xs
xsm
sm
md
lg

ในพระราชหฤทัยพระปกเกล้าฯหลัง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕! ปรีดีเล่าได้เห็นน้ำพระเนตรคลอ!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


เป็นที่ทราบกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสฉลองครบรอบ ๑๕๐ ปีกรุงรัตนโกสินทร์ในวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๗๕ และได้ทรงมอบให้พระยาศรีวิศาลวาจาและนายเรมอนด์ สตีเวนส์ ที่ปรึกษาราชการต่างประเทศ ไปร่วมกันพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น แต่ทั้งสองได้กราบทูลแสดงความเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา ทำให้ทรงระงับพระราชดำริพระราชทานรัฐธรรมนูญไป

ต่อมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เพียง ๖ วัน คือในวันที่ ๓๐ มิถุนายน คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯที่พระราชวังศุโขทัย โดยมีพระยาศรีวิศาลวาจา ปลัดทูนฉลองกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งต่อมาได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศใน ครม.ชุดแรกได้เข้าเฝ้าด้วย โดยมีเจ้าพระยามหิธรฯ เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร เป็นผู้จดบันทึกการสนทนาไว้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งกับพระยาพหลพลพยุหเสนาว่า พระองค์ได้ทรงคิดอยู่นานแล้วที่จะให้มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย และทรงคิดไว้หลายแบบ ทั้งยังได้ปรึกษาหารือกับข้าราชการบางคนแล้ว

ทันใดนั้นก็ทรงหันพระพักตร์ไปที่พระยาศรีวิศาลวาจา แล้วตรัสว่า

“ศรีวิสาร ฉันได้ถามแกแล้วว่าสมควรจะให้รัฐธรรมนูญแก่ราษฎรได้หรือยัง แกเองบอกว่ายังไม่ถึงเวลา และแกยังยื่นบันทึกของสตีเวนส์ ซึ่งสนับสนุนความคิดของแกให้ฉันด้วย...”

ตรัสถึงตอนนี้ก็ทรงกันแสงด้วยความน้อยพระทัย ทำให้บรรยากาศภายในท้องพระโรงขณะนั้นเต็มไปด้วยความหดหู่ยิ่งนัก ทุกคนต่างก้มหน้านิ่ง เป็นเวลานานพระองค์จึงทรงหันไปตรัสกับพระยาศรีวิสารอีกครั้ง

“ฉันก็ตั้งใจจะให้รัฐธรรมนูญแก่ประชาชนอยู่แล้ว แต่ฉันต้องการให้เขาได้รับอย่างสมบูรณ์”

ทรงหยุดตรัส ประทับพระวรกายนิ่ง พระเนตรเหม่อมองออกไปสู่บรรยากาศอันว่างเปล่าทางช่องพระแกลอย่างเลื่อนลอย ชั่วขณะหนึ่งจึงตรัสด้วยพระสุรเสียงอันแผ่วเบา

“ฉันเองเวลานี้ก็เหมือนคนทุพลภาพ ตาของฉันคงทนทานต่อไปไม่ได้เท่าใดนัก เวลานี้เหตุการณ์ก็เรียบร้อยแล้ว ฉันอยากจะลาออก”

ความโทรมมนัสในพระราชหฤทัยได้บีบคั้นให้พระองค์ทรงตัดสินพระทัยอย่างกล้าหาญ ผู้เข้าเฝ้าหันไปสบตากันด้วยอาการวิตก ในที่สุดพระยาศรีวิสารจึงกราบบังคมทูลว่า

“พระอาญาไม่พ้นเกล้า ข้าพระพุทธเจ้ามีความรู้สึกที่ทรงช่วยเหลือเพื่อความมั่นคง แต่ที่ทรงพระดำริจะลาออกนั้น ขอพระราชทานงดไว้ก่อน”

พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้สติที่เผยแสดงความจริงใจออกไป จึงมีพระราชดำรัสว่า

“จะดูก่อน ไม่ทราบว่าตาฉันจะเป็นอย่างไร เพราะการผ่าตัดคราวที่แล้วไม่ได้ผลสมควร ถึงจะไม่เปลี่ยนแปลงการปกครองฉันก็คิดจะลาออกอยู่แล้ว”

ความเงียบงันเกิดขึ้นอีก แม้แต่หัวหน้าคณะราษฎรเองก็ถึงกับก้มหน้านิ่ง วินาทีนั้นพระองค์ก็ทรงมีพระสุรเสียงที่เปลี่ยนไป เป็นดังกังวานและหนักแน่น

“การต่อไปไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าตาฉันดีขึ้นและแสดงให้เห็นว่าคณะราษฎรไม่ทำให้ฉันเสื่อมเสียความนิยมแล้ว ก็อาจจะอยู่ต่อไป ในชั้นนี้ขอแบ่งรับแบ่งสู้ไว้ก่อน แต่ถ้าฉันลาออก ผู้ที่จะสืบสันตติวงศ์ก็ควรจะเป็นโอรสของกรมหลวงสงขลา เพราะโอรสกรมขุนเพชรบูรณ์ก็ถูกข้ามมาแล้ว”

สิ้นประโยคสุดท้ายของพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จขึ้น ทิ้งความหนักใจให้คณะผู้ก่อการต้องขบคิดกันต่อไป

ต่อมา ดร.ปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี ได้นำมากล่าวในสภาผู้แทนในปี ๒๔๘๙ ว่า

“มีพระราชกระแสรับสั่งว่า มีพระราชประสงค์จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อได้ทรงปรึกษาข้าราชการมีตำแหน่งสูงในขณะนั้น ก็ไม่เห็นพ้องกับพระองค์”
และ ดร.ปรีดียังได้เขียนเล่าที่ได้เห็นเหตุการณ์ในวันนั้นไว้อีกว่า

...ข้าพเจ้าจำภาพประทับใจในวันเข้าเฝ้านั้นได้ว่า ทรงตรัสด้วยพระเนตรคลอเมื่อชี้พระหัตถ์ไปยังพระยาศรีวิสารวาจา ที่ไปเฝ้าในวันนั้นว่า “ศรีวิสาร ฉันส่งเรื่องไปให้แกพิจารณา แกก็บันทึกมาว่ายังไม่ถึงเวลา แล้วส่งบันทึกของสตีเวนส์ (ที่ปรึกษาการต่างประเทศเป็นชาวอเมริกัน) มาด้วยว่าเห็นพ้องกับแก”...

นี่ก็เป็นเบื้องหลังการเมืองไทยในเหตุการณ์หนึ่ง อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.๒๔๗๕
วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ


กำลังโหลดความคิดเห็น