xs
xsm
sm
md
lg

การเดินทางของ “พระแก้วขาว” คู่ “พระแก้วมรกต”! จากถ้ำกลางป่านครจำปาศักดิ์สู่พระที่นั่งอัมพรสถาน!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย
พระพุทธรูปสำคัญและล้ำค่าของประเทศไทย นอกจาก “พระแก้วมรกต” หรือ “พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร” แล้ว ยังมีพระแก้วผลึกสีขาวอีกองค์หนึ่ง ซึ่งเคยเคียงคู่กับพระแก้วมรกต และมีความเป็นมาลึกลับเหมือนกัน ไม่รู้ว่าใครสร้าง สร้างมาแต่เมื่อใด และมีการเดินทางคล้ายพระแก้วมรกต ก่อนที่จะมาเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองในวันนี้

พงศาวดารรัชกาลที่ ๒ ฉบับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า

“...เป็นพระแก้วผลึกอย่างที่ช่างเรียกว่า เพชรน้ำค้าง หรือ บุษย์น้ำขาว เนื้อแก้วสนิทแลเป็นแท่งขนาดใหญ่ยังไม่เคยมีเหมือน ทรวดทรงพระพุทธปฏิมาทำงามยิ่งกว่าพระแก้วอย่างเดียวกัน แม้ขนาดย่อมๆซึ่งได้เคยมีมา...”
และ

“...ก้อนแก้วเดิมจะได้มาแต่ที่ใด ผู้ใดจะเป็นผู้สร้าง แลจะสร้างจากที่ไหนไม่ปรากฏ ตำนานที่สืบรู้ต้นเรื่องได้เพียงว่า พระพุทธปฏิมาแก้วผลึกพระองค์นี้ มีผู้พาหนีภยันตรายไปซ่อนไว้ในถ้ำเขาส้มป่อยนายอน แขวงเมืองนครจำปาศักดิ์...”
ขนาดพระพุทธรูป วัดจากฐานไปถึงบนสุดสูง ๑๒.๒๕ นิ้ว หน้าตักกว้าง ๙.๕ นิ้ว
พงศาวดารโยนกกล่าวไว้ว่า พระอรหันต์ได้แก้วขาวมาจากจันทรเทวบุตร จึงขอให้พระวิษณุกรรมแกะสลักเป็นพระพุทธรูป แล้วบรรจุพระธาตุ ๔ องค์ไว้ที่พระเมาลี พระนลาฏ พระอุระ และพระโอษฐ์ พระแก้วขาวนี้ประดิษฐานอยู่เมืองละโว้ จนกระทั่งพระนางจามเทวีอัญเชิญไปประดิษฐานที่เมืองหริภุญไชย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๐๑๑พระเจ้าติโลกราชได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้คู่กับพระแก้วมรกตที่เมืองเชียงใหม่ จนถึง พ.ศ.๒๐๙๓ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชของลาว จึงอัญเชิญทั้งพระแก้วขาวและพระแก้วมรกตไปประดิษฐานที่เมืองหลวงพระบาง

ใน พ.ศ.๒๑๐๗ พระเจ้าไชยเชษฐาทรงย้ายเมืองหลวงไปตั้งที่เวียงจันทน์ และนำพระแก้วมรกตไปด้วย แต่ไม่ปรากฏว่าได้นำพระแก้วขาวไป จนถึง พ.ศ.๒๓๒๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกในสมัยกรุงธนบุรี ทรงนำทัพไปตีกรุงเวียงจันทน์ ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมา และอยู่คู่กรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน
ส่วนพระแก้วขาวที่หายสาบสูญไปจากเมืองหลวงพระบาง พงศาวดารรัชกาลที่ ๒ ฉบับสมเด็จกรพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึงการไปพบพระแก้วขาวในถ้ำกลางป่าของนครจำปาศักดิ์ไว้ว่า

“...มีพราน ๒ คน ชื่อ พรานทึง และ พรานเทิง ไปเที่ยวยิงสัตว์ป่า ไปพบพระแก้วนี้อยู่ในถ้ำ ในตอนสมัยเมื่อกรุงเก่าเป็นราชธานี พรานทึงพรานเทิงรู้ว่าเป็นของวิเศษ แต่สำคัญว่าเป็นเทวรูป จึงไปเซ่นสรวงบนบานตามวิสัยพรานมาเนืองๆ ภายหลังพรานทั้ง ๒ นั้นเห็นว่าพระแก้วอยู่ในที่เปลี่ยว เกรงว่าใครไปมาพบเข้าจะลักไปเสีย คิดกันจะเชิญมารักษาไว้เซ่นสรวงที่บ้านเรือนของตน จึงเอาเชือกผูกพระแก้วแขวนห้อยมากับตันหน้าไม้ ในเวลาที่เดินมานั้น แก้วตรงพระกรรณเบื้องขวากระทบกับคันหน้าไม้ลิไปหน่อย ๑ พรานทึงพรานเทิงรักษาพระแก้วไว้ที่บ้านต่อมา เวลาไปยิงได้สัตว์ป่าสำคัญว่าได้ด้วยอำนาจที่บนบานพระแก้ว จึงเอาโลหิตแต้มเซ่นเป็นนิจมา

ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี เจ้าไชยกุมาร เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ ได้ทราบความจากพ่อค้าที่ไปเที่ยวซื้อหนังสัตว์ เขาสัตว์ป่าตามบ้านพราน ว่าพรานทึงพรานเทิงมีพระแก้วเป็นของวิเศษอยู่องค์ ๑ เจ้าไชยกุมารจึงให้ไปว่ากล่าวกับพรานทึงพรานเทิง ได้พระแก้วผลึกมา เห็นว่าเป็นพระพุทธปฏิมาอันวิเศษจริง จึงให้สร้างวิหารประดิษฐานไว้เป็นที่สักการบูชาในเมืองนครจำปาศักดิ์ ข่าวที่เจ้านครจำปาศักดิ์มีพระแก้วผลึกวิเศษองค์นี้ ไม่ได้ทราบเข้ามาถึงกรุงธนบุรี แม้เมื่อกองทัพไทยยกไปถึงนครจำปาศักดิเมื่อครั้งตีกรุงศรีสัตนาคนหุตคราวได้พระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกต ก็มิได้ทราบความเรื่องพระแก้วผลึกพระองค์นี้ ด้วยพวกนครจำปาศักดิ์พากันซ่อนเร้นปิดบังเสีย เจ้าไชยกุมารพิราลัย เจ้าน่าได้เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ ย้ายเมืองนครจำปาศักดิ์มาตั้งฝั่งตะวันตกแม่น้ำโขง ก็สร้างวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วผลึกในเมืองใหม่ แต่ความก็ไม่ทราบมาถึงกรุงเทพฯตลอดรัชกาลที่ ๑ จนเจ้าร่าพิราลัยในรัชกาลที่ ๒ โปรดให้ข้าหลวงออกไปปลงศพเจ้าน่าเมื่อปีมะแม ตรีศก จุลศักราช ๑๑๗๓
พ.ศ.๒๓๕๔ ข้าหลวงไปเห็นพระแก้วผลึกองค์นี้เข้า จึงบอกแก่พวกท้าวพระยาเมืองนครจำปาศักดิ์ว่า พระแก้วผลึกนี้เป็นของวิเศษ ไม่ควรจะเอาไว้ที่เมืองนครจำปาศักดิ์ ซึ่งอยู่ชายแดนพระราชอาณาจักร แลเคยมีเหตุโจรผู้ร้ายเข้าปล้นเมือง ถ้ามีเหตุเช่นนั้นอีก ของวิเศษอาจจะเป็นอันตรายหายสูญไปอีก พวกท้าวพระยาเมืองนครจำปาศักดิ์เห็นชอบด้วย จึงมีใบบอกเข้ามาให้กราบบังคมทูลถวายพระพุทธรูปปฏิมาแก้วผลึกนั้น จึงโปรดให้ข้าหลวงออกไปรับแห่พระแก้วผลึก แลมีการสมโภชตามหัวเมืองรายทางตลอดมาจนถึงกรุงเทพฯ”

เมื่อจัดงานสมโภชที่กรุงเทพฯเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้อัญเชิญไปที่โรงประชุมช่าง ข้างพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ให้ช่างจัดหาเนื้อแก้วให้เหมือนกับเนื้อแก้วของพระพุทธรูป มาซ่อมแซมรอยบิ่นที่สองพรานผูกคานหามมาจากถ้ำในป่า ขัดเงาจนสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วพระราชทานดำริให้ช่างสร้างฐาน ดุนเป็นเม็ดพระศกตามแบบแผนพระพุทธรูป แผ่ทองคำหุ้มพระเศียรลงยาราชาวดีมีเพชรประดับ แต่เมื่อสวมพระเศียรแล้ว รัศมีทองก็ทำให้พระพักตร์เหลืองคล้ำ ไม่ผ่องใสเหมือนเนื้อพระองค์ จึงรับสั่งให้ประชุมช่างที่มีสติปัญญาหาทางแก้ไข ในที่สุดก็ตกลงเอาเงินเนื้อขาวบริสุทธิ์แผ่ลงหุ้มก่อน แล้วจึงสวมพระศกทองคำลงบนแผ่นเงิน จึงเห็นพระพักตร์ใสสะอาดขาวนวลเสมอกับองค์พระ

ครั้นสำเร็จจึงอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในหอพระสุราไลยพิมาน ข้างพระที่นั่งไพศาลทักษิณด้านตะวันออก เป็นที่ทรงสักการบูชาวันละ ๒ ครั้งเช้าค่ำมิได้ขาด โปรดให้แต่งหอพระสุราไลยพิมานด้วยเครื่องแก้ว ล้วนแต่ของดีที่สั่งมาจากต่างประเทศ

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ หลังจากโปรดเกล้าฯให้ตั้งบุษบกสูงเพื่อประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแล้ว ในพระราชพิธีต่างๆจึงโปรดให้อัญเชิญพระแก้วขาวมาตั้งเป็นประธานในพิธีแทนพระแก้วมรกต

สมัยรัชกาลที่ ๔ โปรดให้ช่างทำเครื่องประดับองค์และฐานของพระแก้วขาวใหม่ แล้วตั้งการสมโภชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ระหว่างวันที่ ๑๕-๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๐๔ และถวายพระนามพระแก้วขาวว่า “พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย” กับทั้งโปรดให้สร้างพระวิหารเป็นที่ประดิษฐาน พระราชทานนามว่า “พระพุทธรัตนสถาน”

สมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯให้ผูกพัทธสีมาพระวิหารพระพุทธรัตนสถานเป็นพระอุโบสถเพื่อทำสังฆกรรม จากนั้นพระพุทธรัตนสถานก็เป็นสถานที่ทำพุทธบูชาของฝ่ายใน และเมื่อทรงสร้างพระที่นั่งอัมพรสถานที่พะราชวังดุสิตแล้ว ก็โปรดให้อัญเชิญพระพระพุทธบุษยรัตนฯไปประดิศฐาน ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน จนเสด็จสวรรคต จึงมีการอัญเชิญพระพุทธบุษยรัตนฯกลับไปประดิษฐาน ณ พระพุทธรัตนสถานตามเดิม

สมัยรัชกาลที่ ๙ โปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระพุทธบุษยรัตนฯกลับไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งอัมพรสถานอีกครั้ง จนถึงทุกวันนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น