xs
xsm
sm
md
lg

ร.๕ สอนลูก เกิดเป็นกษัตริย์อย่าถือว่ามีบุญ แต่มีกรรม! เทียมแอกเทียมไถ ทำงานหนัก!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นยุคสมัยที่ประเทศไทยต้องเผชิญภัยของลัทธิล่าอาณานิคมอย่างหนัก แนวทางแก้ปัญหาของชาติยามนั้นจึงต้องวางเป้าหมายที่จะต้องพาชาติให้รอดปลอดภัยเป็นสำคัญ การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใดๆในสังคมไทย ก็เพื่อสนองนโยบายนี้ แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าการปรับปรุงระบบระเบียบต่างๆภายในสังคมจะมุ่งแต่ประโยชน์ทางการเมืองอย่างเดียว หากได้คำนึงถึงความเหมาะสมหรือรูปแบบของสังคมไทยควบคู่ไปด้วย ซึ่งนับเป็นภาระหนักของกษัตริย์ที่ต้องทรงรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ทรงหวั่นวิตกว่าหากทำไม่ได้ พระองค์จะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า เป็นผู้ที่ทำให้เสียเมืองอย่างกษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา

ปัญหาของบ้านเมืองในยามนั้น คือการการจัดระเบียบการบริหาราชการแผ่นดิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องล้าสมัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบควบคุมกำลังคน ที่เรียกกันว่า ระบบไพร่ หรือการจัดระเบียบราชการแบบที่แบ่งหน้าที่ตามเขตการปกครอง เสนาบดีแต่ละคนทำหน้าที่ทุกอย่างตั้งแต่เก็บภาษี เกณฑ์ไพร่พล ตัดสินความ บางครั้งก็ต้องไปเป็นแม่ทัพ ซึ่งทำให้สับสน ส่วนการปกครองภูมิภาค เมืองหลวงก็ไม่สามารถควบคุมหัวเมืองที่อยู่ห่างไกลได้เต็มที่ ทำให้หัวเมืองเหล่านั้นมีอิสระมากขึ้น ลักษณะเช่นนี้ย่อมเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของพระราชอาณาจักร ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงจึงต้องเกิดขึ้น

ปฏิรูปการปกครองใหม่ คนไทยเป็นเสรีชน
การปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ ๕ นับเป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่และเป็นรากฐานการปกครองแบบใหม่มาจนทุกวันนี้ คือยกเลิกการปกครองแบบจตุสดมภ์ โดยจัดระเบียบการบริหารเป็นส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ส่วนกลางได้จัดตั้งกระทรวงทบวงกรมแบบตะวันตก ๑๒ กระทรวง มีเสนาบดีรับผิดชอบและบังคับบัญชาประจำแต่ละกระทรวง ปฏิบัติราชการตามภาระหน้าที่แตกต่างกันไป ส่วนภูมิภาคได้จัดรูปแบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล มีเทศาภิบาลซึ่งเทียบเท่าผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบัน ได้รับแต่งตั้งจากส่วนกลางไปปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับบัญชา ก่อให้เกิดการรวมศูนย์อำนาจการปกครองแบบรัฐชาติขึ้น ทำให้ปัญหาการแบ่งแยกเขตปกครองและความแตกต่างของพลเมืองหมดไป ประชาชนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยย่อมเป็นคนไทยเหมือนกันหมด ส่วนการปฏิรูปทางสังคม ได้ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้เท่าเทียมกัน เลิกประเพณีล้าหลังต่างๆ เช่น การมีไพร่ มีทาส เป็นผลให้คนไทยเป็นเสรีชน มีโอกาสก้าวหน้าโดยการศึกษา มีอาชีพที่มั่นคง ได้รับความคุ้มครองดูแลจากรัฐโดยทั่วกัน

เกิดเป็นคนไทยต้องรักถิ่นกำเนิด
“...ที่มาไกลยิ่งเห็นแปลกยิ่งกลับคิดถึงบ้าน ไม่ยักเพลิน คนที่คิดถึงบ้านน่ากลัวจะเหมือนคนที่ติดเหล้า ที่ร้อนฤาหนาวก็ต้องกินเหล้าเป็นต้น ที่ร้อนก็คิดถึงบ้าน ที่หนาวก็คิดถึงบ้าน สนุกก็คิดถึงบ้าน...”

พระราชนิพนธ์ในเรื่อง “ไกลบ้าน” แสดงว่าพระองค์ก็ทรงคิดเหมือนคนไทยทั่วไปที่มีความรักในถิ่นกำเนิด ทรงตระหนักในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่พึงมีความรักและหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อประเทศของตน คุณสมบัติข้อนี้ทรงปลูกฝังให้กับประชาชนของพระองค์เสมอมา ดังพระราชดำรัสกับประชาชนที่พลับพลาหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๐ ตอนหนึ่งว่า

“...เราทั้งหลายเฉพาะได้เกิดมาในประเทศนี้รวมกันแล้ว บางคนก็ต้องอยู่ในตำแหน่งอันใหญ่ บางคนก็อยู่ในตำแหน่งอันน้อย แต่แม้ว่าจะมียศตำแหน่งแปลกกัน ในระหว่างพวกเราฉันใดก็ดี ก็ยังมีหน้าที่อันหนึ่งซึ่งเราทั้งหลายย่อมมีอยู่เหมือนกันหมด คือว่ามีหน้าที่ซึ่งจะต้องมีใจรักซึ่งกันและกัน แลจะต้องกระทำตามกำลังของตนที่จะกระทำได้ เพื่อให้บ้านเมืองของเรามีความเจริญสุขรุ่งเรืองขึ้น...”

กษัตริย์ไม่ใช่ผู้มีบุญ แต่มีกรรม
ภาระอันใหญ่หลวงที่ทรงรับในตำแหน่งประมุขของประเทศนั้น นอกจากจะปรากฏในพระราชกรณียกิจจนได้รับการถวายพระราชสมัญญามหาราชแล้ว ยังปรากฏในพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่พระเจ้าลูกยาเธอในโอกาสต่างๆ ทรงชี้ให้เห็นว่าผู้ทำหน้าที่เพื่อส่วนรวม เสียสละส่วนตน มิใช่ผู้มีบุญดังความเข้าใจของคนทั่วไป แต่ถือว่าเป็นผู้มีกรรม ดังเช่นพระบรมราโชวาทถึงเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ร.ศ.๑๑๒ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“...อย่าถือว่าเกิดมามีบุญ ต้องถือว่าตัวเกิดมามีกรรมสำหรับจะเทียมแอกเทียมไถ ทำการที่หนัก การซึ่งจะมีวาสนาขึ้นต่อไปนั้นเป็นความทุกข์ มิใช่ความสุข
การเป็นเจ้าแผ่นดินไม่ใช่สำหรับมั่งมี ไม่ใช่สำหรับคุมเหงคนเล่นตามใจชอบ มิใช่เกลียดไว้แล้วจะแก้เผ็ด มิใช่เป็นผู้สำหรับจะกินสบายนอนสบาย ถ้าจะปรารถนาเช่นนั้นแล้วมีสองทาง คือบวชทางหนึ่ง เป็นเศรษฐีทางหนึ่ง เป็นเจ้าแผ่นดินสำหรับแต่เป็นคนจน และเป็นคนที่อดกลั้นต่อสุขและทุกข์ อดกลั้นต่อความรักและความชังอันจะเกิดฉิวขึ้นมาในใจ หรือมีผู้ยุยง เป็นผู้ปราศจากความเกียจคร้าน ผลที่จะเกิดได้นั้นมีแต่ชื่อเสียงปรากฏเมื่อเวลาตายแล้ว ว่าเป็นผู้รักษาวงศ์ตระกูลไว้ได้ และเป็นผู้ป้องกันความทุกข์ของราษฎรซึ่งอยู่ในอำนาจความปกครอง ต้องหมายใจในความสองข้อนี้เป็นหลักมากกว่าคิดถึงการเรื่องอื่น ถ้าผู้ซึ่งมิได้ทำใจได้เช่นนี้ก็ไม่แลเห็นเลยว่า จะปกครองรักษาแผ่นดินอยู่ได้...”

อย่าไปลอกเอาตำราปลูกข้าวสาลีมาปลูกข้าวเจ้าข้าวเหนียว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงมีพระบรมราชาธิบายถึงเหตุที่พระองค์ไม่ทรงจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นไปตามแบบฉบับของประเทศในยุโรปโดยทันที และทรงหวังจะเตือนสติผู้ที่มีความคิดอยู่ปลายสุดของทั้งสองฝ่าย ในพระราชดำรัสตอบความเห็นของผู้ที่เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองใน จ.ศ.๑๒๔๗ ความตอนหนึ่งว่า

“...พวกที่คิดราชการในประเทศยุโรปนั้นๆ ถือความคิดตัวมาจัดการในเมืองไทย ก็จะเป็นการไม่ถูกกันเลย ด้วยพื้นเพการงานทั้งปวงไม่เหมือนกัน เหมือนหนึ่งไปลอกเอาตำราทำนาปลูกข้าวสาลีในเมืองยุโรป มาปลูกข้าวเจ้าข้าวเหนียวในเมืองไทย ก็จะไม่ได้ผลอันใด

...การสิ่งไรซึ่งเป็นอยู่ในบัดนี้ควรจะเลิกถอนเสียทีเดียว การสิ่งใดควรจะเปลี่ยนแปลงอย่างเก่าเป็นอย่างใหม่ การสิ่งไรซึ่งยังไม่มีไม่เป็น ควรจะตั้งเพิ่มเติมขึ้น เมื่อผู้ใดคิดเห็นพูดขึ้น ต่างพร้อมกันพิจารณาตามโดยความคิดอันละเอียดในทางได้ทางเสียตลอดทุกข้อทุกประการ เมื่อจะสงสัยในความคิดอันใด ผู้ซึ่งเป็นต้นคิดจะต้องอธิบายตามความคิดเห็นของตัวที่คิดไว้แล้ว ผู้ที่จะถามนั้นก็ตั้งใจถามเพื่อจะรู้ความคิดเป็นทางที่จะได้คิดการให้ตลอดไป ฝ่ายผู้ที่เป็นต้นคิดนั้นก็ต้องไม่มีความโกรธในการที่มีผู้สงสัยไม่เข้าใจในความคิดของตัว หรือความคิดของตัวไว้ไม่ตลอด เมื่อมีผู้ถามแปลกออกไปจากความคิด จะคิดแก้ไขไม่ได้ต่อไป ต้องรับว่าข้อนั้นเป็นผิดอยู่ ฝ่ายผู้ที่ถามต้องช่วยคิดแก้ไขต่อไปตามความคิดของตัว ไม่เป็นการแต่ถามสำหรับที่จะดักคอกันเล่นเปล่าๆ เมื่อช่วยกันพิจารณาโดยเต็มกำลัง จนถึงช่วยกันเรียบเรียงแก้ไขเป็นข้อบังคับขึ้นได้แล้ว ผู้ที่จะรับการนั้นไปทำเป็นหน้าที่ ก็จะตั้งใจทำการนั้นโดยเต็มกำลังเต็มความคิดที่จะให้เป็นไปได้ตามการที่ตกลง ถ้าเป็นการพร้อมมูลกันทำได้ดังนี้ เหตุใดการจำเริญของบ้านเมืองจะไม่สำเร็จไปเพราะความสามัคคีเล่า...”

ข้อนี้เอามาฝากท่านสมาชิกรัฐสภาด้วยนะ
สภาการแผ่นดินร่วมคิดร่วมทำ
ถึงแม้สมัยรัชกาลที่ ๕ จะเป็นการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช แต่ในทางปฏิบัติก็มิได้ทรงผูกขาดอำนาจไว้แต่พระองค์เอง โปรดให้มีการแต่งตั้งคณะบุคคลขึ้นเป็นสภาการแผ่นดินต่างๆเพื่อถวายความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นองคมนตรีสภา เสนาบดีสภา และรัฐมนตรีสภา นับเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ทรงริเริ่มขึ้น ทั้งยังเป็นการแสดงถึงน้ำพระทัยที่มุ่งในผลประโยชน์ของชาติ โดยยอมลดพระราชอิสริยยศและพระราชอำนาจที่ทรงมีอยู่ ดังเช่นพระราชดำรัสในการที่องคมนตรีรับพระราชทานน้ำพิพัฒน์สัตยา พ.ศ.๒๔๑๗ ว่า

“...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ในการสุจริตอย่างเดียว จะให้การทั้งปวงซึ่งเป็นการเจริญแก่บ้านเมืองสำเร็จไป เพราะฉะนั้นจึงได้หย่อนผ่อนพระราชอิสริยยศ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินต้นพระบรมราชวงศ์แต่ก่อนไม่มีผู้ใดเป็นผู้ทัดทานขัดขวางได้ และบัดนี้จะให้ทูลขัดขวางและชักนำได้นั้นก็เป็นการสำคัญ ยากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงสันนิษฐานน้ำใจคนที่คิดการทั้งปวงนั้น จะเป็นการสุจริตฤาเป็นการคิดแต่ผลประโยชน์ตน ไม่คิดถึงคนอื่น ก็จะไม่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยลงได้ เพราะฉะนั้นควรที่ปรีวีเคาน์ซิลเลอร์จะต้องถวายสัตยานุสัตย์...”

คนไทยเกิดมาต้องเป็นไท
พระราชกรณียกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ คือ ทรงมีพระราชดำริว่า คนไทยทุกคนควรมีความเท่าเทียมกัน จึงทรงมีพระราโชบายให้เลิกทาส โดยดำเนินเป็นขั้นตอนเพื่อมิให้มีผลกระทบต่อเจ้าของทาสและตัวทาสเอง วิธีที่ทรงใช้มีทั้งแก้พิกัดเกษียณอายุลูกทาส กล่าวคือตนไทยที่เกิดในรัชกาลของพระองค์ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๑๑ จะเริ่มพ้นจากการเป็นทาสตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๒ ส่วนคนที่เกิดหลัง พ.ศ.๒๔๓๒ เป็นไททั้งหมด ทรงมีพระราชดำริต่อการกำเนิดของลูกทาสว่า ควรได้รับความเป็นธรรม เป็นไท ดังความว่า

“...ข้าพเจ้าคิดเห็นว่าลูกทาสที่เกิดในเรือนเบี้ย ตั้งแต่ออกจากท้องมีค่าตัวไปจนถึงอายุ ๑๐๐ หนึ่งก็ยังไม่หมด ดังนี้ดูหามีความกรุณาต่อลูกทาสไม่ ด้วยตัวเด็กที่เกิดมาไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นสิ่งใดเลย บิดามารดาทำชั่วไปขายตัวท่านแล้ว ยังพาบุตรไปให้เป็นทาสจนสิ้นชีวิตอีกเล่า เพราะรับโทษทุกข์ของบิดามารดาเท่านั้นเอง หาควรที่จะเอาเป็นทาสจนตลอดชีวิตไม่...”

นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตราพระราชบัญญัติ และออกประกาศหลายฉบับ จนในที่สุดไม่มีทาสเหลืออยู่เลย

เสรีภาพในการถือศาสนา
ในด้านการศาสนา ทรงเป็นศาสนูปถัมภก พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ทุกศาสนาในขอบขัณฑสีมา แม้พระองค์จะเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด แต่ก็ได้พระราชทานเสรีภาพในการนับถือศาสนาแก่ประชาชนของพระองค์อย่างเต็มที่ ดังพระราชดำรัสกับพระสงฆ์ที่พระราชวังบางปะอินครั้งหนึ่งว่า

“...การศาสนานั้นไม่เป็นที่ขัดขวางสิ่งใดในราชการแผ่นดิน ผู้ใดเห็นว่าศาสนาใดจะถูกต้องก็ถือตามชอบใจของผู้นั้น ผิดถูกก็อยู่แก่ผู้ถือศาสนานั้นเอง ในหนังสือสัญญาและธรรมเนียมในกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ห้ามปรามคนที่จะถือศาสนา นอกจากนี้ยังทรงสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมต่างๆในแต่ละศาสนาโดยทั่วกัน แม้ศาสนสถานของศาสนาอื่น ก็ทรงพระราชทานการปลูกสร้างให้ ไม่มีการเลือกแต่อย่างใด...”

เสด็จประพาสโดยรถไฟชั้น ๓
เรื่องที่ถูกกล่าวขานกันมากในสมัยรัชกาลที่ ๕ อีกเรื่องหนึ่งก็คือ การเสด็จประพาสต้น ที่ทำให้พระองค์ได้ทรงสมาคมกับราษฎรอย่างใกล้ชิด โดยราษฎรไม่ทราบว่าพระองค์ก็คือพระเจ้าแผ่นดินของพวกเขา อย่างที่ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ใน “เสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕” ตอนหนึ่งว่า

“...เสด็จรถไฟชั้นที่ ๓ ประทับปะปนไปกับราษฎร ไม่ให้ใครรู้ว่าใครเป็นใคร เพื่อจะใคร่ทรงทราบว่าราษฎรอาศัยไปมากันอย่างไร เจ้าพนักงานรถไฟก็เหลือดี มีอัธยาศัยรู้พระราชประสงค์ ที่จริงแกรู้ แต่แกล้งทำเฉย มาเรียกติเก็ตพวกเราเหมือนราษฎรทั้งปวง ทำไม่ให้ผิดกันอย่างไร ต่อผู้ใดสังเกตจริงๆ จึงจะพอเห็นได้ว่าหน้าแกออกจะซีดๆ และเมื่อไปเรียกติเก็ตพระเจ้าอยู่หัว มือไม้แกสั่นผิดปกติ...”

การที่ทรงสมาคมกับราษฎรอย่างสามัญชนต่อสามัญชนเช่นนั้น ทำให้พระองค์ทรงทราบความเป็นไปของราษฎรอย่างแท้จริง และทรงเห็นการทำงานของเจ้าหน้าซึ่งทรงไว้วางพระราชหฤทัยแต่งตั้งออกไปทำการต่างพระเนตรพระกรรณ นับเป็นประจักษ์พยานแห่งพระกรุณาธิคุณ พระเมตตาคุณ ของพระองค์ผู้อุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาประชาราษฎร์อย่างแท้จริง สมดังพระราชดำรัสที่ทรงย้ำในหลายๆแห่งว่า

“...เราจะเป็นเหมือนบิดาของเจ้าเสมอตลอดไป ย่อมยินดีด้วยในเวลามีความสุข และช่วยปลดเปลื้องอันตรายในเวลามีภัยได้ทุกข์...”


กำลังโหลดความคิดเห็น