xs
xsm
sm
md
lg

แนวพระราชดำริ ร.๖ ร.๗ ร.๘ ! พระมหากษัตริย์ไทยทรงนำชาติสู่ความสงบร่มเย็นมาทุกพะองค์!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


แนวพระราชดำริรัชกาลที่ ๖
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นกษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ ตลอดระยะเวลาถึง ๙ ปีที่ทรงศึกษาอยู่ในอังกฤษ กำลังอยู่ในยุคทองมีความเจริญสูงสุดในโลก และเมื่อจบการศึกษาเสด็จพระราชดำเนินกลับไทย ยังได้เสด็จประพาสอารยประเทศอื่นๆทั้งยุโรปและเอเชีย ได้ทอดพระเนตรการพัฒนาของประเทศต่างๆ ทั้งยังทรงสร้างความสนิทสนมคุ้นเคยกับราชวงศ์และบุคคลสำคัญทางการเมืองของโลกในขณะนั้น ในฐานะมกุฎราชกุมารแห่งสยาม เป็นการสร้างชื่อเสียงและเกียรติคุณของชาติไทยให้เป็นที่รู้จักของชาวโลก

แต่เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์ เป็นช่วงเวลาที่อิทธิพลของจักรวรรดินิยมตะวันตกคลายความตรึงเครียดลง ขณะเดียวกันความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการต่างๆได้หลั่งไหลมาสู่ประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคมนาคมและสื่อสารมวลชน ทำให้อิทธิพลของลัทธิชาตินิยม สังคมนิยม และแนวความคิดทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ปรากฏเด่นชัดขึ้นในสังคมไทย จึงทรงวางพระราโชบายการปกครองประเทศเน้นหนักในเรื่องชาตินิยม เพื่อสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และยังความรู้สึกแห่งความเป็นชนชาติเดียวกันให้แก่ประชาชนไทย

พระราชกรณียกิจสำคัญอีกอย่างของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก็คือ การปรับปรุงส่งเสริมวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ ด้วยการรักษาวัฒนธรรมอันดีของไทยไว้ และนำวัฒนธรรมตะวันตกมาประยุกต์ ให้สอดคล้องกับการพัฒนาจิตใจ มิได้มีเป้าหมายอยู่ที่การรักษาเอกราชของชาติเท่านั้น แต่ก้าวขึ้นสู่อีกระดับหนึ่ง คือยกฐานะเกียรติภูมิของชาติให้เสมอภาคกับนานาอารยประเทศ
คนไทยที่ไม่รักชาติฝรั่งเขาก็ดูถูก

เพื่อให้พระราชปณิธานบรรลุผลดังพระราชประสงค์ ตลอดระยะเวลา ๑๕ ปีที่ครองราชย์ จึงทรงปลูกฝังให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญการคงอยู่ของชาติ ตลอดจนหน้าที่ที่ควรจะปฏิบัติเพื่อชาติ ดังพระราชนิพนธ์ใน “ปลุกใจเสือป่า” ตอนหนึ่งว่า

“...คนเราในสมัยนี้ พอใจอวดอยู่ว่าตนดีกว่าคนไทยเก่าๆไม่ใช่หรือ ก็คนไทยเก่าๆเขามีหน้าที่จะทำเพื่อประโยชน์ของชาติบ้านเมืองทุกคน คนไทยขั้นใหม่จะไม่สมัครใจทำหน้าที่เช่นนั้นบ้าง จะว่าตนดีกว่าเขาอย่างไร ข้อเสียของคนไทยชั้นใหม่ที่มีอยู่ ที่สำคัญคือ สิ่งใดเป็นของเก่าจะทิ้งเสียให้หมด แต่ของใหม่ก็ไม่มีมาแทน ได้ยินฝรั่งเขาพูดอะไรได้ยินแว่วๆ ฟังไม่ศัพท์ก็จับเอามากระเดียด เขาพูดก็พูดไปบ้างอย่างนั้นเอง การที่ประพฤติตนตามอย่างฝรั่งนั้น ถ้าประพฤติตามในทางที่ดี ก็ไม่น่าติเตียน ที่เลือกประพฤติในทางที่จะสะดวกแก่ตนอย่างเดียว ที่จะไม่สะดวกก็ไม่เก็บมาประพฤติตามบ้าง ฝรั่งเขารักชาติบ้านเมืองของเขา ทำไมเราไม่รักบ้าง จึงไปรักไปนิยมชาติอื่นภาษาอื่นของเขาทำไม ชาติของเราเลวทรามอย่างไรจึงรักไม่ได้ ขอให้เชื่อข้าพเจ้าเถิด...คนไทยที่ไม่รู้จักรักชาติของตน อย่าเผลอไปว่าชาวยุโรปเขาจะนับถือ มีแต่เขาจะดูถูกเท่านั้น...”

คนไทยต้องมีหน้าที่พลเมืองดี
หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ปีเศษ ทรงสร้างแบบอย่างพลเมืองดีให้พสกนิกรปฏิบัติตาม โดยมีพระราชหัตถเลขาไปถึงสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ให้ดำเนินการเก็บภาษีที่ดินและโรงร้านที่เป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เหมือนเช่นที่รัฐเก็บจากราษฎรทั่วไป ความว่า

“...บัดนี้หม่อมฉันได้ไตร่ตรองดูเห็นว่า ทรัพย์สมบัติของหม่อมฉันทั้งหลายที่เป็นส่วนตัว ก็เท่ากับเป็นทรัพย์สมบัติของคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่เหตุใดหม่อมฉันจึงจะมาเอาเปรียบแก่คนทั่วไปซึ่งดูไม่เป็นการสมควรเลย ส่วนของๆผู้อื่นจะเก็บเอากับเขา ของตัวเราเกียดกันเอาไว้...ถ้ารัฐบาลจะแบ่งผลประโยชน์ของหม่อมฉันที่ได้มาจากทรัพย์สมบัติทั้งหมดนั้นบ้างแล้ว หม่อมฉันก็มีความยินดีเต็มใจที่จะเฉลี่ยให้เป็นการอุดหนุนชาติและบ้านเมืองอย่างคนสามัญด้วยเช่นกัน...”

การพนันบั่นทอนสังคมไทย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงห่วงใยในเรื่องอบายมุขของราษฎร ซึ่งบั่นทอนศีลธรรมอันดีและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของครอบครัวและประเทศชาติ โปรดเกล้าฯให้เลิกหวย ก.ข.ในปี พ.ศ.๒๔๕๙ และใน พ.ศ.๒๕๖๐ ก็โปรดเกล้าฯให้เลิกบ่อนเบี้ยอึก ทรงพระราชนิพนธ์บทความเรื่อง “ระวังผีพนัน” ไว้ตอนหนึ่งว่า

“...ข้าพเจ้าได้นึกเสียใจมานานแล้ว ที่รู้สึกว่าการพนันดูเป็นของที่เข้าเลือดชาวไทยเราเสียจริงๆจนน่าอนาถใจ จริงอยู่การพนันย่อมมีอยู่ในหมู่ชนไม่ว่าชาติใดภาษาใด แต่ข้าพเจ้าก็ยังไม่เคยพบชนหมู่ใดเลยที่จะไม่ได้รับความเสียหายเพราะการพนัน ส่วนข้อที่เสียทรัพย์นั้นยกเสียเถิด แต่นอกจากนี้ยังเป็นเหตุให้ประพฤติชั่วอย่างอื่นๆอีก เช่น ฉ้อโกง ขโมย หลอกลวง ปอกลอก และถ้าเป็นคนที่ไม่รู้จักเล่นอย่างนักเลงกรีฑา (สปอตสแมน) ก็ยังเกิดเหตุร้ายๆ เช่น อาฆาตปองร้ายกัน หรือถึงแก่ทำร้ายกันก็มี...”

เสรีภาพหนังสือพิมพ์สมัย ร.๖
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นยุคเฟื่องฟูของหนังสือพิมพ์ นอกจากจะมีเสรีภาพอย่างมากแล้วยังมีจำนวนมากด้วย โดยมีหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ รายทศ รายปักษ์ รายเดือน ทั้งภาษาไทย จีน อังกฤษ ถึง ๑๔๙ ฉบับ เพิ่มจากสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีเพียง ๕๙ ฉบับ ทั้งพระองค์เองก็ทรงออกหนังสือพิมพ์เองและทรงพระราชนิพนธ์บทความลงเป็นประจำ ในฐานะนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่ง และก็ยังมีผู้กล้าเขียนโต้แย้งบทความของพระองค์ทั้งๆที่รู้ว่าเจ้าของนามปากกาที่เขาโต้แย้งนี้เป็นใคร ซึ่งพระองค์ก็ไม่ทรงถือสา และทรงพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า

“...ข้าก็นึกว่าเขาคงหวังดีต่อชาติอย่างเดียวกับข้า เขามีความคิดเห็นอย่างไรที่เขานึกว่าเขาถูก เขาก็พูดออกมาอย่างเปิดเผย อย่างนี้ข้าชอบ ดีกว่าไปแอบซุบซิบ ก่อเรื่องอย่างไอ้พวกขี้ขลาดตาขาว มือไม่พายเอาตีนราน้ำ คนเขียนหนังสือพิมพ์ข้าเห็นว่าเขามีสปอร์ตติง สปิริต ดีกว่าพวกต่อหน้าว่ามะพลับลับหลังตะโก ซึ่งเชื่อไม่ได้ ไม่จริงต่อใคร อีกอย่างหนึ่ง คนเขียนหนังสือก็เป็นเกมส์อย่างหนึ่ง อย่างเช่นบิลเลียดหรือเทนนิส จ้องมีคู่เล่นที่มือทัดเทียมกันจึงจะสนุก แพ้ชนะไม่สำคัญหรอกจะสนุกดีนัก ถ้าไปโดนมือสาวอ่อนๆเข้าแล้วหมดรส เลิกกันดีกว่า แต่โดนมือเล็งแรงๆ เราไปแรง เขามาแรง บางทีก็นึกฉุน แต่แล้วสนุกพิลึกละเอ็ง...”

ทรงเรียกร้องสิทธิให้สตรี
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงสนพระราชหฤทัยในสถานภาพของสตรีเป็นอันมาก ทรงเห็นว่าสตรีไทยในเวลานั้นยังถูกกีดกันอยู่มาก เช่น ถูกขายเป็นโสเภณีหรือเป็นภรรยาน้อย ถูกข่มเหงน้ำใจด้วยการมีภรรยาหลายคน และยังไม่สามารถจัดการทรัพย์สินของตัวเองได้ ต้องให้สามีปกครอง พระองค์จึงทรงเรียกร้องให้ชาวไทยตระหนักถึงฐานะอันตกต่ำของสตรีและช่วยกันแก้ไข ซึ่งพระองค์ก็ทรงดำเนินการหลายประการ นอกจากส่งเสริมการศึกษาตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูสตรี ส่งไปสอนในชนบทแล้ว ยังเปิดโอกาสให้สตรีเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมเท่าเทียมบุรุษเช่นเดียวกับสตรีในต่างประเทศ ทรงออกประกาศพระราชนิยมและข้อกฎหมายต่างๆที่มีผลต่อการจัดระเบียบทางสังคม เพื่อประโยชน์แก่สตรี เช่น “กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชสำนัก พุทธศักราช ๒๔๕๗” กำหนดให้ข้าราชสำนักจดทะเบียนครอบครัวและเคหะสถาน เพื่อยกฐานะของภรรยาให้ปรากฏขึ้น และยังโปรดเกล้าฯให้ประกาศใช้ “พระราชกฤษฎีกาคำนำหน้านามสตรี” พุทธศักราช ๒๔๖๐” กำหนดให้ใช้คำว่า “นางสาว” สำหรับสตรีที่ยังโสด คำว่า “นาง” สำหรับสตรีที่แต่งงานแล้ว พระองค์ยังมีพระราชนิยมให้สตรีไทยไว้ผมยาว เลิกกินหมาก ซึ่งจะทำให้ฟันดำไม่น่าดู นอกจากนี้ยังทรงพระราชนิพนธ์บทความ บทกวี บทละครไว้มากมาย จนได้รับการเทิดพระเกียรติเป็น “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” กษัตริย์นักปราชญ์ ซึ่งในบทความชุด “โคลนติดล้อ” ในพระนามแฝง “อัศวพาหุ” ได้ทรงเรียกร้องให้ส่งเสริมสถานภาพของสตรีไว้ว่า

“...ขอจงสงสารผู้หญิงและเด็กสาวของเราบ้าง ขอจงช่วยให้เขาได้รับความยุติธรรมและเสมอภาค ขอจงช่วยให้เขาได้รับเกียรติยศอย่างที่เขาควรจะได้ ในฐานะเป็นมารดาแห่งชาติเรา ขอจงช่วยให้เขาได้รู้สึกความภูมิใจในคำว่าภรรยา โดยใช้ศัพท์อันนี้ในทางที่ควรเถิด ถ้าท่านทั้งหลายได้ช่วยกันทำให้สำเร็จแล้ว ก็จะเป็นข้อที่เราทั้งหลายควรจะรู้สึกภาคภูมิใจได้อันหนึ่งโดยแท้...”

ยกเกียรติภูมิของชาติ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำประเทศสยามเข้าร่วมในหมู่ชาติมหาอำนาจ ได้รับเกียรติและความเสมอภาคตามที่ทรงตั้งพระราชปณิธานไว้ โดยหลังจากที่ทรงพิจารณาด้วยพระปรีชาญาณอันสุขุมรอบคอบแล้ว ก็ทรงประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ และส่งทหารไทยไปร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรในยุโรป ซึ่งต่อมาเป็นฝ่ายที่ได้รับชัยชนะ เป็นผลให้ไทยได้รับเกียรติและสิทธิเสมอภาคกับพันธมิตรผู้ชนะสงคราม ซึ่งผลประโยชน์ที่สำคัญยิ่งก็คือ มีโอกาสขอเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ทำไว้ในอดีต อันทำให้ไทยต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและเก็บภาษีขาเข้าเป็นผลสำเร็จในเวลาต่อมา

ในบทความพระราชนิพนธ์เรื่อง “ของควรวิเคราะห์” มีความว่าไว้ว่า
“...ผู้ปกครองของชาติเรา ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงมา ได้อุตสาหพยายามที่จะให้กรุงสยามได้รับความเสมอหน้ากับนานาประเทศมานานแล้ว พึ่งจะได้มาซึ่งความสำเร็จปรารถนาบริบูรณ์เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๐ อันจะต้องนับว่าเป็นศุภวารดิถีในพระราชพงศาวดารและตำนานของชาติเราสืบไปชั่วดินฟ้า...”

แนวพระราชดำริรัชกาลที่ ๗
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขึ้นครองราชย์โดยมิได้เต็มพระราชหฤทัย เพราะทรงถือว่าพระองค์เป็นสมเด็จเจ้าฟ้าที่มีพระชนมพรรษาน้อยที่สุด แต่ในฐานะที่ทรงดำรงตำแน่งรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ ประกอบกับบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์พร้อมที่จะถวายความช่วยเหลือในการบริหารราชการแผ่นดินทุกประการ พระองค์จึงทรงยอมรับราชสมบัติด้วยความสบายพระราชหฤทัยว่า

“...พวกเจ้านายทรงแสดงพระองค์ว่ารักชาติ และทุกๆองค์นึกถึงแต่ชาติ ไม่มีพระองค์ใดนึกถึงประโยชน์ส่วนพระองค์เลย ทุกๆพระองค์ท่านดีแก่ฉันอย่างเหลือจะอธิบายได้ ทำให้ฉันคิดอยู่ว่าถ้าเจ้านายยังมีความรู้สึกได้เช่นนี้ แม้สภาพการณ์จะดูเต็มเพียบก็จริง พระราชวงศ์จักรีจะยังล่มจมไม่ได้...”

เผชิญปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำจนต้องปลดข้าราชการ
เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ประเทศต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก จนต้องปลดข้าราชการบางส่วนออก เพราะไม่มีเงินพอจะจ่ายเงินเดือน ซึ่งทำให้ทรงมีความขมขื่นพระราชหฤทัยอย่างหนัก มีพระราชดำรัสแก่นายทหารเรือ เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ .ศ.๒๔๗๕ ความว่า

“...ตัวข้าพเจ้าเองรู้สึกเหมือนว่าเกิดมาสำหรับตัดรอน ตั้งแต่ต้นก็ตัดมาแล้ว คราวนี้ก็ตัดอีก จนไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป รู้สึกว่าเป็นเคราะห์กรรมของตัวที่ต้องทำเช่นนั้นเสมอ แม้ในขณะนี้ก็ได้พยายามทุกอย่างที่จะไม่ตัด แต่ก็พ้นวิสัย ที่จริงการที่จะปลดจะตัดครั้งนี้รู้สึกว่าหนักใจกว่าคราวก่อนมาก...และรู้สึกสงสารที่สุดสำหรับผู้ที่ต้องออกไป ถ้ามีวิธีใดที่ข้าพเจ้าจะแบกภาระแทนได้ ข้าพเจ้าก็อยากจะทำทุกอย่าง...”

เปิดสภาปลูกฝังประชาธิปไตย
ในด้านกระแสความคิดเรื่องประชาธิปไตยที่โหมเข้ามา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯซึ่งทรงสำเร็จการศึกษามาจากฝรั่งเศส จึงทรงปรับการบริหารราชการแผ่นดินวางรากฐาน ในปี พ.ศ.๒๔๗๐ ทรงตั้งสภากรรมการองคมนตรี อันประกอบด้วยกรรมการจำนวน ๔๐ คน อยู่ในตำแหน่งคราวละ ๓ ปี ทำหน้าที่ประชุมพิจารณากฎหมายหรือเรื่องอื่นๆตามแต่จะโปรดเกล้าฯ หรือเห็นว่าเรื่องใดมีประโยชน์ต่อบ้านเมืองแล้ว ก็สามารถนำขึ้นกราบบังคมทูลได้ ด้วยพระราชประสงค์ให้เป็นสภาทดลองและฝึกหัดเพื่อปลูกฝังวิธีการของระบบรัฐสภา ดังพระราชดำรัสในวันเปิดประชุมสภา ความว่า

“...การที่เราได้เลือกท่านให้เป็นกรรมการองคมนตรีนั้น ควรเห็นว่าเป็นหน้าที่สำคัญอย่างยิ่ง และท่านทั้งหลายพึงเข้าใจว่า เรามิได้เลือกท่านมาเป็นผู้แทนชนคณะใดหรือเหล่าใดโดยเฉพาะ ท่านทั้งหลายจงออกความเห็นโดยระลึกถึงประโยชน์ส่วนรวมส่วนใหญ่ของแผ่นดินและประชาชนชาวสยามโดยทั่วไปเป็นสำคัญ เราเชื่อว่าท่านคงจะดำเนินการประชุมให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง แม้มีสิ่งใดที่ท่านเห็นว่าจะยังความผาสุกให้เกิดขึ้นแก่ประชาชน ก็ให้ท่านถวายความเห็นได้ทุกเมื่อ เรายินดีจะฟังเสมอ...”

ร่างรัฐธรรมนูญเตรียมพระราชทานในวันจักรี
ในคราวเสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพระเนตรที่สหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.๒๔๗๔ นั้น หนังสือพิมพ์อเมริกันได้เสนอข่าวว่า

“...มีพระราชประสงค์จำนงหมาย จะทรงจำกัดพระราชอำนาจอาชญาสิทธิ์ของพระองค์ท่าน พระราชทานแก่ราษฎรในการปกครองประเทศ...”

เมื่อเสด็จนิวัติพระนคร จึงโปรดให้ พระยาศรีวิศาลวาจา ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ กับ นายเรมอนด์ บี สตีเวนส์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกันยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นภาษาอังกฤษ กำหนดให้แล้วเสร็จในวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๔ มีกำหนดจะพระราชทานแก่ประชาชนพร้อมกับการเปิดพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและสะพานพระพุทธยอดฟ้า ในวันจักรี ๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๕ ครบรอบ ๑๕๐ ปีการสถาปนากรุงเทพมหานคร แต่ทั้ง ๒ ท่านที่ร่างได้คัดค้านไว้ โดยอ้างว่า “ประชาชนยังไม่พร้อม” จึงทรงงดการพระราชทานรัฐธรรมนูญไว้

เห็นแก่ความสงบสุขของบ้านเมืองมากกว่าพระราชอำนาจ
ต่อมาอีกเพียง ๒ เดือนเศษจากวันจักรีนั้น ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์ อัญเชิญพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ด้วยพระราชหฤทัยของกษัตริย์ประชาธิปไตย จึงทรงรับ เพราะ...

“...ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ กับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อม ไม่ให้ขึ้นชื่อได้ว่า จลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง...”

สละราชสมบัติ
หลังเปลี่ยนแปลงหารปกครอง เกิดความขัดแย้งระหว่างองค์พระมหากษัตริย์กับคณะรัฐบาลมาตลอด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯจึงได้เสด็จไปรักษาพระเนตรที่อังกฤษ หลังจากทรงมีพระราชบันทึกและทรงได้รับคำสนองพระราชบันทึกตอบจากรัฐบาล ไม่สามารถลดข้อขัดแย้งลงได้ จึงทรงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติในวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๗ ทรงมีพระราชหัตถเลขาแสดงความรู้สึกห่วงใยประเทศชาติและราษฎรไว้ว่า

“...ข้าพเจ้าเห็นว่ารัฐบาลและพวกพ้องใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคลและหลักความยุติธรรม ตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใดคณะใดใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามข้าพเจ้าต่อไปได้

ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิม ให้แก่ราษฎรทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาชนราษฎร”

และ
“...ฉันอดเสียใจไม่ได้ที่ทุกอย่างมิได้เกิดขึ้นตามแนวที่ฉันเคยกะไว้ ...บัดนี้ฉันรู้สึกว่างานของฉันในชีวิตนี้จบลงแล้ว ฉันไม่มีอะไรจะทำอีก นอกจากจะมีชีวิตอยู่ต่อไปโดยสงบที่สุดที่จะทำได้...”

แนวพระราชดำริรัชกาลที่ ๘
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสละราชสมบัติโดยมิได้ทรงระบุให้เจ้านายพระองค์ใดขึ้นครองราชย์ต่อ ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ.๒๔๖๗ เจ้านายผู้ทรงอยู่ในลำดับที่ ๑ในการขึ้นครองราชย์ คือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระโอรสใน สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กับ หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา รัฐบาลด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา จึงได้กราบทูลเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๘ แห่งราชวงศ์จักรีในขณะทรงมีพระชนมายุ ๙ พรรษา และกำลังทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพรเจ้าน้องยาเธอ เสด็จนิวัติเยี่ยมประชาชนชาวไทยในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๓ โดยประทับอยู่ในเมืองไทยนาน ๒ เดือน ทรงประกอบพระราชพิธีและเสด็จเยี่ยมสถานที่สำคัญหลายแห่ง ทรงมีพระราชจริยาวัติอันงดงาม เป็นที่ชื่นชมโสมนัสตรึงใจอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง ด้วยเหตุนี้เมื่อพระเจ้าอยู่หัวองค์น้อยเสด็จกลับไปศึกษาต่อ ประชาชนชาวไทยจึงอาลัยอาวรณ์ ต่างพากันรอคอยวันเสด็จพระราชดำเนินกลับมา

ระหว่างเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ พระองค์ประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ และไม่สามารถติดต่อกับพสกนิกรของพระองค์ได้ เมื่อมีการประกาศสันติภาพในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ ประเทศไทยได้เกิดวิกฤติหลายอย่าง การเงินของประเทศอยู่ในภาวะไม่มั่นคง สินค้ามีราคาแพงและขาดเครื่องอุปโภคบริโภค มีทหารสัมพันธมิตรหลายชาติเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย บางชาติก็ถือโอกาสข่มขู่เอาเปรียบไทยต่างๆ ทำให้คนไทยลำบากและขมขื่น ทั้งสับสนว่าขณะนั้นประเทศไทยถูกยึดครองโดยสหประชาชาติด้วยหรือไม่ อีกทั้งจีนก็เป็น ๑ ใน ๕ ชาติมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้คนจีนในไทยบางกลุ่มผยอง ข่มขู่เรียกร้องสิทธิจากกรัฐบาลไทย ตั้งกลุ่มขึ้น “เลี๊ยะพะ” ทำร้ายคนไทย จนเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นที่เยาวราช ใช้อาวุธประหัตประหารกัน ในตอนปลายปี ๒๔๘๘ รัฐบาลจึงต้องใช้กำลังทหารเข้ายื่นคำขาดให้วางอาวุธ เหตุการณ์จึงสงบ
นวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๘๘ นั้นเอง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันมหิดล พร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นครั้งที่ ๒ ซึ่งเปรียบดังน้ำทิพย์ชโลมใจชาวไทยให้มีพลังต่อสู้กับภาวะลำเค็ญที่เกิดขึ้นในตอนนั้น ทรงออกเยี่ยมราษฎรและหน่วยทหาร เสด็จงานพระราชพิธีและรัฐพิธีต่างๆ ที่สำคัญคือเมื่อ พลเรือเอก ลอร์ด หลุยส์ เมานต์แบทเตน ผู้บัญชาการภาคพื้นแปซิฟิกของสัมพันธมิตรมาประเทศไทยและจัดพิธีสวนสนามขึ้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงฉลองพระองค์ในชุดจอมทัพไทย ได้เสด็จตรวจพลสวนสนามและรับการถวายความเคารพจากกองทหารสหประชาชาติร่วมกับลอร์ด หลุยส์ เมานต์แบตเตน ความกระจ่างก็เกิดขึ้นทันทีว่า ไทยคือผู้แพ้หรือผู้ชนะในสงครามครั้งนี้

อีกพระราชกรณียกิจหนึ่งที่มีความสำคัญต่อความสงบสุขของสังคมไทยอย่างมาก ก็คือ เมื่อทรงทราบถึงความบาดหมางระหว่างคนไทยกับคนจีน ด้วยความห่วงใยพสกนิกรทุกหมู่เหล่า จึงทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสมานไมตรีให้แนบแน่นดังเดิม โดยการเสด็จไปสำเพ็งอย่างเป็นทางการ ก่อนจะเสด็จกลับไปศึกษาต่อปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์

ไม่ต้องสงสัยว่าข่าวนี้จะยังความปีติยินดีเป็นล้นพ้นให้กับชาวสำเพ็งซึ่งมีคนไทยเชื้อสายจีนเป็นส่วนใหญ่ ถึงกับหยุดขายหยุดธุรกิจเป็นเวลา ๓ วันเพื่อเตรียมการรับเสด็จ มีการทำซุ้มประตูรับเสด็จด้วยดอกไม้สด ปูพรมเป็นลาดพระบาทจนตลอดสำเพ็ง

หลังวันประวัติศาสตร์ ๓ พฤษภาคม ๒๔๘๙ นั้นแล้ว ความสัมพันธ์ของพสกนิกรไทย-จีนก็กลับมาสนิทเป็นเนื้อเดียวดังเดิม

แต่แล้วหลังวันนั้นเพียงเดือนเศษ ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ เวลาประมาณ ๙.๐๐ น. เสียงปืนนัดหนึ่งได้ดังขึ้นในห้องพระบรรทม ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง มหาดเล็กหน้าห้องพระบรรทมรีบเข้าไปดู เห็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรทมอยู่บนพระที่ มีโลหิตไหลเปื้อนพระองค์ และเสด็จสวรรคตแล้ว

ข่าวนี้เป็นเสมือนอสุนีบาดฟาดลงกลางใจของคนไทยทั้งประเทศ ต่างพากันย้อมเสื้อผ้าเป็นสีดำมืดไปทั้งประเทศ สาเหตุของเรื่องนี้ จนบัดนี้ก็ยังเป็นความมืดมนเหมือนสีเสื้อผ้าของประชาชนในวันนั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น