xs
xsm
sm
md
lg

จากเปอร์เซียมาตั้งตัวเป็นสุลต่านในไทย แข็งข้อต่อกรุงศรีอยุธยา! เกี่ยวพันมาเป็นพระญาติราชวงศ์จักรี!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

สุลต่านสุลัยมาน
เมื่อ เฉกอะหมัด ต้นสกุลบุนนาค อพยพจากเปอร์เซียมาตั้งหลักปักฐานอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น ระยะเวลาใกล้ๆกัน ก็มีคหบดีชาวเปอร์เซียอีกคนหนึ่ง ชื่อ โมกอล อพยพละถิ่นฐานออกจากบ้านเกิด แต่มุ่งไปที่เกาะชวา ตั้งรกรากที่เมืองสาเลห์ หรือ สเลมาน ใกล้กรุงยอกยา เมืองหลวงของอินโดเนเซียในปัจจุบัน จนได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองสาเลห์ ต่อมาเมื่อฮอลันดาเข้ามาล่าอาณานิคม โมกอล จึงได้พาครอบครัวและบริวารหนีภัยออกจากชวามุ่งมาสยาม ขึ้นบกที่ชายหาดหัวเขาแดง สทิงพระ เมืองสิงครานคร หรือสงขลาในปัจจุบัน

ยุคนั้นมีโจรสลัดออกปล้นสะดมตามหัวเมืองชายทะเลกันมาก ชาวเปอร์เซียกลุ่มนี้ก็โพกหัวคล้ายกับโจรสลัด จึงทำให้ชาวบ้านในย่านนั้นกลัวกันมาก แต่เมื่ออยู่ไปพักหนึ่ง ชาวบ้านก็เห็นว่าพวกต่างชาติที่มานี้แม้จะมีคนจำนวนมาก ก็ไม่ได้รุกรานปล้นสะดมใคร ทำมาหากินกันอย่างสงบ จึงกล้าเข้าไปมาหาสู่ จนกลายเป็นมิตรกันไป

โมกอลได้สร้างป้อมปราการอย่างมั่นคงเพื่อป้องกันโจรสลัด เมื่อเจ้าพระยานครศรีธรรมราชซึ่งดูแลหัวเมืองในย่านนั้นทราบข่าว และเห็นว่าโมกอลปกครองชุมนุมของตนอย่างเข้มแข็งมั่นคง ทั้งยังคบหาสมาคมกับชาวบ้านได้อย่างดี แม้จะต่างศาสนากัน จึงให้ช่วยดูแลเมืองพัทลุงที่ถูกโจรสลัดปล้นมา ๒ ครั้งแล้วในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถนั้น

ความสงบมั่นคงของบริเวณเขาแดง ทำให้ย่านนี้เป็นที่พักจอดเรือสินค้าที่ผ่านไปมา จนกลายเป็นชุมชนใหญ่ขึ้น สมเด็จพระเอกาทศรถจึ่งโปรดเกล้าฯให้โมกอลเป็นเจ้าเมืองพัทลุง ทั้งดูแลเมืองสงขลาซึ่งอยู่ย่านเดียวกันด้วย
เป็นการเข้ารับราชการครั้งแรกของชาวเปอร์เซียสายนี้ ก่อนที่เฉกอะหมัดเข้ารับราชการกับพระเจ้ากรุงสยามในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระราชโอรสสมเด็จพระเอกาทศรถ

เมื่อโมกอลถึงอสัญกรรมใน พ.ศ.๒๑๖๓ รัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม สุลัยมาน บุตรชายคนโต ซึ่งติดตามบิดาออกมาจากเปอร์เซียตั้งแต่วัย ๑๐ ขวบ ได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองพัทลุงแทน ต่อมาสุลัยมานได้แข็งเมืองต่อกรุงศรีอยุธยา และตั้งตัวขึ้นเป็นสุลต่าน ตั้งเป็นรัฐอิสระขึ้น

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อพระเจ้าปราสาททองขึ้นครองราชย์ โดยสำเร็จโทษพระราชโอรสของพระเจ้าทรงธรรมถึง ๒ พระองค์ขณะปูทางขึ้นสู่ราชบัลลังก์ สุลัยมานซึ่งจงรักภักดีต่อพระเจ้าทรงธรรม เห็นว่าเป็นความโหดร้าย ไม่ชอบธรรม อีกทั้งในขณะนั้น เมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นเมืองเอก ดูแลหัวเมืองภาคใต้ รวมทั้งพัทลุง ตกอยู่ในปกครองของ ออกขุนเสนาภิมุข (โอชิน) บุตรชายของออกญาเสนาภิมุข (ยามาด้า) ซึ่งถึงแก่อสัญกรรม และก่อกรรมทำเข็ญกับราษฎรมาก จึงแข็งเมืองไม่ยอมขึ้นกับนครศรีธรรมราชและกรุงศรีอยุธยา ตั้งเป็นรัฐสุลต่าน พระเจ้าปราสาททองส่งกองทัพไปปราบก็ไม่สำเร็จ

สุลัยมานเป็นสุลต่านที่มีอำนาจปกครองตลอดลงไปถึงปัตตานี กลันตัน และไทรบุรี ตลอดรัชสมัยพระเจ้าปราสาททองที่ครองราชย์ ๒๕ ปี เมื่อสุลต่านสุลัยมานถึงอสัญกรรม มุสตาฟา บุตรชายคนโตได้ขึ้นเป็นสุลต่านแทน

ตอนนั้นป้อมปราการต่างๆที่หัวเขาแดงทรุดโทรมลงมาก สุลต่านมุสตาฟาจึงย้ายเมืองพัทลุงไปอยู่ที่เขาไชยบุรี ซึ่งสุลต่านสุลัยมานได้ให้น้องชายที่ชื่อ ฟาราซี ไปสร้างไว้อีกแห่ง

จนถึง พ.ศ.๒๒๒๓ ปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์ รัฐสุลต่านของสุลัยมานจึงจำนนต่อกรุงศรีอยุธยา เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดเกล้าฯให้ พระยารามเดโช ผู้เป็นมุสลิมนิกายสุหนี่เช่นเดียวกับสุลต่านสุไลมาน ลงไปครองเมืองนครศรีธรรมราชปกครองเมืองภาคใต้ โดยมีพระราชประสงค์จะปราบปรามรัฐสุลต่านโดยเฉพาะ พระยารามเดโชใช้ยุทธวิธีจุดไฟเผาล้อม สุลต่านมุสตาฟาอยู่บนเขาจึงต้องยอมแพ้ ทรงโปรดเกล้าฯให้ ฮุซเซน บุตรชายคนที่ ๒ ของสุลต่านสุลัยมานเป็นเจ้าเมืองพัทลุงแทน ตระกูลสุลัยมานเป็นเจ้าเมืองพัทลุงที่เขาไชยบุรีรวม ๔ คน จนถึง พระยาภักดีเสนา (แขก) ที่เสียกรุงใน พ.ศ.๒๓๑๐

ส่วนความเชื่อมโยงที่เชื้อสายของสุลต่านสุลัยมานมาเกี่ยวพันเป็นพระญาติกับราชวงศ์จักรี ต้องเริ่มเล่าที่บุคคล ๒ ตน คือ พระยาพัทลุง (ขุน) และ พระยาราชวังสัน (หวัง) ซึ่งต่างก็เป็นเชื้อสายของสุลต่านสุลัยมาน แต่ต่างกันตรงที่เป็นสายพี่กับสายน้อง

พระยาพัทลุง (ขุน) มาจากสายพี่ เป็นบุตรของ พระยาราชบังสัน (ตะตา) เจ้าเมืองพัทลุงในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระยาราชบังสัน (ตะตา) เป็นบุตรของ พระยาจักรี (ฮุซเซน) บุตรชายคนกลางสุลต่านสุลัยมาน ได้เป็น พระยาพัทลุง (ฮุซเซน) ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

พระยาพัทลุง (ขุน) เกิดที่กรุงศรีอยุธยา เข้ารับราชการในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเมื่ออายุได้ ๑๔ ปี เป็นมหาดเล็กร่วมกับ นายสิน ซึ่งต่อมาก็คือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก นายขุนได้เป็น หลวงสิทธินายเวร ครั้นเสียกรุงจึงอพยพลงมาอยู่แถบวัดหนังบางขุนเทียน กรุงธนบุรี และได้สมรสกับ ท่านแป้น ธิดาของขุนนางรามัญที่อยู่แถบคลองมอญ

ท่านแป้นมีพี่ชายคนโตชื่อ มะโดด หรือ มะซวน ในสมัยต้นกรุงธนบุรีได้เป็น พระยานครอินทร์ และยังมีพี่สาวชื่อ ทองคำ ได้เป็น ท้าวทรงกันดาร ท่านแป้นจึงมีพี่ชายพี่สาวเป็นข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน ซึ่งได้ชักนำให้หลวงสิทธินายเวร (ขุน) เข้ารับราชการกับสหายเก่าครั้งยังเป็นมหาดเล็กด้วยกัน และตามเสด็จลงไปปราบก๊กเจ้าพระยานครใน พ.ศ.๒๓๑๒

หลังจากปราบก๊กเจ้าพระยานครแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดเกล้าฯให้สหายเก่า เป็น พระยาภักดีนุชิตสิทธิสงคราม ช่วยว่าการเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๑๕ ก็โปรดฯให้เป็น พระยาโกรพพิชัยฯ เจ้าเมืองพัทลุง และมีฉายาปรากฏในประวัติศาสตร์ว่า “ขุนคางเหล็ก” ซึ่งวันหลังจะเล่าต่อ

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ผู้สืบตระกูลพระยาพัทลุง (ขุน) ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า ณ พัทลุง

ส่วนสายน้อง เริ่มที่ หะซัน บุตรชายคนเล็กของสุลต่านสุลัยมาน เข้ารับราชการในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเช่นเดียวกับพี่ชาย ได้เป็น พระราชราชบังสัน ว่าที่แม่ทัพเรือ ชื่อนี้เข้าใจกันว่ามาจาก ราช + บัง ที่แปลว่าพี่ชาย + ซัน ชื่อของหะซัน พระราชทานเฉพาะตัวให้แม่ทัพเรือคนแรก เลยกลายเป็นตำแหน่งทางเรือตลอดมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ และแผลงมาเป็น ราชวังสัน

พระยาราชบังสัน (หะซัน) มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ บุญยัง ถวายตัวเป็นมหาดเล็กพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ได้เป็น ขุนลักษมณา สายนี้นิยมอยู่แพ เรียงรายกันเป็นกลุ่ม จึงเรียกกันว่า “แขกแพ”

ขุนลักษมณา (บุญยัง) มีบุตรชายชื่อ หมุด ถวายตัวเป็นมหาดเล็กพระเจ้าเอกทัศน์ ได้เป็น หลวงศักดิ์นายเวร ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีได้เป็น เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ เจ้าพระยาจักรีคนแรกของกรุงธนบุรี

ก่อนกรุงแตก หลวงศักดิ์นายเวร (หมุด) รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ไปเก็บเงินค่าส่วยอากรเมืองจันทบุรี ได้เงิน ๓๐๐ ชั่ง แต่พอจะกลับก็มีข่าวว่ากรุงแตก พระยาจันทบุรีจึงขอเงินคืน หลวงนายศักดิ์ (หมุด) ไม่ยอมให้ เอาเงินไปฝังไว้ที่วัดจันท์ แล้วอ้างว่าถูกโจรปล้นไปหมด พระยาจันทบุรีไม่เชื่อ กำลังจะใช้กำลังกัน ก็พอดีพระยาตากยกกองทัพมาถึง พระยาจันทบุรีไม่ยอมอ่อนน้อม หลวงนายศักดิ์ (หมุด) จึงลอบหนีออกไปพบพระยาตากซึ่งเคยรับราชการมาด้วยกัน มอบเงิน ๓๐๐ ชั่งให้ พร้อมทั้งนำกำลัง ๕๐๐ คนมาสวามิภักดิ์ด้วย เมื่อพระยาตากตีเมืองจันทบุรีได้ ต่อเรือรบจะไปตีกรุงศรีอยุธยา หลวงนายศักดิ์ชำนาญเรื่องนี้อยู่แล้วตามเชื้อสาย จึงเข้าช่วยสร้างกองทัพเรือขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

เมื่อพระยาตากปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้โปรดเกล้าให้หลวงศักดิ์นายเวรขึ้นเป็นพระยายมราช ว่าที่แม่ทัพเรือ ในปีเดียวกันนั้นเอง ก็โปรดเกล้าฯขึ้นเป็น เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ แต่เรียกกันทั่วไปว่า “จักรีแขก”

เจ้าพระยาจักรี (หมุด) ดำรงตำแหน่งอยู่ ๔ ปีก็ถึงอสัญกรรม สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดเกล้าฯให้เลื่อนพระยายมราช (ทองด้วง) พระสหายเก่าซึ่งเข้ามารับราชการเมื่อสถาปนากรุงธนบุรีแล้ว ขึ้นเป็นเจ้าพระยาจักรี และโปรดเกล้าให้ หมัด บุตรชายคนโตของเจ้าพระยาจักรี (หมุด) ขึ้นเป็น พระยายมราช ส่วน หวัง บุตรชายคนเล็กไปเป็นเจ้าเมืองชลบุรี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้รับโปรดเกล้าฯให้พระยาชลบุรี (หวัง) เป็น พระยาราชวังสัน ตำแหน่งเจ้ากรมพาณิชย์นาวี ด้วยความดีความชอบที่เมื่อครั้งเป็นเจ้าเมืองชลบุรี ได้แล่นเรือไปตรวจตราป้องกันโจรสลัด พบ องเชียงสือ เชื้อสายกษัตริย์ญวน หนีภัยจากความขัดแย้งภายในประเทศมาหลบอยู่ที่เกาะแห่งหนึ่งได้รับความลำบาก จึงพามาอุปการะไว้ในฐานะบุตรบุญธรรม และนำเข้าเฝ้าเมื่อเปลี่ยนรัชกาลแล้ว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงอุปการะองเชียงสือไว้
พระยาราชวังสัน (หวัง) ได้สมรสกับกุลสตรีชาวสวน ชื่อ ชู อยู่แถววัดหนังใกล้บ้านพระยาพัทลุง (ขุน) และมีบุตรด้วยกัน ๓ คน ชื่อ เพ็ง ปล้อง และรอด

ท่านเพ็ง ธิดาคนโตของพระยาราชวังสัน (หวัง) ได้สมรสกับ พระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน (บุญจัน) เป็นไทยพุทธ และมีธิดาเพียงคนเดียว ชื่อ เรียม ซึ่งก็คือ เจ้าจอมมารดาเรียม ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นพระราชชนนีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย วัดเฉลิมพระเกียรติที่จังหวัดนนทบุรีในขณะนี้ ก็คือวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงสร้างอุทิศส่วนกุศลให้พระอัยยาพระอัยกี หรือคุณตาคุณยาย ในนิวาสสถานเดิมของเจ้าพระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน (บุญจัน) ซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งพระราชบิดาเสด็จมาทางเรือในสมัยกรุงธนบุรี พบพระราชมารดาเล่นน้ำอยู่ จนเกิดความรักแรกพบขึ้น

ส่วน ท่านปล้อง ธิดาคนที่ ๒ ของพระยาราชบังสัน (หมุด) ต่อจากท่านเพ็ง ได้สมรสกับพระยาพัทลุง (ทองขาว) บุตรของพระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก) นอกจากเชื้อสายสุลต่านสุลัยมานสายพี่สายน้องจะมารวมกันในช่วงนี้แล้ว ธิดาคนที่ ๓ ของพระยาพัทลุง (ทองขาว) กับ ท่านปล้อง ชื่อ ทรัพย์ ได้รับราชการเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

เจ้าจอมมารดาทรัพย์ประสูติพระราชโอรสธิดา ๒ พระองค์คือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าศิริวงศ์ ต้นราชสกุลศิริวงศ์ ณ อยุธยา) และพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงลม่อม (กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยุร)

พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าศิริวงศ์ เมื่อแรกประสูติมีพระอิสริยยศเป็นหม่อมเจ้า ภายหลังพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็นพระองค์เจ้าทรงกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ ทรงรับราชการกำกับราชการกรมช่างมุก ผลงานสำคัญของพระองค์คือทรงสร้างประตูมุก ภาพรามเกียรติ์ พระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม สิ้นพระชนม์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พระชันษาเพียง ๒๘ ปี

พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ มีพระธิดาองค์โตกับ หม่อมน้อย สตรีเชื้อสายมอญ คือ หม่อมเจ้าหญิงรำเพย ซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโอรสพระราชธิดา ๔ พระองค์ คือ

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงจันทรมณฑลโสภณภควดี (กรมหลวงวิสุทธิกษัตริย)

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมี (กรมพระจักรพรรดิพงษ์ ต้นราชสกุล จักรพันธุ์)

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ (จอมพล จอมพลเรือ กรมพระยาภาณุพันธุวงษ์วรเดช ต้นราชสกุล ภาณุพันธุ์)

นี่คือเชื้อสายของสุลต่านสุลัยมาน จากเปอร์เซีย ที่มาสืบสายอยู่ในสยาม เช่นเดียวกับเชื้อสายของท่านเฉกอะหมัด ซึ่ง ทุกพระองค์ ทุกท่าน ทุกคน ต่างสำนึกในบุญคุณของแผ่นดินเกิดมากกว่าจะคิดถึงเชื้อชาติที่มาของตน จึงได้ตอบแทนบุญคุณแผ่นดินตามที่มีเรื่องราวปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์มาตลอด
สุสานสุลต่านสุลัยมาน กรมศิลปากรขึ้นบัญชีเป็นโบราณสถาน

กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย
สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
กำลังโหลดความคิดเห็น