xs
xsm
sm
md
lg

ร.๖ทรงวิจารณ์คุณ-โทษประชาธิปไตยไว้เมื่อ ๑๐๗ ปีก่อน! ทั้งการเลือกตั้ง-ตั้งรัฐบาลเหมือนวันนี้เป๊ะ!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ร.๖ ทรงเครื่องมหาพิชัยยุทธ หลังประกาศร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๒
เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๕๕ หรือเมื่อ ๑๐๗ ปีก่อน หลัง “กบฏ ร.ศ. ๑๓๐” กบฏจากกลิ่นไอประชาธิปไตยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชบันทึกจดหมายเหตุรายวันถึงคุณและโทษของการปกครองในระบอบที่มี “คอนสติตูชั่น” หรือ “รัฐธรรมนูญ” เปรียบเทียบกับ “ระบอบกษัตริย์” ทรงกล่าวถึงการเลือกตั้ง การตั้งพรรคการเมือง และการตั้งรัฐบาล ไว้ก่อนที่ประเทศไทยจะมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ๒๐ ปี ขณะคำว่า “รัฐธรรมนูญ” “ประชาธิปไตย” และ “พรรคการเมือง” ยังไม่เกิดเสียด้วยซ้ำ แต่ก็ทรงวิจารณ์ประชาธิปไตยที่ไม่ได้อยู่ในตำรา ยังกับทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์ในวันนี้

ทรงกล่าวถึง “ระบอบกษัตริย์” และ “ระบอบประชาธิปไตย” ไว้ว่า

“...ถ้าแม้ต่างว่ามีคนอยู่จำพวก ๑ ซึ่งตั้งใจดีจริง มีความมุ่งดีต่อชาติจริง จะมาร้องฎีกาขึ้นโดยตรงๆ ขอให้มีคอนสติตูชั่น เราเองจะไม่มีความแค้นเคืองเลย ตรงกันข้ามเราจะยอมพิจารณาดูว่า จะสมควรยอมตามคำเรียกร้องของคนนั้นฤาไม่ ถ้ามีคอนสติตูชั่นได้จะยิ่งดี เพราะเรารู้สึกอยู่แล้วเหมือนกัน ว่าการที่มอบการปกครองไว้ในมือพระเจ้าแผ่นดินคนเดียวเป็นผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดนั้น ดูเป็นการเสี่ยงบุญเสี่ยงกรรมอยู่ ถ้าเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ที่มีสติปัญญา มีความสามารถ และมีความตั้งใจมั่นอยู่ว่าจะทำการให้บังเกิดผลอันดีที่สุดแก่ชาติบ้านเมืองฉะนี้แล้ว ก็จะเป็นการดีที่สุด จะหาลักษณะปกครองอย่างใดมาเปรียบปานได้ยาก แต่ถ้าแม้เจ้าแผ่นดินเป็นผู้ที่โฉดเขลาเบาปัญญา ขาดความสามารถ ขาดความพยายาม เพลิดเพลินไปแต่ในความสุขส่วนตัว ไม่เอาใจใส่ในหน้าที่ของตนฉะนี้ก็ดี ฤาเป็นผู้ที่มีน้ำใจพาลสันดาลหยาบดุร้ายและไม่ตั้งอยู่ในธรรม เห็นแก่พวกพ้องและบริวารอันสอพลอและประจบ ฉะนี้ก็ดี ประชาชนก็อาจได้รับความเดือดร้อน ปราศจากความสุข ไม่มีโอกาสที่จะเจริญได้ ดังนี้จึงเห็นว่าเป็นการเสี่ยงบุญเสี่ยงกรรมอยู่”

ทรงกล่าวถึงคุณและโทษของระบอบประชาธิปไตยว่า

“ส่วนการที่ “คอนสติตูชั่น” เป็นอันตัดความไม่แน่นอนไปได้มาก เพราะอำนาจมิได้อยู่ในมือคนๆเดียว ซึ่งแม้จะดีฤาชั่วปานใดก็เปลี่ยนไม่ได้ ประชาชนได้มีเสียงในการปกครองชาติบ้านเมืองของตนเอง เสนาบดีผู้รับตำแหน่งที่ปกครองก็รับผิดชอบต่อประชาชน จำเป็นต้องทำการให้เป็นไปอย่างดีที่สุดที่จะเป็นไปได้ เพราะถ้าแม้ว่าทำการในหน้าที่บกพร่อง ประชาชนไม่เป็นที่ไว้วางใจต่อไป ก็อาจจะร้องขึ้นด้วยกันมากๆ จนเสนาบดีต้องลาออกจากตำแหน่ง คนที่ประชาชนไว้วางใจก็จะได้มีโอกาสรับตำแหน่งหน้าที่ ทำการงานให้ดำเนินไปโดยทางอันสมควรและถูกต้องตามประสงค์ของประชาชน เช่นนี้เป็นการสมควรอย่างยิ่ง และถ้าแม้จะกล่าวไปแต่โดยทางว่าเป็นแบบแผนดีฤาไม่ คงไม่มีใครเถียงคงต้องยอมรับว่าดีทั้งนั้น แต่แบบอย่างใดๆถึงแม้ว่าจะดีที่สุดเมื่อเขียนอยู่ในกระดาษ เมื่อใช้จริงเข้าแล้วบางทีก็มีที่เสียหายปรากฏ ดังปรากฏอยู่แก่ผู้ที่ได้ศึกษาและรู้เหตุการณ์ที่เป็นไปในนานาประเทศ เพราะเหตุหลายประการ”

ทรงกล่าวถึงถึง “ประชาธิปไตย” ที่ไม่ได้อยู่ในหน้ากระดาษ ว่า

“ผู้ที่หยิบยกตัวบุคคลมาให้ราษฎรเลือกนั้น คือคณะฤาปาร์ตี้ ซึ่งมีแบ่งกันอยู่ตั้งแต่ ๒ ขึ้นไป การที่ต้องมีปาร์ตี้นั้น เพราะถ้าแม้ผู้ที่เข้าไปนั่งประชุมในสภา ต่างคนต่างพูดแสดงความคิดเห็นไปตามอัตโนมัติของตน ก็คงจะไม่มีความตกลงกันได้ในเรื่องใดเลยสักเรื่องเดียว จึงต้องใช้วิธีจัดรวมเป็นคณะ คือผู้ที่มีความเห็นพ้องกันในปัญหาสำคัญๆ รวมกันเข้าเป็นคณะฤาปาร์ตี้ เพื่อจะได้ช่วยกันลงความเห็นเหมือนๆกันมากๆในเมื่อเข้าประชุมสภา ดังนี้เป็นที่ตั้ง ครั้นเมื่อเวลาจะมีการเลือกสมาชิกเข้ามาใหม่ ต่างคณะก็ย่อมจะต้องมีความประสงค์ที่จะให้ผู้มีความเห็นพ้องกับคณะตนได้รับเลือก จึงต่างจัดหาบุคคลอันพึงประสงค์ไปให้รับเลือก และต่างคณะจึงต่างคิดดำเนินการให้คนของตนได้รับเลือก วิธีดำเนินการอันถูกต้องตามกฎหมายนั้น คือแต่งสมาชิกแห่งคณะไปเที่ยวพูดจาเกลี้ยกล่อมราษฎรให้และเห็นผลอันดีที่จะพึงมีมา โดยทางที่ให้คณะได้มีโอกาสทำการโดยสะดวก ถ้าความจริงเป็นไปเพียงเท่านี้ ก็เป็นอันไม่มีที่ติ

แต่ความจริงมิได้หมดอยู่เพียงแค่นี้ คือการเกลี้ยกล่อมมิได้ใช้แต่เฉพาะทางเที่ยวพูดจา ไม่ได้ล่อใจราษฎรด้วยถ้อยคำเท่านั้น ยังมีล่อใจโดยทางอื่นๆอีก ตั้งแต่เลี้ยงดู จัดยานพาหนะให้ไปมาโดยสะดวกและไม่ต้องเสียทุนทรัพย์ จนถึงติดสินบนตรงๆเป็นที่สุด คณะใดที่มีทุนมากจึงได้เปรียบมากอยู่

ตกลงรวบรวมใจความว่า ราษฎรไม่ได้เลือกผู้แทนของตนเพราะรู้แน่ว่าเป็นคนดี สมควรจะเป็นผู้แทนด้วยประการทั้งปวงฉะนี้เลย ความจริงเลือกบุคคลผู้นั้นผู้นี้เพราะมีผู้บอกให้เลือก ฤาติดสินบนให้เลือกเท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็นับว่าผิดความมุ่งหมายเดิมของคอนสติตูชั่น คืออำนาจมิได้อยู่ในมือประชาชนจริงๆ แต่ไปอยู่ในมือแห่งคนส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนน้อยแห่งชาติเท่านั้น แต่ถ้าคนเหล่านี้มีความตั้งใจดีอยู่ และเป็นผู้ที่มีความรักชาติบ้านเมืองของตน ก็คงจะอุตส่าห์พยายามกระทำการงานไปตามหน้าที่อันได้รับมอบไว้นั้นโดยสุจริต แต่ผู้ที่มีความติดซื่อตรงต่อชาติฝ่ายเดียว ไม่คิดถึงตนเองฤาผลประโยชน์ของตนเอง มีอยู่บ้างฤา

เข้าใจว่าถึงจะมีก็จะไม่มากปานใด คนโดยมากถึงว่าจะรักชาติบ้านเมือง ก็มักจะคิดถึงผลประโยชน์ส่วนตัวเจือปนอยู่เป็นอันมาก คงจะมีความต้องการอำนาจและต้องการผลอันจะพึงมีมาแต่การเป็นผู้มีอำนาจ ต้องการโอกาสที่จะได้อนุเคราะห์แก่ญาติพี่น้องฤาคนชอบพอกันบ้างเป็นธรรมดาอยู่”

ทรงวิจารณ์การตั้งรัฐบาลและเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยๆ

“ในขณะเมื่อปาร์ตี้ใดได้รับหน้าที่ปกครอง ฤาพูดตามศัพท์อังกฤษว่า “มีอำนาจ” (อินเพาเวอร์) ปาร์ตี้นั้นก็เลือกเอาแต่คนที่มีความเห็นพ้องกับตนไปตั้งไว้ในตำแหน่งหน้าที่ในรัฐบาล เป็นทางรางวัลพวกพ้อง และที่ได้ช่วยเหลือปาร์ตี้ในเมื่อกำลังพยายามจะหาอำนาจอยู่นั้น พอเปลี่ยนปาร์ตี้ใหม่ได้เข้าถืออำนาจ เจ้าหน้าที่ก็เปลี่ยนไปด้วยทั้งชุด ตั้งแต่ตัวเสนาบดีลงไป การเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ทำการงานของรัฐบาลทั้งชุดเช่นนี้ ถ้ายิ่งเปลี่ยนบ่อยเท่าใดก็ยิ่งชอกช้ำมากเท่านั้น การงานก็อาจที่จะเสียหายไปได้มากๆ เพราะบางทีคนพวกหนึ่งได้เริ่มคิดไว้แล้ว แต่ยังมิทันจะกระทำไปให้สำเร็จ ก็มีคนอื่นเข้ามารับหน้าที่เสียแล้ว งานการก็เท่ากับต้องเริ่มริไปใหม่”

ทรงวิจารณ์ระบอบประชาธิปไตยไว้ก่อนที่จะมีประชาธิปไตยถึง ๒๐ ปี และเมื่อปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยมา ๘๗ ปีจนถึงวันนี้ ก็ยังมีพฤติกรรมเหมือนที่พระองค์ทรงวิจารณ์ไว้ทุกอย่าง

กล่าวกันว่า ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ดีที่สุด แต่ดีที่สุดของระบอบที่มีอยู่ในขณะนี้ และก็มีประชาธิปไตยหลายรูปแบบที่เหมาะกับแต่ละประเทศ เช่น ประชาธิปไตยแบบอังกฤษ ประชาธิปไตยแบบอเมริกัน การปกครองของจีนก็ว่าเป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน

แต่ประชาธิปไตยแบบไหนจะเหมาะสมกับประเทศไทย แบบที่ใช้อยู่ในขณะนี้ที่เลือกคนเข้ามาตั้งหน้าตั้งตาจะหาแต่ผลประโยชน์ของตัวและพวกพ้อง คงรับกันไม่ค่อยจะไหวแล้ว

ที่ผ่านมาเห็นชัดแล้วว่า ผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากความเห็นอันแท้จริงของประชาชน แต่มาจาก “เพราะมีผู้บอกให้เลือก ฤาติดสินบนให้เลือกเท่านั้น” ตามที่ทรงวิจารณ์ว่าผิดความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ การเมืองไทยจึงก้าวเดินไปด้วยความยากลำบาก ต้องประสานผลประโยชน์ของกลุ่มที่เข้ามาเพื่อมุ่งหวังผลประโยชน์ ไม่ได้มีอุดมการณ์ที่จะรับใช้ประชาชน ประเทศชาติ และตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน เพียงแต่อ้างประชาชนกันเท่านั้น

แต่เราก็ยังดันทุรังเลือกตั้งกันแบบเก่าๆ เพียงแค่ให้เป็นที่พอใจของต่างชาติ
น่าจะมีระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในรูปแบบใหม่ และเหมาะสมกับประเทศไทยยิ่งกว่าระบอบที่ใช้อยู่ในวันนี้ คนไทยเราคงไม่จนปัญญา นักวิชาการทางการปกครองของเรา ประเภทที่ “ไม่เอาตำราปลูกข้าวสาลีมาปลูกข้าวเจ้า” ก็มีมากมาย ช่วยกันคิดให้เป็นเรื่องราวกันเสียที อย่าให้ประเทศชาติต้องตกอยู่ในสภาพนี้ตลอดไปเลย


กำลังโหลดความคิดเห็น