xs
xsm
sm
md
lg

ไม่เหงา ไม่ซึมเศร้า เมื่อ "สูงวัย" ใช้ Line อย่างเข้าใจ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กลายเป็นห้องเรียนที่ดูสนุกขึ้นมาทันที เมื่อรุ่นหลานสอนรุ่นใหญ่ใช้ "ไลน์" แอปพลิเคชั่นที่ใครหลายคนเล่นกันได้อย่างคล่องแคล่ว แต่สำหรับผู้สูงอายุวัย 60+ ถือเป็นเครื่องมือที่ตื่นตาตื่นใจ เพราะมีหลายเรื่องที่ยังไม่รู้ ซึ่งมีอะไรมากกว่าแค่ส่งข้อความสวัสดีวันวันจันทร์ ช่วยให้พวกเขาสนุกไปกับฟีเจอร์ต่างๆ พร้อมๆ กับการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม

"ไลน์ช่วยสร้างคุณค่าบางอย่างให้แก่ผู้สูงอายุได้" คือคำพูดของ "ธนากร พรหมยศ" ผู้ร่วมก่อตั้ง Young Happy กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ช่วยให้ผู้สูงวัยมีความสุขมากขึ้น ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น สอนให้ผู้สูงวัยรู้จักเทคโนโลยี การใช้มือถือ การเรียนถ่ายรูป ตลอดจนกิจกรรมบันเทิงอย่างการท่องเที่ยว เต้นลีลาศ เรียนร้องเพลง เป็นต้น

"ห้องเรียนไลน์" คืออีกหนึ่งกิจกรรมเพื่อให้ผู้สูงอายุรู้จักการใช้แอปพลิเคชั่น "ไลน์" โดยได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ "ไลน์" และสอนวิธีการใช้งานให้เกิดประโยชน์อย่างเหมาะสม และรู้เท่าทัน เนื่องจากผู้สูงอายุหันมาใช้ไลน์กันมากขึ้น



"แอปพลิชั่นไลน์ เป็นเครื่องมือที่หลายๆ คนนิยมใช้ เช่นเดียวกับผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มที่ใช้กันเยอะขึ้น หากใช้ไม่เป็น ใช้อย่างไม่เข้าใจอาจเป็นภัยได้ เช่น โดนมิจฉาชีพหลอก หรือตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพให้ช่วยกระจายข้อมูลต่างๆ ผมว่าเรื่องพวกนี้เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าผู้สูงอายุใช้เป็น ไลน์ก็จะช่วยสร้างคุณค่าบางอย่างให้แก่ผู้สูงอายุได้" ธนากรบอกภายหลังจบกิจกรรมสอนผู้สูงวัยใช้ไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในห้องย่อยภายใต้งานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ" จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อเดือนที่ผ่านมา ก่อนจะเผยต่อไปว่า

"ผู้สูงอายุเป็นความท้าทายใหม่ของสังคมไทย ผม และทีมงานพยายามสร้างกระบวนการในการแก้ปัญหาโดยการทำให้ผู้สูงอายุอยู่ในภาวะแอคทีฟออกไปให้นานขึ้น เรามีเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วย ใช้กิจกรรมให้ออกจากบ้าน เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ร่วมกัน กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุที่อยู่ในเขตเมือง เพราะส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องซึมเศร้ามากกว่าในเขตชนบท และส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางที่เมื่อก่อนเคยมีคุณค่าในตัวเอง เคยทำอะไรได้ แต่วันนี้ความรู้สึกกลับค่อยๆ หายไป"



ดังนั้น การสอนผู้สูงวัยใช้ไลน์ นอกจากเล่นเพื่อคลายความเหงา ส่งต่อความรัก ความห่วงใยแล้ว ยังมีรายละเอียดในการใช้งานหลายๆ เรื่องที่กลุ่มผู้สูงวัยไม่รู้ และใช้งานยังไม่เป็น ซึ่งมีมากกว่าการส่งข้อความสวัสดีวันต่างๆ เช่น การบริหารจัดการเพื่อน ปรับตัวอักษรให้ใหญ่ขึ้น ปิดเสียง ปิดสั่นขณะใช้งานในแอปฯ เก็บรูป แชท ไฟล์ด้วยฟีเจอร์ Keep หรือการปักหมุดห้องแชท เพื่อสะดวกในการติดต่องานหรือติดตามเรื่องที่น่าสนใจได้สะดวกขึ้นโดยไม่ต้องไล่หาห้องแชทที่เคยเข้า เป็นต้น

ลักษณา สังข์ทอง อายุ 66 ปี อาชีพแม่บ้าน บอกว่า ทุกวันนี้ใช้โทรศัพท์มือถือแค่โทร.เข้าโทร.ออก เนื่องจากไม่ค่อยกล้าใช้ไลน์ กลัวกด หรือส่งผิด แต่หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ต้องบอกว่า สนุกมาก ได้รู้เทคนิคการเล่นไลน์ที่ไม่เคยรู้มาก่อน เช่น การปิดเสียงเตือนเวลาข้อความเข้ามา ซึ่งบางครั้งสร้างความรำคาญในการสื่อสาร หรือการปักหมุดคนที่สำคัญ เป็นต้น



ด้าน ธันยพร นาคะประวิง อายุ 61 ปี ข้าราชการบำนาญ บอกว่า ไลน์มีความจำเป็นสำหรับชีวิตมาก ช่วยในการสื่อสารอย่างดี ส่วนใหญ่ใช้ไลน์ในการทำงาน พูดคุยประสานงานในครอบครัว หลังจากเรียนรู้เทคนิคต่างๆ ทำให้ได้รู้วิธีการถ่ายรูป และตกแต่งรูปสวยๆ การลบข้อความในไลน์ การทำโน้ตเก็บข้อมูลในไลน์ การปักหมุดคนที่ติดต่อประจำ การบล็อค การเอาเพื่อน หรือตัวเองออกจากกลุ่มที่ไม่จำเป็น

"การเล่นไลน์ของผู้สูงอายุ ทุกคนอยากจะส่งความคิดดีๆ หรือบอกว่า ฉันดีใจนะ ฉันสวัสดีวันจันทร์ วันอังคารนะ หรือบางคนมีรูปสวยๆ ก็อยากส่ง เพื่อแสดงให้รู้ว่าฉันยังอยู่นะ ฉันมีความสุข แต่ถ้าวันไหนที่ใครบางคนไม่ส่งไลน์ เธอป่วยใช้มั้ย เธอเป็นอะไรหรือเปล่า ดังนั้นแทนที่จะรำคาญ อยากให้มองในมุมของผู้สูงวัย มองในมุมที่พวกเขาก็เหงานะ อยากส่งความรู้สึกดีๆ ความปรารถนาดีให้แก่กัน ไม่ว่าจะเป็นการส่งให้ลูกหลาน ครอบครัว หรือเพื่อนฝูงวัยเดียวกัน" ข้าราชการบำนาญวัยเก๋าทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น