ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต เผย การดัดนิสัยลูกติดมือถือด้วยการทาอายแชโดว์สีดำบริเวณขอบตา ห้ามลอกเลียนแบบเป็นการลงโทษที่รุนแรงทางจิตใจ
จากกรณี แม่ใช้วิธีสุดแสบหลอกลูกน้อยที่ติดโทรศัพท์มือถือ ด้วยการนำอายแชร์โดว์สีดำมาทาที่เปลืองตาลูกน้อยขณะหลับ โดยแกล้งอำว่าเพราะเล่นโทรศัพท์มือถือมาก ของตาจึงเป็นเช่นนี้ ทำให้ลูกเข็ดและไม่ยอมจับโทรศัพท์เลย
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (14 ก.ค.) เว็บไซต์ จส.100 ได้นำคำพูดของ " พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์" ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ได้ออกมากล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า
"วิธีการดังกล่าวไม่ควรทำ และไม่ควรลอกเลียนแบบเป็นอย่างยิ่ง เพราะเปรียบได้กับการถูกลงโทษอย่างรุนแรงทางจิตใจ หากทำไปแล้วควรอธิบายเหตุผลให้เด็กฟัง เพราะจากในภาพหากเด็กร้องไห้จากกรณีดังกล่าวก็ถือว่าอยู่ในวัยที่พอจะรับฟังเหตุและผลได้ ควรอธิบายไปด้วยว่าตื่นมา เห็นแบบนี้แล้วรู้สึกอย่างไร ที่เป็นแบบนี้เพราะว่าอะไร พูดคุยในเชิงเปรียบเทียบให้เด็กเข้าใจ ขณะเดียวกันหากคิดว่าสภาพจิตใจเด็กไม่ดีขึ้นเพราะหวาดกลัวกับเหตุการณ์ พ่อแม่ก็สามารถพูดขอโทษลูกได้ เป็นการปรับความเข้าใจกัน
ในยุคปัจจุบันคงห้ามไม่ให้ลูกเล่นมือถือไม่ได้ ต้องสอนให้รู้เท่าทัน ทำความเข้าใจก่อนว่ามือถือนั้นมีทั้งข้อดีแล้วข้อเสีย พ่อแม่ควรเป็นคนยื่นมือถือให้ และกำหนดเงื่อนไขหรือกติกาทุกครั้ง เล่นได้กี่นาที ที่ไหนให้เล่นหรือไม่ให้เล่น และพ่อแม่ก็ต้องทำให้เด็กดูเป็นตัวอย่างด้วย ไม่ใช่ห้ามลูกแต่ทำเอง ต้องเป็นกติกาที่ทำร่วมกัน หรือเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันได้ยิ่งดี อาทิ พ่อแม่เล่นเกมเดียวกับลูก แข่งขันกันภายในครอบครัว ทั้งนี้ข้อแนะนำหากบอกให้ลูกวางมือถือก็ควรมีอะไรอย่างอื่นให้ลูกทำต่อ เป็นการสร้างจูงใจ เช่น เดี๋ยวพาออกไปเที่ยว พาไปกินไอศกรีม เป็นต้น สำหรับการลงโทษนั้นขอให้ทำเป็นลำดับสุดท้าย ก่อนหน้านั้นควรพยายามพูดทำความเข้าใจด้วยเหตุด้วยผล พยายามให้รางวัลเชิงบวก เพราะมักจะทำแล้วได้ผลเสมอทุกเพศทุกวัย"