xs
xsm
sm
md
lg

"หมอแล็บ" ชี้ ใครชอบเดินเท้าเปล่า เตือนระวังตัวอ่อนพยาธิไชตามผิวหนัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"หมอแล็บแพนด้า" โพสต์ข้อความเตือนประชาชนระวังตัวอ่อนพยาธิไชตามผิวหนัง หากมีพฤติกรรมชอบถอดรองเท้าเดินบนพื้นดินและทรายตามชายหาด แนะเลี่ยงไม่ควรเดินตามพื้นดินที่ชื้นแฉะหรือพื้นทราย

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. เพจ "หมอแล็บแพนด้า" ได้โพสต์ข้อความเตือนสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบการเดินเท้าเปล่าลุยบนชายหาด เนื่องยกเสี่ยงที่จะเจอกัยโรคพยาธิชอนไชผิวหนัง โดย "หมอแล็บแพนด้า" ได้ระบุอาการของโรคไว้ว่า

"เมื่อเที่ยวเสร็จ กลับมาถึงบ้านก็รู้สึกคันเท้าขึ้นมาเหมือนอยากเตะใครซักคน ไม่ใช่สิ!! คันจริงๆ ทั้งคู่ก็คิดเอาเองว่าคงถูกแมลงกัดล่ะมั้ง จากนั้นก็ไปหาอยู่หลายหมอจนไปเจอพยาธิปากขอไชตามผิวหนัง พยาธิปากขอพวกนี้ส่วนใหญ่มักจะมาจากหมาแมวมาไปขี้ตามชายหาด ในขี้ของพวกมันบางตัวจะมีพยาธิออกมาด้วย ซึ่งมีชีวิตอยู่ที่พื้นดินชื้นแฉะได้ จากนั้นพยาธิระยะตัวอ่อนมันจะหลั่งเอนไซม์เพื่อไชผ่านผิวหนัง หรือไชเข้ามาตามรูขุมขน มาอยู่ในชั้นหนังกำพร้าเห็นเป็นเส้นนูนสีแดง ตามรอยการเคลื่อนที่ของพยาธินั่นเองครับ

เล่าให้ฟังไม่ใช่ให้ตื่นตระหนกนะครับ แต่ให้หมั่นถ่ายพยาธิในแมวและหมาเพื่อไม่ให้มีการแพร่พยาธิชนิดต่างๆลงดิน และถ้าเป็นไปได้ก็ใส่รองเท้ากันไว้ก็ดีครับผม"

เรื่องราวดังกล่าวถูกแชร์ออกสู่โลกโซเชียลแล้วกว่า 1,700 ครั้ง พร้อมกับคอมเมนต์ห่วงว่าเด็กเล็กที่ไปนั่งเล่นตามชายหาดอาจจะเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวนี้ นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคพยาธิเข้าสู่ร่างกาย พร้อมกับแนะนำหากต้องการจะเดินเล่นตามชายหาดหรือเที่ยวทะเล ควรจะเลือกสถานที่ ที่มีการดูแลความสะอาดอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้เคยออกมาเตือนพฤติกรรมการชอบเดินเท้าเปล่า ไม่เพียงแค่บนชายหาดเท่านั้น ที่เสียงโดนตัวอ่อนพยาธิชอนไชผิวหนัง กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า โรคตัวอ่อนพยาธิชอนไชผิวหนัง (Cutaneous larva migrans) เป็นโรคที่เกิดจากตัวอ่อนพยาธิปากขอของสัตว์ เช่น สุนัข แมว แพะ แกะ ม้า สุกร โค หรือพยาธิเส้นด้ายของสัตว์ โดยตัวอ่อนพยาธิอาศัยอยู่ในดิน ส่วนใหญ่เป็นพยาธิปากขอ จะไชเข้าไปทางผิวหนัง ผ่านทางรอยแผลหรือรูขุมขนในผิวหนังชั้นนอกเท่านั้น หรือชั้นหนังกำพร้า เกิดผื่นเส้นนูนแดงคดเคี้ยวใต้ผิวหนังตามทางที่ตัวอ่อนพยาธิไชผ่าน แต่เนื่องจากคนไม่ใช่พาหะที่ตัวอ่อนจะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยได้ ดังนั้น ตัวอ่อนพยาธิจึงไปตามผิวหนังชั้นหนังกำพร้าเพื่อหาทางออกจากร่างกายคน ตัวอ่อนพยาธิจะตายเองใน 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน พยาธิสภาพและอาการแสดงทางผิวหนังจะเป็นอยู่นานจนกว่าตัวอ่อนพยาธิจะถูกทำลายโดยภูมิคุ้มกัน โรคนี้พบมากในภูมิภาคร้อนชื้นและอบอุ่น เช่น ประเทศแถบอเมริกาตอนใต้ อเมริกากลาง อเมริกาใต้ บราซิล แถบชายหาดทะเลแคริบเบียน แถบอากาศกึ่งร้อนชิ้นอบอุ่นทั่วโลก ประเทศแอฟริกาตอนใต้ เอเชียตอนใต้ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้ง ประเทศอินโดนีเซีย บอร์เนียว มาเลเซีย

แนะนำวิธีป้องกันโรคดังกล่าว โดยขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงพื้นดินที่ชื้นแฉะ ไม่ควรเดินเท้าเปล่าตามพื้นดินหรือพื้นทราย เช่น ตามชายหาด ให้สวมรองเท้าทุกครั้งที่ต้องเดินบนพื้นดินและรีบล้างเท้าทำความสะอาดทุกครั้งหลังเดินชายหาด สวมถุงมือทุกครั้งที่ต้องสัมผัสกับดิน เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวอ่อนพยาธิไชเข้าสู่ร่างกาย รวมถึงให้ขับถ่ายอุจจาระลงส้วมทุกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของหนอนพยาธิ ที่สำคัญขอให้ประชาชนทุกคนรักษาสุขอนามัยของตนเอง ล้างมือบ่อย ๆ ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร และก่อนออกจากห้องน้ำ นอกจากนี้ ขอให้เจ้าของสุนัขและแมว นำสัตว์เลี้ยงไปตรวจรักษาโรคหนอนพยาธิในสัตว์ที่สามารถแพร่โรคสู่คนได้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่ตัวอ่อนพยาธิจากสัตว์ลงในพื้นดิน หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร. 0-2590-3180 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422




กำลังโหลดความคิดเห็น