xs
xsm
sm
md
lg

“ทูลกระหม่อมพระ” ปะทะคารมพระพุทธโฆษาจารย์! “นั่งในอาสนะ” จะให้ฉีกเข้าไปนั่งหรือไง!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวช มีพระฉายาว่า พระวชิรญาณ แต่เรียกกันทั่งไปว่า ทูลกระหม่อมพระ ทรงส่งเสริมให้พระภิกษุวัดบวรเรียนภาษามคธกับพระธรรมวินัยควบคู่กันไป จนนักเรียนสำนักวัดบวรสามารถพูดภาษามคธได้ เมื่อเข้าแปลพระปริยัติธรรมก็ได้เป็นเปรียญประโยคสูงกว่าสำนักอื่น ขนาด เจ้าหมื่นสรรเพชรภักดี เคยเป็นแค่มหาดเล็กข้าหลวงเดิมอยู่วัดบวร ครั้งร่วมคณะทูตไทยไปยุโรปในปี พ.ศ.๒๔๐๐ เมื่อผ่านไปถึงลังกา มีพระลังกามาต้อนรับโดยพูดภาษามคธ เจ้าหมื่นสรรเพชรภักดีก็พูดตอบได้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯให้ทูลกระหม่อมพระมีตำแหน่งในคณะพระเถระผู้สอบพระปริยัติธรรมในสนามหลวง

ครั้งหนึ่ง พระมหาผ่อง ซึ่งภายหลังได้เป็นพระราชาคณะที่ พระธรรมภาณพิลาศ ได้เข้าสอบด้วย และแปลความแห่งหนึ่งว่า “ตุมเห อันว่าท่านทั้งหลาย นิสิทถ จงนั่ง อาสเน ในอาสนะ” ทูลกระหม่อมพระไม่โปรดที่มหาผ่องแปล อาสเน ว่า “ในอาสนะ” มหาผ่องจึงแปลอาสเนใหม่ว่า “บนอาสนะ” ทูลกระหม่อมพระทรงโปรด แต่ พระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) ซึ่งเป็นกรรมการร่วมด้วยติว่าไม่ถูก พระมหาผ่องเลยไม่รู้ว่าจะแปลว่าอะไร ทูลกระหม่อมพระทรงเกรงว่าพระมหาผ่องจะสอบตกเพราะเรื่องนี้ จึงตรัสขึ้นว่า

“นั่งในอาสนะนั้นนั่งอย่างไร จะฉีกอาสนะออกแล้วเข้าไปนั่งในช่องที่ฉีก หรือจะเอาอาสนะขึ้นคลุมหัวไว้ในนั้น”

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ตอนนี้ใน “ความทรงจำ” ไว้ว่า

“พระพุทธโฆษาจารย์โกรธ บังอาจกล่าวคำหยาบช้าต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็กริ้ว ตรัสสั่งห้ามมิให้นิมนต์พระพุทธโฆษาจารย์เข้าราชการอีก และทรงมอบการสอบพระปริยัติธรรมเป็นสิทธิ์ขาดแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่นั้นมาตลอดรัชกาล...”

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเสวยราชย์ พระพุทธโฆษาจารย์เกรงว่าจะทรงอาฆาตถอดตนออกจากพระราชาคณะ จึงเตรียมตัวจะกลับไปอยู่เพชรบุรีถิ่นเดิม แต่พระบาทสมเจพระจอมเกล้าฯกลับทรงพระกรุณาตรัสยกย่องว่าพระพุทธโฆษาจารย์ ชำนาญพระปริยัติธรรมมาก ให้เลื่อนฐานันดรขึ้นเป็น สมเด็จพระโฆษาจารย์ (ฉิม) ตำแหน่งเจ้าคณะกลาง มาครองวัดมหาธาตุฯ

เมื่อกลับตาลปัตรเช่นนี้ สมเด็จพระโฆษาจารย์ (ฉิม) ก็เกิดเลื่อมใสในพระคุณธรรมของสมเด็จพระจอมเกล้าฯที่ไม่ทรงพยาบาท ว่าพระองค์ทรงเป็นบัณฑิตโดยแท้ จึงแต่งคาถาถวายพระพรสนองพระเดชพระคุณ อันขึ้นด้วยบทว่า

ยํ ยํ เทวามนุสสานํ มงฺคงตฺถาย ภสิตํ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวชอบพระราชหฤทัย จึงทรงโปรดฯให้พระสงฆ์สวดคาถานั้นท้ายพระปริตร และยังสวดมาจนทุกวันนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น