xs
xsm
sm
md
lg

“พระยา พาลาซโซ” ยกระดับบริการโรงแรมแบรนด์ไทยริมน้ำเจ้าพระยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“พระยา พาลาซโซ” ก้าวต่อไปของโรงแรมไทยแท้อายุมากกว่า 3 ทศวรรษ ที่สร้างชื่อในภาพลักษณ์ใหม่ ครอบคลุมทุกมิติความต้องการ พร้อมรุกตลาดฮอสพิทาลิตี้ด้วยการโชว์เสน่ห์ความงามริมฝากฝั่งน้ำเจ้าพระยาให้ปักหมุดบนเส้นทางเรือที่พามาสู่บริการระดับพรีเมียมอีกแห่งของโรงแรมในประเทศไทย

“โรงแรมพระยา พาลาซโซ” ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางชุมชนบางยี่ขัน ตัวโรงแรมอยู่ติดแม่เจ้าพระยา อาคารเก่าแก่อายุ 100 ปี ซึ่งเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ ตัวอาคารสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์พาลาดิ ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่งดงามจากอิตาลีในยุคนั้น

ย้อนกลับเมื่อราว 100 กว่าปีก่อน “พระยา พาลาซโซ” มีชื่อว่า “บ้านบางยี่ขัน” สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2466 โดย “อำมาตย์เอก พระยาชลภูมิพานิช” (ต้นตระกูลอเนกวณิช) ขุนนางและคหบดีเชื้อสายจีนผู้มั่งคั่ง สมรสกับ “คุณหญิงส่วน” (สกุลเดิม อุทกภาชน์) ภายหลังสมรสแล้วก็ได้ครองคู่อยู่อาศัยอย่างมีความสุขในบ้านหลังนี้ โดยมีพยานรักเป็นบุตรธิดารวม 10 ท่าน

ครั้นเวลาล่วงเลยบ้านแห่งนี้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็น “โรงเรียนราชการุญ” ในช่วงต้นรัชกาลที่ 9 ซึ่งดำเนินกิจการมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีปัญหาทางด้านการเงินจึงถูกปิดลงในปี 1978 และ 5 ปีต่อมาถูกเปลี่ยนกิจการเป็นโรงเรียนอินทรอาชีวะและดำเนินกิจการจนถึง 1996 ก็ต้องปิดตัวอีกครั้ง ก่อนจะถูก ผศ.วิชัย พิทักษณ์วรรัตน์ สถาปนิกผู้ชื่นชมในคุณค่าและความงามของสถาปัตยกรรมโบราณ เนรมิตที่แห่งนี้ ให้กลายมาเป็นโรงแรมแบบบูติก ใช้ชื่อ “โรงแรมพระยา พาลาซโซ” หมายถึง คฤหาสน์แห่งพระยาชลภูมิพานิช เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ผู้เป็นเจ้าของเดิม

ปัจจุบันโรงแรมพระยา พาลาซโซ อยู่ภายใต้การบริหารงานโดยเครือมนทาระ ฮอสพิตาลิตี้ กรุ๊ป โดยมีการบูรณะปรับปรุงทั้งตัวโรงแรมและห้องอาหาร เฉพาะในส่วนของห้องอาหาร “พระยา ไดนิ่ง” ก็มีการเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ใหม่ ที่เน้นเมนูอาหารไทยแท้ที่หารับประทานได้ยาก

คุณทิพย์หทัย งามสิริพร ผู้จัดการด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์ เล่าให้ฟังว่า การจัดพื้นที่ห้องพักของพระยาพาลาซโซอาศัยหลักการสมมาตร ตามลักษณะของตัวอาคารที่ถูกออกแบบให้พื้นที่ของอาคารสองด้านที่เท่าๆ กัน มีห้องพักทั้งหมด 15 ห้อง ได้รับการตกแต่งด้วยคอนเซ็ปต์ไทยเดิม เพื่อให้แขกได้สัมผัสกับบรรยากาศของบ้านไทยในยุคโบราณได้เต็มอย่างภาคภูมิใจ

ขณะเดียวกัน ยังมีการจัดฟังก์ชันใหม่บนพื้นที่ที่มีอยู่เดิม เพื่อเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวกเข้าไปให้ครบครัน อาทิ ห้องจัดพิธีการ ซึ่งเป็นโถงกลาง บนชั้น 2 ได้รับการปรับปรุงและออกแบบฟังก์ชันขึ้นใหม่ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าได้อย่างลงตัว อาทิ พิธีหมั้น รดน้ำสังข์แบบไทย งานจัดเลี้ยงรับรองขนาดกลาง หรือจัดสัมมนากลุ่มผู้บริหาร

สำหรับในส่วนของภูมิสถาปัตยกรรม พระยา พาลาซโซ ยังคงยึดแนวคิดเดิมที่ต้องการให้สถานที่แห่งนี้มีบรรยากาศเหมือนบ้าน มีพื้นที่เล็กๆ ระหว่างตึกที่เต็มไปด้วยสวนสมุนไพร ต้นไม้ไทยโบราณ โดยเฉพาะไม้ดอกหอมและไม้ยืนต้น คอยให้ร่มเงาอยู่รอบบริเวณอาคาร ชักชวนให้ผู้คนเข้ามาชื่นชมความงดงามของสถาปัตยกรรมและรำลึกถึงเรื่องราว ความรัก ความผูกพัน ที่ผ่านมาหลายยุคสมัยตราบจนถึงปัจจุบัน

“คอนเซ็ปต์ใหม่ที่วางไว้คือ เราเน้นในเรื่องของประวัติศาสตร์ไทย หากใครมาที่นี่จะเหมือนได้นั่งไทม์ แมชชีนย้อนไปดูประวัติศาสตร์ไทยยุคสมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา และรัตนโกสินทร์ ผ่านการบอกเล่าด้วยอาหารไทยโบราณ ที่ ห้องอาหารพระยา ไดนิ่ง ค่ะ” ทิพย์หทัย กล่าว

“พระยา ไดนิ่ง” อนุรักษ์เมนูอาหารไทยแท้แบบโบราณไว้ที่นี่ เคยมีคนบอกให้ได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่า อาหารไทยเรานี้ไม่เหมือนชาติใดในโลก นี่เป็นเรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลย หลากหลายเมนูอาหารไทยกลายเป็นอาหารขึ้นชื่อที่ต่างชาตินิยมชมชอบ เพราะอาหารไทยไม่เพียงแค่มีรสชาติที่อร่อยและจัดจ้าน หากแต่ขั้นตอนการทำที่แม้จะยุ่งยากหากแต่ละเมียดละมัย โดยเฉพาะ “แกง” ถ้วยหนึ่งจะประกอบด้วยเครื่องปรุงที่ไม่รวมเนื้อสัตว์ไม่ต่ำกว่า 20 ชนิด นี่!! จึงเป็นเสน่ห์ให้ชวนหลงใหลไปทั่วโลก








เชฟบุษ-บุษกล อัครภัทรนิธิ ที่สั่งสมประสบการณ์การทำอาหารไทยมากกว่า 35 ปี ทั้งในโรงแรมระดับ 5 ดาว อย่างโรงแรมแชงกรี-ลา และ โรงแรม Hyatt โดยมาเริ่มเป็นเชฟประจำห้องอาหารพระยาไดนิ่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เชฟบุษเล่าให้ฟังด้วยความภาคภูมิในว่า “เธอหลงรักการทำอาหารไทยมาตั้งแต่ยังเด็ก โดยมีคุณแม่เป็นเสมือนครูที่พร่ำสอนและถ่ายทอดเคล็ดลับและวิธีการทำอาหารให้อย่างหมดเปลือกนั้น เธอนำมาถ่ายทอดลงในเมนูอาหารไทยโบราณขึ้นชื่อให้กับห้องอาหาร พระยา ไดนิ่ง ที่ตระเตรียมไว้รอรับนักชิม”


เมนูอาหารไทยที่ “พระยา ไดนิ่ง” นำมายกขึ้นเมนูที่นี่ล้วนหารับประทานได้ยากและยังแสดงออกถึงเรื่องราวความเป็นมาในแต่ละยุคสมัยของประเทศไทยเรา จากการศึกษาเมนูตำรับตำราโบราณต่างๆ รวมไปถึงหนังสืออาหารสำรับชาววัง อย่าง “กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน” บทประพันธ์ในรัชกาลที่ 2 “คู่มือแม่ครัว” ประพันธ์โดย ล. เภตรารัตน์ “ตำรับกับเข้า” ประพันธ์โดยหม่อมส้มจีน หรือหนังสือ “เรื่องเล่าชาววัง หรือ ชีวิตในวัง” โดยหม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ ซึ่งได้กลายเป็น เมนู ซิกเนเจอร์ ของห้องอาหาร พระยา ไดนิ่ง อย่าง “ล่าเตียง” “แสร้งว่ากุ้งปลาดุกฟู” “แกงรัญจวน” และ “หมูผัดส้มเสี้ยว” รวมไปถึงขนมหวานอย่าง “อินทนิล” หรือ “บัวลอยลูกตาล” อีกด้วย


“หัวใจของอาหารไทยคือ 3 เกลอ ที่ได้แก่ รากผักชี กระเทียม พริกไทยค่ะ ซึ่งเครื่องแกง พริกแกง ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพริกแกงที่ใส่ในหมูผัดส้มเสี้ยว หรือข้าวซอย เราก็ปรุงเอง อาหารทุกจานถูกปรุงผ่านขั้นตอนที่ละเอียดและใช้ความปราณีตเพื่อให้อาหารทุกจานออกมาดีที่สุด” เชฟบุษกล่าว



เชฟบุษ ยังบอกอีกว่า ความซับซ้อนของอาหารก็จะไล่ไปตามยุคสมัยเช่นกัน อย่างสมัยสุโขทัยจะเป็นอาหารที่เรียบง่าย แต่ร่ำรวยทางวัตถุดิบมีวิธีการปรุงที่ยังไม่ซับซ้อนนัก เมนูในสมัยสุโขทัยที่ขึ้นชื่อได้แก่ หลนปูและหลนปลาเค็ม ที่ทานคู่กับผักสดนานาชนิด


ส่วนในสมัยกรุงศรีอยุธยาเริ่มได้รับอิทธิพลจากต่างชาติ โดยมี “พริก” เป็นวัตถุดิบสำคัญของอาหารไทย และยังได้รู้จักนำวัตถุดิบอื่นๆ เช่น มะละกอ สัปปะรด มะเขือเทศ ผักชี และถั่ว มาทำอาหารผ่านการปรุงอาหารในแบบอื่นๆ อย่างการผัดและการทอด ขณะที่ในสมัยรัตนโกสินทร์ได้ถือกำเนิด “สตรีทฟู้ด” ที่มีอาหารไทยยอดนิยมอย่าง “ผัดไทย” เป็นตัวชูโรง


“เชฟอยากจะแสดงให้ทุกคนเห็นเอกลักษณ์ของอาหารไทย โดยเฉพาะอาหารชาววัง หรืออาหารไทยโบราณแท้ ซึ่งนอกจากจะมีรสชาติอันดีเยี่ยมแล้ว ยังมีความพิถีพิถันตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกวัตถุดิบ รวมถึงการเตรียมที่พิถีพิถัน เช่น การโขลกพริกแกงหรือการทำไข่สำหรับห่อเมนูล่าเตียง ซึ่งต้องความปราณีตให้ออกมาอย่างสวยงาม หรือแม้แต่การนวดแป้งกระทงเองสำหรับเมนูกระทงทองก็ตาม ซึ่งเมนูดังกล่าวนับว่าเป็นเมนูที่หารับประทานยากในสมัยนี้ จึงปรารถนาจะให้ห้องอาหารพระยา ไดนิ่ง เป็นเหมือนตัวแทนในการส่งวัฒนธรรมไทยผ่านอาหารและรักษาไว้ซึ่งเมนูเหล่านี้ไว้ให้คนรุ่นหลังสืบไป” เชฟบุษกล่าว


การเดินทางไป “โรงแรมพระยา พาลาซโซ” แม้จะไปได้เพียงทางเรือทางเดียว หากแต่ใครได้มาเชื่อว่าจะต้องประทับใจและติดใจอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น