xs
xsm
sm
md
lg

ตะลุย 4 เส้นทางการท่องเที่ยวเชิงอาหาร “สุโขทัย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

หากพูดถึง การท่องเที่ยวเชิงอาหาร หรือ Gastronomy Tourism ต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้ได้รับความนิยมและเป็นที่สนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะทำให้นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้ ได้สัมผัสประสบการณ์ที่แปลกใหม่ ผ่านการสัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในชุมชน โดยมีอาหารเป็นปัจจัยหลักในการสร้างประสบการณ์ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ เช่น การได้ลิ้มรสอาหาร การได้เรียนรู้และทดลองทำอาหารด้วยตัวเอง การทำของที่ระลึกในท้องถิ่น การเที่ยวชมสถานที่ที่เป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับใช้ปรุงอาหาร ถือเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของ “อาหาร” จะสังเกตได้ว่า เวลาไปเที่ยวที่ไหนก็ตาม นักท่องเที่ยวก็ต่างอยากลิ้มลองอาหารของพื้นที่นั้นๆ เรียกได้ว่าเรื่องอาหารการกินเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักของนักท่องเที่ยวทั้งหลายเลยก็ว่าได้ ดังนั้นจึงทำให้อาหารกับการท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ และอาหารนอกจากจะสามารถช่วยสร้างความสุขได้แล้ว ยังช่วยเชื่อมโยงวัฒนธรรม สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจได้อีกด้วย

เหตุนี้เองจึงทำให้ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการท่องเที่ยว ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนาศักยภาพในการเพิ่มและกระจายรายได้ โดยเฉพาะรายได้ที่มาจากอาหาร ผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักที่นักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายเงินและใช้เวลามากที่สุด ประมาณ 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับการเดินทาง

โดยล่าสุด อพท.ได้ร่วมกับ สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) ดำเนินโครงการการพัฒนาต่อยอดการท่องเที่ยวเชิงอาหารด้วยการใช้ตลาดเชิงกลยุทธ์และการมีส่วนร่วม เลือก “จังหวัดสุโขทัย” เป็นต้นแบบดำเนินโครงการ เบื้องต้นพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงอาหารร่วม 4 เส้นทาง และได้จัดกิจกรรมให้ผู้ประกอบการจากกรุงเทพฯ ร่วมฟังบรรยายในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงอาหารใน ณ จังหวัด สุโขทัย โดยมีนายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) เป็นประธานการเปิดงาน รวมทั้ง ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว อย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน), นายวิวัฒน์ ธาราวิวัฒน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดสุโขทัย และนายกิติชัย ศิรประภานุรัตน์ คณะกรรมการสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย หรือ TEATA ร่วมบรรยาย พร้อมทั้งนำสำรวจเส้นทาง (FAM Trip) เพื่อลงพื้นที่สำรวจเส้นทางสัมผัสกิจกรรมจริง เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์จริง และสามารถนำไปปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับให้บริการแก่นักท่องเที่ยวจริงต่อไปได้


นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า

โดยประเทศไทยสามารถพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงอาหารโดยใช้อัตลักษณ์ของอาหารท้องถิ่น วิธีการทำอาหารและวิถีชีวิต ตลอดจนนำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์จากอาหารและการบริการที่เกี่ยวข้องกับอาหาร การท่องเที่ยวเชิงอาหารสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมายังแหล่งท่องเที่ยวได้ เพราะสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้แก่นักท่องเที่ยว โดยอาหารเป็นปัจจัยหลักในการสร้างประสบการณ์ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยว การประชาสัมพันธ์เส้นทางการท่องเที่ยวเชิงอาหารเพื่อให้ได้ลิ้มรสอาหารที่มีเอกลักษณ์ทางด้านรสชาติ และยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพ สามารถต่อยอดการบริการและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ทำให้เกิดการแข่งขันในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้สู่ชุมชน

ก่อนหน้านี้ทาง อพท.ได้ลงไปสำรวจอาหารที่โดดเด่นของทุกพื้นที่พิเศษแล้ว ซึ่งเราเห็นความสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงอาหารในจังหวัดสุโขทัย และอยากร่วมสนับสนุนให้เกิดเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงอาหารในจังหวัดสุโขทัย อันจะนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพราะเราอยากจะพัฒนาขึ้นเป็นเส้นทางเนื่องจากมองว่าสามารถขายได้ เราจะพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยต้นน้ำเราจะลงไปสำรวจพัฒนากับทางชุมชน ร้านค้าที่มีอยู่

โดยเหตุผลที่เลือก จ.สุโขทัย เพราะได้เห็นศักยภาพและความพร้อมในหลายๆ ด้านของจังหวัดนี้ จังหวัดสุโขทัยก็มีความพร้อมมาก ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยวสวยงามและมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีอาหารอร่อยขึ้นชื่อที่ส่วนตัวผมไม่ว่าจะไปกินข้าวที่ไหนในจังหวัดสุโขทัย หรือได้เป็นกินอาหารที่ชุมชนที่ไหนก็อร่อยทุกที่เลย หรืออย่างอาหารบางชนิดมีการสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน มีอัตลักษณ์ มีความโดดเด่น มีการปรุงอาหารเฉพาะท้องถิ่น ไม่สามารถหารับประทานที่อื่นได้ เช่น ข้าวเปิ๊บ ขนมแดกงา ขนมสังขยาชาวนา ฯลฯ ซึ่งในเมื่อมีอยู่แล้วทำไมเราไม่เอาศักยภาพเรื่องนี้ออกมาเป็นจุดขาย ประกอบกับทางชุมชนพร้อมและมองเห็นโอกาส เขาก็เลยอยากลอง เขาอยากลุกขึ้นมาบริหารชุมชนของเขาเอง อยากลุกขึ้นมารักษาวัฒนธรรม และเมื่อทำแล้วมีรายได้มากขึ้น เขาก็อยากจะรักษาสืบทอดต่อไป ตรงนี้เราจึงพร้อมเข้ามาสนับสนุน เพราะเรามองว่าหากนำมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวเชื่อมโยงกันซึ่งน่าจะขายได้

อพท.จึงร่วมกับทาง TEATA เพื่อที่จะนำเสนอขายให้แก่นักท่องเที่ยว เพราะเรามองว่าการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดสุโขทัยไม่ได้ทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจดีขึ้น แต่การเพิ่มจำนวนวันพักให้นักท่องเที่ยวอยู่ในจังหวัดสุโขทัยมากขึ้นกว่าเดิมอย่างน้อย 1-2 วันด้วยกิจกรรมใหม่ๆ น่าจะเป็นอะไรที่ท้าทาย อีกทั้งการเพิ่มจำนวนวันพักเพียง 1 วันจะทำให้รายได้เข้าสู่ชุมชน เข้าสู่จังหวัดมากยิ่งขึ้น โดยจากที่เราสำรวจจะเห็นว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาจังหวัดสุโขทัยจะมีช่วงว่างหลังจากที่ไปเดินดูอุทยานประวัติศาสตร์แล้ว หรือได้เข้าไปสัมผัสกับวิถีชุมชนแล้ว ถ้าเราเอาเรื่องอาหารที่เป็นวัฒนธรรมของคนไทยในพื้นถิ่นที่สืบเนื่องกันมานานอยู่แล้วของสุโขทัย มาสร้างเป็นกิจกรรม เป็นเส้นทางให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับชุมชน ส่วนนี้รายได้ก็จะตรงเข้าไปที่ชุมชนเลย น่าจะเป็นเรื่องที่ดี

ส่วนในเรื่องการพัฒนา อพท.ได้ใช้องค์ความรู้ด้านการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อนำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาการท่องเที่ยว และสร้างการเชื่อมต่อกับผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทนำเที่ยว (Tour Agency) ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ตลาด และสามารถนำไปขายในตลาดท่องเที่ยวได้จริง นอกจากนี้ อพท. ยังได้นำเกณฑ์มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ “อพท.น้อย ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้องค์กรที่มีบทบาทในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในระดับท้องถิ่น สามารถบริหารจัดการการท่องเที่ยวได้อย่างเป็นระบบ ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงทดสอบเส้นทาง หากประสบความสำเร็จภายภาคหน้าเราจะมอบให้แก่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท.ต่อไป”

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริการการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.
เปิด 4 เส้นทางน่าเที่ยว ณ สุโขทัย ที่มาเยือนแล้วไม่ได้ไปสัมผัส ถือว่าพลาดมาก!

“จังหวัดสุโขทัย” ที่ทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ร่วมกับสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) ดำเนินโครงการการพัฒนาต่อยอดการท่องเที่ยวเชิงอาหารด้วยการใช้ตลาดเชิงกลยุทธ์และการมีส่วนร่วม ประกอบไปด้วย

เส้นทางที่ 1 Evening Countryside Sunset Tour
เส้นทางที่ 1 : Evening Countryside Sunset Tour 

เป็นเส้นทางที่จะพานักท่องเที่ยวไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่ของการท่องเที่ยวเชิงอาหารด้วยการขี่จักรยานชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมืองสุโขทัย โดยคุณจะได้แวะชมวิธีการต้มเหล้า ภูมิปัญญาโบราณที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งที่สุโขทัยปัจจุบันได้มีการนำมาพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้ได้มาตรฐานมากขึ้น นำไปสู่การทำสุรากลั่นชุมชนและสร้างรายได้ให้ครัวเรือน 

นอกจากนี้แล้ว นักท่องเที่ยวยังจะได้ชมการย่างปลาที่เป็นสินค้าที่ส่งออกไปขายทั่วประเทศไทยและขายในต่างประเทศด้วย โดยปลาที่คนสุโขทัยนิยมนำมาทำปลาย่าง ได้แก่ ปลาตัวเล็กอย่างปลาสร้อย ปลาซิว ชะโอน และปลามีเกล็ดใหญ่อย่างปลาช่อน ปลาดุก ปลาสวาย โดยขั้นตอนและวิธีการย่างอาจะจะแตกต่างกันเล็กน้อย การย่างปลาถือเป็นวิธีการถนอมอาหารของคนโบราณ หากทำอย่างถูกวิธีแล้วจะสามารถเก็บได้นานเป็นแรมปี แถมเคล็ดลับนี้ยังเป็นวิธีการป้องกันเชื้อราและมอดแมลงมากินตัวปลาด้วย

ชมการย่างปลาที่เป็นสินค้าที่ส่งออกไปขายทั่วประเทศไทยและขายในต่างประเทศ
อีกทั้งยังได้ผ่อนคลายไปกับธรรมชาติและท้องทุ่งนาอันเงียบสงบ ชมพระอาทิตย์ตกยามเย็น พร้อมทั้งยังได้รับประทานอาหารยอดนิยมของชาวเมืองสุโขทัยในย่านเมืองใหม่ ไม่ว่าจะเป็น

- แวะไปชิมยาดองที่ร้าน Dream Café

ร้าน Dream Café มีอายุเกือบ 50 ปีแล้ว ภายในร้านเต็มไปด้วยผลงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติหลายท่านที่หาชมได้ยาก และของสะสมโบราณอีกมากมาย เรียกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ในใจกลางเมืองเลยก็ว่าได้

ร้านนี้มีบริการทั้งอาหารไทยและอาหารฝรั่ง โดยที่นี่จะใช้ข้าวกล้องไรซ์เบอร์รีหุงผสมกับข้าวกล้องหอมนิลจักรพรรดิที่ปลูกเองที่เชิงเขาหลวง จ.สุโขทัย ซึ่งได้รับการรับรองว่าออร์แกนิก 100% ส่วนผักที่ใช้ปรุงเป็นผักปลอดสารพิษที่ซื้อจากชาวบ้านรอบอุทยานประวัติศาสตร์ อาหารที่นี่ปรุงด้วยเตาถ่านแทบทุกจาน และจะไม่ใส่ผงชูรสเลย

โดยทีเด็ดขึ้นชื่อของที่นี่นอกจากอาหารแล้ว นั่นก็คือ “ยาดอง” ที่ใน Guidebook ทั่วโลกต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ถ้ามาสุโขทัยแล้วไม่ได้ดื่มยาดองร้าน Dream Café ถือว่ามาไม่ถึงสุโขทัย” ซึ่งร้านนี้มียาดองทั้งหมด 10 สูตรให้เลือกสรร ได้แก่

- Formula 1 Ache Relief มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ขาดสารอาหาร บำรุงเลือดและป้องกันโรคเหน็บชา บรรเทาอาการหลัง ปวดเอว
- Formula 2 Prolong Life มีสรรพคุณรักษาโรคกระษัย ไตบกพร่อง ช่วยยืดอายุ
- Formula 3 Strength มีสรรพคุณบรรเทาความเมื่อยล้า เหนื่อยง่าย
- Formula 4 Golden Bell เหมาะกับผู้สูงวัย
- Formula 5 Rejuvenation มีสรรพคุณบำรุงองค์รวมของร่างกาย รวมถึงพลังความอ่อนเยาว์ บำรุงสายตา ระบบประสาท
- Formula 6 Buffalo Race มีสรรพคุณมุ่งเน้นเพิ่มความแข็งแรง มีพลังดุจคชสาร
- Formula 7 Flame of The Dragon ถือเป็นไวอากร้าไทยโบราณจากสมุนไพรศักดิ์สิทธิ์
- Formula 8 Tigers Roar มีสรรพคุณช่วยให้นอนหลับ เจริญอาหาร
- Formula 9 Beauty Queen Secret สูตร 9 สาวเสมอ ที่เหมาะกับคุณผู้หญิง มีสรรพคุณช่วยบำรุงเลือด ดีต่อผิวพรรณ
- Formula 10 Old Playboy ที่เหมาะสำหรับผู้ชายวัยกลางคนที่ต้องการเติมเต็มความต้องการทางเพศ และอยากอ่อนเยาว์

โดยสนนราคาที่ช็อตละ 75 บาท…
แวะไปชิมยาดองที่ร้าน Dream Café
- เดินชิมอาหารชิลๆ ที่ตลาดโต้รุ่ง

ที่นี่มีร้านอาหารรถเข็นหลากหลายร้าน เช่น ร้านข้าวเหนียวหมูเที่ยงคืน ที่ขายไม่ต่ำกว่า 20 ปี โดยชื่อร้านมาจากที่สมัยก่อนนั้นเจ้าของร้านบอกว่า “ถ้าไม่เที่ยงคืนไม่ขาย” ส่วนปัจจุบันเปิดตั้งแต่เวลา 17.00 น.เป็นต้นไป โดยมีเมนูหมูให้เลือกมากมาย เช่น หมูฝอย หมูโค้ว หมูกรอบ หมูสวรรค์ คอหมูหวาน หมูแผ่น ลาบ ฯลฯ ราคาเริ่มต้นห่อละ 20 บาทเท่านั้นเอง

ร้านขนมหวานร้านเจ๊พร ที่ขายนานกว่า 40 ปี มีเมนูรวมมิตร ซ่าหริ่ม บัวลอยไข่หวาน บัวลอยแก้ว ฯลฯ

ร้านข้าวเกรียบปากหม้อป้าใบ้ ที่ขายมานานกว่า 40 ปี ความพิเศษของข้าวเหนียวปากหม้อร้านป้าใบ้คือ น้ำกะทิที่ราดมาอย่างชุ่มฉ่ำ รสชาติเค็มๆ มันๆ ตัดความหวานของไส้ได้อย่างลงตัว

ร้านข้าวเหนียวหมูเที่ยงคืน
- รับประทานอาหารท้องถิ่นอร่อยๆ ที่ครัวลุงจ้อย

“ลุงจ้อย” ขายอาหารท้องถิ่นสุโขทัย ปัจจุบันเปิดให้บริการมานานกว่า 26 ปีแล้ว

โดยเมนูเด็ดของร้านลุงจ้อยจะเน้นที่อาหารท้องถิ่นแบบบ้านๆ ที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล อาหารแนะนำของที่นี่ ได้แก่ ดอกโสนผัดไข่ น้ำพริกปลาย่างกับผักต้ม หลนเต้าเจี้ยว ปลารากกล้วยทอดกรอบ เป็นต้น
รับประทานอาหารท้องถิ่นอร่อยๆ ที่ครัวลุงจ้อย
- ต่อด้วยการไปชิมหมูโบราณที่ร้านเรือนไทย 

เมนูหมูโบราณ เป็นอาหารสูตรดั้งเดิมของยายทวดคุณ อัชรียา โฆษิตานนท์ จากนั้นก็ได้สืบทอดต่อกันมา

โดยวิธีการทำหมูโบราณของทางร้าน จะนำหมูมาหั่นเป็นชิ้นๆ ไปหมัก แล้วนำมาผัดกับพริกกระเทียม จากนั้นใส่ไข่ ใบโหระพาลงไปปรุงตามสูตร รสชาติหอมอร่อยจนต้องบอกต่อเชียวล่ะ

- ปิดท้ายด้วยชิมชุดขนมไทย สวยงามประณีต ควรค่าแก่การลิ้มลอง ที่ร้านกับข้าวกับปลา 

“ข้าว” เป็นอาหารหลัก โดยกินกับกับข้าวที่ส่วนใหญ่ทำมาจาก “ปลา” เลยเกิดเป็นคำว่า “กับข้าวกับปลา” ประกอบกับคุณยายหรือแม่ของคุณแนนเจ้าของร้านรักในการทำอาหารไทยพื้นถิ่น และขนมไทยโบราณเป็นอย่างมาก

ที่อยากนำเสนอเลยก็คือ ชุดขนมไทย ที่ประกอบไปด้วย ขนมผกากรองไส้สับปะรด ขนมจ่ามงกุฎ ขนมเสน่ห์จันทร์ และขนมทองเอก ขนมแต่ละชนิดสวยงามและประณีตมาก แถมรสชาติกลมกล่อม หวานแบบพอดี ลงตัวนัก

หากมาร้านนี้แล้วนอกจากคุณจะได้ชิมรสมือของคุณยายที่ทำให้คุณต้องหลงรักอาหารไทยและขนมไทยโบราณแล้วยังไม่พอ คุณยังจะได้สัมผัสกับความอบอุ่นที่เปรียบเสมือนบ้าน มาแล้วต้องอยากมาอีกอย่างแน่นอน
เมนูหมูโบราณ Signature ของร้านเรือนไทย และชุดขนมไทย ร้านกับข้าวกับปลา
เส้นทางที่ 2 : Ancient Sukhothai Dessert Hopping 

เส้นทางที่จะพานักท่องเที่ยวไปพบกับของหวานสุดพิเศษ ด้วยการลองทำและลองชิมขนมพื้นบ้านโบราณที่หารับประทานได้ยากในปัจจุบัน พร้อมทั้งผสมผสานกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวสุโขทัย ผ่านประวัติความเป็นมาของขนมแต่ละอย่าง ยกตัวอย่างเช่น

ขนมสี่ถ้วย

ขนมโบราณหารับประทานได้ยาก ขนมชนิดนี้เดิมทีผู้คนในแผ่นดินพระร่วงเดิมก่อนที่จะมีการนับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งมีความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีการแต่งงาน คือ การเลี้ยงผีบรรพบุรุษของ 2 ตระกูล ด้วยการเซ่นไหว้ 4 เตียบ เพื่อให้เป็นทองแผ่นเดียวกันโดยสมบูรณ์ เรียกประเพณีนี้ว่า “กินสี่ถ้วย”


ปัจจุบันความเชื่อนี้ยังคงฝังลึกลงในสายเลือดของคนเมืองพระร่วงอย่างแนบแน่น โดยตามความเชื่อที่ว่าเลี้ยงผีต้องใช้ 4 ถ้วย ดังนั้น การจัดสำรับอาหารจึงทำเป็น 5 ถ้วย เพื่อให้คนกิน 

ส่วนวิธีการกินขนมมงคล 4 อย่างนั้นเป็นการกินรวมมิตรของคนโบราณ มีขั้นตอนการกินง่ายๆ คือ หยิบข้าวเหนียวดำลงใส่ถ้วย ตามด้วยลอดช่อง เมล็ดแมงลัก ราดด้วยน้ำกะทิผสมน้ำตาลโตนด โรยด้วยข้าวตอก หอมหวานอร่อยละมุนลิ้นยิ่งนัก

ขนมสี่ถ้วย
สังขยาชาวนา

ขนมที่ชาวสุโขทัยมักรับประทานในช่วงเก็บเกี่ยวข้าว โดยจะนำมาเลี้ยงให้แก่คนที่มาช่วยเก็บเกี่ยวข้าว ในสมัยนั้นมีชื่อเรียกอย่างตลกขบขันว่า “สังขยาขี้ควาย” เพราะมีลักษณะเป็นน้ำข้นๆ เหมือนสังขยา รับประทานกับข้าวเหนียวคลุกมะพร้าวขูด ต่อมาเลยตั้งชื่อให้ไพเราะน่าฟังมากขึ้นว่า “สังขยาชาวนา”

โดยวัตถุดิบนั้นประกอบไปด้วย ข้าวเหนียว มะพร้าว น้ำตาลทราย หอมแดง ไข่ไก่ เกลือ และน้ำมันพืช ส่วนวิธีการปรุงสังขยานั้นจะคล้ายกับการทำหน้ากระฉีก โดยการนำหอมเจียวซอยไปเจียวในน้ำมันจนเหลืองกรอบ จากนั้นตักบางส่วนเก็บไว้เพื่อใช้โรยหน้าขนม ส่วนที่เหลือในกระทะนั้นนำมาปรุงต่อโดยใส่น้ำตาลทรายเคี่ยวให้น้ำตาลทรายละลาย จากนั้นใส่หัวกะทิเคี่ยวให้เดือด ตามด้วยใส่ไข่ไก่ ใส่เนื้อมะพร้าวเคี่ยวให้เข้ากันจนเหนียวข้นและใส่หอมเจียว

มีวิธีรับประทานง่ายๆ เพียงปั้นข้าวเหนียวขนาดพอดีคำ นำไปจิ้มกับสังขยารสหวานเข้มข้น เพียงเท่านี้ก็อร่อยจนหยุดไม่อยู่แล้ว

สังขยาชาวนา
ขนมแดกงา

ขนมพื้นบ้านตั้งแต่สมัยโบราณ โดยมีประวัติความเป็นมาว่า ในอดีตกาลตามชาดกในพระไตรปิฏก เรื่อง จิตตคหบดี ขนมแดกงาเป็นขนมที่คนชนขายแรงงานมักจะนิยมกินกันเป็นอาหารว่าง เพราะขนมแดกงาทำมาจากแป้งข้าวเหนียว ทำให้คนที่รับประทานรู้สึกว่าอิ่มท้องได้นานกว่าข้าว

เหตุที่เรียกว่าแดกงานั้น เนื่องจากต้องนำข้าวเหนียวนึ่งสุกไปตำในครกใหญ่ แล้วใช้สากตำแรงๆ หรือแดกให้เหนียวและจับตัวเป็นก้อน จากนั้นนำงาคั่วใส่ลงไป แล้วตำให้เข้ากันกับข้าวเหนียว นำมาปั้นอาจจะโรยเกลือ และมะพร้าวเล็กน้อย เพื่อให้ได้รสชาติหอม เค็ม มัน

โดยขนมแดกงามี 2 แบบ คือ นำมาปั้นเป็นทรงแบน และปั้นเป็นทรงกลม ใส่ไส้ที่มีส่วนผสมของน้ำตาลมะพร้าวและถั่วลิสง อิ่มอร่อยหยิบกินได้เพลินๆ เชียวล่ะ
ขนมแดกงา
เส้นทางที่ 3 : Sawankhalok Art & Food Tour 

เส้นทางนี้คุณจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนอำเภอสวรรคโลก เดินเล่นชิลๆ ชมบ้านเก่าตึกโบราณ พร้อมทั้งไปถ่ายรูปชิกๆ ชมผลงานสตรีทอาร์ตที่ Sawankhalok Art Station 

เส้นทางที่ 4 : Historical Sukhothai Food Tour by Local Truck 

เป็นเส้นทางที่จะนำพาทุกท่านนั่งรถคอกหมู ไปชิมอาหารขึ้นชื่อของจังหวัดสุโขทัย ซึ่งหากพูดถึงรถคอกหมูแล้วก็คือ รถโดยสารประจำทางที่มีลักษณะเป็นโครงตัวถังเป็นไม้ทรงสี่เหลี่ยมคล้ายกับคอกหมู รถคอกหมูถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของชาวสุโขทัยที่ใครมาสุโขทัยถ้าไม่ได้นั่งถือว่าพลาดมาก 


“คอกหมู่” เพราะมีการตีไม้กั้นเป็นคอกและมีผู้โดยสารเป็นหมู่คณะ แต่ด้วยสำเนียงการออกเสียงของชาวสุโขทัยเป็นภาษาไทยกลางสำเนียงสุโขทัย จึงกลายเป็นเรียกว่า “คอกหมู” มาถึงปัจจุบันนั่นเอง
“รถคอกหมู” เอกลักษณ์ของชาวสุโขทัย



กำลังโหลดความคิดเห็น