xs
xsm
sm
md
lg

“น้องจิ้น ปัญญาคาเฟ่” พร้อมเสิร์ฟเครื่องดื่มให้นักชิมได้ลิ้มรสกาแฟ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ด้วยท่าทางที่ขยันทำเครื่องดื่มอย่างตั้งใจที่อยู่ตรงหน้า ในหน้าที่การทำเมนูตามที่ได้รับออเดอร์ นั่นทำให้ น้องจิ้น-ถกลรัตน์ โปร่งสุวรรณ หนุ่มดาวน์ซินโดรม บาริสต้าตาหวานอารมณ์ดี พร้อมแล้วที่จะให้บริการเครื่องดื่มให้ชื่นใจที่ ‘ปัญญาคาเฟ่’ ที่ตั้งบริเวณ มูลนิธิช่วยเหลือคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทย ปากซอยเพชรบุรี 12 ในทุกวันจันทร์-พฤหัสบดี “บาริสต้าจิ้น” พร้อมยินดีให้บริการ

ที่มาที่ไปของการเริ่มฝึกนักเรียนเด็กพิเศษเริ่มมาจากอะไรครับ

จินตนา นีซัง ครูผู้สอน : เริ่มจากนักเรียนจบ ป.6 จากนั้นก็จะเริ่มดูแลว่าแต่ละคนจะไปทางไหนได้บ้าง แล้วเราก็ต้องมาจับให้ถูกทางว่าเขาสนใจด้านไหน เช่น การทอผ้า เล่นดนตรีไทย อีกครั้งดูพฤติกรรมเด็กแต่ละคนมาตั้งแต่แรกว่าให้ทำอะไร และสนใจอะไร อย่างบางคนให้ไปชงกาแฟเขาก็ไม่เอาเลย เขาบอกว่าอยากจูบน้องเลี้ยงน้อง เราก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เขา ถ้าไปฝืนเขาก็ไม่ยอมทำ เพราะเด็กลักษณะนี้จะมีธรรมชาติตรงที่ว่า ถ้าจะทำอะไรในแต่ละครั้ง เขาก็จะไม่สนใจรอบข้างเลย เราก็จะบังคับเขาไม่ค่อยได้ ก็ต้องมีการเน้นให้ถูกทาง ถ้าเขาชอบอะไรแล้วจะสนใจในตรงนั้นเลย อย่างบางคนชอบทำอาหารก็จะมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งตรงหน้า ให้เขาไปทำอะไรอย่างอื่น เขาก็จะไม่เอาเลย เขาก็จะบอกว่า เขาไม่ไป เขาชอบอยู่ในครัว เขามีความสุข เขาจะพูดลักษณะอย่างนี้เลยค่ะ

ถือว่ายากกว่าเด็กทั่วไปอีกนะครับ

จินตนา : เราต้องย้ำทำย้ำคิด ต้องคอยย้ำสอน จนกลายเป็นว่าเราพูดมากไปเลย แต่ถามว่ายากไหม เราคิดว่าไม่ยากนะคะ เพราะว่าเขาอยากทำอะไรเราก็คอยส่งเสริมให้เขาทำตรงนั้น จนเขาประสบความสำเร็จนะคะ เขาสามารถบอกเราได้ อย่างน้องคนหนึ่งให้มาทำกาแฟก็ไม่ยอมทำ ชอบที่จะดูแลน้องๆ ในโรงเรียนมากกว่า เราก็ต้องปรับตามความสนใจของเขา

แล้วจุดประสงค์ที่แท้จริงของกิจกรรมลักษณะนี้ล่ะครับ

จินตนา : เราไม่อยากให้เขาเป็นภาระของครอบครัว ให้เขาสามารถหาเงินเลี้ยงทั้งตัวเขาและครอบครัวได้ ก็จะทำให้ผู้ปกครองไม่ดุว่าและรังเกียจเขา ก็หันกลับมาดูแลและใส่ใจเขา อย่างบางคนเขาไม่ได้อยู่กับพ่อแม่นะคะ อยู่กับคุณลุงคุณป้า แล้วก็เลี้ยงเขาไปวันๆ แต่พอน้องมีรายได้ เขาก็บอกว่าอย่างน้อยก็มีรายได้มาช่วยเหลือซึ่งกันและกันในครอบครัว ไม่อย่างนั้นก็จะมีความลำบาก เพราะด้วยภาระของพวกเขาเองก็มีความลำบากอยู่แล้ว

บางคนก็ต้องเช่าห้องอยู่ บางคนก็ต้องซ่อมรองเท้าหรือซ่อมเสื้อผ้า ถ้าเลี้ยงแบบตามมีตามเกิดก็คงทำได้เพียงให้เล่นไปวันๆ แต่ถ้าคนไหนมีแววที่จะจ้างงานได้ เราก็นำเด็กเข้ามา ให้เขาทำในสิ่งที่เขาสนใจตามที่บอก เราก็จะมีการฝึกอาชีพให้แก่แต่ละคน แล้วผลงานของพวกเขาก็จะมาวางขายในที่ต่างๆ แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องดูแววของหลายๆ คนด้วย ถ้านำมาแล้วไม่สามารถฝึกอาชีพได้ มันก็จะเป็นภาระให้แก่เราและสังคมอีก ซึ่งการฝึกอาชีพในแต่ละคนนั้นหลายๆ บริษัทก็ต้องมีการตรวจสอบการทำงานด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่าการฝึกเด็กแต่ละคนก็ใช้เวลาพอสมควร อยากให้คุณครูขยายความหน่อยครับ

จินตนา : อย่างบางคนชอบสนใจการทำสวน เราก็ต้องมีการฝึกให้เขาจับไม้กวาดว่าจะต้องกวาดไปทางนี้ คือเขาต้องฝึกจนกว่าจะจำได้ ให้ทำทุกวัน สอนทุกวัน ทำทุกวัน จนน้องเริ่มโอเค ต้องฝึกน้องโดยใช้เวลาเป็นวันเป็นเดือนแล้วก็เป็นปี จนเขาทำได้ แต่เราก็ต้องมีจิตวิทยาพอสมควร อย่างถ้าเขาทำผิด เราก็จะบอกเขาว่า ต่อไปนี้จะไม่ให้มาเล่นแล้วนะ อย่างน้องจิ้นจะรักการทำงานมาก เราก็บอกเขาว่าถ้าไม่ตั้งใจทำงาน ครูจะให้ไปอยู่บ้านนะ น้องเขาก็จะบอกว่าจะไม่ทำอีกแล้ว จิ้นชอบทำกาแฟ (หัวเราะ) แต่อย่างบางคนต้องใช้คำว่าเคี่ยวเข็ญจนเราเหนื่อยเลยก็มี

ในระหว่างทางนี้ก็มีปัญหา อยากให้คุณครูช่วยเล่าตรงนี้หน่อยครับ

จินตนา : เคยมีเคสน้องคนหนึ่ง น้องเขาเคยมาฝึกร้านกาแฟ ตอนแรกก็ทำงานปกติ ล้างถ้วยล้างชามอะไรดีหมด พอให้เขาไปส่งออเดอร์ตามที่ต่างๆ ในช่วงแรกไม่มีปัญหานะคะ แต่ช่วงหลังก็จะมีปัญหาตรงที่เขาจะเดินดูดเครื่องดื่มที่ได้รับตามออเดอร์ จนลูกค้าโทร.มาถามว่าทำไมกาแฟเหลืออยู่แค่นั้น พอน้องเขากลับมาที่ร้าน เราก็ถามเขาว่าดูดกาแฟหรือเปล่า น้องเขาก็บอกว่าหิว เราก็เลยสอนเขาว่าไม่ได้นะ ทำไม่ถูกต้อง ก็ต้องทำโทษให้เขาหยุดไป พอเขาถูกลงโทษให้ไปอยู่ที่บ้าน เขาก็จะไม่มีเพื่อน แล้วก็ไม่อยากอยู่บ้าน

บางครั้งเราก็เจอผู้ปกครองของน้องว่าจะเอายังไงดี ผู้ปกครองถึงขั้นมาขอโอกาสจากท่านผู้อำนวยการเลยก็มี เขาก็จะบอกว่าจะคอยปรับปรุงนะ สอนให้ ซึ่งพฤติกรรมในแต่ละคนมันก็เป็นไปตามธรรมชาตินะคะ เพราะอายุสมองเขาจะไม่ตรงกับสภาวะภายนอกที่เขาเป็น อย่างน้องจิ้นอายุประมาณ 28 ปีแล้ว แต่ภายในเขาก็เหมือนอายุเด็กอายุประมาณ 11-12 ปี เขาจะชอบฟังเพลง ก็จะรู้เรื่องบ้างไม่ดูบ้างซึ่งถือว่ายากมาก กว่าจะได้จนถึงทุกวันนี้คือต่างฝ่ายต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

อย่างเคสของน้องจิ้น เป็นยังไงบ้างครับ

จินตนา : ช่วงแรกเขาจะมีแม่เป็นผู้ปกครอง แล้วก็ต้องตามใจน้อง ทำให้น้องจิ้นเป็นคนดื้อ ทำอะไรซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น จนต่อมาคุณแม่เขาเสียชีวิต ทำให้น้องเขาต้องมาอยู่กับเราเต็มตัว เวลาที่เราบอกอะไรสอนอะไร เขาก็จะฟังเรามากขึ้น บางครั้งเราก็สอนเขาจนเป็นเหมือนแม่เลย ปัจจุบันนี้ถือว่าดีขึ้นมากจากแต่ก่อน เราคิดว่าอาจจะเป็นเพราะอายุมากขึ้นหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจเหมือนกันนะ (หัวเราะเบาๆ) รวมถึงน้องๆ คนอื่นด้วยที่จะมีธรรมชาติอย่างนี้ ซึ่งเราก็ต้องมีหลักในการดูแลเด็กลักษณะอย่างนี้พอสมควรด้วยเช่นกัน

จากการที่เป็นครูของเด็กพิเศษ เราต้องเข้าใจเขาก่อนเสมอ

จินตนา : ใช่ค่ะ อย่างที่บอกไปว่าเราต้องดูพฤติกรรมของน้องแต่ละคนว่าเขามีความสนใจอะไร เพราะเด็กพิเศษจะมีความดื้อ เขาจะมีการต่อต้านเราอยู่ตลอดเวลา ในบางครั้งถ้าเขาไม่ทำ เราก็ไม่ต้องไปสนใจเขาเลย พอเราไม่ให้ความสนใจแล้ว เขาก็จะมีความสงสัยว่าทำไมถึงไม่ถูกให้ความสนใจ เราก็มีหลักสอนเขาด้วยว่า ถ้าทำอีกก็จะไม่สนใจเขา พอเขามีความรู้สึกผิด เขาก็จะบอกกับเราว่าจะไม่ทำแล้วประมาณนี้ หรืออย่างบางทีเราก็ต้องสอนให้เขาเล่นบ้าง เพราะว่าบางคนในก่อนหน้านี้เขาก็จะไม่เล่นเลย หรืออย่าง พี่บอย (วีระยุทธ โล่ทองเพชร) นี่คือเขาจะมีอารมณ์ฉุนเฉียว ดุร้ายนะ เราก็คอยอธิบายเขาเหมือนกันว่าในบางครั้งมันเป็นการหยอกล้อเล่นกัน คอยสอนเขาว่าจะไปจริงจังตลอดเวลาไม่ได้นะ เขาก็จะมีการจำว่าครูเล่น จนเดี๋ยวนี้เขาดีขึ้นเยอะ

เมื่อเทียบกับเด็กปกติ

จินตนา : จะมีความแตกต่างนะคะ อย่างเด็กปกติอย่างน้อยเขาพูดรู้เรื่อง แต่เด็กลักษณะนี้ จะมีอารมณ์มาก่อน ถ้าจะทำหรือไม่ทำก็เป็นอย่างนี้ จนเราจะต้องหาจุดให้ได้ว่าเราจะต้องบังคับเขาด้านไหน เพราะแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน การฝึกอาชีพก็ถือว่าเป็นการสร้างสมาธิให้กับบรรดาเด็กพิเศษ อย่างน้อยจิ้นกับการทำกาแฟ เขาจะมีสมาธิตรงหน้าในสิ่งที่ทำ มีความสุขในการทำงาน

แต่ในระยะแรกก็มีปัญหาเหมือนกัน

จินตนา : ใช่ค่ะ อย่างตอนแรก น้องจิ้นจะมีปัญหาในเรื่องบล็อกกิ้ง เลยทำให้ไม่สามารถชงกาแฟได้ หรืออย่างพี่บอยก็จะมีปัญหานี้เหมือนกัน เลยทำให้เขาได้ในเรื่องทำความสะอาด หรือตีฟองนม ล้างแก้ว กวาดถูพื้นได้ เทขยะได้ ส่วนน้องจิ้นก็สามารถทำได้ทุกอย่าง แต่ก็มีเรื่องทะเลาะกันเองอยู่เหมือนกันนะคะ เราก็ต้องคอยปรามพวกเขาอยู่เสมอ เราก็ต้องคอยบอกหน้าที่ของเขาให้ถูกเหมือนกัน เราต้องคอยตำแหน่งหน้าที่ให้ชัดเจน ไม่อย่างนั้นจะมีการเกี่ยงกัน หรือบางครั้งเขาก็จะมีเวลาของเขาบ้าง เช่น นั่งฟังเพลง หรือทำอะไรที่เขาสนใจในระยะเวลานั้น เราก็ต้องคอยบอกเขาว่า เดี๋ยวมีลูกค้าเข้าร้านนะ ก็จะต้องมีการกระตุ้นตลอดเวลา ส่วนน้องจิ้นก็จะเป็นในเรื่องของเมนูว่าลูกค้าเขาสั่งอะไร

ในภาพรวมของการฝึกอาชีพสำหรับเด็กพิเศษ คุณครูมองยังไงบ้างครับ

จินตนา : คือต้องดูพฤติกรรมของเขาว่าเขาชอบอะไร อย่างที่บอกไปนะคะ คือถ้าเขาไม่ทำก็จะมีการต่อต้าน

สุมาลี พูลสวัสดิ์ ผู้ประสานงานการจ้างงาน โรงเรียนปัญญาวุฒิกร : ถ้ามีความคุ้นเสียงเขาก็จะสามารถทำตามที่เราบอกได้ แต่ถ้าเป็นลักษณะเด็กออทิสติกจะไม่ชอบเสียงดัง เพราะถ้าเขาได้ยินเสียงอะไรเขาก็จะมีอาการตื่นตัวทุกที โชคดีที่เรารู้ว่าน้องจิ้นเขาชอบแบบนี้ เขาไม่ชอบอย่างอื่นเลยนอกจากการทำเครื่องดื่ม แล้วเราดูเขามาตั้งนานแล้วด้วยว่าเขาจะไปยังไงได้ ความสามารถที่จะฝึกอาชีพได้ไหม อย่างตอนแรกที่เราฝึกให้เขา ให้ครูกุ๊กไก่ได้ไหม เพราะเขาจะเปิดร้านกาแฟ แต่พอแม่น้องจิ้นเสียชีวิต เขาก็มาฝึกอาชีพที่นี่

จินตนา : เขาจะรักเราจริงๆ นะ เราจะเหมือนนางฟ้าจริงๆ ถ้าเขารักหรือถูกใจเรา อะไรนิดหน่อยที่เราโกรธ เขาก็จะไม่ยอม จะคอยอ้อนเรา ซึ่งเราก็ไม่อยากอยู่กับเด็กพิเศษนะ เพราะว่าบางครั้งเขาก็จะเอาอะไรมาป้ายที่เราอยู่ แต่พอหลังๆ อยู่ไปก็เริ่มชิน บางทีเขาก็ไอใส่เรา เราก็ต้องคอยสอนมารยาทเขา ก่อนหน้านี้เราก็จะติดไข้มาจากการโดนน้ำลายเขามาตลอด แน่นอนว่าภูมิต้านทานของเขาก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แล้วเด็กลักษณะนี้ก็จะเสียชีวิตเร็ว แบบบทจะไปก็ไปเลย แต่น้องจิ้นจะกินเก่งนะ จะชอบเข้าเซเว่นฯ ทุกวันเลย น้องจิ้นจะมีความห่วงใยนะ อย่างเวลาที่เราไม่สบาย เขาก็จะคอยบอกป้าของเขาเองนะว่าซื้อยาให้เราทาน

ความคาดหวังของคุณครูกับการฝึกอาชีพของเด็กพิเศษคิดว่าจะไปในทิศทางไหน

จินตนา : คือถ้าเราจับเขาให้ถูกทาง ก็จะไปในทางที่เขาสนใจ อย่างน้องจิ้น หรือคนอื่นๆ จะต้องดูแววของน้องว่าเขาชอบอะไร ทำอะไรได้ คือการจ้างงานและฝึกเขา ต้องดู ต้องคุย ทำอะไรกับเขาเรื่อยๆ เราถึงจะรู้ความต้องการของเขา ซึ่งถ้าผิวเผินเราก็จะไม่รู้อะไรเลยนะคะ แต่อย่างน้องจิ้นเราก็ภูมิใจว่ามาถึงขั้นนี้ได้

สุมาลี : เราก็อยากให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ อยากจะปรับนิสัยเขา และหลายๆ อย่างในตัวเขา คือเขาสามารถมีอาชีพ ทำให้พ่อแม่เขาภูมิใจมากที่ลูกเขาเป็นที่ยอมรับในสังคม

ภิญญดา บุษปวณิช ครูผู้สอนชงกาแฟ : จริงๆ คนที่ไม่เคยผ่านงานสอนเด็กพิเศษเลย อยากให้ใจเย็นและเปิดใจที่จะเรียนรู้จากเขา เพราะว่าถ้าเรียนรู้เขา เขาก็จะสามารถทำงานได้เลย คือถ้าจะฝึกงานเด็ก คุณจะต้องมีสเต็ปให้เขา ถ้ามีการแทรกระหว่างทาง เขาก็จะสมาธิหลุดเลย ซึ่งถ้าเราไปย้ายจุดเขา เขาก็จะโกรธเราทันทีเลย ตีโพยตีพายเลย อย่างตอนแรก น้องจิ้นชอบเอาหัวโขกตามที่ต่างๆ เราก็แก้เกมด้วยการเอามีดอีโต้มา แล้วบอกว่า เอาหัวโขกใส่มีดเลย น้องมันก็จะจำได้ว่าไม่ทำแล้ว แต่ก็ต้องคอยระวังอยู่นะ เผื่อเขาจะกลับมาทำอีก

น้องจิ้นมาทำงานตรงนี้ มีความรู้สึกยังไงบ้างครับ

น้องจิ้น : จิ้นมาทำงานแล้วมีความสุข มีเงินได้ไปซื้อของกินอร่อยๆ แล้วก็มีเงินเดือนมาช่วยที่บ้านและช่วยตัวเองครับผม มาทำงานตรงนี้ทำให้ที่บ้านมีความสุขครับ ไม่ต้องมาห่วงเราครับ
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : พลภัทร วรรณดี.


กำลังโหลดความคิดเห็น