"กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง" แจ้งความเอาผิดรายการดังเกาหลีใต้ "Law of the Jungle" หลังเข้ามาถ่ายทำและมีผู้เข้าร่วมรายการจับหอยมือเสือ สัตว์ป่าคุ้มครองมาทำอาหาร ด้านชาวเน็ตแห่วิจารณ์
จากเหตุการณ์ รายการ Law of the Jungle ทางสถานีโทรทัศน์ "SBS" จากประเทศเกาหลีใต้ ตอนที่ 370 เรื่อง “ฝ่าคลื่นยักษ์” ในตอนหนึ่งได้กล่าวถึง การตัวรอดในกรณีติดเกาะ ซึ่งถ่ายทำรายการในพื้นที่หาดเพทาย เกาะมุก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง โดยมีผู้เข้าร่วมรายการ "อี ยอล-อึม" ได้ไปจับ"หอยมือเสือ" ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจนได้ 3 ตัวและนำมาประกอบอาหาร
ต่อมา เมื่อวันที่ 3 ก.ค. เพจ "กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง" ได้ออกมาโพสต์รูปภาพพร้อมข้อความระบุว่า " "ติดตามรายการเกาหลี ลักลอบจับหอยมือเสือในพื้นที่คุ้มครอง" ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อโซเชียล ประเด็น “นักท่องเที่ยวจับหอยมือเสือขึ้นมากินในพื้นที่เกาะมุกต์ อ.กันตัง จ.ตรัง" จากการสอบถามผู้โพสต์เฟตบุ๊ค ที่ร้องเรียนเข้ามาทราบว่าเรื่องเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา มีกลุ่มชาวเกาหลีใต้ เข้ามาถ่ายทำรายการวาไรตี้ชื่อ The law of jungle ตอนที่ 370 เรื่อง “ฝ่าคลื่นยักษ์” ในตอนหนึ่งได้กล่าวถึง การตัวรอดในกรณีติดเกาะ ซึ่งถ่ายทำรายการในพื้นที่หาดเพทาย เกาะมุกต์ อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง จึงได้ประสานกับอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เพื่อติดตามสืบหาผู้กระทำความผิดมาดำเนินการตามกฏหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป"
นอกจากนี้ เพจดังกล่าวได้ให้ข้อมูลว่า หอยมือเสือในประเทศไทยว่าเป็น "สัตว์ป่าคุ้มครอง" อยู่ในบัญชีสัตว์สงวนและคุ้มครองประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 คือ "ห้ามล่า ห้ามมี และห้ามซื้อขาย" ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท ส่วนเปลือกหอยมือเสือ ถือเป็นซากสัตว์ป่า เช่นเดียวกับปะการัง ที่ห้ามซื้อ-ขาย รวมทั้งห้ามนำมาวางประดับ ใช้เป็นที่เขี่ยบุหรี่ หรือที่ใส่สบู่ตามโรงแรมและร้านอาหาร
กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 16 (3) ด้วยการนำสัตว์ออกไป หรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 16 ห้ามมิให้ผู้ใดล่า หรือพยายามล่าสัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่เป็นการกระทำโดยทางราชการที่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 26
มาตรา 19 ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ครอบครองซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน หรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่จะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดตาม มาตรา 17 ที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าว โดยต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี และต้องปฏิบัติตามข้อกฎกระทรวง และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตมาตรา 21