xs
xsm
sm
md
lg

น้ำจิ้มอยู่ไหน? เพจดังพบแห่จับ "ปลาช่อนอะเมซอน" เอเลี่ยนสปีชีส์ แถมแนะนำเมนูเด็ด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เพจ "เจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามัน" ระบุ พบกลุ่มตกปลาเริ่มจับ "ปลาช่อนอะเมซอน" เอเลียนสปีชีส์คุกคามแหล่งน้ำของไทย แถมตัวไหนอร่อยแนะนำเมนูเต็มที่ แต่จะดีกว่านี้ถ้าคนเลี้ยงไม่ปล่อยลงแหล่งน้ำ เพราะเจอเพียบ

วันนี้ (9 มิ.ย.) เฟซบุ๊ก "เจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามัน" ได้โพสต์ภาพกลุ่มนักตกปลากำลังตกปลาและชำแหละปลาช่อนอะเมซอน ซึ่งเป็นหนึ่งในสัตว์ผู้รุกราน (เอเลียนสปีชีส์) ที่ทำลายระบบนิเวศน์ของไทย ระบุว่า ตนได้แฝงตัวเงียบๆ ในกลุ่มตกปลา พบว่าช่วงหลังๆ คนตกปลามีแนวคิด ถ้าตกได้เอเลียน สปีชีส์ ไม่ปล่อยคืน และถ้าตัวไหนทำอะไรอร่อย ก็จะแนะนำกันเต็มที่ ตรงนี้เป็นการส่งเสริมที่ดี และจะดีกว่านี้ถ้าคนเลี้ยง การุณฆาต (ปล่อยให้ตายอย่างสงบ) หรือดูแลจนจบอายุขัย ไม่ปล่อยลงแหล่งน้ำสาธารณะ ที่น่าเศร้าคือ เหล่านักตกปลาตกได้เอเลียนสปีชีส์ จากแหล่งน้ำธรรมชาติมากขึ้นมากๆ

จากการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมของผู้สื่อข่าว พบว่าปลาช่อนอะเมซอน หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ปลาอะราไพมา เป็นปลาขนาดใหญ่ มีรูปร่างคล้ายปลาช่อน แต่ไม่มีหนวด เกล็ดมีขนาดใหญ่ มีสีดำเงาเป็นมัน ครีบบน ครีบล่าง มีตำแหน่งค่อนไปทางหาง มีแถบสีแดงส้ม ตัดกับพื้นสีดำ มีลำตัวค่อนข้างกลมและเรียวยาว ส่วนหัวมีลักษณะแข็งและมีน้ำหนักมาก ส่วนลำตัวด้านท้ายมีลักษณะแบนกว้าง มีการเจริญเติบโตที่ไวมาก พบในแม่น้ำแอมะซอนและลุ่มน้ำสาขาในทวีปอเมริกาใต้ กินปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร โดยมีพฤติกรรมการกินอาหารที่ดุร้าย

ในประเทศไทย มีผู้นำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม นำเข้าเมื่อประมาณปี 2529 โดยมีคนไทยจำนวนหนึ่งกำลังทดลองเลี้ยงเป็นเพื่อบริโภคขาย แต่เมื่อความนิยมลดลง จึงมีบางคนนำปลาช่อนอะเมซอนมาปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าจะกระทบต่อพันธุ์ปลาท้องถิ่น และระบบนิเวศน์ในแหล่งน้ำได้ เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ กินเนื้อตั้งแต่ปลาเล็กและสัตว์ขนาดเล็กตามแหล่งน้ำ และอยู่ด้านบนสุดของห่วงโซ่อาหาร และมักจะกินปลาเล็กรวมทั้งสัตว์ขนาดเล็ก เกรงว่าพันธุ์ปลาท้องถิ่นจะหายไป



กำลังโหลดความคิดเห็น