกินวัยเด็ก จึงมีวิธีสอนแนวอื่นโดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ แต่เน้นไปที่การฝึกตรรกะ และวิธีคิดแทน

ทั้งนี้ ในต่างประเทศมีโครงการ CS Unplugged (วิทยาการคอมพิวเตอร์แบบอันปลั๊ก) เป็นการรวบรวมกิจกรรมที่ออกแบบมาให้สอนวิทยาการคอมพิวเตอร์ โดยปราศจากการใช้คอมพิวเตอร์ แต่จะใช้ผ่านการเล่นเกม ทายปริศนา ฯลฯ จะได้ไม่ยึดติดกับซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ โดยกลุ่มเป้าหมายเน้นไปที่เด็กปฐมวัย ใช้ได้กับเด็กทั่วโลก โครงการนี้มีมานานแล้ว กิจกรรมถูกออกแบบมาและปรับปรุงมาเรื่อยๆ มีกิจกรรมทั้งหมดกว่า 20 กิจกรรม

สำหรับการสอนโค้ดดิ้งในประเทศไทย ตอนนี้ก็เริ่มนำร่องแล้ว และถูกบรรจอยู่ในวิชาเรียน "วิทยาการคำนวณ" เป็นวิชาบังคับตั้งแต่ ป.1 ถึง ม.6 เริ่มนำร่องในหลายโรงเรียน ปีหน้าก็จะทยอยเปิดสอนครบทุกชั้นปี แต่ในระดับประถมศึกษา เนื้อหาเน้นวิธีคิดเป็นหลัก ยังไม่ได้สอนเขียนโปรแกรม หนังสือเรียนก็เป็นแนวการ์ตูน อ่านสนุก พอถึงชั้น ม.ต้น จะเริ่มมีการสอนโค้ดดิ้ง ภาษาที่ใช้มีให้เลือกก็คือ Python กับ Scratch (เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง)



ด้านเฟซบุ๊ก Poonna Yospanya ระบุว่า จากที่คุณหญิงกัลยาได้พูดเรื่องการเรียนเขียนโปรแกรม และได้ถูกนำไปวิจารณ์กันต่ออย่างกว้างขวางในเพจต่าง ๆ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าเรียนโค้ดดิ้งไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ก็ได้ ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยไม่เชื่อว่าเป็นไปได้ ไปจนถึงขั้นด่าทอหรือเหยียดความคิด แต่ความจริงเป็นไปได้ ที่เราสามารถที่จะสอนการเขียนโปรแกรมโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์ได้ อย่างน้อยก็ในขั้นเริ่มต้น

ตอนนี้เราได้มีการเรียนการสอนวิชาวิทยาการคำนวณตั้งแต่ชั้น ป.1 แล้ว หลักสูตรวิชานี้เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ และได้ผ่านการใช้เรียนจริงมา 1 ปีแล้วในชั้น ป.1 และ ป.4 และกำลังเข้าสู่ปีที่ 2 โดยมีหนังสือเรียนของชั้น ป.2 และ ป.5 ออกมาแล้ว คนที่เป็นโปรแกรมเมอร์ทราบดีว่าการเขียนโปรแกรมไม่ได้ใช้แค่ทักษะทางด้านภาษาโปรแกรมเท่านั้น ไม่ใช่ว่าเรารู้ว่าโค้ด Java หรือ Python เขียนยังไงแล้วก็แปลว่าเราจะเขียนโปรแกรมได้

แต่การเขียนโปรแกรมที่แท้จริงประกอบด้วยทักษะอื่น ๆ ที่มีความสำคัญ เช่น ทักษะการวิเคราะห์และแก้ปัญหา ทักษะการคิดเชิงตรรกะและการลำดับกระบวนการ ทักษะการคิดเชิงนามธรรม การเขียนออกมาเป็นโค้ดแทบจะเป็นขั้นตอนสุดท้ายด้วยซ้ำ คนที่เขียนโปรแกรมจนช่ำชองอาจจะผ่านการฝึกฝนมามากจนทักษะอื่น ๆ แทบจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ มองเห็นแค่ขั้นตอนสุดท้ายคือการเขียนออกมาเป็นโค้ด และลืมไปว่ากว่าจะออกมาเป็นโค้ดนั้นมันได้ผ่านกระบวนการคิดอะไรมาบ้าง

"สำหรับบางคน ก่อนจะถึงขั้นเขียนโค้ดจริงเค้าได้ผ่านกระบวนการคิดเหล่านั้นอย่างรอบคอบและเป็นระบบ จนเมื่อถึงกระบวนการสุดท้ายที่เขียนโค้ดแล้วโค้ดของเค้าแทบจะไม่มีข้อผิดพลาดเลย ในขณะที่อีกหลาย ๆ คนโดยเฉพาะมือใหม่บางคนจะใช้วิธีการเขียนแบบลองผิดลองถูก ซึ่งก็มักจะสร้างปัญหาแฝงเป็น Technical Debt ในโปรแกรมจนจัดการในภายหลังได้ยากเย็นทีเดียว ทักษะการคิดเหล่านั้นจึงแทบจะพูดได้ว่าสำคัญยิ่งกว่าการเขียนออกมาเป็นโค้ดด้วยซ้ำ" เฟซบุ๊ก Poonna Yospanya ระบุ

ทีมงานจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มหาวิทยาลัยต่างๆ NECTEC และครูอาจารย์จากหลายๆ โรงเรียนได้ร่วมกันสร้างหนังสือเรียนใหม่ โดยมีรูปแบบที่แตกต่างไปจากหนังสือเรียนเดิมๆ คือมีเรื่องราวที่สนุกสนาน ดำเนินไปในรูปแบบการ์ตูนผ่านตัวละครหลักคือ "โป้งและก้อย" สองพี่น้องฝาแฝด และ "อิ่ม" ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ เนื้อหาในรายวิชาไม่ได้มีแต่การเขียนโปรแกรม แต่ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือ

1. การคิดเชิงคำนวณ (Computational Thinking) ซึ่งเป็นการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการคิดแบบต่างๆ เพื่อการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับการเขียนโปรแกรม ในส่วนนี้ก็จะมีการเขียนโปรแกรมในรูปแบบต่างๆ ด้วย เช่น การเรียงบัตรคำสั่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ หรือการใช้โปรแกรม Scratch เพื่อต่อจิ๊กซอว์คำสั่ง จุดที่เน้นจริงๆ คือกระบวนการคิด

2. การเข้าใจและรู้ทันเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) จะทำความรู้จักกับโลกออนไลน์ โซเชียลมีเดีย และผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น เช่น ข่าวลวง การแชร์ข้อมูลผิดๆ หรือก่อความเสียหาย นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์และอาชญากรรมทางดิจิทัลอีกด้วย ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) เป็นสิ่งที่จำเป็นมากในยุคนี้เพื่อให้เด็กรู้เท่าทันโลกออนไลน์และเข้าใจถึงผลกระทบของการกระทำใด ๆ ของตนและบุคคลอื่นบนโลกออนไลน์ เป็นรากฐานในการสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อไป

3. ความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) จะแนะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งปัจจุบันและที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่น โดรน หุ่นยนต์ โลกความจริงเสมือน สมาร์ตซิตี้ สมาร์ตฟาร์ม และการใช้เครื่องมือทางไอซีทีต่างๆ เช่น การใช้ Search Engine ค้นหาข้อมูล การใช้โปรแกรมประมวลคำ เพื่อการสร้างเอกสารต่างๆ การใช้โปรแกรมสเปรดชีต เพื่อการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลขั้นต้น การใช้โปรแกรมนำเสนอ เพื่อสื่อสารข้อมูลต่างๆ โดยผู้จัดทำมีความพยายามอย่างมากที่จะไม่ยึดติดกับโปรแกรมของค่ายใดค่ายหนึ่ง ผูกติดกับเรื่องราวที่สนุกสนาน

รูปแบบการเรียนรู้ทั้ง 3 ด้านจะไม่เน้นการป้อนหรือท่องจำ แต่จะดำเนินด้วยเนื้อเรื่องและกิจกรรมที่สนุกสนาน และมีประเด็นและปัญหาที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนคิดและสังเคราะห์คำตอบด้วยตัวเองจากการใช้เหตุและผล เด็ก ๆ จะเห็นว่าการแก้ปัญหาสามารถทำได้หลากหลายวิธี และวิธีที่ตัวเองคิดไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร การเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลก็เช่นกัน ก็จะเกิดจากการวิเคราะห์ตัวอย่างปัญหาและนำไปสู่ข้อสรุปด้วยตัวเองโดยมีครูคอยแนะนำ

ทั้งนี้ เราสามารถเริ่มต้นที่จะเขียนโปรแกรมโดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ได้ บางคนอาจจะแย้งว่าแล้วจะตรวจคำตอบได้ยังไง แต่ถ้าลองดูรายละเอียดในหนังสือจะเห็นเลยว่าเราสามารถจะตรวจคำตอบได้เองได้ง่ายมากโดยการทดลองปฏิบัติตามบัตรคำสั่งซึ่งมีรูปแบบที่ชัดเจนไม่กำกวม โดยมีครูคอยดูแลอีกที ซึ่งจะเป็นการฝึกทักษะการคิดเป็นขั้นตอน การตรวจทานโปรแกรม และการแก้ไขข้อผิดพลาดของโปรแกรมไปด้วย

"การเรียนในระดับประถมศึกษาจะยังไม่ได้ซับซ้อนมากถึงขนาดที่ต้องเขียนโปรแกรมจริงจังด้วยภาษาคอมพิวเตอร์จริงๆ แต่เป็นการสร้างรากฐานการคิดที่จำเป็นเพื่อนำไปสู่การเขียนโปรแกรมอย่างจริงจังในขั้นต่อไป"

อย่างไรก็ตาม การเรียนวิชานี้ไม่ได้หมายความว่าต้องการให้เด็กไปเป็นโปรแกรมเมอร์กันหมด ทักษะส่วนหนึ่งของวิชานี้ ทั้งในส่วนของทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) และ ICT ก็เป็นทักษะที่ใช้ในชีวิตประจำวันโดยตรง และในส่วนของ Computational Thinking ที่มีเรื่องของโค้ดดิ้งด้วย ถึงแม้เด็กจะไม่ได้เอาไปใช้โดยตรง แต่ทักษะการวิเคราะห์และแก้ปัญหา และทักษะการคิดเชิงตรรกะ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญในเนื้อหาด้านนี้ก็มีประโยชน์ในชีวิตประจำวันด้วยเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น