ภาพ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) เข้าช่วยเหลือ โลมา เกยตื้น ก่อนจะนำตัวมาดูแลที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งพังงา
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. เพจ "อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง " ได้โพสต์รูปภาพเจ้าหน้าที่จาก อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) เข้าช่วยเหลือโลมาที่มาเกยตื้นอยู่บริเวณริมหาด บริเวณทางไปหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ลป.3 (ปาง) ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ในสภาพมีชีวิต
เจ้าหน้าที่จึงได้เร่งให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น พยายามนำกลับลงสู่ทะเล แต่ปรากฎว่า ทะเลมีคลื่นทะเลแรงมาก โลมาจึงไม่สามารถว่ายออกจากฝั่งได้ และเริ่มหมดแรง จึงได้ประสานศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดภูเก็ตและศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งพังงา และได้นำโลมาไปส่งมอบให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งพังงาดูแล
จากการตรวจสอบ เบื้องต้นเป็นโลมาชนิดโลมาปากขวด มีแผลถลอกเล็กน้อย 2 แห่ง บริเวณปลายปากและครีบด้านบน และพบรอยแผลคล้ายมีดบาดบริเวณใต้ตาข้างขวา 1 แห่ง วัดขนาดตัวได้กว้าง 10 ซม. ยาว 180 ซม.
ต่อมา ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ได้โพสต์ข้อความให้ความรู้ เกี่ยวกับการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลที่มาเกยตื้น โดยได้ระบุข้อความว่า
"ผมนำภาพชุดนี้ของกรมอุทยานมาให้เพื่อนธรณ์ดู เพราะน่าจะมีประโยชน์ต่อการช่วยสัตว์ทะเลเกยตื้น เผื่อใครไปเจอเข้า เริ่มจากเจอน้องเข้ามาหมดแรงริมฝั่ง ชาวบ้านรีบแจ้งเจ้าหน้าที่อุทยาน เจ้าหน้าที่พยายามช่วยให้กลับลงไปทะเล คลื่นแรง น้องโลมาไม่มีแรง ระหว่างรอผู้เชี่ยวชาญ นำขึ้นฝั่ง ราดน้ำให้เรื่อยๆ อย่าสัมผัสถูกตัวสัตว์โดยไม่จำเป็น ผู้เชี่ยวชาญมาดู ใส่ถุงมือตรวจอาการ วางโลมาบนแผ่นรอง พบบาดแผล ตัดสินใจนำเข้าศูนย์รักษา ห่อด้วยผ้าทั้งตัว ราดด้วยน้ำ เจ้าหน้าที่/ชาวบ้านช่วยกันหิ้วน้องผ่านป่า เพื่อมาขึ้นรถกระบะ ลำเลียงขึ้นรถ ห่อผ้าไว้ ราดน้ำตลอด ไปจนถึงศูนย์ภูเก็ต นำน้องลงบ่อ ตรวจอาการ เป็นอันสิ้นสุดกระบวนการช่วยชีวิตสัตว์ทะเล
อุปกรณ์สำคัญคือผ้าห่มและถังราดน้ำ ถ้ามีแผ่นรองก็จะดียิ่งขึ้น"