“รศ.ตระกูล” วิจารณ์การสืบทอดอำนาจ คสช.ไร้ความชอบธรรม ชูประเด็นปฏิรูปประเทศแต่กลับทำไม่ต่างจากฝ่ายทักษิณ ซ้ำสิ่งที่ทำอยู่ล้วนแต่ขัดต่อยุทธศาสตร์ชาติ-แผนปฏิรูปทั้งสิ้น ตั้งคำถามตระเวน ครม.สัญจรช่วงก่อนเลือกตั้งแจกงานงบหลายหมื่นล้านเป็นการซื้อเสียงทางอ้อมหรือเปล่า ?
วันที่ 18 มิ.ย. 62 รศ.ตระกูล มีชัย รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง “นิวส์วัน” ภายใต้หัวข้อ “บันไดการสืบทอดอำนาจ กับปัญหาความชอบธรรม”
โดย รศ.ตระกูลกล่าวช่วงหนึ่งว่า ซีกที่จะจัดตั้งรัฐบาลพยามรวมเสียงให้ได้เกินกึ่งหนึ่ง ตรงนี้ข้ามช็อตการเลือกนายกฯ ไปแล้ว เพราะ ส.ว.250 เสียงคุมได้อยู่แล้ว แต่ปัญหาคือจะตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ จึงพยายามรวมเสียงให้ได้มากที่สุด ฉะนั้นขั้นนี้เกิดกระบวนการปล่อยงูเห่า แต่ตนไม่เรียกงูเห่า ขอเรียกโสเภณีทางการเมือง คือ การขายตัวขายจิตวิญญาณ นักการเมืองเหล่านี้จะอ้างรัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองผู้แทนปวงชน จะโหวตแบบไหนก็ได้ จะคิดเฉพาะมาตรานี้ไม่ได้ ต้องดูหมวดว่าด้วยพรรคการเมือง ที่บอกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมืองที่เข้มแข็ง ฉะนั้นความสมดุลระหว่างความเป็นพรรคการเมือง กับความเป็นอิสระของ ส.ส. ในการลงมติแต่ละครั้งต้องมีความสมดุลกัน ไม่เช่นนั้นแล้วเราจะตั้งพรรคการเมืองทำไม
รศ.ตระกูลกล่าวอีกว่า การที่ พปชร.รวมตัวชิงจัดตั้งรัฐบาล มีการตั้งคำถามว่าช่วง 1 เดือนก่อนเลือกตั้ง มีการออกตระเวน ครม.สัญจรทุกพื้นที่ และแจกแผนงานโครงการ ตีเป็นงบประมาณหลายหมื่นล้านในพื้นที่ต่างๆ นั่นเป็นการซื้อเสียงทางอ้อมหรือเปล่า กกต.ก็นิ่งเฉย แต่กระบวนการเหล่านี้จะเกิดผลตามมาภายหลัง
“ความพยายามในซีก คสช. และพรรคแนวร่วม พยายามชูประเด็นปฏิรูปประเทศ แต่ลืมสิ่งสำคัญ คือสิ่งใดที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ในซีกของทั้งทักษิณ หรือยิ่งลักษณ์เคยทำ และเป็นที่มาแห่งการตั้งคำถามว่าเป็นการเมืองที่ถูกต้องหรือไม่ กลับถูกเอามาใช้เอง ตกลงเพื่อปฏิรูปหรือผลักดันยุทธศาสตร์จริงหรือ หรือเพื่ออยู่ในอำนาจเท่านั้น จากคนที่ดูดมาไม่แตกต่างจากการเมืองเมื่อก่อนเลย มันจะส่งปัญหาหลังการจัดตั้งรัฐบาลแน่นอน” รศ.ตระกูลกล่าว
รศ.ตระกูลกล่าวต่ออีกว่า หลายคนบอกให้ พล.อ.ประยุทธ์ทำตัวเลียนแบบ พล.อ.เปรม แต่ไม่ทำตาม เชิงบุคลิกภาพก็ต่างแล้ว อีกจุดคือการตัดสินใจเข้าร่วมเป็นชื่อที่ถูกเสนอโดยพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ไปสร้างความผูกพัน ตนเคยแสดงความเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ควรเข้าไปอยู่ในรายชื่อพรรคการเมือง เราอยู่ในอำนาจ 5 ปีแล้ว มีรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่ว่าเขียนมาอย่างไรก็แล้วแต่ ปล่อยให้ฝ่ายการเมืองสู้กันเอง ถ้าเมื่อสู้กันเองแล้วตกลงในการเลือกนายกฯ ไม่ได้ ส.ว.250 เสียงที่คุมอยู่ ไม่ลงเสียงให้ใคร พรรคการเมืองไหนรวมได้ 376 เสียง ก็ได้นายกฯ ไป ถ้าทำไม่ได้ก็เข้าสู่หมวดใช้บทเฉพาะการเลือกนายกฯคนนอก อาจเป็นโอกาสดีของ พล.อ.ประยุทธ์หรือใครก็ได้ แบบนั้นอาจสง่างามกว่า
แต่ภายใต้สภาวะแบบนั้นไม่ควรอยู่ยาว ควรมาแล้วชี้ให้เห็นว่าเหตุที่การเมืองเป็นแบบนี้ กติกามีปัญหาอะไร กติการัฐธรรมนูญเรื่องการเลือกตั้ง เอาองค์ความรู้ของต่างชาติมาแต่มันไม่เข้ากับบริบทของการเมืองไทย เมื่อไม่เข้า ทดลองใช้แล้วเกิดปัญหา แล้วดันทุรังตั้งรัฐบาลจะเกิดความวุ่นวาย
รศ.ตระกูล กล่าวถึงกรณีที่กรรมการสรรหา ส.ว. เกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ว่าเป็นปัญหากินเนื้อตัวเอง ทั้งในเชิงอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ แล้วยังเป็นเรื่องของการไม่มีจริยธรรมทางการเมือง ที่นายวิษณุ เครืองาม แถลงยิ่งเข้าเนื้อตัวเอง (บอกว่าไม่ใช่เรื่องของประชาชน คำสั่งตั้ง กรรมการสรรหาไม่ใช่กฎหมาย ไม่ต้องประกาศในราชกิจจาฯ) อยู่เฉยๆ จะดีกว่า
ผู้เป็นกรรมการสรรหา ทำไมต้องเอาชื่อตัวเองเข้าไปเป็น ส.ว.ด้วย มันไม่มีความจำเป็นเลย นายวิษณุบอกตอนโหวตเลือกก็เดินออกนอกห้องประชุม เอาแบบนี้มาเล่น ถูกในเชิงรายงานการประชุม แต่จริยธรรมการมืองไม่ถูก เดินหมากผิด จะอ้างว่าเข้าไปเป็น ส.ว.เพื่อคุมเกมยุทธศาสตร์ชาติ อ้างปฏิรูปประเทศหรือ ขอถามว่าตั้งแต่ตอนหาเสียงเลือกตั้งจนถึงการฟอร์มทีมตั้งรัฐบาลร่างนโยบาย เคยพูดเรื่องยุทธศาสตร์ชาติกันไหม ไม่มีพูด ทุกคนปล่อยปะละเลย ไม่อ่านยุทธศาตร์ชาติ แผนปฏิรูป ถ้าไปอ่านจะรู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ขัดต่อยุทธศาตร์ชาติด้านการเมือง ขัดต่อแผนปฏิรูปด้านการเมืองทั้งสิ้น ขัดทั้งหมด ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเมื่อมีอำนาจ ไม่อยากลงจากอำนาจ ไม่รู้จักคำว่าพอ อำนาจนั้นจะทำร้ายตัวเอง สิ่งที่เกิดตอนนี้เป็นการสะสมความไม่พอใจ แล้วจะล้นแก้วเมื่อไหร่ไม่รู้
เมื่อถามว่าจะเกิดรัฐประหารไหม รศ.ตระกูลกล่าวว่า มีโอกาสแต่ยาก เงื่อนไขต้องรุนแรงมาก แล้วสังคมไทยเวลานี้ เราจะหาบุคคลที่มีพลังมหาศาลในการกระตุกสังคมให้หยุดสิ่งเหล่านั้น เรายังไม่มี เมื่อสังคมขาดพลังที่จะกระตุก อุบัติเหตุย่อมเกิดขึ้นได้ง่ายมาก พล.อ.ประยุทธ์สามารถถอดสลักนี้ได้ ถ้าไม่ก้าวเข้าสู่การเมือง ยิ่งบอกจะเป็นหัวหน้าพรรค นั่นคือการเดินที่ผิดพลาด เพราะจะหมดสภาวะความเป็นกลาง เป็นการเมืองเต็มตัว
เกิดการตั้งคำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์จะกล้าดึงทหารมาเป็นฐานไหม แล้วทหารที่เป็นทหารอาชีพที่ไม่ต้องการให้การเมืองมาก้าวก่าย จะยอมหรือ ตนคิดว่าไม่ยอม
คำต่อคำ : บันไดการสืบทอดอำนาจ กับปัญหาความชอบธรรม : คนเคาะข่าว 18/06/2019
เติมศักดิ์- สวัสดีครับ คนเคาะข่าววันนี้เรามาวิเคราะห์การเมืองไทยที่เปลี่ยนผ่านจากยุค คสช. มาถึงรัฐบาลประยุทธ์ สมัยที่ 2 กับนักรัฐศาสตร์ วันนี้เราอยู่กับท่านรองคณบดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ตระกูล มีชัย สวสดีครับอาจารย์ตระกูล ครับ อาจารย์มองการเข้าสู่อำนาจของพลเอกประยุทธ์ ในสมัยที่ 2 อย่างไร ท่ามกลางความเคลือบแคลง ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ เรื่องความชอบธรรม แต่ทางฝั่งพลเอกประยุทธ์ ก็จะบอกว่า นี่เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยเต็มใบ อาจารย์มองยังไงครับ
รศ. ตระกูล- คือมันเป็นที่เข้าใจกันอยู่ มันเป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้วว่ามันถูกวางกำหนดไว้เป็นขั้นเป็นตอนการกำหนดตัวรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ที่มันมีบทบัญญัติไว้ว่าการร่างฉบับใหม่นั้น จะต้องมีเงื่อนไขอะไรบ้างนะครับ และก็นำไปสู่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาที่มีท่านบวรศักดิ์ พอร่างรัฐธรรมนูญของชุดอาจารย์บวรศักดิ์ นั้นเนี่ย ร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นไปตามโจทย์ที่ให้เอาไว้ ก็เลยใช้วิธีให้สภาปฏิรูปแห่งชาตินั้นล้มซะ แล้วก็ตั้งกรรมการชุดใหม่ขึ้นมา มีก็มีอาจารย์มีชัย ที่เป็นผู้ที่เขียนรัฐธรรมนูญหลังการปฏิวัติทหารมาเป็นเวลานาละ ก็เป็นโจทย์เดิม พร้อมกับบวกโจทย์ใหม่เข้าไปนะครับ แล้วปรากฏว่ากระบวนการมนการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเหมือนกระบวนการที่ ดูเหมือนอาจารย์มีชัยก็ไม่ได้ตอบโจทย์ของ คสช. ทั้งหมด ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่พูดง่ายๆ คือว่านักวิชาการหรือผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญ ยังมีจิตวิญญาณของนักวิชาการอยู่บ้าง จึงไม่ยอมทุกเรื่อง การไม่ยอมทุกเรื่องนั้นก็ส่งผลว่า ไอ้กระบวนการที่จะต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณานั้นเนี่ย ก่อนที่จะออกแสดงประชามติ มีการเพิ่ม มีการเพิ่มประเด็นคำถามนะครับ เป็นคำถามที่ตอนนั้นทุกคนก็พูดถึงกัน เกี่ยวกับเรื่องของอำนาจของ ส.ว. แต่ทุกคนนั้นก็ยังยอม ยอมปล่อยให้ตัวร่างรัฐธรรมนูญนั้นผ่านประชามติ เป็นที่มาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไปเพิ่มบทเฉพาะกาล ในการใช้อำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ฉะนั้นกระบวนการเหล่านี้ทั้งหมด จนกระทั่งถึงรัฐธรรมนูญเนี่ย เป็นกระบวนการที่คาดกันอยู่แล้วว่า เขานั้นจะเดินเข้าสู่อำนาจจากทหาร ผู้ทำการรัฐประหาร ผู้มาบริหารประเทศ และต้องการที่จะบริหารต่อ โดยอ้าง อ้างว่าจะต้องดำเนินการตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ ก็ใส่ยุทธศาสตร์ชาติ เข้าไว้ในรัฐธรรมนูญ อ้างว่าจะต้องปฏิรูปประเทศเพราะทุกคนเรียกร้องการปฏิรูปประเทศ ก็ใส่การปฏิรูปประเทศ ไว้ในรัฐธรรมนูญนะครับ ในกระบวนการเหล่านั้นเป็นการสร้างภาพของการต้องการที่จะมาทำงาน พร้อมๆ กับสร้างกระบวนการ บันไดกี่ขั้นๆ ว่าจะเดินเข้าสู่อำนาจ อันนี้เห็นชัดเจน แต่ว่าไอ้ทั้งๆ ที่เห็นเนี่ยนะครับ ทั้งประชาชน ทั้งฝ่ายการเมืองเองก็ยังมีความหวังว่า ถ้าเผื่อมีการเลือกตั้ง มันจะเกิดอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง มันไม่น่าจะเป็นแบบนี้ อย่างน้อยที่สุดก็เกิดความหวังว่า อย่างน้อยมันก็ลดทอนอำนาจของ คสช. ลงนะ ไม่อยากให้ คสช. ใช้อำนาจมาตรา 44 ยังไงขอใช้กระบวนการในการเลือกตั้ง เป็นการลดทอนอำนาจและเป็นการปลดล็อกอำนาจตรงจุดนี้ ทุกคนหวังอย่างนั้นนะ แต่ปรากฏว่าหลังเลือกตั้ง พิษสงของตัวรัฐธรรมนูญปี 60 ทั้งในเรื่องของกระบวนการเลือกตั้งแบบผสม และก็ตัวบทเฉพาะกาลที่ คสช. วางไว้เนี่ยมันแพลงฤทธิ์ มันแพลงฤทธิ์ แพลงฤทธิ์แรกมันแพลงฤทธิ์จากวิธีการเลือกตั้งนั้น ทุกพรรคการเมืองนั้นวางยุทธศาสตร์การเลือกตั้งตัวเองผิด โยเฉพาะพรรคเพื่อไทยนะครับ ผิด ผิดในแง่ที่ว่าหนึ่งคุณแตกพรรคเพื่อหวังที่จะเก็บคะแนนบัญชีรายชื่อ แต่บังเอิญมันก็เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ซึ่งก็รู้กันอยู่มันเกิดขึ้นเพราะอะไรนะครับ พอเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง คะแนนเสียงมันก็เลยแตก คะแนนเสียงเสียงแตก ปรากฏว่ามันแตกกลับไปที่พรรคอนาคตใหม่ มันเกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ พรรคอนาคตใหม่นั้น ทุกคนคาดผิดหมดเลย แม้แต่นักวิชาการก็คาดผิด ผมก็คาดผิด เราคาดว่าเขาจำะได้ 20 - 30 ที่ ปรากฎว่า โอ้โห เขาได้บัญชีรายบชื่อเยอะมาก มากที่สุดคือ คือโผแรกที่เขาดูเขาได้ 89 ขณะที่พรรคเพื่อไทย ได้ ส.ส. เขต 130 กว่า แต่ส.ส. บัญชีรายชื่อตกหมด ตกหมดเพราะอะไร เพราะคะแนนเสียง ที่เขาได้คะแนนดิบ ได้ต่ำเกินไป ทำให้ตัวแกนนำสำคัญของพรรคหลุดหมดเลย ฉะนั้นพรรคเพื่อไทย ถึงแม้จะเข้มแข็งยังไงก็แล้วแต่ แต่คนที่เป็นแกนนำไม่เข้าสภาเนี่ยนะครับ เพราะฉะนั้นในซีกกลุ่มนี้ เกิดการพลิกผัน แต่ว่าการพลิกผัน มันไม่พลิกผันทั้งหมด ปรากฏว่า คะแนนที่มันเสียไปของกลุ่มเพื่อไทย กับ กลุ่มไทยรักษาชาติ มันมาตกที่อนคตใหม่ ทุกคนมองว่าคะแนนดิบในวันเลือกตั้ง หลังเลือกตั้ง ทุกคนมองออกว่า ถ้าคิดแบบนี้ๆ พรรคกลุ่มข้างนี้น่าจะมาขนาดนี้ เสียงของสภาผู้แทนราษฎรน่าเกินกึ่งหนึ่ง ถึงเกิดกระบวนการปิดสวิซต์ ส.ว. ใช่ไหม คุณธนาธรบอกปิดสวิซต์ ส.ว. เพราะคิดว่าคะแนนเสียง ส.ส. เกินครึ่งนย่าจะเกิดความชอบธรรม ก็เลยเกิดกระบวนการการต่อสู้เรื่องความชอบธรรม ระหว่างพรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุด กับพรรคที่อ้างว่าได้คะแนนเสียงป็อบปูล่า มากที่สุด เกิดการต่้อสู้กัน ในกระบวนการการต่้อสู้นั้น ยื้อกันนาน ยื้อกันนานควบคู่กับกระบวนการการทำงานของ กกต. ซึ่งก็ต้องยอมรับนะครับว่า กกต. ชุดนี้ใหม่ทั้งหมด ใน กกต. 7 คนมีคุณธวัชชัย เทอดเผ่าไทย คนเดียว ที่เคยเป็นผู้ว่าฯ และรู้กระบวนการการเลือกตั้ง ส่วนคนอื่น ไม่รู้เลยแต่ว่าการทำงานของ กกต. ครั้งนี้ผมถือว่่าหย่อนความสามารถ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ กกต. จำนวนมากนั้นเนี่ย ก็เคยผ่านการเลือกตั้งมาก่อน การบริหาร การจัดการเลือกตั้งสร้างปัญหา ทำให้้เกิปัญหาดความชอบธรรมของการนับคะแนนเสียงตามมา แต่อย่างไรก็ตามทีความชอบธรรมของการนับคะแนนเสียง เนื่องจากอำนาจของรัฐธรรมนูญและกฏหมายประกอบเนี่ย ให้ กกต. นั้น กกต. เอง ก็ลุกลี้ หันซ้ายหันขวา หันซ้ายหันขวา จนกระทั่งกล้าตัดสินใจออกมามันเป็นอย่างนี้ ผ่านด่านนี้ผ่านไป ด่านที่สอง คะแนนระบบบัญชีรายชื่อเกิดการโต้เถียงกันทุกพรรค ว่าสูตรไหนผิด สูตรไหนถูก ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าแปลกมาก เรื่องน่าแปลกมากว่า ไอ้กระบวนการเลือกตั้ง ถึงจะเป็นเรื่องใหม่ก็จริง แต่เรื่องนักวิชาการคิดมาตั้งแต่ปี 55 - 56 ที่สถาบันพระปกเกล้า ก็นักกฎหมายมหาชน สำนักเยอรมัน สำนักอะไรต่างๆ ทุกคนกำลังคิดระบบนี้มาทั้งหมดเลย
เติมศักดิ์- คะแนนไม่ทิ้งน้ำ
รศ. ตระกูล- คะแนนไม่ทิ้งน้ำ แต่ทุกคน ผมยอมทุกคน ทุกคนมีความหวังดี นักวิชาการมีความหวังดี ไม่ต้องการให้คะแนนทิ้งน้ำ และไม่ต้องการให้พรรคการเมืองใดได้คะแนนน มากเกินความจริง แต่ปรากฏว่าพอมาใช้แล้วเนี่ย
เติมศักดิ์- พอมาใช้ เป็นยังไงบ้างครับ อาจารย์
รศ. ตระกูล- มันเกิดปัญหาการเขียนกฎหมายประกอบโดยเอาสูตรคณิตศาสตร์ของการเลือกตั้ง การนับคะแนนมาเขียนเป็นตัวกฎหมาย มันทำให้เกิดการวินิจฉัยและการตีความแตกต่าง มันก็เกิดการโต้เถียง และก็เกิดการคนกลุ่มหนึ่ง รวมทั้งพรรคการเมืองที่สูญเสีย ที่นั่งไป เกิดการไม่ยอมรับ ว่าคะแนนเสียงอย่างเช่นพรรคอนาคตใหม่ ตัวเองเคยคิดว่าได้ 89 ลดเหลือ 80 และพรรคเล็กๆ ที่ได้คะแนนไม่ถึง 70,000 เนี่ย ได้มา 1 - 1 - 1 หมดเลย อันนี้ก็เกิดปัญหาก็เลยทำให้คนคิดว่า ซีกที่จะพยายามจะตั้งรัฐบาล คุณจะพยายามรวมเสียงให้เกินกึ่งงหนึ่ง ตรงนี้นข้ามช็อตไปแล้วนะ ข้ามช็อตการเลืกอนายกฯ เพราะการเลือกนายกฯ นั้นยังไงก็แล้วแต่ ส.ว. 250 เสียงเนี่ย เขาคุมได้อยู่แล้ว เลือกนายกฯ ไม่มีปัญหา โจทย์นี้เขาอ่านออกว่าเลือกนายกฯ ไม่มีปัญหา แต่ปัญหาว่าจะตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ เขาจึงพยายามรวมเสียงให้ได้มากที่สุด เพราะฉะนั้นในกระบวนการตรงนี้ บันไดขั้นนี้ ทุกคนมองว่าเกิดกระบวนการของการพยายามที่จะให้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง แต่พยายามเท่าไหร่ พยายามเต็มที่น่าแปลกมีข่าวปล่อยงูเห่ามา ผมเองผมพูดในรายการทุกรายการว่า ผมไม่เรียกงูเห่านะ
เติมศักดิ์- อากาจารย์เรียกอะไรครับ
รศ. ตระกูล- โสเภณีทางการเมือง ปี 11 12 ใช้คำแรงยิ่งกว่าโสภณีทางกาเรมืองอีก เขาใช้คำว่า กะหรี่การเมืองครับ ขออภัยท่านผู้ชมครับ กะหรี่ทางการเมือง คือการขายตัว
รศ.ตระกูล- เปลี่ยนท่าที เปลี่ยนบุคลิกภาพ เปลี่ยนบทบาทตัวเอง ออกครม. สัญจรในทุกพื้นที่ และแจกโครงการ แผนงานโครงการ ตีเป็นเงินก็หลายหมื่นล้าน ไปยังพื้นที่ต่างๆ คำถามแบบนี้ มันจะมีคำถามตามมาว่า นั้นเป็นลักษณะของการซื้อเสียงทางอ้อมรึเปล่า แต่กกต. เองไม่ตัดสิน กกต. ก็นิ่งเฉย เพราะเขาถือว่าเขาอยู่นอกกฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญที่วางห้ามเอาไว้ แต่ขบวนการเหล่านี้มันจะเกิดผลตามมาภายหลัง จะสังเกตได้ว่า เมื่อพรรคพลังประชารัฐจะเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ มันก็เกิดวิกฤตการณ์ไทยรักษาชาติ ช่วงนั้นมันเกิดวิกฤตมากว่าจะเอาไงกันแน่ ซึ่งคำตอบทางการเมืองตรงนี้ มันน่าจะมีคำตอบ แต่ทุกคนไม่อยากจะบอกคำตอบ ว่ามันเกิดอะไรขึ้นทางการเมือง มันถึงเกิดเหล่านี้ขึ้น ความพยายามในซีกรัฐบาลคสช. กับพรรคพลังประชารัฐ และก็พรรคแนวร่วมพปชร. ที่พยายามสับเปลี่ยนประยุทธ์ เพราะพยายามจะชูประเด็นปฏิรูปประเทศ การต้องการพลเอกประยุทธ์ แต่ว่าลืมสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือว่า สิ่งใดที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ ในซีกของทักษิณก็ดี ในซีกของคุณยิ่งลักษณ์ก็ดี หรือสมาชิกในสภาฯ ซีกนั้นก็ดี เคยทำ และเป็นที่มาของการตั้งเครื่องหมายคำถามว่ามันเป็นการเมืองที่ถูกต้องหรือไม่
เติมศักดิ์- สิ่งเหล่านี้มัน
รศ.ตระกูล- มันกลับมาใช้ของตัวเอง มันทำให้คนที่เคยสนับสนุน ถอยหลัง แต่การถอยหลังของคนสนับสนุนไม่ได้ไปเชียร์อีกฝ่ายหนึ่งนะ แต่ว่าคุณเล่นเกมการเมืองแบบนี้ คุณเล่นเกมเพื่อการปฏิรูป หรือเพื่อผลักดันตามยุทธศาสตร์จริงหรือ เพื่อที่จะต้องการอยู่ในอำนาจเท่านั้น จากองค์ประกอบของผู้ที่อยู่ในพรรคพลังประชารัฐ มันก็เกิดการดูดใช่ไหม กลุ่มสามมิตร กลุ่มนั้นกลุ่มนี้เต็มเลย ซึ่งเราก็รู้ว่ากลุ่มนี้คือใคร แล้วกลุ่มขนาดกลางเช่น กลุ่มพรรคภูมิใจไทย ก็เป็นกลุ่มเดิมที่มาอยู่ ทำให้เวลามองการเมืองในเวลานี้ มันไม่แตกต่างจากการเมืองยุคก่อน มันจะส่งผลปัญหาตามมาหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลแน่นอน
เติมศักดิ์- อะไรที่จะตามมา อย่างตอนนี้ถ้าพูดถึงการแบ่งโควต้า แบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีที่ไม่ลงทั้งในพรรคร่วม ไม่ลงตัวทั้งในพรรคแกนนำ อาจารย์ว่ามันจะนำไปสู่ปัญหาอะไรในภายหลัง
รศ.ตระกูล- มันเหมือนทุกรัฐบาล ที่เป็นรัฐบาลผสม รัฐบาลผสมทุกรัฐบาลเจอปัญหานี้ ไม่ต้องเปรียบเทียบกับรัฐบาลที่นายกฯ มาจากการเลือกตั้งนะ รัฐบาลของคณะท่านพล.อ.เปรม การจัดตั้งรัฐบาลผสมยุคแรกเลยปี 2523 ก่อนเกิดเมษาฮาวาย พล.อ.เปรม ท่านยึดกระทรวงหลักๆ ด้านความมั่นคงกับด้านเศรษฐกิจเอาไว้ กลาโหม มหาดไทย กระทรวงการคลัง ที่สำคัญยึดไว้ ส่วนกระทรวงอื่นๆ ปล่อยให้พรรคร่วมรัฐบาล ปล่อยตามโควต้า การจัดตั้งรัฐบาลนั้น ปล่อยให้นักการเมือง ไปดำเนินการกันเอง ระบบรัฐบาลผสมของเรา ถ้ากรณีของนายกฯ คนกลาง อย่างพล.อ.เปรม กลาโหมแน่นอนพวกนักการเมืองไม่อยากไปยุ่งหรอก มหาดไทยยังไงก็แล้วแต่นายกฯ ก็ต้องคุม เพราะว่ากลไกระบบบริหารราชการของไทย ถ้าเผื่อนายกรัฐมนตรีหรือกลุ่มแกนหลักไม่คุมมหาดไทย ไม่อาจที่จะคุมกลไกการบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายราชการแผ่นดินปี 34 เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจบริหารราชการส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคสูงมาก ตรงนี้คือคำตอบที่จะให้ทุกคนได้มองว่าทำไมแกนนำ หรือคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีไม่สามารถปล่อยมหาดไทยได้ทุกยุคทุกสมัย เพราะเขาใช้อำนาจในฝั่งราชการส่วนภูมิภาค คืออย่าลืมว่าผู้ว่าฯ ในจังหวัดต่างๆ มีอำนาจในการบริหารราชการตามตัวบท กฎหมาย นอกเหนือจากกองทัพภาคแล้ว ฝ่ายทหารมีแล้ว กอ.รมน. มีแล้ว ยังคุมมหาดไทยได้อยู่ ดังนั้นด้านนี้เขาคุมไว้หมดแน่ พล.อ.เปรมคุมด้านนี้ ด้านการคลัง ท่านต้องคุม เพราะมันเกี่ยวข้องกับเสรีภาพทางเศรษฐกิจ แต่กระทรวงอื่นๆ ท่านยอม ดังนั้นการตั้งระบบรัฐบาลผสมในช่วงเกิดปัญหาในแง่ที่ว่า ให้โควต้ากระทรวง โควต้ากระทรวงคือโควต้ารัฐมนตรีว่าการ มันแบ่งเกรดกระทรวงมาตั้งนานแล้ว A B C B+ อะไรต่างๆ แล้วแต่ยุคแล้วแต่สมัยนะครับ บางยุคสมัยก่อนกระทรวงพาณิชย์บทบาทจะไม่มากนัก กระทรวงศึกษาบทบาทเยอะ ตอนยุคสมัยเรื่องงบประมาณ พอยุคต่อมา พอเศรษฐกิจเฟื่องฟู ดูเรื่องอำนาจเศรษฐกิจ อำนาจตามกฎหมายที่มีอำนาจในการอนุมัติอนุญาต พอในยุคนี้เรื่องพลังงาน เรื่องดิจิทัล เรื่องอุสาหกรรม เรื่องคมนาคม ที่มันขยายใหญ่มากขึ้นกว่าเดิม จนกระทรวงคมนาคมขึ้นเกรด A มาตลอด เพราะว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานงบประมาณมหาศาลมาก และการให้สัมปทานต่างๆ กระทรวงคมนาคมอันนี้ถือเป็นกระทรวงใหญ่มากในเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นพอให้โควต้ารัฐมนตรีว่าการ รัฐมนตรีช่วยก็กระจายไปพรรคต่างๆ ปรากฏว่าเกิดปัญหา เกิดปัญหาในยุคหนึ่ง มีปัญหารัฐมนตรีว่าการพรรคหนึ่ง รัฐมนตรีช่วยพรรคหนึ่ง ดูเหมือนจะเป็นกระทรวงคมนาคมนี่แหล่ะ รัฐมนตรีว่าการให้รัฐช่วยคุมกรมอุตุนิยมวิทยา ไม่ยอมให้คุมทางหลวง ไม่ยอมให้คุมกรมใหญ่ๆ รัฐมนตรีช่วยที่อยู่ต่างพรรคกันก็ไม่พอใจ เกิดบาดหมางกัน มาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเลย มันก็เกิดรอยร้าว แต่ว่าพรรคการเมืองเหล่านั้นรู้หรือไม่ว่ารัฐมนตรีว่าการเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในกระทรวง จะให้รัฐมนตรีช่วยอะไรก็ได้ ตามที่ตัวเองจะมอบหมาย รัฐมนตรีช่วยคุณไม่มีอำนาจอะไรเลยนะ เช่นรัฐบาลผสมนี้ หลายคนอยากได้โควต้ารัฐมนตรีช่วยมหาดไทย เพื่ออะไร หลายคนบอกว่าอยากจะเป็นคนส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะมีเงินหนุนงบประมาณหลายล้านบาท เป็นเงินอุดหนุนเฉพาะกิจที่จะให้ท้องถิ่น และเงินอุดหนุนเฉพาะกิจตรงนี้พูดง่ายๆ คือเงินที่สามารถสะสมสร้างทรัพยากรทางการเมืองได้ เงินที่สามารถไปหยอดในฐานเสียงได้ เพราะอำนาจเตรียมที่คุณนะ ถามว่าถ้าเผื่อคนที่เป็นรัฐมนตรีมหาดไทยไม่คุมกรมที่ไว้เอง ให้พรรคอื่นที่เป็นรัฐมนตรีช่วยนะ
เติมศักดิ์- เกิดอะไรขึ้นครับ
รศ.ตระกูล- รัฐมนตรีมหาดไทยคนนั้นก็ถือว่าอ่อนหัด ในกระทรวงมหาดไทยมันมีกรมการปกครอง โอเค คุณมีเรื่องบริหารราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงคุมผู้ว่าฯ กรมส่งเสริมการเมืองส่วนท้องถิ่น 3 กรมใหญ่ รัฐมนตรีว่าการจะไม่ปล่อย ยกเว้นมีข้อตกลงกันว่าจะปล่อย นอกนั้นเป็นกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมพัฒนาชุมชน กรมป้องกันบรรเทาสาธารณะภัยก็แบ่งกันเป็นกลุ่ม ดังนั้นกระทรวงทุกกระทรวงจะมีลักษณะแบบนี้ ไอ้รัฐบาลผสม นอกจากทะเลาะกันเรื่องกระทรวงเกรด A บุคคลที่เป็นรัฐมนตรีแล้ว ในกระทรวงเดียวกัน ถ้าเกิดเห็นว่าถ้าต่างพรรคการเมือง คุณแบ่งงานให้ผมยังไง
เติมศักดิ์- ว่าการกระทรวงหนึ่ง ช่วยว่าการกระทรวงหนึ่ง
รศ.ตระกูล- ในกระทรวงเดียวกัน ว่าการกระทรวงมาจากรัฐมนตรีช่วยว่าการอีกพรรคหนึ่ง ว่าการ อย่างเช่น กระทรวงคมนาคม พรรคภูมิใจไทย คุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ ถ้าเป็นไปตามโพลนะ คุณศักดิ์สยามคุมกรมทางหลวงชนบท กรมทางหลวง คุมระเบียบหมดเลย และให้คนเล็กๆ คุมกรมเล็กๆ ให้ถามว่าพรรคร่วมจะพอใจไหม เพราะว่าระบบบริหารรัฐบาลคณะรัฐมนตรีของไทย ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะบอกว่า คณะรัฐมนตรีนั้นรับผิดชอบร่วมกัน ในกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินนายกรัฐมนตรีคุมทั้งหมด รัฐมนตรีว่าการสามารถกำหนดนโยบาย แต่ต้องสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ปัญหามันก็จะเกิดขึ้นว่า รัฐมนตรีว่าการแต่ละคนจะสร้างรัฐบาลในกระทรวงของตัวเองเข้าไปหรอ คณะรัฐมนตรีที่พล.อ.ประยุทธ์จะมาคุมเนี่ย จะขีดความสามารถอย่างพล.อ.เปรมไหม สมัยก่อนพล.อ.ใช้สิ่งที่ทุกคนยอมรับว่า ถ้ามีปัญหา ท่านเอาโครงการขอวกระทรวงต่างๆ ที่พรรคการเมืองเสนอขึ้นมา และมีปัญหาเรื่องชอบธรรม ปัญหาคนวิพากษ์วิจารณ์ ส่งให้สภาพรรค ตอนนั้นสภาพรรคคนที่เป็นมือเป็นไม้ของท่านพล.อ.เปรม คือ ท่านอาจารย์เสนาะ อูนากูล ท่านอาจารย์เสนาะเป็นคนตรง ส่งสภาพรรค สภาพรรคก็เก็บเรื่อง เขาเรียกว่าพอส่งสภาพรรคเมื่อไหร่ เรื่องนั้นถูกดอง พล.อ.เปรมใช้วิธีนี้
เติมศักดิ์- ครับ เดี๋ยวพักกันต่อ แล้วเดี๋ยวมาต่อกันเรื่องการบริหารราชการในยุคพลเอกเปรม แล้วในยุคพลเอกประยุทธ์ 2 แตกต่างอย่างไร เดี๋ยวสักครู่หนึ่งกลับมาติดตามต่อนะครับ
เติมศักดิ์- กลับมาคนเคาะข่าวช่วงที่ 2 นะครับ เรามาวิเคราะห์การกลับเข้าสู่อำนาจในสมัย 2 ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อสักครู่นี้เราได้สอบถามอาจารย์ตระกูล มีชัย เรื่องการต่อรองในการฟอร์มครม. และอาจารย์ตระกูลได้พูดถึงยุคพล.อ.เปรม อยากให้อาจารย์ตระกูลขยายความนิดหนึ่งครับว่า ความแตกต่างของยุคพล.อ.เปรม กับยุคของพล.อ.ประยุทธ์ มีความแตกต่างยังไงครับอาจารย์
รศ.ตระกูล- คือของท่านพลเอกเปรมนั้น ทุกพรรคการเมืองที่สนับสนุนพร้อมใจกันยกตำแหน่งให้พลเอกเปรม พลเอกเปรม ยุคแรกนะครับ ก่อนเกิดเหตุการณ์เมษาฮาวายมียังเติร์กสนับสนุน และยังเติร์ก ถูกรับการแต่งตั้งเป็ นส.ว.หมด ค่าการประจำทั้งหมดโดยมีตังหลักก็คือ พิศาล มูลศาสตรสาทร เป็นหัวเรือใหญ่เลย เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย เพราะฉะนั้นพลเอกเปรม มีกองทัพ มีข้าราชการพลเรือนทั้งหมด มีพรรคการเมืองสนับสนุนเต็มที่ และท่านพลเอกเปรมนั้น ท่านเป็นคนที่คนยอมรับตั้งแต่มาเริ่มลงตำแหน่งในเรื่องของความจงรักภักดี ในเรื่องของความซื่อสัตย์ เพราะท่านเป็นนายทหารของกองทัพภาคที่2 ต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ตลอด และบุคลิกภาพของท่านนั้น ท่านนิ่ง ท่านสุขุม อันนี้ลักษณะของหลายอย่างนั้น พล.อ.ประยุทธ์นั้นต่างกัน ไม่ถึงกัน และพรรคการเมืองเองนั้น มันมีการต่อสู้และขัดแย้งกันเหมือนกัน มีกลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังพรรคการเมืองที่แตกต่างกัน เหมือนกัน เช่น ในยุคของท่านพล.อ.เปรมคือการต่อสู้กันระหว่างพรรคกิจประชาคม คุณบุญชู โรจนเสถียร กับพรรคชาติไทย ซึ่งตอนนั้นก็มีท่านพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และก็มีกลุ่มธุรกิจอะไรต่างๆ อยู่ด้วย ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจในยุคพล.อ.เปรมจะไม่เฟื่องฟูถึงขนาดนี้ มันก็มีปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาความขัดแย้งที่มีการต่อสู้กัน ยกตัวอย่าง ที่โด่งดังและอับอายคนมากเลยนะ ร่วมเกือบ 40 ปีเลยนะ คือเทเรนอัปยศ ท่านผู้ชมหลายคนอาจจะจำได้ ถ้าวัยรุ่นเดียวกับผม เทเรนอัปยศ คือการแย่งชิงผลประโยชน์ในการซื้อน้ำมัน ที่พรรคชาติไทยคงเรื่องนี้อยู่ สั่งซื้อน้ำมัน คุณบุญชูในฐานะที่รับผิดชอบ บอกว่าเป็นรองนายกฯ เศรษฐกิจภาพรวมยังไม่รู้ ถึงกลับว่าส่งโทรเลขยับยั้งการซื้อน้ำมันจากซาอุดิอาระเบีย มันเป็นโด่งดังอับอายมาก เพราะมันเป็นเรื่องการแย่งชิงผลประโยชน์ ผลตอบแทนที่ได้จากการสั่งซื้อน้ำมัน นอกจากนั้นก็มีกระทรวงพาณิชย์เรื่องโควต้าเรื่องการส่ง การส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูป การส่งมันสำปะหลังต่างๆ พวกนี้เป็นการต่อสู้แย่งชิงผลประโยชน์กัน พล.อ.เปรมปล่อยให้พรรคการเมืองต่อสู้กัน ถ้าถึงจุดที่ตกลงกันไม่ได้ ท่านพลเอกเปรม ท่านถึงจะลงมา ท่านอยู่ในระดับที่ท่านมอง ท่านจะไม่มายุ่งกับพรรคการเมือง แต่ว่าถ้าเผื่อมันมีอะไรที่ทำให้ตัวพลเอกเปรม เสียหาย เช่นภาพพจน์เกี่ยวกับการทุจริต การคอรัปชัน ท่านคงเข้าไปแทรกแซงและเข้าไปหยุดยั้งตรงจุดนั้น แต่ว่ายุคของพลเอกเปรม ในยุคนั้นมันเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นแล้วก็ภาพลักษณ์นักการเมืองมาถอนทุน นักการเมืองมาทุจริต คอรัปชัน กลุ่มยังเติร์กไม่แฮปปี้ กลุ่มยังเติร์กไม่พอใจ กลุ่มยังเติร์กถึงขนาดมาพูดที่คณะรัฐศาสตร์หลายคน ว่าอย่างนี้แล้วมันปล่อยไว้ไม่ได้หลังจากนั้นอีกไม่กี่เดือน ยังเติร์กก็ออกฤทธิ์จริงๆ นายทหารยังเติร์กยศ พันตรี พันโท เอง มาพูดในวิชา วิชาของท่านอาจารย์ท่านหนึ่ง ที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องทหาร การเมือง แล้วตอนหลังท่านก็ไปเป็นที่ปรึกษาให้กับ พลเอกชวลิต ท่านก็รู้ดี มาพูดที่คณะในคลาสเรียน พูดในชั้นเรียนมาพูดให้พวกนิสิตฟัง แต่ว่าความแตกต่างของพลเอกประยุทธ์ในขณะนี้ พลเอกประยุทธ์ ไม่เหมือนพลเอกเปรม หลายคนพยายามจะบอกให้พลเอกประยุทธ์ ทำตัวเลียนแบบพลเอกเปรม แต่พลเอกประยุทธ์ไม่ทำตาม ในเชิงบุคลิกภาพก็ต่างกันแล้ว และในเรื่องของอีกจุดหนึ่งคือการตัดสินใจเข้ามาร่วมเป็นชื่อที่ถูกเสนอโดยพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งไปสร้างความผูกพัน เคยมีการเสนอ ผมก็เคยแสดงความคิดเห็นว่า พลเอกประยุทธ์ ไม่ควรที่จะเข้าไปอยู่ในรายชื่อของพรรคการเมือง เราอยู่ในอำนาจมา 5 ปีแล้ว มีรัฐธรรมนูญแล้ว ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะเขียนมายังไงก็แล้วแต่ปล่อยให้ฝ่ายการเมืองเขาเล่นกันเอง เขาสู้กันเองภายใต้กติกาตรงนั้น เมื่อเขาสู้กันเองเราก็มีสมมุติฐานอยู่ข้อหนึ่งว่า ถ้าเผื่อเขาสู้กันเองแล้วเขาตกลงกันไม่ได้ เขาตกลงในการเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ส.ว. 250 เสียง ที่คุณคุมอยู่ ตอนเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ว. 250 คุณไม่ลงเสียงให้ใคร ถ้าคุณไม่ลงเสียงให้ใครเลย พรรคการเมืองถ้าคุณสามารถรวมกันได้ 376 เสียง คุณก็ได้นายกไป ถ้าคุณรวมไม่ได้พยายามทุกสิ่งทุกทางทำไม่ได้ มันก็จะมาสู่หมวดที่ว่าเลือกนายกฯ ไม่ได้แล้ว ขอใช้บทเฉพาะกาลขอมติของรัฐสภาว่า เอาบัญชีข้างนอกไหม เพราะฉะนั้นพอบัญชีข้างนอกไหม อาจจะเป็นโอกาสดีของพลเอกประยุทธ์ ของใครก็ได้ที่มีชื่อโผหลุดออกมาทั้งหมดว่าจะเชิญมาเป็นนายกฯ บนสถานการณ์ของการเมืองที่มันตกลงกันไม่ได้หลังการเลือกตั้ง
เติมศักดิ์ - อันนั้นอาจจะสง่างามกว่าหรือเปล่าครับ
รศ.ตระกูล- อาจจะสง่างามกว่า และอาจจะเป็นทางออกว่าช่วงเลือกตั้งเมื่อมีการเลือกตั้งแล้วภายใต้กติกาแบบนี้การเมืองมันไม่ลงตัวก็ต้องให้คนกลางมา และคนกลางมานั้นเนี่ยภายใต้สภาวะแบบนั้นไม่ควรอยู่ยาว ควรมาแล้วก็ชี้ให้เห็นว่าเหตุที่การเมืองเป็นแบบนี้กติกามันมีปัญหาอะไร คือกติกาในรัฐธรรมนูญเรื่องระบบการเลือกตั้งต้องยอมรับเป็นของใหม่เอาความรู้องค์ความรู้ของต่างประเทศมาใช้ แต่มันไม่เข้ากับบริบทของการเมืองไทย เมื่อมันไม่เข้าและทดลองใช้แล้วมันเกิดปัญหา ผมคิดว่าการดันทุรังตั้งรัฐบาลบนพื้นฐานแห่งปัญหามันจะทำให้เกิดความวุ่นวาย ถ้าเผื่อเล่นในเกมที่ว่าให้มีการเลือกตั้งแล้วประชาชนเขาเรียนรู้การเมืองเขารู้ว่าคืออะไร ก็เมื่อนักการเมืองตกลงกันไม่ได้เอาคนกลางมา คนกลางใครก็ได้นะไม่จำเป็นต้องพลเอกประยุทธ์ พลเอกประยุทธ์ ประกาศเลยว่าผมขออยู่เฉยๆ เพราะคุณเป็นมา 5 ปีแล้ว อันนี้ผมว่าจะสง่างามกว่าแต่เมื่อเขาตัดสินใจจะสู้ต่อก็ต้องเจอวิบากกรรมทางการเมือง
เติมศักดิ์ - และยิ่งตอนนี้ คนกำลังรู้สึกมากเรื่องกระบวนการสรรหา ส.ว. ชื่อของกรรมการสรรหากับชื่อของ ส.ว. ที่ออกมามันเกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เกิดปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลด้วย อาจารย์คิดว่าปัญหานี้จะบานปลายแค่ไหน
รศ.ตระกูล- ปัญหานี้ เป็นปัญหาที่กินเนื้อตัวเอง ทั้งในเชิงอำนาจของ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังเป็นเรื่องของพูดง่ายๆ ก็คือว่าความไม่มีจริยธรรมทางการเมือง คือสิ่งที่รองนายกวิษณุ มาแถลง ยิ่งเข้าเนื้อตัวเอง ยิ่งพูดยิ่งเข้าเนื้อ
เติมศักดิ์ - ไม่ใช่เรื่องของประชาชน คำสั่งตั้งกรรมการสรรหาไม่ใช่กฎหมาย ไม่จำเป็นต้องประกาศในราชกิจจาฯ
รศ.ตระกูล- เข้าเนื้อตัวเองครับ คือไม่ควรพูดอยู่เฉยๆ ไปดีกว่า แต่ว่าในกรณีที่ผู้เป็นกรรมการสรรหาคราวก่อนหน้านี้มีอยู่แล้วเขาพอรู้อยู่แล้ว ผู้ที่เป็นกรรมการสรรหาทำไมต้องเอาชื่อตัวเองเข้าไปด้วย คำถามคือทำไม มันไม่มีความจำเป็นเลย 5-7 คน เข้าไปเป็น ส.ว. ท่านที่มีชื่ออยู่แล้วตัวเองเป็นกรรมการสรรหาด้วยถ้ามีความรู้สึกในเรื่องของประโยชน์ทับซ้อน ท่านอาจารย์วิษณุ บอกว่า ไม่ทับซ้อนหรอกตอนโหวตเลือกก็เดินออก นั้นมันเรื่องแทคติกในการประชุมทุกครั้ง บันทึกรายงานการประชุมเลยว่านาย ก ได้เดินออกห้องประชุมตอนโหวตไม่เกี่ยวข้อง คือเอาแบบนี้มาเล่น มันก็อาจจะถูกในเชิงของตัวหนังสือรายงานการประชุม แต่ถามว่าในเรื่องของจริยธรรมทางการเมืองมันถูกไหม ไม่ถูก มีความจำเป็นไหม คือคนในระดับนี้แล้วจำเป็นต้องไปนั่งอยู่ใน ส.ว. ไหม ผมคิดว่าเดินหมากผิด ไม่มีความจำเป็นเลย
เติมศักดิ์ - อ้างว่าเพื่อมาคุมเกม จำเป็นไหมครับ
รศ.ตระกูล- ไม่จำเป็น คนอื่นก็มี จะคุมเกมอะไรครับ คุมเกมยุทธศาสตร์ชาติเหรอ จะคุมเกมเรื่องการปฏิรูปที่อ้างกันมาอย่างนั้นเหรอ ผมถามว่าตั้งแต่ตอนหาเสียงเลือกตั้งมาจนกระทั่งถึงการฟอร์มรัฐบาล เตรียมที่จะร่างนโยบาย เคยพูดถึงเรื่องยุทธศาสตร์ชาติกันไหม ไม่ได้พูด ทุกคนปล่อยปละละเลยไม่ได้อ่านยุทธศาสตร์ชาติหรือการปฏิรูป แผนปฏิรูป ยุทธศาสตร์ชาติแผนปฏิรูปถ้าไปอ่านจริงๆ จะรู้เลยว่าสิ่งที่พวกท่านกำลังทำอยู่นั้นขัดต่อยุทธศาสตร์ชาติด้านการเมือง ขัดต่อแผนปฏิรูปด้านการเมืองทั้งสิ้น ขัดทั้งหมด มันทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่าเมื่อมีอำนาจ ไม่อยากลงจากอำนาจกลัวจะสูญเสีย ถ้ามีความคิดแบบนี้ ไม่รู้จักคำว่าพอในอำนาจ อำนาจนั้นจะมาทำร้ายตัวเราเอง
เติมศักดิ์ - มันจะเกิดขึ้นเร็วช้าแค่ไหนครับ ถ้าดูจากวิธีการขั้นบันไดต่างๆ ที่เขาทำให้เกิดการสืบทอดอำนาจ อายุของระบอบ คสช. ที่สืบทอดมามันจะพังทลายลงง่ายไหมครับ
รศ.ตระกูล- คือ สิ่งที่เกิดขึ้น ผมคิดว่ามันเป็นการสะสมความไม่พอใจ แต่สะสมเยอะแล้วนะ มันจะสะสมไปเรื่อยๆ แล้วมันจะล้นแก้วเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลนี้สมมุติว่าคุณจะ จัดตั้งรัฐบาลเสร็จเรียบร้อย เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณหลังการประชุมอาเซียนเสร็จเรียบร้อย รับตำแหน่ง สิ่งที่ต้องตามมาภายใน 15 วัน คุณแถลงนโยบาย ปัญหาในการร่างนโยบาย คำถามก็คือว่า เอานโยบายกัญชาของภูมิใจไทย ระหว่างภูมิใจไทยหาเสียงคุณอนุทินพูดหรือใครต่อใครพูดเรื่องนโยบายกัญชา พลเอกประยุทธ์ ไม่เอาด้วยหลายเรื่องนะ ไม่เอาด้วย ไม่เห็นด้วย ถามว่าเรื่องนโยบายกัญชาอย่างเดียว คุณอนุทินบอกจะคุมกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจะผลักดัดกฎหมาย ถามว่ากฎหมายที่ดูเรื่องกัญชานั้นไม่ใช้กฎหมายสาธารณสุขอย่างเดียวนะกฎหมาย ป.ป.ส. ใครคุม ป.ป.ส. ป.ป.ส. สังกัดนายกรัฐมนตรี กระทรวงไหนคุม นายกคุม ถ้าเผื่ออีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมแก้กฎหมายยาเสพติด ถามว่านโยบายกัญชาจะเขียนอย่างไรเพื่อที่จะแถลงต่อสภาอันนี้อันที่หนึ่ง 2 นโยบายที่ไม่เหมือนกันและต่างฝ่ายต่างต้องแย่งชิงนโยบายสวัสดิการแห่งรัฐ ทุกคนพูดเหมือนกันหมดทุกพรรคพูดเหมือนกันหมด สังเกตไหมการเลือกตั้งที่ผ่านมาใช้นโยบายนี้หาเสียง โปรยยาหอมหมดเลย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้คุณก็ไปโจมตีประชานิยม แต่คนนี้บอกไม่ใช่ประชานิยมเป็นประชารัฐ เป็นประชาสังคม เป็นสวัสดิการแห่งรัฐ ถามว่าโดยเนื้อแท้มันต่างกันไหม ไม่ต่างกัน เห็นไหมครับ ยังไม่ทันเข้าร่วมรัฐบาลกระทรวงการคลังบอกว่าต้องเตรียมหางบประมาณหลายหมื่นล้านในการที่จะรองรับตรงจุดนี้ แต่ในเชิงนโยบายถามว่า พลังประชารัฐจะหยิบนโยบายของตัวเองที่หาเสียงมา 7-10 ข้อ นโยบายเชิงของสวัสดิการสังคม ว่าตัวเองหาเสียงไว้เป็นอย่างนี้ จะให้เท่านั้น ให้เท่านี้ ถามว่าภูมิใจไทยพูดไหม ประชาธิปัตย์พูดไหม ทุกคนพูด แล้วนโยบายแบบนี้ถ้ามันเหลื่อมกันคุณจะเอานโยบายแบบไหน ประชาธิปัตย์จะยอมให้พรรคพลังประชารัฐเสนอนโยบายอย่างเดียวเหรอ อย่าลืมนะนโยบายนี้ต้องการฐานเสียง ต้องการคะแนนนิยมฐานเสียง ประชาธิปัตย์จะยอมไหม ประชาธิปัตย์ก็ไม่ยอม ดังนั้นการตกลงในเชิงนโยบายเหล่านี้ แค่นี้ก็ขบกันแล้ว ผมก็ยังไม่รู้เลยว่าเขาจะเขียนนโยบายออกมาอย่างไร หรือจะเป็นเรื่องแบบใครคุมกระทรวงไหนก็เสนอนโยบายกระทรวงนั้นมาแบ่งเค้กกันอยู่แล้ว ถ้าอย่างนั้นเวลาอภิปรายในเรื่องของนโยบาย ถึงแม้ว่าฝ่ายค้านขุนพลของพรรคเพื่อไทยจะไม่มี มีไม่เยอะ เพราะตัวเด็ดๆ ไม่ได้เข้าสภาเลยแต่อนาคตใหม่ นักพูดทางการเมืองไม่เคยอยู่สภาก็จริง แต่ก็พูดนอกสภา ถึงแม้ว่าพรรคเพื่อไทยก็ตามที คนที่เข้ามานั้นก็อาจจะทำการบ้านจี้จุด ผมบอกว่าถ้าพรรคฝ่ายค้านอภิปรายนโยบายโดยไม่เล่นลิ้น ไม่พยายามทำตัวเป็นดาวสภาไม่พยายามให้โวหารเล่นเอาแต่เนื้อๆ ตีแต่เนื้อๆ ยุ่ง
เติมศักดิ์ - จุดอ่อนเยอะไปหมด
รศ.ตระกูล- เยอะไปหมด เพราะว่านโยบาย ถ้าเกิดว่านโยบายขาดเอกภาพ พลเอกประยุทธ์ อาจจะมานั่งอ่าน ถ้าคนเขาศึกษานโยบายจริง เขาเห็นนโยบายมาเปรียบเทียบกับนโยบายพรรคหาเสียง จับปะติดปะต่อทำการบ้านดีๆ แล้วรัฐบาลบนพื้นฐานแห่งนโยบายที่ขาดความเป็นเอกภาพ ยุ่ง และความสำคัญอยู่อีกจุดหนึ่งว่าขุนพลที่เป็นรองนายก คือนายกอาจจะมาอ่านนโยบายเสร็จก็อาจจะนั่งฟังสักพักหนึ่งก็ออกไปข้างนอก ถ้ายังนั่งอยู่อาจจะมีเสียงกระทบกระแทก อันนี้ก็ต้องการสร้างขันติธรรม กดอารมณ์ อันนี้นายกต้องมีแล้ว แต่รองนายกที่จะคุม รองนายกคุมด้านเศรษฐกิจจะตอบโต้แทนไหม ปัญหาก็คือว่า อาจารย์สมคิดเป็นรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจอยู่ กระทรวงด้านเศรษฐกิจทั้งหลายขึ้นตรงต่อรองนายกไหม มันต่างพรรคกันนะ ความเป็นเอกภาพแห่งนโยบายจะเกิดปัญหาว่า นโยบายด้านสังคม นโยบายด้านความมั่นคงไม่มีปัญหา เพราะว่าถ้าพลเอกประวิตร ท่านอยู่ ท่านก็คุมหมด พลเอกอนุพงษ์ อยู่ คุมหมดด้านความมั่นคง แต่นโยบายด้านสังคม รองนายกก็ยังใช้สูตรเดิมก็คือว่า หัวหน้าพรรคของพรรคที่ร่วมนั้นเป็นรองนายกฯ บวกขั้วกับรัฐมนตรีว่าการ เขสจะใช้วิธีว่ารองนายกฯของพรรคใด ดูแลกระทรวงไหนก็ตอบโต้แทน มันก็จะเกิดเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้แบ่งเป็นภาคภูมิใจไทย ภาคประชาธิปัตย์ ภาคพลังประชารัฐ ภาคของพล.อ.ประยุทธ์ ภาคของชาติไทยพัฒนาติ่งนิดหน่อย และภาคของกลุ่มต่ำสิบ ถ้าจะมีนะตัวนี้ตัวแปรเหมือนกัน คนจะเห็นความเอกภาพ ถ้าผมเป็นฝ่ายค้าน ผมเจาะภาพรวมแห่งความเป็นเอกภาพของรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบาย ชี้ให้เห็นเลยว่ารัฐบาลนี้ ถ้าไม่มีความเป็นเอกภาพในการขับเคลื่อนไม่ต้องพูดถึงยุทธศาตร์ชาติ ไม่ต้องพูดถึงแผนการปฏิรูป คุณจะนำพาประเทศไปทางไหน
เติมศักดิ์- เขาพูดกันว่ารัฐบาลนี้อย่างเก่งก็ไม่ถึงปีอาจจะถึงปี อาจจะแค่ไม่ถึงปลายปีด้วยซ้ำไป อาจารย์เห็นด้วยไม่ครับ
รศ.ตระกูล- มันมีเงื่อนไขอย่างนี้ครับ พ.ร.บ.งบประมาณ แต่ว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563 ที่ต้องเข้าอาจต้องเลยไปนิดหน่อย อย่างไรก็แล้วแต่รับบาลต้องให้ผ่าน คำว่าต้องให้ผ่านตามเงื่อนไขของการต่อสู้การแย่งชิงตำแหน่งกัน ไม่ใช่ระหว่างพรรคแล้ว ในพรรคเดียวกันพรรคพลังประชารัฐกลุ่มอีสาน กลุ่มใต้ชักไม่พอใจแล้ว กลุ่มต่ำสิบไม่ได้ตำแหน่ง คุณพิเดชอ้าวไม่ได้คุมกระทรวงด้านทรัพยากรเลยยังไงอยู่ เขาจะใช้การต่อรองในเชิงงบประมาณ มันจะเกิดการต่อรองกันในเชิงงบประมาณว่าจะจัดงบประมาณอย่างไร กระบวนการที่ใช้อยู่คือคณะกรรมาธิการงบประมาณ รัฐมนตรีว่กาารกระทรวงการคลัง คือพรรคพลังประชารัฐใช่ไหมเป็นประธานกรรมาธิการก็จัดแบ่งแปลญัติมาเป็นกองกลาง ส.ส.แปลญัติไม่ได้อยู่แล้ว ส่งสัญญาณฝ่ายรัฐบาลคือเอากระทรวงนั้น คุณไปแปลญัติมา คือการแบ่งเค้ก เพื่อให้ผ่าน เพราะฉะนั้นเสียงปริ่มน้ำอาจใช้วิธีนี้ และใช้งบประมาณซื้อใจพรรคเล็กๆ เพื่อให้ผ่าน แต่พอผ่านไปแล้ว ผมคิดว่าอภิปรายงบประมาณงวดนี้ ถ้าตามณุปแบบการทำงานประธานสภาของท่านชวน หลีกภัย ท่านชวนคงปล่อยให้พูดเต็มที่ อาจมีการแปลงบประมาณกันแบบ 3 วัน 3 คืน เลยก็ได้ ยาวเลยก็ได้นะ ท่ายปล่อยเต็มที่ คือ พล.อ.ประยุทธ์เจอแล้ว เสนองบประมาณ ไม่ใช่แบบ สนช.นะ เสนอปั๊บผ่านรวดเลย แต่นี้สับจริงอัดจริง และอาจเจอปัญหาการมาตัดพ้อเรื่องงบประมาณจากคนที่บอกว่าจะร่วมรัฐบาล อันนั้นถ้ามีเมื่อไหร่ก็แสดงว่าเริ่มส่งสัญญาณ ส่งสัญญาณอยู่ 2 ลักษณะ คือ เห้ยขอฉันมั้ง 2.เมื่อทำแบบนี้ก็ไม่ไว้หน้ากันจบกัน แต่ยังไงก็แล้วแต่งบประมาณนี้ผ่าน แต่ศึกครั้งต่อไปถ้างบประมาณบริหารไปสักพักแล้ว พรรคฝ่ายค้านจะล้มรัฐบาลเลยไหม ผมคิดว่ายังไม่ล้มถ้ายังไม่แก้กฎกติกา
เติมศักดิ์- นั่นหมายถึงรัฐธรรมนูญ
รศ.ตระกูล- ถ้าล้มพลเอกประยุทธ์ก็พร้อมจะยุบสภา ถ้ายุบสภาภายใต้กฎกติกาที่เป็นอยู่ก็มาแบบเดิม ส.ว. 250 เสียงก็ยังเลือก พล.อ.ประยุทธ์อยู่ ดังนั้นก่อนที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องเล่นเกมแก้รัฐธรรมนูญให้ได้ก่อน พรรคประชาธิปัตย์ก็จะหยิบยกประเด็นขึ้นมาเลย นโยบายรัฐบาลเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ คำถามนี้จะเป็นคำถามที่เป็นก้างตำคอประชาธิปัตย์ ประชาธิปัตย์ บอกว่าให้ใส่นโยบายการแก้รัฐธรรมนูญแต่แก้อะไรยังไม่รู้ แก้เมื่อไหร่ ระยะใกล้ระยะยาวระยะไกล ประชาธิปัตยืเสนอมานี้เพื่ออ้างความชอบธรรมบ้าง ได้รับคำตอบแล้วจึงร่วมรัฐบาล แต่ฝ่ายค้านเขาไม่เล่นด้วย ฝ่ายค้านรุกหนัก ฝ่านค้านก็รู้อยู่ว่ารุกหนักภายใต้กติกาของหมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมันแก้กันไม่ได้เลย เขาเล่นเกมไหน เล่นเกมประชาชนระดมประชาชนหาเสียงประชาชนไม่ใช่แค่ 50,000 เสียง จะระดมเป็นล้านๆคน ให้ประชาชนลงเสียงมาเพื่อขอแก้รัฐธรรมนูญ ดังนั้นการเมืองนอกสภาจะเป็นการเมืองนอกสภารณรงค์เรื่องการขอแก้รัฐธรรมนูญ ทำอย่างเต็มที่และจะทำได้อย่างเกิดความชอบธรรมในแง่ที่ว่ากลไกและรูปแบบของรัฐธรรมนูญที่เป็นอยู่ที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้สิ่งเหล่านี้ มันทำให้เจอรัฐบาลแบบนี้
เติมศักดิ์- สังคมก็อาจเกิดฉันทามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
รศ.ตระกูล- สังคมจะหันมามองกติกา เพราะเห็นแล้วว่าความวุ่นวายของระบบและกลไกทางการเมือง ขณะนี้ถึงว่า พล.อ.ประยุทธ์จะมีกองทัพ ทั้งกองทัพหนุนหลังอยู่แต่ความชอบธรรมทางการเมือง ในการบริหารประเทศภายใต้กลไกทั้งหมด พาตรงนี้มันเดินไปกระท่อนกระแท่น เสียงเพียง 250 กว่า ถึงแม้ว่าคุณจะซื้อพวกโสเภณีทางการเมืองเข้ามามาสนับสนุนได้บางส่วน มันไม่ถาวร มันจะอยู่ไม่ยาวและพร้อมจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง เรื่องกฎหมายไม่ผ่านสภาได้ง่ายมาก
เติมศักดิ์- ความสัมพันธ์ระหว่าง พลเอกประยุทธ์กับกองทัพ บางคนบอกขาลอยแล้ว แต่อาจารย์มองอย่างไรครับ
รศ.ตระกูล- เรามองดูผู้นำทหารในอดีตถ้าเพื่อคุณมีอำนาจและมีบารมีเพียงพอ อาจจะยึดโยงอยู่ได้ อย่างเช่น กรณีของท่าน พลเอกเปรม หรือท่านพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ จนกระทั่งมาถึงยุคนี้ และยุคนี้เองก็ตั้งคำถามว่าคนที่จะเป็นฐานจริงๆ แล้ว ท่านพล.อ.ประวิตรหรือเปล่า หรือทางท่าน พลเอกประยุทธ์เอง แต่ว่าเงื่อนไขในเวลานี้ คำถามก็เกิดการตั้งคำถามว่า ถึงแม้ว่า ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.สูงสูดมายืนเข้าแถวเรียงกันพร้อมที่จะสนับสนุนมันไม่เคยปรากฎมาก่อนในการเมืองไทยในช่วงที่จะมีการเลือกตั้ง ไม่เคยปรากฎมาก่อน เคยเกิดปรากฎการณ์แบบนี้ที่ในยุคของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ออกมากดดันมานั่งออกรายการทีวี แต่นี้เขาไปที่ราบ 11 บ้าง ที่อะไรบ้าง แล้วมาผนึกกำลังกัน พร้อมสนับสนุนตั้งคำถามว่ามันมีสถานการณ์อะไร ถึงคุณต้องมาออกในช่วงก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง มันไม่มีอะไรบ่งสัญญาณต่อว่าต่อไปจะมีการเลือกตั้ง คุณต้องมายืนบอกว่าพร้อมที่จะสนับสนุนก็ทำให้เกิดความคิดว่าเอกภาพมีจริงหรือ เอกภาพมีเฉพาะผู้นำเหล่าทัพเท่านั้นหรือนี่ประการที่ 1 ประการที่ 2 ถ้าความชอบธรรมทางการเมืองยังมีอยู่มันไร้ความชอบธรรม เช่น รัฐบาลนี้บริหารประเทศแล้วไร้ประสิทธิภาพไม่อาจที่จะขับเคลื่อนนโยบายไม่อาจจะทำงานอย่างมีเอกภาพได้ แต่หลังแถลงนโยบายไปแล้ว การทำงานมันขับเคลื่อนไม่ได้มันติดขัดและอีกฝ่ายกำลังชี้ประเด็นว่ามันเกิดขึ้นจากปัญหาจากตัวสร้างโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญมีปัญหาทั้งหมด ความชอบธรรมของประชาชนส่วนใหญ่เกิดเห็นพ้องด้วย ความชอบธรรมในระบบมันจะไม่เกิดขึ้น ถ้าบนพื้นฐานของความชอบธรรมในระบบที่เกิดขึ้น กองทัพจะกล้ามายืนยันไหม ออกมาแถลงจะสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อย่าลืมนะสมัยท่านพลเอกเปรม รัฐธรรมนูญปี 2521 ช่วง ที่จะหมดบทเฉพาะกาลมันเกิดวิกฤตการณ์ที่จะแก้รัฐธรรมนูญ พล.อ.อาทิตย์ กําลังเอก ออกวิทยุรายการเฉพาะกิจว่าจะแก้รัฐธรรมนูญขยายบทเฉพาะกาลออกไป เกิดแรงต้านจากฝ่ายปัญญาชนนิสิต นักศึกษา และนักการเมือง จนกระทั่งพล.อ.อาทิตย์ต้องถอย ในช่วงนั้น พลเอกอาทิตย์เป็น ผบ.ท.บ. และ ผบ.สูงสุด อำนาจสูง เพราะฉะนั้นบรรยากาศในอดีต ประวัติศาสตร์ทางการเมืองในอดีต อำนาจทางกองทัพไม่ใช่เป็นอำนาจเด็ดขาดอำนาจเดียว ยิ่งในยุคนี้ เวลาผ่านไปเกือบ 40 ปี แล้วโซเชียลมีเดีย กองทัพเองก็มาพูดว่าโซเชียลมีเดียมีพลังอำนาจยิ่งกว่าอาวุธคนรู้หมด คนรู้หลากหลาย คนเรียนรู้ทั้งข้อเท็จจริงและข่าวลวงข่าวหลอกทั้งหมดเลย พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าให้เอาจริงเอาจังต่อไอ้พวกข่าวเหล่านี้ ถามว่าคุณหยุดยั่งได้จริงหรือ ไม่มีทาง เพราะฉะนั้นเสี่ยงภัยมากนะถ้ากองทัพจะเล่นบทอะไรบางอย่าง
เติมศักดิ์- บรรทัดสุดท้ายจริงๆ อาจารย์ สั้นๆ อาจารย์คิดว่าการรัฐประหารยังมีโอกาสเกิดขึ้นไหมครับ
รศ.ตระกูล- มีแต่ยาก
เติมศักดิ์- มีโอกาส
รศ.ตระกูล- มีโอกาสแต่หลังรัฐประหารแล้ว ใช้เครื่องหมายคำถาม
เติมศักดิ์- เงื่อนไขที่ทำให้เกิดมันมี
รศ.ตระกูล- เงื่อนไขต้องเป็นเงื่อนไขที่รุนแรงมาก สังคมไทยในเวลานี้ เป็นสังคมที่ เราจะหาบุคคลที่มีพลังมหาศาลไปกระตุกสังคมให้หยุดสิ่งเหล่านี้ เรายังไม่มี เราหายไป ในเมื่อสังคมเราขาดพลังที่จะกระตุก อุบัติเหตุมันเยอะ มันเกิดขึ้นได้ง่ายมาก
เติมศักดิ์- ซึ่งตัว พล.อ.ประยุทธ์เองก็สามารถเป็นคนที่ถอดสลักระเบิดเวลานี้ได้เหมือนกัน
รศ.ตระกูล- ถ้าไม่ก้าวเข้าสู่กาเรมือง ยิ่งข่าวบอกจะเป็นหัวหน้าพรรค นั่นคือการเดินที่ผิดพลาด
เติมศักดิ์- ทำไมผิดพลาดครับ
รศ.ตระกูล- คุณก้าวเป็นหัวหน้าพรรคเสร็จคุณหมดสภาวะของการกลางแล้วนะ และหากคุณก้าวเป็นหัวหน้าพรรคคุณ คุณเป็นการเมืองเต็มตัว ทุกพรรคเล่นเต็มที่ ทุกพรรคจะหันไปก่อนการเลือกตั้งที่คุณไปโปรยเงินทั้งหมด คุณสร้างความชอบธรรมไหม จะเกิดการตั้งคำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์จะกล้าดึงทหารมาเป็นฐานไหม จะเกิดคำถามว่าทหารที่เป็นทหารอาชีพโดยแท้ๆที่ไม่ต้องการให้การเมืองมาก้าวก่าย พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าตรงนี้ไม่ใช่ทหารแล้วเป็นนักการเมืองแล้ว ในเมือ่เป็นนักการเมืองแล้วจะไปดึงสถาบันทหารมาเกี่ยวข้องด้วย ถามว่าคนในกองทัพที่เป็นทหารอาชีพยอมหรือ ผมคิดว่าทหารอาชีพไม่ยอม
เติมศักดิ์- วันนี้ขอมุมมองอาจารย์ตามนี้ก่อนนะครับ
รศ.ตระกูล- ครับ
เติมศักดิ์- โอกาสหน้าเราได้มาคุยเรื่องการเมืองของรัฐบาลประยุทธ์ 2 กันต่อนะครับ อาจารย์ครับ ขอบคุณมากนะครับอาจารย์
รศ.ตระกูล- สวัสดีครับ
เติมศักดิ์- คนเคาะข่าวลาไปก่อนนะครับ สวัสดีครับ