การเลี้ยงโจรไว้ปราบโจรไม่ใช่วิธีการที่เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยนี้ แต่มีมาแต่โบราณจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับการใช้โจรปราบโจรในการปกครองของไทยสมัยก่อนไว้ให้เห็นอย่างเด่นชัด
การปกครองหัวเมืองในสมัยก่อนนั้นเรียกกันว่า “กินเมือง” ซึ่งเป็นระบบที่ใช้กันทุกประเทศในตะวันออก ในเมืองจีนเรียกว่ากินเมืองตรงๆ ภายหลังไทยเราเปลี่ยนเป็น “ว่าราชการเมือง” แต่คำว่ากินเมืองก็ยังปรากฏในเอกสารเก่าๆอยู่ เช่นกฎมณเฑียรบาล คือรัฐบาลได้ตั้งให้ผู้มีฐานะหรือมีบารมีในเมือง ทิ้งธุรกิจส่วนตัวมารับหน้าที่เป็นเจ้าเมือง ดูแลทุกข์สุขของราษฎร โดยรัฐบาลก็ไม่ได้เลี้ยงดู เพียงแต่ให้ค่าธรรมเนียมต่างๆบ้างเล็กน้อย เช่นเดียวกับกรมการผู้ช่วยเจ้าเมืองก็มีรายได้จากค่าธรรมเนียมลดหลั่นลงมา โดยผลักภาระให้ราษฎรตอบแทนบุญคุณของเจ้าเมือง ช่วยทำงานให้บ้าง แบ่งข้าวปลาอาหารให้บ้าง เพื่อไม่ให้เจ้าเมืองต้องห่วงในการทำมาหาเลี้ยงชีพ
ต่อมาความเปลี่ยนแปลงในสังคม ทำให้เจ้าเมืองและกรมการเมืองได้ผลประโยชน์ไม่พอเลี้ยงชีพ จึงต้องหาผลประโยชน์เพิ่มพูนขึ้นในทางอื่น เช่นทำไร่นา ค้าขาย ให้พอใช้สอยกินอยู่ โดยใช้แรงงานราษฎรให้ช่วยทำนา ด้านค้าขายก็ใช้ตำแหน่งหน้าที่เข้าช่วยให้ซื้อง่ายขายคล่องกว่าคนอื่น แม้เจ้าภาษีนายอากรที่ได้รับผูกขาดไปจากกรุงเทพฯ ถ้าให้เจ้าเมืองและกรมการมีส่วนด้วย ก็ได้รับสงเคราะห์ให้การเก็บภาษีสะดวกขึ้น
จึงเกิดประเพณีหากินโดยอาศัยตำแหน่งในราชการทั่วไป เจ้าเมืองกรมการที่เกรงความผิด ก็ระวังด้วยการไม่หากินด้วยการเบียดเบียนผู้อื่น ส่วนคนโลภที่เอาทุกอย่างสุดแต่จะได้ ก็มักมีภัยมาถึงตัว
การปกครองหัวเมืองในขณะนั้นมีเรื่องประหลาดอีกอย่างหนึ่ง คือไม่มีศาลาว่าการของรัฐบาล เจ้าเมืองมีบ้านอยู่ที่ไหนก็ว่าการกันที่นั่น เช่นเดียวกับเสนาบดีในเมืองหลวงก็มีประเพณีว่าราชการที่บ้านเหมือนกัน ซึ่งเรียกว่า “จวน” มีศาลาโถงปลูกไว้นอกรั้วหน้าบ้าน เรียกว่า “ศาลากลาง” แม้แต่เรือนจำที่ขังนักโทษก็อยู่ที่จวนเหมือนกัน จวนและศาลากลางจึงเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของเจ้าเมืองที่ซื้อที่ดินและสร้างขึ้นมาเอง เจ้าเมืองคนใหม่ที่ไม่ได้เป็นลูกรับมรดกจากเจ้าเมืองคนเก่า ก็ต้องไปหาที่ตั้งจวนเอาเอง บางทีก็ย้ายไปคนละอำเภอ เมื่อเจ้าเมืองไปอยู่ที่ไหนก็ต้องย้ายที่ว่าราชการไปอยู่ที่นั่น เพิ่งจะมีการสร้างศาลากลางว่าราชการขึ้นเมื่อจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นในสมัยรัชการที่ ๕
พวกกรมการที่เจ้าเมืองตั้งขึ้นเป็นผู้ช่วย เพื่อให้เป็นผู้รักษาสันติสุขในท้องที่ มีหน้าที่เหมือนนายอำเภอ บ้านเรือนอยู่ที่ไหนก็ทำงานอยู่ที่นั่น จะเข้ามาที่จวนก็ต่อเมื่อมีงานราชการหรือมารับคำสั่งเท่านั้น แม้ในสมัยมีเทศาภิบาลแล้วก็ยังใช้คนประเภทนี้เป็นกรมการ ซึ่งมักเป็นนักเลงโตมีพรรคพวกมาก เพื่อจะให้โจรผู้ร้ายยำเกรงไม่กล้าเข้ามาปล้นสะดมในถิ่นนั้น แต่บางทีก็เป็นผลร้าย ดังเรื่องหนึ่งที่ปรากฏเมื่อต้นรัชกาลที่ ๕
ครั้งนั้น ผู้รักษากรุงศรีอยุธยาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้ตั้งคฤหบดีคนหนึ่งชื่อ ช้าง เป็น หลวงบรรเทาทุกข์ อยู่ที่เกาะใหญ่ ซึ่งแม่น้ำตอนนั้นคือลานเท เป็นย่านเปลี่ยวมักมีเรือที่ขึ้นล่องถูกปล้นเป็นประจำ หลวงบรรเทาฯจึงเป็นที่พึ่งของชาวเรือที่ขึ้นล่องไปมา ทั้งยังได้รับคำชื่นชมในการรับรองผู้มีบรรดาศักดิ์ด้วย โจรผู้ร้ายก็หายไปจากย่านนี้
ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ ความปรากฏขึ้นจากคำให้การของโจรผู้ร้ายที่จับได้หลายราย ให้การว่าเป็นพวกของหลวงบรรเทาฯ จึงโปรดให้ชำระหลวงบรรเทาฯ ก็ได้ความว่าเป็นหัวหน้าโจรผู้ร้ายเสียเอง แต่ให้ไปปล้นในแขวงอื่นภายนอกเขตที่ตนปกครอง ในที่สุดหลวงบรรเทาฯก็ถูกประหารชีวิต
อีกรายหนึ่งชื่อ หลวงศรีมงคล เป็น “มือขวา” ของเจ้าเมืองอ่างทอง จับโจรผู้ร้ายเข้มแข็งนัก สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯทรงเล่าว่า เมื่อท่านไปตรวจราชการที่เมืองอ่างทอง แล้วจะเดินทางไปเมืองสุพรรณทางบก เจ้าเมืองได้ให้หลวงศรีมงคลเป็นผู้จัดพาหนะ วันเดียวก็ได้ทั้งม้าและผู้คนหาบหามสิ่งของได้ครบ และยังอาสาขี่ม้านำไปส่งเสด็จถึงเมืองสุพรรณบุรีด้วย จึงทรงชอบตั้งแต่นั้นมา
ครั้นถึงสมัยมีเทศาภิบาลแล้ว ปรากฏว่าหลวงศรีมงคลปล่อยพรรคพวกไปปล้นในเมืองอื่น แล้วรับของโจรที่ได้มาเป็นประโยชน์ แต่แรก กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ สมุหเทศาภิบาล ไม่ยอมเชื่อ เพราะทรงใช้สอยหลวงศรีมงคลจนที่โปรดเหมือนกัน แต่ไต่สวนได้หลักฐานจึงต้องส่งฟ้องศาลข้าหลวงพิเศษ ศาลพิพากษาให้จำคุกหลวงศรีมงคลหลายปี กรมขุนมรุพงศ์ฯจึงออกพระโอษฐ์ว่า “วิธีเลี้ยงขโมยไว้จับขโมยนั้นใช้ไม่ได้”
แต่เมื่อสมัยปรับปรุงการปกครองในสมัยรัชกาลที่ ๕ ใช้ระบบเทศาภิบาล มีกรมการอำเภอตั้งประจำอยู่ตามบ้านนอก และมีตำรวจภูธรแล้ว ก็ไม่มีกรมการบ้านนอก หรือ “กรมการนักเลงโต” อย่างแต่ก่อนอีก