xs
xsm
sm
md
lg

บสย.เผยภารกิจพาเอสเอ็มอีไทยเข้าถึงแหล่งทุน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรรมการผู้จัดการฯ บสย. เผยภารกิจพาเอสเอ็มอีไทยเข้าถึงแหล่งทุน ผ่านคอนเซ็ปต์ 3 เติม "ทุน - องค์ความรู้ - คุณภาพชีวิต" เปิดตัวเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้ฟรี ช่วยลดต้นทุนที่เอสเอ็มอีไทยต้องแบกรับปีละราว 3 พันล้าน



วันที่ 22 พ.ค. ดร.รักษ์ วรกิจโภคากร กรรมการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมพูดคุยในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอาอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง "นิวส์วัน" ในหัวข้อ "ภารกิจ บสย. พาคนตัวเล็กเข้าถึงแหล่งเงินทุน"

โดย ดร.รักษ์ กล่าวว่า จำนวนเอสเอ็มอีไทยไม่ชัดเจนในตัวเลข แต่ที่อยู่ในสำมะโนประชากรของ สสว. 2.52 ล้านราย เป็นนิติบุคคลที่ 1 ใน 3 ประมาณ 7-8 แสนราย ฉะนั้นถ้าเป็นนิติบุคคลเราสามารถมีบันทึกติดตามได้ตลอดเวลา ส่วน 2 ใน 3 ที่ไม่ใช่นิติบุคคล การเข้าออกของกลุ่มนี้ จำเป็นต้องตามติดอย่างลึกซึ้งเพื่อกำหนดรูปแบบในการช่วยเหลือว่าต้องทำอย่างไร และอีกจำนวนเอสเอ็มอีนอกสำมะโนประชากรราว 2.7 ล้านราย

รวมผู้ประกอบการในประเทศประมาณ 5.2 ล้านราย ในนี้เข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ มีประมาณ 5 แสนรายบวกลบ ที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

ดร.รักษ์ กล่าวอีกว่า ในมุม บสย. เป็นโจทย์ว่าเราจะทำอย่างไรให้คนอีกกว่า 4 .7 ล้านราย ที่เราเรียกว่าคนตัวเล็ก สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และแบบถูกที่ถูกทาง ไม่ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ แม้ใน 5 แสนรายที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนปัจจุบัน ก็อาจใช้เงินถูกที่ถูกทางเพียง 50-60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งหลายหน่วยงานต้องเข้ามาช่วยเหลืออย่างบูรณาการกัน

อันแรกที่เราจะทำผ่านคอนเซ็ปต์ที่เรียกว่า 3 เติม 1.เติมทุน 2.เติมองค์ความรู้ จากข้อมูลผู้ประกอบการ 5.2 ล้านราย กลายไปเป็นผู้ส่งออกประมาณ 2 หมื่นกว่าราย เพียงแค่ 0.5 เปอร์เซ็นต์ยืนในเวทีโลกยังทำงานได้ขนาดนี้ คือเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี และ 80 เปอร์เซ็นต์ของการจ้างงาน ฉะนั้นเราต้องมาช่วยกันขบให้ยากับเอสเอ็มอีไทย เพราะถ้าเอสเอ็มอีไทยมีที่ยืนในเวทีโลกได้ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เราจะเป็นเสือตัวที่ 5 หรือที่ 1 ด้วยซ้ำ

3. เติมสุดท้ายคือเติมคุณภาพชีวิต เรามีสินเชื่อเพื่อคนตัวเล็ก ในแต่ละปีตัวเลขเอสเอ็มอีใหม่ที่วิ่งเข้าสู่ระบบมีกว่า 7 หมื่นราย เราจะคุ้นชินกับอาชีพที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ทำหน้าที่เชื่อมเอสเอ็มอีกับธนาคาร ค่าเฉลี่ยค่าบริการนี้อยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ 5-7 หมื่นราย 1 เปอร์เซ็นต์ของวงเงินก็เฉลี่ยประมาณ 3.8 ล้านบาท จะเห็นตัวเลขกว่า 2.5 พันล้าน ที่เป็นค่าใช้จ่ายของเอสเอ็มอีในทุก ๆ ปี ที่ต้องแบกรับตัวนี้ นอกจากที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยธนาคาร อันนี้คือกลุ่มเอสเอ็มอีที่ต้องการหนี้ใหม่

ดร.รักษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนอีกกลุ่มคือที่ต้องการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ละปีมี 2.5 - 4 หมื่นล้าน 1 เปอร์เซ็นต์ของเงินนี้ประมาณ 200-400 ล้านบาท สรุปเม็ดเงินที่ต้องจ่ายบริการนี้ปีนึงกว่า 3 พันล้าน ที่กระจายตัวเป็นต้นทุนของเอสเอ็มอีไทยกว่า 5 ล้านราย

ถ้า บสย.เราไม่คิดค่าใช้จ่าย จะประหยัดต้นทุนตรงนี้ เอาตรงนี้ไปทำอะไรได้เยอะแยะ ซึ่งเรามีพันธมิตรทำงานร่วมกัน ทั้ง สสว. กรมพัฒนาธุรกิจ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ออมสิน ธกส. ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถปรับโครงสร้างเอสเอ็มอีไทยได้


กำลังโหลดความคิดเห็น