xs
xsm
sm
md
lg

๑๗๕ ปีหนังสือพิมพ์ไทยฉบับแรก! ปิดตัวเองเพื่อไม่ให้มี น.ส.พ.ขอขมาที่แพ้คดี!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

หมอบรัดเล
ประวัติศาสตร์หนังสือพิมพ์ในประเทศไทยจารึกไว้ว่า ผู้ให้กำเนิดหนังสือพิมพ์ไทยฉบับแรก ก็คือคนอเมริกันที่ชื่อ นายแพทย์แดเนียล บีช บรัดเลย์ ซึ่งได้ออกหนังสือพิมพ์ข่าวภาษาไทยในชื่อ“บางกอกรีคอเดอร์” ออกวางตลาดฉบับปฐมฤกษ์ในวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๓๘๗ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งทำให้ไทยมีหนังสือพิมพ์ก่อนประเทศญี่ปุ่นถึง ๑๗ ปี

หมอบรัดเลย์ซึ่งเป็นมิชชันนารีอเมริกัน ได้สั่งแท่นจากสิงคโปร์มาตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่บ้านหลังป้อมวิชัยประสิทธิ์ ปากคลองบางหลวง งานพิมพ์แรกๆเป็นงานเผยแพร่ศาสนาและการแพทย์ ต่อมารับพิมพ์งานราชการโดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจ้างพิมพ์ประกาศห้ามซื้อขายฝิ่นจำนวน ๙,๐๐๐ ฉบับ ซึ่งนับเป็นเอกสารทางราชการฉบับแรกที่ใช้วิธีพิมพ์แจกจ่ายประชาชน

โรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ได้พิมพ์หนังสือออกมาวางขายด้วยหลายเล่ม เช่น วรรณกรรมเรื่อง สามก๊ก จินดามณี ประวัติศาสตร์ กฎหมาย รวมทั้งซื้อลิขสิทธิ์ “นิราศลอนดอน” ของหม่อมราโชทัย มาจัดพิมพ์ งานเล่มสุดท้ายคือดิกชันนารีภาษาไทย ในชื่อ “อักขราภิธานศรับท์”

ในปี ๒๓๙๘ หมอบรัดเลย์ซึ่งอยู่เมืองไทยมา ๒๐ ปี เขียนภาษาไทยได้คล่องแล้ว จึงออก“บางกอกรีคอเดอร์” แต่หมอบรัดเลย์เรียกหนังสือพิมพ์ของเขาว่า “จดหมายเหตุ” บ้าง “นิวสะเปเปอ” บ้าง และ “หนังสือพิมพ์” บ้าง ต่อมาคำว่า “หนังสือพิมพ์” ก็ได้รับการยอมรับจนมาถึงทุกวันนี้

บางกอกรีคอเดอร์ภาษาไทยออกอยู่ไม่ถึงปีก็หยุด เอาไปรวมกับฉบับภาษาอังกฤษเป็นครั้งเป็นคราว แต่ในวันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๐๘ บางกอกรีคอเดอร์ได้ออกภาษาไทยอีกครั้งเป็นรายปักษ์ เสนอทั้งข่าวในประเทศ ข่าวต่างประเทศ บทความ และจดหมายจากผู้อ่าน ครั้งนี้ออกอยู่ได้ ๒ ปีก็เกิดเรื่องโดนฟ้องฐานหมิ่นประมาท

สาเหตุมาจากการปักปันเขตแดนสยามกับอาณานิคมของฝรั่งเศสในอินโดจีน ฝรั่งเศสซึ่งเล่นบทหมาป่ากับลูกแกะพยายามเอาเปรียบทุกทาง แต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหกลาโหม ไม่ยอมอ่อนข้อให้ ม.กาเบรียล ออบาเรต์ กงสุลฝรั่งเศสขุ่นเคือง จึงกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ปลดเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ออกจากคณะกรรมการปักปันเขตแดน แต่ ร.๔ ไม่โปรดตามคำทูล ม.ออบาเรต์จึงทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรไปยืนดักรออยู่หน้าวังยื่นถวายพร้อมกับคำขู่ว่า ถ้าไม่ทำตามประสงค์ของเขา สัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับฝรั่งเศสจะต้องขาดสะบั้น เกิดสงครามขึ้นเป็นแน่ พระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ตรัสตอบแต่อย่างใด เสด็จเข้าวังไป

หมอบรัดเลย์เอาเรื่องนี้มาตีแผ่ในบางกอกรีคอเดอร์ ทั้งยังออกวามเห็นด้วยว่า การกระทำของทูตฝรั่งเศสนี้ผิดวิธีการทูต และดักคอว่าการไม่ยอมปลดสมุหกลาโหม กงสุลฝรั่งเศสอาจพยายามแปลความเป็นว่า ในหลวงได้ทรงหยามเกียรติพระเจ้าจักรพรรดินโปเลียน และเอาเป็นเหตุทำสงครามกับสยามก็เป็นได้
การตีแผ่ของของบางกอกรีคอเดอร์ ทำให้กงสุลฝรั่งเศสไม่กล้าแสดงอำนาจบาตรใหญ่กับคณะกรรมการปักปันเขตแดนต่อไป แต่หันไปฟ้องหมอบรัดเลย์ต่อศาลกงสุลในข้อหาหมิ่นประมาท

คดีนี้ทั้งคนไทยและฝรั่งในบางกอกต่างสนับสนุนหมอบรัดเลย์ กงสุลอังกฤษเสนอตัวเป็นทนายให้ กงสุลอเมริกันเป็นผู้พิพากษา แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯมีพระราชประสงค์ที่จะไม่สร้างความขุ่นเคืองให้กงสุลฝรั่งเศสอีก จึงห้ามข้าราชการไทยที่รู้เห็นเหตุการณ์ไปเป็นพยานให้หมอบรัดเลย์ ผลจึงปรากฏว่าหมอบรัดเลย์แพ้คดี ถูกปรับเป็นเงิน ๔๐๐ เหรียญอเมริกัน และให้ประกาศขอขมาทูตฝรั่งเศสในบางกอกรีคอเดอร์ ซึ่งคนไทยและชาวต่างประเทศได้เรี่ยไรกันออกค่าปรับให้ ส่วนเรื่องขอขมานั้น หมอบรัดเลย์ได้ตอบโต้ ม.ออบาเรต์อย่างสะใจ โดยหยุดออกบางกอกรีคอเดอร์ เลยไม่รู้จะเอาหนังสือพิมพ์ที่ไหนขอขมา เพราะตอนนั้นเมืองไทยก็มีหนังสือพิมพ์อยู่ฉบับเดียว

เมื่อเรื่องราวสงบแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้พระราชทานเงินให้หมอบรัดเลย์ ๒,๐๐๐ เหรียญ เป็นค่ารักษาข้าราชสำนักฝ่ายใน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นค่าปลอบใจเรื่องนี้นั่นเอง
หมอบรัดเล
แท่นพิมพ์แรกของเมืองไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น