ฝรั่งที่เข้ามาเห็นผู้หญิงไทยเมื่อ ๓๐๐ ปีก่อน ย่อมรู้สึกแปลกใจที่แตกต่างจากผู้หญิงยุโรปอย่างสิ้นเชิง ทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน กิริยามารยาท การแต่งกาย แม้แต่การอาบน้ำ ซึ่ง ไดแอน แอล อูเมโมโต นำไปเขียน และ สุทธินี ยาวะประภาษ เคสเตน แปลไว้ในหนังสือ “วัฒนธรรมไทย” ฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๖ จึงขอความนำมาเล่าต่อ เพื่อให้เห็นภาพของสังคมไทยในยุคนั้น
ข้อเขียนนี้กล่าวถึงบันทึกของ ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผู้เดินทางมาจากดินแดนของคนใส่เสื้อผ้าหลายต่อหลายชั้นเพื่อทำให้ร่างกายอบอุ่น ย่อมจะรู้สึกประหลาดใจในการแต่งตัวเรียบง่ายของคนสยาม กล่าวคือผู้หญิงสยามสวมผ้าซิ่นรัดเอวเพียงอย่างเดียวเพื่อปกปิดร่างกาย ผู้หญิงในตระกูลสูงมีฐานะ อาจมีผ้าคล้องไหล่ลงมาปกปิดหน้าอกแล้วตวัดปลายทั้งสองข้างไปข้างหลัง เนื้อผ้ามักจะเป็นผ้ามัสลินธรรมดา ส่วนผ้าไหมปัก หรือผ้าลินินสีต่างๆ จะใส่กันได้ก็ต่อเมื่อพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ ผู้หญิงมีสกุลนิยมผ้าซิ่นสีดำและผ้าคล้องไหล่เป็นผ้ามัสลินสีขาว ลาลูแบร์มิได้เห็นว่าการเปลือยอกเป็นเรื่องหยาบโลนเมื่อวัฒนธรรมไทยเป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนสยามจะพิถีพิถันเป็นพิเศษในการปกปิดส่วนต่างๆของร่างกายที่วัฒนธรรมอำนวยให้ปิดบัง ลาลูแลร์เล่าว่าคนสยามเห็นทหารฝรั่งเศสแก้ผ้าลงไปอาบน้ำในแม่น้ำถึงกับร้องลั่นว่าเป็นเรื่องบัดสี หยิบผ้าให้คนฝรั่งเศสเสียยกใหญ่
เรื่องอาบน้ำ ไม่ใช่ศิลปะที่ได้รับการนิยมชมชื่นในประเทศฝรั่งเศสในศตวรรษที่ ๑๗ แต่เป็นเรื่องสำคัญยิ่งในเขตทรอปิคอย่างสยาม คนสยามไม่เพียงแต่จะอาบน้ำ ๓-๔ ครั้งต่อวันเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นเมื่อไหร่ก็ตามที่ออกนอกบ้านจะต้องอาบน้ำก่อน ในกรณีนี้คนสยามจะประแป้งตามหน้าอกเพื่อแสดงให้เห็นว่าเพิ่งอาบน้ำมาหยกๆ ผู้หญิงจะใส่น้ำอบน้ำปรุง ทาขี้ผึ้งหอมที่ริมฝีปากจนดูซีดขาวกว่าปกติ นอกจากนี้ยังต้องสระผมกับน้ำมันหอมอันเป็นธรรมเนียมที่ลาลูแบร์เห็นในหมู่ชาวสเปน ผิดแต่ว่าคนสยามจะสางสยายด้วยตนเอง และคนสเปนไม่สางผม
ในเมื่อลาลูแบร์คุ้นอยู่กับการทำผมฟูฟ่อง ใส่ผมปลอมหนาเตอะอยู่ในราชสำนักฝรั่งเศส ลาลูแบร์จึงรู้สึกฉงนฉงายกับทรงผมสยามทั้งชายหญิงที่ตัดสั้นเหนือหู ใต้ลงไปโกนเสียราบเรียบ เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ก็มีเพียงสร้อยคอเครื่องรางห้อยพระพุทธรูป แหวนสวมตั้งแต่นิ้วกลางลงไปจนถึงนิ้วก้อยทั้งสองมือ โดยจะสวมกี่วงก็สุดแต่เจ้าตัวจะเห็นสวยงาม
ถึงแม้ว่าผู้หญิงอยุธยาจะไม่ได้ใช้เครื่องเขียนหน้าเขียนตาทาโหนกแก้มแบบผู้หญิงฝรั่งเศส แต่ก็มีเครื่องสำอางในแบบของตนเอง เป็นต้นว่าทาเล็บมือแดงโดยสกัดน้ำยาจากข้าวผสมน้ำมะนาวและใบไม้ชนิดหนึ่ง ผู้หญิงสยามติดบุหรี่และเคี้ยวหมาก เรื่องเคี้ยวหมากนี่กล่าวกันว่าเป็นธรรมเนียมที่สูงส่ง ทำให้เกิดธรรมเนียมอื่นๆตามมากับการกินหมากมากมาย การกินหมากทำให้ริมฝีปากแดง เปลี่ยนสีฟันเป็นสีดำ ลาลูแบร์เล่าว่าเมื่อผู้หญิงอยุธยาเห็นรูปผู้หญิงฝรั่งเศสปากแดง ถึงกับอุทานว่าที่ฝรั่งเศสคงมีหมากพันธุ์ดีกว่าสยามเป็นแน่แท้
ในความคิดของคนสยาม ความสวยงามและความสะอาดต้องขึ้นอยู่กับการย้อมฟันให้ดำสนิทด้วยการกินหมาก แล้วอมมะนาวเปรี้ยวจัดเพื่อให้ฟันอ่อนตัวสัก ๒-๓ ชิ้น จากนั้นถูด้วยเขม่าดำของมะพร้าวเผา ทำอยู่อย่างนี้ประมาณ ๒-๓ วัน ในช่วงนี้จะกินอาหารแข็งและเผ็ดไม่ได้เลย กระนั้นฟันก็มิได้ดำสนิทตลอด ต้องหมั่นใช้กรรมวิธีนี้อยู่เรื่อยๆในลักษณะนี้ เป็นธรรมดาอยู่เองที่ฟันย่อมผุกร่อนก่อนอายุขัย ยังสงสัยกันอยู่ว่าเศรษฐีอยุธยาจะยอมใส่ฟันปลอมสีดำที่รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นำมาใช้เป็นของฟู่ฟ่าในศตวรรษที่ ๑๙ หรือเปล่า
ลาลูแบร์มีชีวิตอยู่ในกรุงศรีอยุธยาประมาณ ๒ เดือน ให้ความเห็นว่าการผิดประเวณีเป็นเรื่องยากมากสำหรับผู้หญิงสยาม ซึ่งตรงข้ามกับผู้หญิงฝรั่งเศสโดยสิ้นเชิง ลาลูแบร์เปรียบเทียบกับผู้หญิงในประเทศของตนแล้ว ลงความเห็นว่า เหตุที่ทำให้ผู้หญิงสยามแสนบริสุทธิ์ ก็เพราะไม่มีชีวิตหรูหราในสังคม ไม่มีเสื้อผ้าสวยๆงามๆใส่ ไม่ได้ไปดูหนังดูละครที่ไหน ผู้หญิงสยามนั้นนอกจากจะไม่มีโอกาสมีชีวิตเสเพลอย่างผู้หญิงฝรั่งเศสแล้ว ก็ยังไม่มีความปรารถนาในชีวิตเช่นนั้นด้วย ผู้หญิงระดับสูงเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน นานๆจะไปเยี่ยมญาติหรือออกไปวัด นอกจากผู้หญิงสยามยังต่างจากผู้หญิงมุสลิมหรือฮินดูที่ไม่ต้องคลุมหน้า และเดินไปไหนมาไหนได้บ้าง ผู้หญิงสยามเห็นว่าการมีเสรีภาพเป็นเรื่องน่าอาย หากสามีจับได้ว่าภรรยาล่วงประเวณี มีสิทธิเข่นฆ่าและจับภรรยาไปขายได้ เช่นเดียวกับที่ว่าพ่อขายลูกสาวให้เป็นโสเภณีได้ถ้าลูกสาวผิดประเวณี
ผู้หญิงคือสมบัติของผู้ชาย ผู้ชายจะมีภรรยากี่คนก็ได้ โดยยกย่องเพียงคนเดียวขึ้นเป็นภรรยาหลวง ลูกภรรยาหลวงมีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับมรดกเท่าเทียมกัน ผิดจากประเพณีฝรั่งเศสที่เฉพาะบุตรชายคนโตเท่านั้นที่จะได้รับมรดก อย่างไรก็ตามมโนคติของคำว่ามรดกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่แน่นอนเหมือนมรดกในประเทศฝรั่งเศสสมัยศตวรรษที่ ๑๗ ในสยามมรดกตกทอดมักเป็นสิ่งของ ด้วยเหตุว่าที่ดินทั้งหมดเป็นสิทธิของพระเจ้าอยู่หัว ใช้พระราชอาญาสิทธิ สั่งขาย ให้ หรือริบได้ หากต้องพระราชประสงค์ โดยไม่นำพาต่อกฎหมาย คนส่วนมากจึงไมนิยมสะสมสมบัติ บางทีก็ซุกซ่อนไว้มิให้ใครล่วงรู้ กล่าวกันว่า แม้แต่บ้านก็เป็นสิ่งไม่จีรัง เพียงแต่พระเจ้าอยู่หัวประสงค์จะยิงปืนผ่านไปในบริเวณนั้น บ้านจำนวน ๓ หลังก็ราบพนาสูรภายในพริบตา ภรรยาน้อยและลูกๆแม้จะไม่มีสิทธิในมรดก แต่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของมรดก หากทายาทใจดีอาจได้แบ่งสมบัติบ้าง หากโชคร้ายก็จะถูกขายทอดตลาดไป ลูกสาวภรรยาน้อยมักมีคนซื้อไปเป็นภรรยาน้อยอีกช่วงหนึ่ง
นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งในมุมมองของคนยุโรปที่เข้ามาเห็นสังคมไทยเมื่อ ๓๐๐ ปีก่อน ย่อมจะมีบางอย่างทำให้ประหลาดใจ แต่คนไทยอ่านแล้วก็ประหลาดใจเหมือนกัน เพราะบางอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้ อย่างพระเจ้าแผ่นดินยิงปืนใส่บ้านราษฎร คนมาอยู่แค่ ๒ เดือนย่อมมองได้ไม่ทั่ว บางอย่างก็ไปเก็บคำบอกเล่าระบายสีมาบันทึก อย่างไรก็ตามก็พอให้เห็นภาพสังคมของเราในยุคนั้น ซึ่งไม่ค่อยปรากฏในพงศาวดารที่บันทึกแต่เรื่องราวของราชวงศ์และเหตุการณ์บ้านเมือง ไม่ได้บันทึกวัฒนธรรมประเพณีของชาวบ้าน ที่สำคัญคือคนไทยไม่ชอบบันทึก
เหมือนชาวยุโรป เราจึงได้เรื่องราวจากคนยุโรปที่เข้ามาแล้วไปเขียนหนังสือขายไว้มาก แต่บางอย่างก็มีความไม่เข้าใจ บางอย่างก็ใส่ไข่ให้มีรสชาติ จึงต้องใช้วิจารณญาณกันตามสมควร