ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จัดประชุมผู้นำเมืองหลวงอาเซียนครั้งที่ 7 เพื่อแลกเปลี่ยน ส่งเสริมความร่วมมือ และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเมืองหลวงประเทศสมาชิกอาเซียน ชูโครงการพัฒนาองค์ความรู้เยาวชน ศูนย์ข่าวนักเรียน กทม. และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เตรียมพาสัมผัสตลาดหัวตะเข้พรุ่งนี้
วันนี้ (27 มิ.ย.) ที่โรงแรมแชงกรี-ลา ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก กทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงานการประชุมผู้นำเมืองหลวงของประเทศสมาชิกอาเซียน ครั้งที่ 7 (The 7th Meeting of Governors / Mayors of Asean Capital 2019) หรือ MGMAC 2019 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และส่งเสริมความร่วมมือในกรอบอาเซียนระดับเมือง และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเมืองหลวงในภูมิภาคอาเซียนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยมีผู้นำเมืองหลวงประเทศสมาชิกอาเซียนชาติต่างๆ เข้าร่วมประชุม
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวต่อเนื่องจากการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20-23 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเจ้าภาพ ในส่วนของ กทม. ก็จะประชุมผู้นำเมืองหลวงอาเซียนเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและแบ่งปันประสบการณ์ โดยเฉพาะปัญหาของเมืองที่ต้องแก้ไข ในส่วนของ กทม. ได้นำเสนอโครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชนอาเซียน เช่น โครงการ Friend-to-Friend พัฒนาองค์ความรู้ให้กับเยาวชน และโครงการศูนย์ข่าวนักเรียนกรุงเทพมหานคร-อาเซียน จากโรงเรียนทั้ง 9 แห่งของกรุงเทพมหานคร มาเรียนรู้การทำสื่อ
อีกส่วนหนึ่งจะไปดูการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีเดิม อาทิ ตลาดน้ำ เมืองเก่าต่างๆ โดยในวันพรุ่งนี้ (28 มิ.ย.) จะพาผู้นำเมืองในกลุ่มอาเซียนไปชมตลาดเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 100 ปีที่ตลาดหัวตะเข้ เขตลาดกระบัง ซึ่งจะไปดูว่าควรอนุรักษ์เมือง และรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างไร ทั่งการท่องเที่ยวเชิญนิเวศน์ การสร้างรายได้ต่างๆ
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า การพัฒนาเมืองให้มีความสวยงามสง่า มีวัฒนธรรมประเพณีที่ดี ต้องกำจัดสิ่งที่ยังเป็นปัญหา เช่น ขยะ น้ำท่วมขัง ถนนชำรุด เพื่อให้เกิดความสะอาด สะดวก ปลอดภัย ตามนโยบายของ กทม. หากมีผลกระทบตามมานั้นจะต้องทำให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้ ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาคลองลาดพร้าว ซึ่งชุมชนริมคลองได้รับผลกระทบ นายกรัฐมนตรีให้นโยบายว่าต้องทำความเข้าใจ และเยียวยา ไม่ใช่รื้อออกไปและผลักไสไล่ส่ง แต่ให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ให้ โดยมีสำนักการโยธา กทม., กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกองทัพบกช่วยเยียวยาทุกมติ เพื่อลดผลกระทบ โดยอยากให้ทำควบคู่กับการกำหนดโซนไปพร้อมกัน