“กรมศุลกากร” แจ้งเกี่ยวกับสิทธิของผู้โดยสารในการนำของติดตัวเข้ามาพร้อมกับตนเองทางท่าอากาศยาน หากผู้โดยสารนำของที่มีมูลค่าเกิน 20,000 บาท หรือเป็นของที่มีลักษณะเชิงพาณิชย์แม้จะมีมูลค่าไม่เกิน 20,000 บาท ของดังกล่าวเป็นของต้องเสียภาษีอากร
จากกรณี อธิบดีกรมศุลกากร เผยกรมศุลฯ จะมีการสั่งซื้อเครื่องตรวจเอกซเรย์สินค้าออนไลน์ (อี-คอมเมิร์ซ) เพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ และป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ และจัดส่งมาทางไปรษณีย์จาก ตปท. พบคนไทยนิยมสั่งซื้อสินค้า อี-คอมเมิร์ซ จาก ตปท.เข้ามามาก และหลบเลี่ยงภาษีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยกำหนดแนวการพัฒนาระบบ customs to home ร่วมไปรษณีย์ ธ.กรุงไทย ขณะเดียวกัน มีรายงานว่ากรมศุลฯ กำลังจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์ค่อมสายสะพานลำเลียงกระเป๋ามาใช้ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ 23 สายพาน เพื่อสแกนสิ่งของในกระเป๋าที่โหลดมาใต้ท้องเครื่องบินทุกใบ ป้องกันหลบเลี่ยงภาษี
เมื่อวันที่ 16 ก.ค. เพจ “กรมศุลกากร” ได้ออกมาโพสต์ข้อความชี้แจงเกี่ยวกับสิทธิของผู้โดยสารในการนำของติดตัวเข้ามาพร้อมกับตนทางท่าอากาศยาน ผู้โดยสารจะได้รับยกเว้นอากรสำหรับของส่วนตัวเพื่อใช้เองหรือใช้ในวิชาชีพมูลค่าไม่เกิน 20,000 บาท ทั้งนี้ต้องไม่เป็นของต้องห้าม ของต้องกำกัด และไม่มีลักษณะทางการค้า
หากผู้โดยสารนำของที่มีมูลค่าเกิน 20,000 บาท หรือเป็นของที่มีลักษณะเชิงพาณิชย์แม้จะมีมูลค่าไม่เกิน 20,000 บาท ของดังกล่าวเป็นของต้องเสียภาษีอากร ซึ่งผู้โดยสารสามารถมาสำแดงของเพื่อเสียภาษีอากร ที่ช่องตรวจมีของต้องสำแดง (ช่องแดง) และหากของนั้นเป็นของต้องกำกัด ของนั้นต้องได้รับอนุญาตให้นำเข้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน โดยอัตราภาษีอากรนำเข้าจะแตกต่างกันตามชนิดและประเภทสินค้า เช่น กระเป๋า 20% นาฬิกา 5% เครื่องสำอาง 30% เข็มขัด 30% เป็นต้น และรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% โดยมีวิธีการคำนวณคือ
ราคาสินค้า x อัตราภาษีขาเข้า = อากรขาเข้า
(ราคาสินค้า + อากรขาเข้า) x อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% = ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ค่าภาษีทั้งหมดที่ต้องชำระ= อากรขาเข้า + ภาษีมูลค่าเพิ่ม
โดยกรมศุลกากรเน้นอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารโดยใช้ระบบบริหารความเสี่ยง (Risk Management) มาใช้ในการตรวจสอบกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสาร อย่างไรก็ตาม หากผู้โดยสารท่านใดคิดว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการจัดเก็บภาษีของเจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือพบเห็นพฤติการณ์เกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ศุลกากร สามารถร้องเรียนได้ตามช่องทางต่าง ๆ ที่ท่านสะดวก ได้แก่ โทรศัพท์สายด่วนรับเรื่องร้องเรียน 1332 ร้องเรียนผ่านทาง Application LINE ID: @customshearingร้องเรียนด้วยตนเองผ่านศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน ตามโครงการ “ระฆังศุลกากร” ของแต่ละส่วนราชการที่ท่านใช้บริการ รวมถึงส่งไปรษณีย์มาที่กรมศุลกากร หรือส่ง E-mail มาได้ที่ ctc@customs.go.th นอกจากนี้ ท่านยังสามารถมาร้องเรียนด้วยตนเองที่กลุ่มคุ้มครองและส่งเสริมจริยธรรม ณ กรมศุลกากร หรือร้องเรียนผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี GCC 1111 นอกจากนี้ท่านยังสามารถร้องเรียนไปหน่วยราชการอื่น เช่น ป.ป.ช. /สตง. หรือร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสารที่นำติดตัวเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับตนทางท่าอากาศยาน ได้ตามประกาศกรมศุลกากร ที่ 60/2561 หรือหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมโปรดติดต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ จุดปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ศุลกากรสนามบินนั้นๆ