นายแพทย์มัลคอล์ม สมิธ แพทย์ชาวอังกฤษที่สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ชักชวนให้มาถวายการดูแลพระพลานามัยสมเด็จพระศรีพัชรินทร์ฯ บรมราชินี พระราชมารดา ณ พระราชวังพญาไท ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในราชสำนักหลายปี คุ้นเคยสนิทสนมกับเจ้านายชั้นสูงของไทยสมัยนั้นหลายพระองค์ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ตลอดเวลาหลายปีในราชสำนักสยาม ออกมาเป็นหนังสือในชื่อ “A Physician at Court of Siam” ซึ่งกรมศิลปากรได้มอบให้ นางสาวศุกลรัตน์ ธาราศักดิ์ แปลออกมาในชื่อ “ราชสำนักสยามในทัศนะของหมอสมิธ” จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๒
หมอสมิธได้เล่าถึงบรรยากาศของกรุงเทพฯ ใน พ.ศ.๒๓๙๔ ไว้ ทำให้เห็นสภาพของกรุงเทพฯ ในยุคต้นๆ กรุงรัตนโกสินทร์ได้อย่างน่าสนใจ เกี่ยวกับตอนเริ่มมีสิ่งใหม่ๆ ความเป็นไปของวิถีชีวิต รวมทั้งเหตุการณ์วิปโยคที่เกิดอหิวาต์ระบาดจนทุกอย่างในเมืองต้องหยุดชะงัก ศพกองเป็นภูเขาเลากาและลอยกราดเกลื่อนเต็มแม่น้ำ
หมอสมิธเล่าว่า
“กรุงเทพฯ ในปีพุทธศักราช ๒๓๙๔ ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นของเหตุการณ์ในเรื่องที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบ สร้างขึ้นเมื่อประมาณ ๗๐ ปีล่วงมาแล้ว ภายหลังจากที่อยุธยาเมืองหลวงเก่าได้ถูกชาวพม่าบุกเข้าปล้นและเผาทำลาย จนกลายสภาพเป็นเมืองร้างไปในที่สุด เหมือนเช่นนกฟีนิกซ์ที่ฟื้นตัวขึ้นมาจากซากเถ้าถ่าน จนกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เสมือนเมืองใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากเมืองเก่า และมีสภาพที่งดงามยิ่งกว่าเดิม ด้วยแรงงานของผู้คนมากมายเหลือคณานับ ที่ช่วยกันขนย้ายกองอิฐขนาดใหญ่จำนวนมาก ซึ่งเคยเป็นกำแพงและวัดจากเมืองหลวงเก่า บรรทุกลงเรือมายังหมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ห่างจากแม่น้ำลงไปประมาณ ๔๐ ไมล์ นครหลวงแห่งใหม่จึงเกิดขึ้น ณ สถานที่แห่งนั้น
เมืองหลวงใหม่แห่งนี้ เรียกกันสั้นๆในหมู่ชาวสยามว่า “กรุงเทพฯ” หมายถึง “เมืองแห่งเทพยดา” มาจากชื่อเต็มว่า “กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์” ซึ่งมีความหมายว่า เทพนครอันเป็นที่สถิตแห่งอัญมณีมีค่าของพระอินทร์ ส่วนชื่อ “บางกอก” (Bangkok) มาจากคำว่า บาง (Bang) หมายถึงหมู่บ้าน และคำว่า กอก (Kok) ซึ่งเป็นชื่อของผลไม้ป่าชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายลูกพลัม ชาวยุโรปรู้จักเมืองหลวงแห่งนี้ในชื่อบางกอกโดยใช้เรียกกันมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ชาวปอร์ตุเกสเดินทางเข้ามาในประเทศสยามในราวต้นศตวรรษที่ ๑๖ แต่สำหรับชาวสยามเองไม่นิยมเรียกชื่อนี้กันเท่าใดนัก
เมืองหลวงแห่งใหม่เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ.๒๓๙๔ มีประชากรหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ปะปะกันกว่า ๒๕๐,๐๐๐ คน และส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีนมากกว่าชาวสยาม ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลก จนได้เคยมีผู้หยิบยกโครงสร้างของชุมชนแห่งนี้มาพิจารณา ชาวจีนส่วนใหญ่มักประกอบอาชีพค้าขาย หรือไม่ก็มีกิจการค้าของตัวเอง ธุรกิจการค้าเกือบทุกอย่างภายในเมืองหลวงแห่งนี้จึงตกอยู่ในมือของชาวจีนเป็นส่วนใหญ่ ส่วนชาวสยามจะทำงานด้านบริหารและเป็นบุคคลทุกระดับชั้นที่อาศัยอยู่รายรอบราชสำนัก วิถีชีวิตที่ต่างก็พึ่งพาอาศัยผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าขึ้นไป นับตั้งแต่พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการระดับล่าง ลูกจ้าง ข้าทาสรับใช้ ทั้งหมดประกอบกันเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่รูปปิรามิด มีพระมหากษัตริย์อยู่บนยอดสูงสุด
ประชากรนอกเหนือจากนี้ เป็นชาวต่างชาติจากประเทศบ้านใกล้เคียง ได้แก่ ชาวญวน ชาวกัมพูชา ชาวมอญ ชาวมลายู และชาวพม่า ซึ่งล้วนแต่เป็นกลุ่มชนหลายชาติหลายภาษา ที่มีรูปแบบการแต่งกายเฉพาะตนแตกต่างกันออกไป ส่วนกลุ่มชาวยุโรป ประกอบไปด้วยพวกมิชชันนารีเกือบทั้งหมด มีจำนวนรวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน ๒๐ คน
อาณาเขตที่เป็นตัวเมืองในปัจจุบัน ตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำ ความยาวของกำแพงเมืองโดยรอบวัดได้ราว ๔ ไมล์ครึ่ง มีลำคลองหลายสายตัดผ่านไปทั่วทุกหนทุกแห่ง แต่ในปัจจุบันลำคลองเหล่านี้ได้ตื้นเขินและถูกทับถมไปเป็นจำนวนมาก จนไม่อาจใช้เป็นเส้นสัญจรทางน้ำได้อีกต่อไป บริเวณที่เป็นตัวเมืองมิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะภายในเขตกำแพงเมือง แต่ยังขยายออกไปตลอดแนวฝั่งแม่น้ำลำคลองบริเวณนอกกำแพงเมืองโดยรอบ ในสมัยก่อนประชากรจำนวนมากกว่าครึ่งยังคงอาศัยอยู่ตามเรือนแพ เซอร์จอห์น บาวริ่ง ซึ่งเดินทางมาประเทศสยามเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๘ ได้เขียนบรรยายภาพเมืองหลวงแห่งนี้ไว้อย่างงดงามตามที่เขาได้พบเห็นขณะล่องเรือไปตามลำน้ำว่า “ยิ่งเดินทางลึกเข้าไป สภาพบ้านเรือนผู้คนก็ยิ่งหนาแน่น จำนวนเรือเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกับเสียงพูดคุยของผู้คนที่ยิ่งดังขึ้นๆ ภาพยอดแหลมของหลังคาโบสถ์ตลอดจนปราสาทราชวัง เริ่มปรากฏให้เห็นเหนือบริเวณเรือกสวนและแนวป่า พ้นหมู่ไม้เขียวชอุ่มขึ้นไปแลเห็นหลังคาอาคารหลากสีสันสะท้อนกับแสงแดดเป็นประกายวาววับ เรือสำเภาสีสันฉูดฉาดประหลาดตา ประดับธงสีสันสดใสล่องลอยอยู่ท่ามกลางคลื่นลม ตลอดสองฝั่งแม่น้ำมีเรือบรรทุกสินค้าแล่นต่อกันเป็นแนวยาว ภายในเรือแออัดไปด้วยผู้คนทั้งหญิงชายและเด็ก สองฟากฝั่งแม่น้ำมีภาพบ้านเรือนใต้ถุนสูงปรากฏให้เห็นอยู่เรียงราย ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่สะท้อนให้เห็นการบริโภคของเมืองได้เป็นอย่างดี”
ตกกลางคืน เมืองทั้งเมืองจะสว่างไสวไปด้วยไปด้วยแสงตะเกียงนับพันๆ ดวง รวมทั้งโคมไฟหลากสีหลายขนาดและต่างแบบ อันเป็นทัศนียภาพที่งดงามยิ่ง
การคมนาคมขนส่งภายในตัวเมืองและอาณาบริเวณโดยรอบ ใช้เส้นทางสัญจรทางน้ำเป็นหลัก บาทหลวงปาลเลอกัวซ์ได้เคยเขียนเล่าไว้ว่า “การเดินทางไปทุกหนทุกแห่งต้องอาศัยเรือโดยตลอด” การคมนาคมทางบกถึงแม้จะมีหนทางมากมาย แต่ถนนซึ่งปูด้วยอิฐแผ่นใหญ่จะพบเห็นเฉพาะภายในตัวเมืองและบริเวณที่อยู่ใกล้ตลาด และรถเทียมม้าก็ยังไม่มีวิ่งทั่วไปในเมืองหลวง เมื่อถึงปลายฤดูฝน น้ำที่ท่วมขังอาณาบริเวณโดยรอบ จะส่งผลให้พื้นที่ภายในเมืองหลวงส่วนใหญ่จมอยู่ในน้ำ หลังจากนั้นไม่กี่ปีจึงมีการสร้างถนนขึ้นเป็นครั้งแรก มีถนนสายหนึ่งที่ตัดไปรอบๆ แนวเขตกำแพงเมืองด้านใน และถนนอีก ๒-๓ สาย หรืออาจจะมากกว่านั้น เป็นถนนสายสั้นๆ มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่พระบรมมหาราชวัง ถนนใหม่ (New Road) ซึ่งตัดออกไปไกลถึงบ้านหม้อ กว่าจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ก็ในปี พ.ศ.๒๔๐๗ ถนนสายแคบๆ ที่ตัดเลียบแม่น้ำเป็นระยะทางยาว ที่เรียกกันว่า ถนนสำเพ็ง ก็มีบางช่วงซึ่งยังคงรูปแบบที่เหมืนเดิมไว้ จวบจนกระทั่งเมื่อต้นศตวรรษที่ผ่านมา บริเวณใต้สุดของเมืองเป็นที่ตั้งของตลาดสดขนาดใหญ่ หรือย่านการค้าซึ่งเป็นแหล่งชุมชนของผู้คนนับพันๆ คน ในแต่ละวันตลาดแห่งนี้นับเป็นศูนย์กลางสำคัญในการจำหน่ายสินค้าจำพวกผลไม้ ผัก ไข่ หมู ปลา และอาหารสดทุกชนิด ซึ่งล้วนแต่จำเป็นต่อการยังชีพ ปลาถูกนำใส่ถังมาขายทั้งเป็นๆ และเมื่อถึงตลาดก็จะนำใส่บ่อพัก มาร์ควิส เดอ โบวัวร์ ซึ่งเคยมาเที่ยวชมตลาดแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๐ ได้บรรยายถึงสภาพที่เขาได้พบเห็นไว้ว่า “บนแผงลอยที่ตั้งเรียงรายกันอยู่นั้น มีปลามากมายหลายชนิด ทั้งปลาฉลามขนาดเล็ก ปลาจำพวกปลาลิ้นหมา ปลาไหล Sunfish และปลาชนิดหนึ่งที่ชอบเกาะอยู่ตามลำเรือและส่งเสียงครืดคราดอยู่ในลำคอ ท้ายสุดก็คืองูเหลือม” ซึ่งเขาคงจะหมายถึงงูหลามนั่นเอง แต่ละปีจะมีผู้คนจับงูมากมายหลายชนิดได้เป็นจำนวนมาก ทั้งจากในเมืองและตำบลที่อยู่ใกล้เคียง มาร์ควิสยังได้เขียนเล่าไว้อีกว่า “บาทหลวง Larnaudie ซึ่งเคยลิ้มลองอาหารชนิดนี้มาแล้ว ยืนยันว่ารสชาติของมันใช้ได้ทีเดียว”
ปี พ.ศ.๒๔๓๖ เมื่อการก่อสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-ปากน้ำ สำเร็จลุล่วงมาถึงบริเวณปากแม่น้ำ ซึ่งช่วยย่นระยะเวลาในการเดินทางเข้าสู่เมืองหลวงไปได้หลายชั่วโมง กรรมวิธีในการเก็บรักษาปลาให้มีชีวิตอยู่จึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป และค่อยๆ ยกเลิกไปในที่สุด
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงทัศนียภาพด้านหนึ่งของเมืองหลวงแห่งนี้ ยังมีทัศนียภาพอีกด้านหนึ่งซึ่งอาจจะไม่น่าดูเท่า และมีสภาพเหมือนกับเมืองในเขตร้อนในสมัยก่อนที่มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่น คือขาดการดูแลเอาใจใส่ด้านการสุขาภิบาลและการจัดการเรื่องน้ำดื่มน้ำใช้อย่างถูกต้อง ปราศจากการดูแลด้านการแพทย์แผนใหม่อย่างเหมาะสม เป็นผลให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค โรคบิดซึ่งมีแมลงวันเป็นพาหะนำโรค และโรคท้องร่วง ได้คร่าชีวิตพวกเด็กๆไปเป็นจำนวนมาก อัตราการเสียชีวิตของเด็กในวัย ๓-๔ ปีมีปริมาณสูง ๗๐-๗๕ เปอร์เซ็นต์ และยังมีโรคระบาดอีกโรคหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ได้แก่โรคไข้ทรพิษ ย้อนหลังไปในปี พ.ศ.๓๓๘๓ มิชชันนารีชาวอเมริกัน ได้นำเอาวิธีการปลูกฝีเข้ามาเผยแพร่ในประเทศสยามเป็นครั้งแรก โดยวัคซีนแห้งถูกส่งมาจากเมืองบอสตัน ซึ่งในสมัยนั้นต้องใช้เวลาในการเดินทางนาน ๕-๖ เดือน ในระยะแรกพวกมิชชันนารีได้ทดลองปลูกฝีให้แก่เด็กๆในหมู่ของเขาเองก่อน เมื่อได้ผลจึงเริ่มแนะนำแก่ประชาชนโดยทั่วไป การรักษาของพวกเขาได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงส่งแพทย์หลวงไปเรียนรู้วิธีการปลูกฝีและเข้ารับการฝึกฝนอยู่ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่เท่าที่เราอ่านพบ ในปี พ.ศ.๒๓๘๕ ได้เกิดการขาดแคลนวัคซีนขึ้น โรคไข้ทรพิษจึงได้แพร่ระบาดขึ้นอีกครั้งนึ่ง โดยไม่มีความหวังที่จะได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อบำบัดรักษา พวกมิชชันนารีจึงได้ปลูกเชื้อไข้ทรพิษให้แก่พวกเด็กๆ และคนอื่นๆ แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการสูญเสียได้ ต่อเมื่อมีการนำกฎหมายเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนและปลูกฝีมาบังคับใช้เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ผ่านมา โรคไข้ทรพิษจึงสามารถควบคุมไว้ได้อย่างจริงจัง เมื่อแรกที่ข้าพเจ้าเดินทางมาในประเทศสยามเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๕ ประชากรประมาณ ๘-๑๐ เปอร์เซ็นต์ที่พบเห็นตามท้องถนน ยังคงป่วยด้วยไข้ทรพิษ แต่หลังจากนั้น ๒๐ ปี ผู้ป่วยด้วยโรคร้ายแรงนี้จึงไม่ค่อยมีปรากฏให้เห็น
แหล่งน้ำกินน้ำใช้สำหรับชาวสยาม คือน้ำในแม่น้ำ ในกรุงเทพฯ ระดับน้ำมักจะขึ้นๆ ลงๆ อยู่เสมอ ดังนั้นตลอดฤดูฝน ผู้คนจึงจำเป็นต้องเก็บกักน้ำไว้สำหรับใช้ ซึ่งคนที่พิถีพิถันจริงๆ จึงจะทำเช่นนั้น นับจากเดือนตุลาคมเรื่อยไปจนถึงเดือนเมษายน จะไม่มีฝนตกลงมาอีกเลย น้ำในแม่น้ำลำคลองจึงเริ่มแห้งและขุ่นลงทุกที และเมื่อล่วงเดือนเมษายนน้ำจะเริ่มมีรสชาติกร่อย เมื่อถึงเวลานั้น อหิวาตกโรคจะแพร่ระบาดเป็นประจำทุกปีระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาอันเลวร้ายของผู้คน ต้องจบชีวิตลงด้วยโรคร้ายนี้คราวละหลายๆ พันคน และสุดท้ายศพคนตายจากทุกหนทุกแห่งจะถูกนำมาเผาหรือฝังรวมกันที่วัด เราได้อ่านพบเรื่องราวในประวัติศาสตร์อันเลวร้ายนี้จากบันทึกของทางวัด ซึ่งแม้จะไม่สมบูรณ์ทีเดียวนัก แต่เราก็พบว่ามีโครงกระดูกตั้งแสดงไว้อย่างเปิดเผยตรงบริเวณปากทางเข้า มีบันทึกไว้ว่าอหิวาตกโรคเริ่มแพร่ระบาดในประเทศสยามครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๒ โดยระบาดมาจากประเทศอินเดีย และในปีต่อมา ประชากรในกรุงเทพฯ ต้องจบชีวิตลงด้วยโรคร้ายนี้นับเป็นจำนวนมาก เมื่อผู้คนเสียชีวิตลงมากมายเช่นนั้น วัดจึงไม่สามารถจัดการกับศพเหล่านั้นได้ทันเวลา ในบันทึกยังกล่าวไว้อีกว่า ศพคนตายถูกนำมากองสุมไว้กับพื้นดินราวกับกองไม้ แต่ก็ยังน้อยกว่าศพที่ถูกนำไปทิ้งลงในแม่น้ำลำคลองมากนัก โรคระบาดในครั้งนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วชนิดที่ไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อน ประชาชนพากันหลบหนีออกจากเมืองไปด้วยความหวาดกลัว พระสงฆ์พากันละทิ้งวัด กลไกการทำงานของรัฐมีอันต้องหยุดชะงักลง บันทึกเหตุการณ์สำคัญของทางราชการในปีนั้นได้บันทึกไว้ว่า “เมื่อวันข้างขึ้นเดือน ๗ เวลาประมาณ ๓ ทุ่มเศษ แลเห็นแสงสว่างปรากฏมาจากทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผู้คนจำนวนมากมีอาการถ่ายท้อง อาเจียน และจบชีวิตลงในที่สุด”
ปี พ.ศ.๒๓๙๒ อหิวาตกโรคได้แพร่ระบาดอย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง กล่าวกันว่าในช่วงระยะเวลา ๑ เดือน มีผู้คนเสียชีวิตลงด้วยโรคนี้นับเป็นจำนวนถึง ๑๕,๐๐๐-๒๐,๐๐๐ คน และในปีนั้นเอง เจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะสงฆ์ในสยาม ได้ทรงบัญชาให้ใช้วัดสำคัญ ๓ วัดในกรุงเทพฯ ได้แก่วัดสระเกศ วัดบางลำพู และวัดตีนเลน เป็นสถานที่สำหรับเผาศพ สถิติผู้เสียชีวิตที่ถูกนำมาเผาที่วัดทั้ง ๓ แห่ง นับตั้งแต่วันที่ ๑๗ มิถุนายน ถึงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม รวม ๓๘ วัน มีจำนวนทั้งสิ้น ๕,๔๕๗ ศพ จำนวนศพที่ถูกนำมาเผาสูงสุดใน ๑ วัน คือวันที่ ๒๓ มิถุนายน มีจำนวนทั้งสิ้น ๖๙๖ ศพ เมืองทั้งเมืองประสบกับความโกลาหลวุ่นวาย ธุรกิจต่างๆ มีอันต้องหยุดชะงักลงเรื่องจากผู้คนส่วนใหญ่มีภาระที่จะต้องดูแลผู้ป่วยและจัดการกับศพผู้เสียชีวิต
ในปี พ.ศ.๒๓๖๓ ก็เช่นกัน การแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคได้ส่งผลให้คนเป็นไม่สามารถจัดการกับศพคนตายได้ทันเวลา “ทั้งไพร่ผู้ดีมีจน ต่างก็ถูกนำมากองรวมกันไว้” เมื่อไม่มีฟืนที่จะใช้เผา “ศพคนตายจึงถูกปล่อยทิ้งไว้เช่นนั้นเป็นเวลาหลายวัน ภายในหลุมที่ขุดลึกแค่เข่า เต็มไปด้วยน้ำที่ไหลออกมาจากร่างกายของผู้ตาย” ศพที่ถูกนำมาโยนทิ้งลงในแม่น้ำยิ่งมีจำนวนมากเข้าไปอีก นายเรือที่นำเรือมาจอดทอดสมออยู่ใกล้ๆ กับกำแพงเมือง สามารถนับจำนวนศพได้ทั้งหมด ๑๗๐ ศพภายในเวลา ๒ วัน และไม่ต้องสงสัยเลยว่า หลังจากที่เรือของเขาได้แล่นออกไปแล้ว ยังจะต้องมีศพอีกเป็นจำนวนมากที่ถูกนำมาโยนทิ้งในความมืดของราตรีกาล ประชากรของประเทศต้องจบชีวิตลงในครั้งนี้นับเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่โรคร้ายมักจะแพร่ระบาดในหมู่คนจน เช่น “นักโทษ ทาส บริวาร และสามัญชนโดยทั่วไป ส่วนพวกที่มีฐานะความเป็นอยู่ค่อนข้างดี ที่อาศัยอยู่ตามบ้านเรือนมีระดับ และตามเรือนแพ มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคนี้นับเป็นจำนวนน้อยมาก” อหิวาตกโรคได้แพร่ระบาดจากกรุงเทพฯ ออกไปสู่เมืองทุกเมือง และหมู่บ้านทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ
ปี พ.ศ.๒๔๑๑ นับเป็นปีที่เกิดโรคระบาดร้ายแรงอีกปีหนึ่ง เช่นเดียวกับในปี พ.ศ.๒๔๑๖ ที่บันทึกของทางราชการได้บันทึกไว้ว่า มีผู้เสียชีวิตขณะเกิดโรคระบาดในกรุงเทพฯ นับตั้งแต่วันที่ ๒๒ มิถุนายน ไปจนถึงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม เป็นจำนวนทั้งสิ้น ๖,๖๖๐ คน และกล่าวกันว่า ในปี พ.ศ.๒๔๒๓ จำนวนประชากรที่เสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของโรคมีจำนวนถึง ๓๐,๐๐๐ คน และทั้งหมดนี้คือบันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับโรคระบาดที่นับว่ารุนแรงที่สุด และยังไม่เคยมีครั้งใดที่โรคระบาดรุนแรงเท่ากับเมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๓ และ พ.ศ.๒๓๙๒ อีกแล้ว
สำหรับผู้เสียชีวิตที่ฐานะยากจน ญาติสามารถนำศพมาฝังและเผาได้ที่วัดสระเกศ โดยรัฐจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ดังนั้นศพที่ถูกนำมาทิ้งไว้ที่วัดนี้จึงมีจำนวนมากกว่าวัดอื่นๆ สถิติที่จดบันทึกไว้ในแต่ละปี สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องวัดถึงสุขภาพอนามัยของเมืองๆ นั้นได้เป็นอย่างดี ตามความเชื่อถือของคนโดยทั่วไป ผู้เสียชีวิตโดยโรคอหิวาตกโรค โรคทรพิษ และเสียชีวิตอันเนื่องมาจากการคลอดบุตร ถือเป็นการตายที่รุนแรงพอๆ กับการทำอัตวิบาตกรรมและถูกฆาตกรรม ศพผู้ที่เสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าว จะถูกนำไปฝังทิ้งไว้ประมาณ ๑ เดือน หรืออาจนานกว่านั้น เพราะถือกันว่าเป็นการตายที่ไม่ปกติ และถ้าหากวิญญาณของผู้ตายไม่มีร่างที่จะอยู่อาศัย ก็จะกลับไปสิงสู่อยู่ตามสถานที่ที่เคยอยู่เดิม ในช่วงที่เกิดโรคระบาดรุนแรง การนำศพมาฝังไว้ที่วัดสระเกศไม่สามารถกระทำได้ เพราะไม่มีที่ว่างมากพอที่จะทำเช่นนั้น เมื่อถึงฤดูมรสุม กระแสน้ำที่เคยไหลรินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ก็จะกลายสภาพเป็นน้ำท่วมฉับพลัน ศพส่วนใหญ่จึงลอยอืดขึ้นมา และกลายเป็นอาหารบรรเทาความหิวโหยของสุนัขจรจัดและอีแร้งไปในที่สุด วิธีที่จะแบ่งเบาภาระหนักในมหกรรมรุมทึ้งกินโต๊ะอันชวนขยะแขยงนี้ก็คือ สัปเหร่อจะแล่ชิ้นส่วนที่เป็นเนื้อออกจากกระดูกก่อน เสร็จแล้วจึงโยนให้เป็นอาหารของสัตว์เหล่านั้น ตามลานวัดเป็นที่สิงสู่ของสุนัขจรจัดแลเห็นอยู่ระเกะระกะ ส่วนบนต้นไม้และหลังคาวัดก็ดำทะมึนไปด้วยฝูงแร้งที่พากันมารุมสวาปามอาหารมื้อสุดท้าย หรือไม่ก็มารอคอยอาหารมื้อต่อไป
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า โรคระบาดมีความเกี่ยวพันกับน้ำไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อประชาชนเลยแม้แต่น้อย ในขณะที่พระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ที่ประทับอยู่ภายในพระราชวัง กลับมีการจัดหาน้ำดื่มน้ำใช้มาถวายเป็นการพิเศษ ซึ่งวิธีนี้จะเริ่มทำครั้งแรกเมื่อใดมิได้มีบันทึกไว้ น้ำสะอาดจะถูกลำเลียงมาจากเมืองเพชรบุรีซึ่งอยู่ไกลออกไปถึง ๕๐ ไมล์ เป็นน้ำจากแม่น้ำที่มีต้นกำเนิดอยู่บนภูเขา ไหลผ่านกรวดหินดินทราย จนกระทั่งกลายมาเป็นน้ำสะอาด หลังจากนั้นจึงนำมากักเก็บไว้ในโอ่งขนาดใหญ่ แล้วจึงลำเลียงขึ้นมากรุงเทพฯโดยทางเรือ การดำเนินทุกขั้นตอนอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าเมือง ซึ่งจะต้องดูแลและจัดส่งน้ำสะอาดไปให้เพียงพอกับความต้องการ
เมื่อแรกที่ข้าพเจ้าเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ อหิวาตกโรคยังคงแพร่ระบาดอยู่เป็นประจำทุกปี ผู้ที่ได้รับเชื้อในระยะเริ่มแรกและอัตราระบาดของโรคยังอยู่ในเกณฑ์สูง อาการที่ปรากฏรุนแรงจนยากที่รักษาให้หายได้ การรักษาด้วยยาสมานฝิ่น และแอลกอฮอล์ตามแบบชาวยุโรป ก็ไม่ได้เป็นวิธีการที่ดีไปกว่าที่เราเคยใช้มาในยุคกลางมากนัก และไม่ใช่วิธีที่ได้ผลมากไปกว่าการรักษาโดยหมอพื้นบ้านที่พวกเราดูแคลน ในสมัยนั้นการรักษาโดยการให้น้ำเกลือยังไม่เป็นที่รู้จัก ความตายจึงพรากเอาชีวิตผู้เคราะห์ร้ายไปอย่างรวดเร็ว เย็นวันนี้คุณอาจจะยังนั่งคุยกับเพื่อนของคุณ แต่บางทีพรุ่งนี้คุณอาจจะต้องไปพบกับเขาที่หลุมฝังศพ สภาพอากาศเมืองร้อนมีผลให้การเก็บรักษาศพไม่อาจทำได้ดีนัก และกว่าอหิวาตกโรคจะถูกควบคุมไว้ ก็ต่อเมื่อมีการสร้างโรงน้ำประปาขึ้นในกรุงเทพฯในปี พ.ศ.๒๔๕๗
ในสมัยก่อน โรคมักแพร่ระบาดราวปลายฤดูแล้งระหว่างเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำในแม่น้ำลดลงจนถึงระดับต่ำสุด กล่าวกันว่าหากมีฝนตกลงมาและประชาชนมีน้ำสะอาดสำหรับดื่มพอเพียง อัตราการระบาดของโรคก็จะลดน้อยลง และที่ผ่านมาก็มักจะเป็นเช่นนั้นเสมอ อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโรคในระยะแรกๆ ก็ยังเคยเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคม ซึ่งมีฝนตกลงมาอย่างหนักและน้ำในแม่น้ำไหลหมุนเวียนได้สะดวก
นี่ก็คือเหตุการณ์ช่วงหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯในอดีต ก่อนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นมหานครแห่งหนึ่งของโลกในวันนี้