เราท่านต่างเคยพูดและเขียนคำว่า พิเรน หรือ พิเรนทร์ กันมานานแล้ว และรู้ว่ามีความหมายถึงการกระทำแปลกๆไปจากคนทั่วไปเขาทำกัน เรียกว่า ทำพิเรน หรือ คนพิเรนทร์ แต่สมัยก่อนความหมายนี้ไม่มีอยู่ในพจนานุกรม มีแต่ให้คำอธิบายไว้ว่า
พิเรนทร์ น. จอมนักรบ, พระเจ้าแผ่นดิน
อีกทั้งในสมัยกรุงศรีอยุธยายังมีตำแหน่งของเจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ฝ่ายขวา ระบุนามตำแหน่งไว้ว่า “หลวงพิเรนณเทพบดีศรีสมุหะ
แต่คำที่พูดกันทั่วไปไม่ใช่ความหมายนี้ จนมีการเรียกร้องโดยผ่านสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์และทีวีให้บรรจุคำนี้ลงในพจนานุกรม ต่อมาราชบัณฑิตสถานจึงได้บรรจุคำนี้ตามคำเรียกร้อง โดยให้คำนิยามตามความหมายที่ใช้กันว่า
พิเรนทร์ (พิเรน) ว. อุตรินอกลูกนอกทาง เช่น เล่นพิเรนทร์ คนพิเรนทร์
คำนี้ยังมีที่มาเล่ากันไว้ว่า มาจากราชทินนาม “พระพิเรนทรเทพ” พระตำรวจหลวงนายหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้เกิดคำนี้ขึ้น
ทั้งนี้สมัยรัชกาลที่ ๕ ในปี ร.ศ.๑๑๒ หรือ พ.ศ.๒๔๓๖ ที่เรือรบฝรั่งเศส ๒ ลำฝ่าแนวป้องกันที่ปากน้ำเจ้าพระยาเข้ามาจอดถึงหน้าสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพ รวมที่ขออนุญาตจอดอยู่แล้ว ๑ ลำ ทำให้คนไทยพากันโกรธแค้นมาก และไม่มีใครกลัวฝรั่งเศส ไปชุมนุมกันที่ริมแม่น้ำกระโกนด่าจนทหารฝรั่งเศสไม่กล้าขึ้นฝั่ง บางคนก็งัดของลับขึ้นมาเป็นของกำนัลให้ด้วย หลายคนก็กระเหี้ยนกระหือรือจะลงไปลุยกับทหารฝรั่งเศสให้ได้
ขณะนั้นมีข้าราชการผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง คือ พระพิเรนทรเทพ เป็นพระตำรวจหลวง ซึ่งนิยมเรื่องคาถาอาคมทางไสยศาสตร์ ได้คิดวิธีจะต่อสู้กับฝรั่งเศสโดยดำน้ำไปเจาะเรือรบ มีคนเห็นด้วยกับท่านเป็นจำนวนมาก คุณพระจึงตั้งหน่วยทำลายใต้น้ำขึ้น มีคนไทยใจกล้าอาสาสมัครจำนวนมาก คุณพระจึงเปิดการฝึกดำน้ำขึ้นที่หน้าบ้านของท่านที่อยู่ริมคลอง และควบคุมการฝึกอย่างเอาจริงเอาจัง ทุกคนต้องฝึกดำน้ำให้ได้นานที่สุด ใครดำได้เดี๋ยวเดียวโผล่ขึ้นมาคุณพระก็ให้คนเอาถ่อกดให้ดำลงไปใหม่ จนกระทั่งเกิดดำไม่โผล่ มีคนตายจึงกลายเป็นเรื่อง การฝึกและวิธีต่อสู้ของคุณพระจึงถูกระงับ แต่เรื่องราวของคุณพระถูกกล่าวขานกันไปทั่ว
คนส่วนใหญ่เห็นดีเห็นชอบและสะใจกับวิธีการของคุณพระ และก็เห็นว่าเป็นความคิดที่ไม่น่าจะมีใครคิดได้อย่างนี้ ในที่สุดก็เกิดเป็นแสลงเรียกคนที่ทำเรื่องแปลกประหลาดอย่างที่ไม่มีใครทำว่า “ทำอย่างพระพิเรนทร์” และกลายเป็น “ทำพิเรนทร์” หรือ “คนพิเรนทร์” ไป
นี่ก็เป็นที่มาของศัพท์ที่ชาวบ้านใช้กัน จนราชบัณฑิตยอมรับบรรจุไว้ในพจนานุกรม