xs
xsm
sm
md
lg

สผ.นำคณะผู้แทนไทยขอเสียงสนับสนุนนั่ง “กรรมการมรดกโลก” วาระปี 62-66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สผ.นำคณะผู้แทนไทยขอเสียงสนับสนุนจากประเทศสมาชิกสนับสนุนให้นั่งเป็นคณะกรรมการมรดกโลก วาระปี 2562-2566 พร้อมจัดงานเลี้ยงขอเสียงสนับสนุนโดยเชิญ “คุณสิริกิติยา เจนเซน” เป็นผู้นำเสนอผลงานภายใต้ชื่องาน Thailand Night

วันนี้ (1 ก.ค.) นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหน่วยประสานงานกลาง ภายใต้อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 43 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ขอรับการสนับสนุนการสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการมรดกโลกวาระปี 2562-2566 ด้วยการสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการมรดกโลก ถือเป็นความท้าทายในการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยบนเวทีโลก รวมถึงช่วยเสริมสร้างสัมพันธภาพความร่วมมือและความช่วยเหลือด้านต่างๆ ร่วมกับรัฐภาคีสมาชิกศูนย์มรดกโลก และองค์กรที่ปรึกษาสิ่งสำคัญไทยจะมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการดำเนินงานของอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกในการปกป้องคุ้มครองแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมและแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยไทยได้ส่งนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงปารีส ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าสมัครรับการคัดเลือกเป็นกรรมการในคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมสมัชชารัฐภาคีแห่งอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 22 วาระปี 2562-2566

ทั้งนี้ ไทยจะจัดกิจกรรมในลักษณะการจัดเลี้ยงแนะนำตัวเพื่อนำเสนอทีมผู้สมัครไทยที่เข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการมรดกโลกรวม 2 ครั้ง คือ วันที่ 5 กรกฎาคม ในลักษณะ Side Event ภายใต้ชื่องาน “Thailand Night” เพื่อประชาสัมพันธ์แนะนำทีมผู้สมัครและนำเสนอความคิดริเริ่มของไทยในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้กับงานด้านการอนุรักษ์และรูปแบบที่ส่งเสริมเอกลักษณ์ความเป็นไทย โดยเชิญคุณสิริกิติยา เจนเซน นักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการ กรมศิลปากร เป็นผู้นำเสนอผลงาน ส่วนกิจกรรมครั้งที่ 2 ก่อนหรือระหว่างการประชุมสมัชชารัฐภาคีสมาชิกอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 22 ประมาณเดือนพฤศจิยนนี้ ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

ทั้งนี้ อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ หรืออนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เริ่มดำเนินงานขึ้นเมื่อปี 2514 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือในหมู่รัฐภาคีอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกในการกำหนดมาตรการที่เหมาะสม ทั้งด้านนโยบาย การบริหารเทคนิค และการเงิน เพื่อสงวนรักษา คุ้มครองและส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อมวลมนุษยชาติให้คงอยู่ต่อไป

ต่อมาในปี 2519 ได้จัดตั้ง “คณะกรรมการมรดกโลก” ขึ้น เพื่อทำหน้าที่พิจารณาจัดสรรความช่วยเหลือทางการเงิน พร้อมพิจารณาคุณสมบัตและคำขอรัฐจากรัฐภาคี สำหรับดูแลแหล่งวัฒนธรรม และธรรมชาตที่มีความสำคัญระดับโลก พร้อมพิจารณาคุณสมบัต และคำขอรับการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม และทางธรรมชาติให้เป็นมรดกโลก รวมถึงการถอดถอนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม และทางธรรมชาติที่อยู่ในภาวะอันตรายจากบัญชีรายชื่อมรดกโลก

ไทยได้เข้าร่วมเป็นรัฐภาคีสมาชิกในอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2530 โดยมีกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามอนุสัญญาฯ และขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อกำกับและดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามพันธกรณีอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก รวมถึงพิจารณาเสนอแห่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติเพื่อบรรจุไว้ในบัญชีมรดกโลก ผ่านคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก โดยไทยเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการมรดกโลก 3 สมัย ประกอบด้วย สมัยที่ 1 ปี 2532-2538 สมัยที่ 2 ปี 2540-2546 และสมัยที่ 3 ปี 2552-2556

สำหรับประเทศไทย มีแหล่งมรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียน จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย 1. เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย และเมืองบริวาร 2. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และเมืองบริวาร 3. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง 4. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และ 5. ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ พร้อมกันนี้ ในปี 2562 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรร มีมติเห็นชอบเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม 2 แห่ง คือ เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก โดยเมืองโบราณศรีเทพ เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายราว 1,700 ปี ต่อเนื่องยุคทวารวดีศตวรรษที่ 12-16 และวัฒนธรรมขอม โดยมีปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง เขาคลังใน เขาคลังนอก ปรางค์ฤาษี และถ้ำเขาถมอรัตน์

กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างในอดีตที่แสดงถึงความเชื่อ และปรัชญาในศาสนาฮินดู สะท้อนถึงภูมิปัญญาชั้นสูงในการเลือกสถานที่ก่อสร้าง ที่ตั้องอยู่ในบริเวณปากปล่องภูเขาไฟที่ดับแล้ว และจากศิลาจารึก หลักฐานสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่พบภายในบริเวณปราสาทหินเขาพนมรุ้ม และที่เชิงเขาด้านทิศใต้ แสดงว่าพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15




กำลังโหลดความคิดเห็น