ในที่สุด ผลการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แทน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ลาออกหลังการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ พบว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 8 ด้วยคะแนนรวมกว่า 50.59%
เอาชนะ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ได้ 3.695% นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ได้ 37.21% และ นายกรณ์ จาติกวณิช ที่ได้ 8.48% จากการลงคะแนนของอดีต ส.ส. 52 คน และองค์ประชุมอื่นๆ 239 คน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เกิดเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2499 ภูมิลำเนาเป็นชาวอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา บุตรชายของ นายวีระ และ นางสุรางค์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้อง 9 คน หนึ่งในนั้นคือ นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์ น้องชายคนสุดท้อง เป็นนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน
เรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนศิริราษฎร์วิทยา อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา สอบได้ที่ 1 ของจังหวัด ต่อด้วยมัธยมศึกษา ขึ้นมาเรียนที่กรุงเทพฯ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี “สิงห์แดง” รัฐศาสตรบัณฑิต สาขาบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขานโยบายสาธารณะและการวางแผน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
เริ่มทำงานการเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็น ส.ส.พังงา สมัยแรก เมื่อปี 2529 ได้รับตำแหน่งเป็น ส.ส.ดาวรุ่ง (ส.ส.ใหม่ดีเด่น) โดยสื่อมวลชนสายรัฐสภา
เป็นเจ้าของพื้นที่ ส.ส.พังงา มาแล้ว 6 สมัย ก่อนที่จะย้ายไปลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในปี 2544 โดยให้นายจุฤทธิ์ น้องชายลงสมัคร ส.ส.เขต แทน แล้วน้องชายชนะการเลือกตั้ง 2 สมัย
นายจุรินทร์ ถือเป็นปาร์ตี้ลิสต์อันดับต้นๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อมาแล้ว 5 สมัย เป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มาตั้งแต่ปี 2546 มานานถึง 16 ปี
สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย สมัยที่ 1 ปี 2535 นายจุรินทร์ได้รับความไว้วางใจให้เป็น รมช.พาณิชย์ ก่อนจะลาออกไปเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ ก่อนยุบสภา เนื่องจากรัฐบาลถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจประเด็น ส.ป.ก.4-01
กระทั่งวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ยุบสภา รัฐบาลนายชวน สมัยที่ 2 นายจุรินทร์ได้รับความไว้วางใจให้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จนครบวาระในปี 2544
หลังศาลรัฐธรรมนูญพิพากษายุบพรรคพลังประชาชน รัฐบาลเดิมสิ้นสภาพ มาถึงการจัดตั้งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายจุรินทร์ ได้เป็น รมว.ศึกษาธิการ ก่อนโยกไปเป็น รมว.สาธารณสุข จนครบวาระในปี 2554
หลังพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายจุรินทร์รับหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน
ในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2562 นายจุรินทร์ ลงสมัครเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 6 ส่วน นายจุฤทธิ์ น้องชาย ลำดับที่ 47 ผลการเลือกตั้งพบว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 19 ที่นั่ง
หลังนายอภิสิทธิ์ลาออกจากตำแหน่ง นายจุรินทร์อาสาลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ถือเป็นศิษย์ก้นกุฏิของนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีก็ว่าได้
ในการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ นายจุรินทร์ได้แสดงวิสัยทัศน์โดยมุ่งเน้นที่ความซื่อสัตย์ สุจริต และความมีประสบการณ์การบริหารงานแบบนักบริหารรัฐกิจมืออาชีพ ต้องบริหารโดยไม่ได้มุ่งหวังผลกำไร แต่มุ่งหวังผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนและส่วนรวมหรือภาครัฐ ที่สำคัญต้องมีอุดมการณ์ทางการเมือง ต้องยอมรับการตรวจสอบโดยกลไกที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ต้องขับเคลื่อนองค์กรให้เดินไปข้างหน้าภายใต้กรอบของกฎหมาย ระเบียบ และการจับตามองของรัฐสภา และองค์กรอิสระ รวมทั้งทุกภาคส่วนของสังคมและประชาชนที่เลือกมา
“คนที่จะมาเป็นผู้นำทางการเมืองจึงต้องสามารถทนต่อแรงเสียดทาน ทั้งแรงเสียดทานทางการเมือง แรงเสียดทานทางเศรษฐกิจ แรงเสียดทานทางสังคม รวมถึงแรงเสียดทานอื่น นั่นหมายถึงว่าต้องเป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะและประสบการณ์ ทั้งด้านบริหารและนิติบัญญัติ”
เป็นสิ่งที่นายจุรินทร์แสดงวิสัยทัศน์สะท้อน จุดเด่น และความพร้อมในการเป็นหัวหน้าพรรคครั้งนี้ ก่อนที่จะได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในที่สุด