xs
xsm
sm
md
lg

ส่องทีวีดิจิทัล "ทีเอ็นเอ็น-นิว 18-เนชั่นทีวี" เมื่อช่องข่าวและสาระเหลือแค่ 3 ช่อง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สำรวจทีวีดิจิทัลช่องข่าวและสาระ 3 ช่องที่เหลือ หลัง คสช.ไฟเขียวคืนใบอนุญาต "ทีเอ็นเอ็น ช่อง 16" ยังสู้ต่อ หลังได้ "พลภฤต" จากช่อง 8 อาร์เอสคุมเนื้อหาช่อง ด้าน "นิวทีวี" เปลี่ยนโลโก้ใหม่สีฟ้า-เหลือง เน้นกลุ่มครอบครัว "เนชั่นทีวี" อ้าแขนรอรับรายการ "สปริงนิวส์" ที่ผันตัวเป็นคอนเทนต์โพรไวเดอร์

... รายงาน

หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อนุญาตให้ทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาตประกอบกิจการต่อสำนักงาน กสทช. แล้ว พบว่ามีช่องทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาตรวม 7 ช่องรายการ

หนึ่งในนั้นคือ "ช่องข่าวและสาระ" ทั้งหมด 7 ช่อง ที่ผ่านมา "เจ๊ติ๋ม" พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย เจ้าแม่ทีวีพูล ยกธงขาวเป็นรายแรก ทำให้เหลือเพียง 6 ช่อง

เมื่อ คสช. ไฟเขียวให้คืนใบอนุญาต พบว่ามีช่องข่าว 3 ช่องที่ไม่ไปต่อ

ได้แก่ "ไบร์ททีวี" ที่จะผันตัวไปเป็นผู้ผลิตรายการตามเดิม หลังมาทำทีวีดิจิทัลแล้วเจ็บตัว, "สปริงนิวส์" ที่เคยอุทิศเวลาให้กับทีวีไดเร็ค เกือบจะกลายเป็นช่องขายของ

และ "วอยซ์ทีวี" กระบอกเสียงของตระกูลชินวัตร ที่จะผันตัวไปอยู่ทีวีดาวเทียม ซึ่งมีค่าใช้จ่ายส่งสัญญาณน้อยกว่าเท่าตัว และช่องทางออนไลน์ซึ่งเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นหลัก

หากการคืนช่องทีวีดิจิทัลเป็นไปตามกำหนด ทีวีดิจิทัลช่องข่าวและสาระจะเหลือเพียงแค่ 3 ช่อง ได้แก่ ทีเอ็นเอ็น ช่อง 16, นิว 18 และ เนชั่นทีวี 22 เท่านั้น ซึ่งแต่ละช่องมีกลยุทธ์แตกต่างกันไป ดังนี้

ทีเอ็นเอ็น (TNN) ช่อง 16 ในอดีตคือ TNN24 เป็นช่องข่าวโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกของกลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น แต่หลังจากการประมูลทีวีดิจิทัลไปแล้วได้หมายเลข 16 แล้วผู้ชมเกิดความสับสน

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2562 จึงได้รีแบรนด์ดิ้งใหม่เป็นกรอบสี่เหลี่ยมสีส้ม โลโก้สีขาวระบุคำว่า TNN16 และเรียกว่า "ทีเอ็นเอ็น ช่อง 16" แทนคำว่า "ทีเอ็นเอ็น ทเวนตี้โฟร์"

หลังการเปิดโอกาสคืนช่องผ่านพ้นไปแล้ว กลุ่มทรูตัดสินใจไม่คืนใบอนุญาตทั้งสองช่อง ได้แก่ ทีเอ็นเอ็น ช่อง 16 และทรูโฟร์ยู ช่อง 24 เพราะให้ความสำคัญกับพนักงาน มากกว่าเงินพันล้านที่จะได้คืน

ก่อนหน้านี้ได้เสริมแม่ทัพ โดยดึงอดีตเพื่อนร่วมงานอย่าง ดร.พลภฤต เรืองจรัส จากช่อง 8 อาร์เอส มาเป็นรองผู้อำนวยการสถานี ทำหน้าที่ดูแลเนื้อหาช่อง

อีกทั้งมีการเพิ่มผู้ประกาศมืออาชีพ อย่างเมื่อกลางปีที่แล้วเพิ่งจะได้ "ภัทร จึงกานต์กุล" อดีตผู้ประกาศข่าวไอทีวี และช่อง 7 สี มาเสริมทัพข่าวค่ำไปหมาดๆ

แม้ผลประกอบการและเรตติ้งจะไม่โดดเด่นเมื่อเทียบกับช่องเบอร์ใหญ่ แต่คอนเทนต์ของทั้งสองช่องยังขายได้ และนำไปต่อยอดผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ โดยเฉพาะแอปพลิเคชัน ทรูไอดี (True ID) ที่ทรูพัฒนาเอง

นิว 18 (NEW 18) ตัดสินใจเปลี่ยนโลโก้ช่องไปเมื่อวานนี้ (21 พ.ค.) จากเดิมโทนสีแดงและเทา เป็นสีฟ้าและสีเหลือง รวมทั้งการออกแบบในกรอบสี่เหลี่ยม เพื่อให้ใช้งานได้ทั้งทางหน้าจอโทรทัศน์ และแพลตฟอร์มออนไลน์

ภาณุชัย เหตระกูล ศรีนวลนัด กรรมการบริหารและผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์นิว 18 เปิดเผยว่า ได้ทำการเปลี่ยนโลโก้ของช่องเป็นแบบใหม่อย่างเป็นทางการ เพื่อให้จดจำหมายเลขช่องได้ง่าย

การปรับครั้งนี้ เพื่อสอดรับกับการปรับรูปแบบการนำเสนอข่าวใหม่หมด เพื่อสร้างความแตกต่างจากข่าวช่องอื่นๆ เหมาะกับครอบครัว เด็กและเยาวชน ที่ต้องการข่าวที่สามารถรับชมได้พร้อมกันทั้งบ้าน

โดยหลีกเลี่ยงข่าวอาชญากรรม ความรุนแรง และภาพไม่เหมาะสม ดูข่าวแล้วสามารถนำไปต่อยอด พัฒนาความคิดได้ แต่ยังคงไว้ซึ่งความเพลิดเพลินในการรับชม สลับกับสารคดีระดับโลกตลอดทั้งวัน

เนชั่นทีวี 22 หลังจากบอร์ด เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ยุคกลุ่มทุนใหม่ ตัดสินใจคืนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ช่อง นาว 26 เพราะไม่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทซึ่งเป็นองค์กรข่าว แต่ไม่ได้ชำนาญรายการวาไรตี้

ทำให้กลุ่มเนชั่นในยุคของ "ฉาย บุนนาค" เหลือเพียงแค่ช่องเนชั่นทีวี 22 เพียงช่องเดียวเท่านั้น ส่วนสปริงนิวส์ที่คืนใบอนุญาตช่อง 19 จะผันตัวไปเป็นคอนเทนท์ไพรไวเดอร์ ผลิตข่าวทั้งออนไลน์และช่อง 22

สมชาย มีเสน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเนชั่น ระบุว่า ผู้บริหารในอดีตเข้าประมูลช่องวาไรตี้ มูลค่าสูงกว่า 2.2 พันล้านบาท ทั้งที่ไม่มีความชำนาญเนื้อหาด้านวาไรตี้ ส่งผลให้ 5 ปีที่ผ่านมาขาดทุนไป 2.4 พันล้านบาท

รวมทั้งเป็นสาเหตุหนึ่งในการตกแต่งตัวเลขทางบัญชี ที่ทำให้เกิดรายได้ค้างรับที่ไม่เป็นจริงของกลุ่มสูงถึง 690 ล้านบาท แถมที่ผ่านมายังลงทุนสูง แต่ขาดความโปร่งใสในการจัดซื้อลิขสิทธิ์รายการทั้งในและต่างประเทศ

นายสมชาย กล่าวว่า คอนเทนต์ข่าวของช่อง 26 จะนำมารวมอยู่ช่อง 22 ทำให้ช่องเนชั่นทีวี 22 เป็นสถานีข่าวอย่างแท้จริง คอนเทนต์ที่เป็นวาไรตี้และโฮมช็อปปิ้ง ที่ปัจจุบันแฝงอยู่จะหมดไป

แม้ช่องข่าวทั้งสามช่องจะมีทิศทางของตัวเอง แต่ยังต้องแข่งกับช่องวาไรตี้ ทั้งระบบมาตรฐาน และระบบเอชดี (HD) ที่ต่างก็มีรายการข่าวเป็นของตัวเอง และบางช่องพยายามช่วงชิงเรตติ้งแข่งกับละครอีกด้วย

นับจากนี้ "ช่องรายการข่าวและสาระ" ทั้งสามช่องที่เหลือ ใครจะสายป่านยาวมากกว่ากัน
กำลังโหลดความคิดเห็น