เพจ "กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง" เผยพบสัตว์ทะเลหายาก 3 ชนิด ได้แก่ โลมาอิรวดี , โลมาหัวบาตรหลังเรียบ , โลมาหลังโหนก โดยรวมมีร่างกายแข็งแรงโตเต็มวัย 10 ตัว วัยรุ่น 8 ตัว และลูกโลมา 4 ตัว ทั้งยังพบว่ามีลูกโลมาเกิดใหม่อีกด้วย
เมื่อวันที่ 13 ก.ค. เพจ "กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง" โดยทางศูนย์วิจัยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อ่าวไทยตอนกลาง สำรวจและตรวจสุขภาพสัตว์ทะเลหายาก พื้นที่อ่าวดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบสัตว์ทะเลหายาก 3 ชนิด ได้แก่ โลมาอิรวดี พบอยู่เป็นฝูงประมาณ 5-10 ตัว จำนวน 2 ฝูง ใกล้เกาะเชือกและเกาะนกเภา โดยว่ายรวมกันเป็นฝูงใหญ่ ชนิดต่อมาคือ โลมาหัวบาตรหลังเรียบ พบรวมกันเป็นฝูงเล็กๆ ประมาณ 3-5 ตัว กลางทะเลห่างจากฝั่งประมาณ 3 กม. และชนิดสุดท้ายคือ โลมาหลังโหนก ประมาณ 22 ตัว (จากการระบุอัตลักษณ์โดยใช้ครีบหลัง) ในจำนวนนี้เป็นคู่ แม่-ลูก 4 คู่ และอยู่รวมกันเป็นฝูงประมาณ 5 ตัว พบบริเวณท่าเรือเอนกประสงค์ดอนสัก อ่าวนางกำ อ่าวเตล็ด เกาะหลัก
สำหรับ ข้อมูลการตรวจสุขภาพพบว่า โลมาหลังโหนก โดยรวมมีร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ พบโลมาโตเต็มวัย 10 ตัว วัยรุ่น 8 ตัว และลูกโลมา 4 ตัว ทั้งยังพบว่ามีลูกโลมาเกิดใหม่ เนื่องจากมีรอยพับย่นข้างลำตัว บ่งบอกว่ามีอายุต่ำกว่า 1 เดือนอีกด้วย จากการเฝ้าสังเกตสุขภาพ โลมาหลังโหนก จากระยะไกลและภาพถ่าย ไม่พบบาดแผลตามลำตัว พบเพียงรอยที่เกิดจากพฤติกรรมภายในฝูงตามปกติ อัตราการหายใจอยู่ที่ 7-10 ครั้งต่อ 5 นาที เสียง และคุณภาพการหายใจปกติ พฤติกรรมส่วนใหญ่เป็นการว่ายน้ำกันในฝูง เลี้ยงลูก และไล่จับปลาเป็นอาหาร ส่งที่ต้องระวังคือบริเวณที่พบโลมา มีขยะจำพวกขวดน้ำพลาสติก และถุงพลาสติกลอยอยู่ รวมทั้งมีเรือท่องเที่ยวชมโลมาจำนวนมาก ซึ่งปัญหานี้อาจมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของโลมาได้
สำหรับ โลมาอิรวดี หรือ โลมาหัวบาตรมีครีบหลัง เป็นโลมาชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์โลมามหาสมุทร รูปร่างหน้าตาคล้ายโลมาทั่วไป แต่มีลักษณะเด่นคือ หัวที่มนกลมคล้ายบาตรพระ มีการกระจายอย่างกว้างขวางในมหาสมุทรแปซิฟิก, มหาสมุทรอินเดีย, อ่าวไทย มักพบเข้ามาอยู่ในแหล่งน้ำกร่อยและทะเลสาบหรือน้ำจืด ถูกค้นพบครั้งแรกที่แม่น้ำอิรวดีในประเทศพม่า จึงเป็นที่มาของชื่อ ปัจจุบันในน้ำจืดและ โลมาหัวบาตรหลังเรียบ หรือ โลมาหัวบาตรไร้ครีบหลัง มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับโลมาอิรวดี คือ มีส่วนหัวกลมหลิมเหมือนบาตรพระไม่มีจะงอยปาก แต่ส่วนหลังเรียบไม่มีครีบหลัง ครีบข้างค่อนข้างใหญ่ปลายแหลม และลักษณะฟันในปากจะเป็นตุ่ม ไม่แหลมคม อันเป็นลักษณะเฉพาะของโลมาในวงศ์พอร์พอย์ ซึ่งทั่วโลกพบอยู่ 6 ชนิด ในประเทศไทยพบเพียงชนิดนี้ชนิดเดียว โดยมีชื่อเล่นจากชาวจีนว่า "หมูแม่น้ำ" หรือ"แพนด้าแม่น้ำ" เป็นสัตว์ที่อยู่ในฐานะหวั่นวิตกว่าจะสูญพันธุ์ เนื่องจากมลภาวะสภาพแวดล้อม
ส่วน โลมาหลังโหนก หรือ โลมาขาวเทา มีลักษณะทั่วไป คือ มีจะงอยปากยาวโค้งเล็กน้อยที่เด่นชัดคือส่วนของฐานครีบหลังจะเป็นสันนูนสูงรองรับครีบหลังสีลำตัวจะมีการผันแปรต่างกันมากและมีส่วนหลังที่เป็นสันนูนเหมือนโหนก กระจายพันธุ์ตามแถบชายฝั่งหรือแหล่งน้ำตื้นที่มีความลึกไม่เกิน 20 เมตร บริเวณอินโดแปซิฟิก พบมากที่สุด คือ อ่าวรีพัลส์ หรือเกาะลันเตา ที่ฮ่องกง ที่มีจำนวนประชากรในฝูงนับร้อย โดยมากชายฝั่งทะเลที่โลมาหลังโหนกอาศัยอยู่นั้นมักจะมีป่าชายเลนอยู่ด้วยเสมอ ๆ แต่จะต้องอยู่ในบริเวณน้ำตื้นเท่านั้น